ฟิทช์ ปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของอิออน ธนสินทรัพย์ เป็นลบ

ศุกร์ ๑๐ มิถุนายน ๒๐๐๕ ๑๑:๔๖
กรุงเทพฯ--10 มิ.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ปรับแนวโน้มอันดับเครดิตภายในประเทศของบริษัทอิออน ธนสินทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด (“อิออน”) เป็นลบ จากเดิมที่แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ การปรับแนวโน้มอันดับเครดิตดังกล่าว เป็นผลมาจากหนี้ที่ค้างชำระของอิออนที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และสัดส่วนจำนวนเงินรับชำระรายเดือนเมื่อเทียบกับยอดคงค้างของบัตรเครดิต (monthly payment rate) ที่มีแนวโน้มลดลงในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของอิออนที่ ‘A-(tha)’ (A ลบ (tha)) และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F2(tha)’ ฟิทช์กล่าวว่า หนี้ที่ค้างชำระของอิออนอาจเพิ่มขึ้นในปี 2005 เนื่องจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น อัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง และภาระหนี้สินของผู้บริโภคที่สูงขึ้น ระดับหนี้ที่ค้างชำระหากยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจจะนำไปสู่การปรับลดอันดับเครดิตของ อิออนในอนาคต นอกจากนี้ การออกมาตรการควบคุมธุรกิจโดยภาครัฐที่เข้มงวดขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตของสินเชื่อและความสามารถในการทำกำไรของบริษัท อย่างไรก็ตาม ปัจจัยหลักประการหนึ่งที่ทำให้อิออนมีผลประกอบการที่ดีมาจนถึงปัจจุบันคือการบริหารการจัดการที่เข้มงวด โดยเฉพาะทางด้านการปล่อยสินเชื่อและการจัดเก็บหนี้ ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงดังกล่าวข้างต้นลงได้ ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงแนวโน้มอันดับเครดิตข้างต้นไม่ส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตของโครงการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ของอิออน
สินเชื่อของอิออนได้ขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญใน 4 ปีที่ผ่านมา สืบเนื่องมาจากการเติบโตของธุรกิจหลักคือ ธุรกิจเช่าซื้อ บัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล หากบวกกลับสินทรัพย์ที่อยู่ภายใต้โครงการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ สินเชื่อลูกหนี้เพิ่มขึ้น 39% ในปี 2547 (ปีประกอบการสิ้นสุดกุมภาพันธ์ 2548) แม้ว่ายอดการใช้สินเชื่อทั้งปีมีระดับสูงกว่ามาก อิออนมีกำไรสุทธิในปี 2547 ที่ 784 ล้านบาท เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจาก 623 ล้านบาทในปีก่อนหน้า เป็นผลสืบเนื่องมาจากการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของรายได้จากธุรกิจบัตรเครดิต อย่างไรก็ตาม การที่เพดานอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากสินเชื่อบัตรเครดิตถูกจำกัดไว้ที่ 18% ต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นและการเพิ่มขึ้นของหนี้ที่ค้างชำระอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรในปีประกอบการ 2548
หนี้ที่ค้างชำระรวมหนี้ที่ตัดเป็นหนี้สูญ อยู่ที่ระดับ 9% ของยอดเฉลี่ยของสินเชื่อลูกหนี้ ณ สิ้นปี เมื่อพิจารณาถึงอัตราการจ่ายคืนหนี้ที่สูงและระยะการผ่อนชำระหนี้ที่สั้นของสินเชื่อประเภทนี้ หนี้ที่ตัดเป็นหนี้สูญสะสมอาจส่งผลให้การประเมินระดับหนี้ที่ค้างชำระของอิออนสูงกว่าระดับที่ควรจะเป็น หนี้ที่ค้างชำระมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นตามฤดูกาลด้วยในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม อย่างไรก็ตาม แนวโน้มโดยรวมของระดับหนี้ที่ค้างชำระเพิ่มขึ้น ในขณะที่สัดส่วนของจำนวนเงินรับชำระรายเดือนเมื่อเทียบกับยอดคงค้างได้ลดลงตั้งแต่ปี 2544 การเติบโตในระดับสูงมากและการขยายตลาดไปสู่ต่างจังหวัด โดยเฉพาะธุรกิจบัตรเครดิตที่ผันผวนมาก ประกอบกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลง ปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลให้ระดับหนี้ที่ค้างชำระเพิ่มสูงขึ้นได้ ภาระหนี้สินของผู้บริโภคที่สูงขึ้นและค่าครองชีพที่สูงขึ้น ได้เพิ่มความเสี่ยงในแง่ที่คุณภาพสินทรัพย์อาจถดถอยลงในอนาคต โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้ารายได้น้อยของอิออน
อิออนได้ทำการแปลงสินเชื่อเช่าซื้อเป็นหลักทรัพย์จำนวน 2 พันล้านบาทในเดือนกุมภาพันธ์ 2547 และได้ทำการแปลงสินเชื่อบัตรเครดิตเป็นหลักทรัพย์จำนวน 3 พันล้านบาทในเดือนกุมภาพันธ์ 2548 ผลกระทบโดยทั่วไปจากโครงการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ต่อความสามารถในการทำกำไรและคุณภาพของสินทรัพย์ค่อนข้างเป็นกลาง และน่าจะส่งผลบวกต่อสภาพคล่องและเงินกองทุนของบริษัท ในขณะที่อิออนมีสถานะทางการเงินที่ค่อนข้างไม่อิงกับสินเชื่อที่ถูกแปลงเป็นหลักทรัพย์ บริษัทยังคงมีความเสี่ยงในรูปของหุ้นกู้ด้อยสิทธิ จำนวน 1.3 พันล้านบาท ที่ให้แก่โครงการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์
ส่วนของผู้ถือหุ้นของอิออน ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2548 อยู่ที่ 2.5 พันล้านบาท อิออนมีเงินกองทุนต่อสินเชื่อในระดับ 16% ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2548 ในขณะที่ความสามารถในการจัดสรรผลกำไรไปยังเงินกองทุนของอิออนยังอยู่ในระดับสูง อัตราการจ่ายเงินปันผลที่สูงและระดับหนี้ที่ค้างชำระที่เพิ่มขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อระดับเงินกองทุนในอนาคตได้
ติดต่อ
ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์,
Vincent Milton, กรุงเทพฯ
+662 655 4762/4759
David Marshall, ฮ่องกง
+852 2263 9963
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของรัฐบาลในประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่า ‘AAA’ ในระดับการจัดอันดับเครดิตแบบสากล (International Ratings) อันดับเครดิตภายในประเทศจึงไม่สามารถเปรียบเทียบกับอันดับเครดิตแบบสากล เนื่องจากอันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศได้จัดไว้ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศจะมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับประเทศนั้นๆ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย
คำจำกัดความของอันดับเครดิตของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ ท่านสามารถหาได้จาก www.fitchratings.com รวมทั้ง อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต และนโยบายที่เกี่ยวข้องซึ่งได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวไว้ตลอดเวลา เอกสารนี้จะปรากฎอยู่บนเว็บไซต์ดังกล่าวเป็นเวลา 7 วัน--จบ--

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๕:๒๓ ผลงานวิจัยใหม่พบ ไข่ ลดความเสี่ยงกระดูกพรุน
๑๕:๕๔ ทีทีบีไดรฟ์ ตอกย้ำการเป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่งกับเกรท วอลล์ มอเตอร์ ค่ายรถยนต์ xEV ชั้นนำสัญชาติจีน เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมนำเสนอแนวโน้มธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ไทย ใน 2024 GWM GLOBAL
๑๕:๐๘ Dua Lipa (ดูอา ลิปา) กลับมาพร้อมอัลบั้มใหม่ Radical Optimism ผลงานเพลงที่แสดงให้เห็นถึงการเติบโตอย่างก้าวกระโดดทางความคิดและทัศนคติของเธอ
๑๕:๕๔ จิม ทอมป์สัน ส่ง Lookbook มัดรวม Summer Essentials สุดปัง ชวนสายแฟสาดลุคฉ่ำรับซัมเมอร์กับหลากไอเทมฮอตที่ต้องมีติดตู้
๑๕:๐๔ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ส่งแคมเปญเงินฝากรับซัมเมอร์ เน้นความมั่นคงตรงใจ พร้อมผลตอบแทนสูงกับ โปรแกรมบัญชีเงินฝากประจำพิเศษ 3 เดือน ดอกเบี้ย 3.50%
๑๕:๒๘ BCPG ลงนามความร่วมมือภาคีเครือข่ายป่าชายเลนฯ มุ่งสู่การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลนอย่างยั่งยืน
๑๕:๔๔ Taiwan Excellence โชว์เคสนวัตกรรมสีเขียว ในมหกรรมสถาปนิก' 67 ส่งเสริมความก้าวหน้าของเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
๑๔:๑๔ SPREME ดันผลงานปี 67 โตแรง Double Digit ลุยประมูลงานขนาดใหญ่ภาครัฐในโครงการมากกว่าพันลบ.- เร่งปิดดีล MA
๑๔:๒๑ Casa Rocca, MicroFiber และ Pasaya ร่วมชูวิสัยทัศน์การออกแบบอาคาร ที่อยู่อาศัย เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในงานสถาปนิก
๑๔:๒๕ Green Market At Hua-Hin