แนะ ม.ยุคใหม่หนุน นศ.เรียนรู้ผ่านโจทย์ปัญหา -รับใช้สังคม

อังคาร ๑๒ กรกฎาคม ๒๐๑๑ ๑๓:๔๐
ศ.นพ.วิจารณ์แนะมหาวิทยาลัยในศตวรรษที่ 21 ต้องปรับการเรียนการสอนใหม่ ให้นักศึกษาเรียนรู้ผ่านโจทย์ปัญหาและความต้องการของชุมชน พร้อมพัฒนาระบบรองรับ “วิชาการสายรับใช้สังคม” อาจารย์สอนน้อยลง แต่นักศึกษาได้เรียนรู้มากขึ้น

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และรองประธานมูลนิธิสยามกัมมาจล กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ "การพัฒนาวิชาการสายรับใช้สังคม" เมื่อเร็วๆ นี้ว่า ทิศทางการพัฒนาการอุดมศึกษาไทยเพื่อปฏิรูปการศึกษาครั้งใหม่ได้ให้น้ำหนักไปยัง 2 เรื่องสำคัญ คือ การพัฒนาวิชาการสายรับใช้สังคม และ การจัดการเรียนรู้เพื่อผลิตบัณฑิตในศตวรรษที่ 21 (The 21 st Century Learning) ซึ่งการเรียนรู้จะเปลี่ยนจากปัจจุบันอย่างมากมาย มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่เพื่อรับกับความเปลี่ยนแปลงของโลก โดยทั้ง 2 ข้างต้นต่างเป็นเรื่องหนุนเสริมกัน และหลายครั้งเชื่อมโยงเป็นเรื่องเดียวกันได้

ทั้งนี้ จากเหตุการณ์ความไม่สงบของบ้านเมืองในช่วงที่ผ่านมา สังคมได้เรียกร้องให้มหาวิทยาลัยมีบทบาทแก้ไขความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เพราะมองว่ามหาวิทยาลัยมีศักยภาพดังกล่าว ทว่าที่ผ่านมามหาวิทยาลัยกลับมีส่วนในการสร้างปัญหาเสียเอง เนื่องจากการเรียนการสอนมีส่วนทำให้เกิดบัณฑิตที่มีนิสัยยอมรับผู้อื่นได้ยาก นอกจากนั้น นิสิตนักศึกษาปัจจุบันยังไม่มีความหิวกระหายความรู้เหมือนในอดีต เพราะความรู้มีมาก สามารถเข้าถึงได้ง่าย ขณะที่การเรียนการสอนน่าเบื่อ ไม่ดึงดูดให้นิสิตนักศึกษาอยากเรียนรู้

จากปัญหาดังกล่าว ศ.นพ.วิจารณ์ เสนอว่า มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องเปลี่ยนการเรียนการสอนใหม่ โดยการจัดการเรียนการสอนในศตวรรษที่ 21 มหาวิทยาลัยควรอำนวยให้เกิด การเรียนรู้แบบโครงงาน (Project Based Learning: PBL) หรือการนำโจทย์ปัญหาจริงในชุมชนสังคมมาเป็นโจทย์ในการเรียนรู้ ทำให้นิสิตนักศึกษาเกิดทักษะ ได้เรียนรู้ร่วมกันกับชุมชน ซึ่งจะเป็นการใช้ความรู้ออกไปรับใช้สังคมได้ในเวลาเดียวกัน

ที่สำคัญ มหาวิทยาลัยยังต้องเปิดโอกาสให้นักวิชาการสายรับใช้สังคมมีเส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพเหมือนนักวิชาการสายอื่นๆ สามารถนำผลงานด้านสังคมไปขอตำแหน่ง หรือตีพิมพ์เป็นผลงานวิชาการได้ดังที่มีตัวอย่างเกิดขึ้นมาแล้วมากมาย เหตุผลเพราะวิชาการทุกสายต่างมีจุดหมายเพื่อทำประโยชน์แก่สังคมเช่นเดียวกัน อีกทั้งยังสามารถทำงานเกื้อหนุนกันได้ และไม่อาจแยกกันได้อย่างเด็ดขาด ทว่าที่ผ่านมายังเป็นไปแบบกระจัดกระจาย ขาดระบบของมหาวิทยาลัยที่ชัดเจนมารองรับ จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างมากสำหรับการอุดมศึกษาไทยที่จะต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ โดยสร้างระบบที่ชัดเจนให้แก่วิชาการสายรับใช้สังคม ทำให้ผลงานได้รับการประเมินคุณค่า และเป็นที่ยอมรับทัดเทียมกับวิชาการสายอื่นๆ

“การผลิตบัณฑิตในศตวรรษที่ 21 จะเป็นการศึกษาที่อาจารย์มุ่งสอนน้อยลงแล้วเปิดโอกาสให้เกิดการเรียนรู้มากขึ้น ไม่เพียงสอนในด้านเนื้อหา หากแต่มุ่งให้เกิดทักษะและทัศนคติที่ดี ก้าวข้ามการเรียนรู้แบบรายบุคคลเป็นการเรียนรู้ร่วมกันเป็นทีม เปลี่ยนจากการปูพื้นฐานทฤษฎีเป็นการลงมือปฏิบัติจริงควบคู่กันไป ซึ่งจุดนี้จะทำให้นักศึกษาเห็นคุณค่าของสิ่งที่ตัวเองเรียน ไม่ใช่การเรียนรู้อย่างไม่มีเป้าหมาย ทำให้ได้รับแรงบันดาลใจ กระตุ้นให้อยากเรียนรู้ เป็นการเปลี่ยนห้องเรียนจาก lecture base เป็น project base ซึ่งสุดท้ายแล้วยังจะทำให้เกิดการผลิตบัณฑิตที่มีทักษะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในสังคม และมีความเป็นพลเมืองที่ดีของประเทศ” ศ.นพ.วิจารณ์ปิดท้าย.

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๘:๓๓ COM7 เดินหน้าเต็มสปีด EV7 ส่งมอบแท็กซี่ไฟฟ้าล็อตแรก ดันเมกะเทรนด์ EV สู่หัวใจเมือง
๑๘:๓๖ GCAP ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ไฟเขียวผ่านฉลุยทุกวาระ พร้อมเดินหน้าแผนธุรกิจขยายสู่กลยุทธ์ Non Lending
๑๘:๔๔ PYLON จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ผู้ถือหุ้นไฟเขียวจ่ายปันผล 0.04 บาท/หุ้น
๑๘:๓๙ LDC จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2568 มุ่งเป็นคลินิกทันตกรรมพรีเมียม ในราคาที่เข้าถึงง่าย
๑๘:๑๒ ผู้ถือหุ้น TATG ไฟเขียวจ่ายปันผล 0.07 บาท/หุ้น ลงทุนเครื่องจักรใหม่เสริมแกร่งสายการผลิต พิชิตเป้ารายได้ 3,000
๑๘:๕๗ ADVICE จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นรูปแบบ Hybrid ประจำปี 2568 ผถห.ไฟเขียวทุกวาระ เคาะแจกปันผล 0.175 บ./หุ้น
๑๘:๓๖ LE ร่วมงานสถาปนิก'68 โชว์นวัตกรรมแสงสว่างอัจฉริยะ เสริมภาพผู้นำ Lighting Solutions Provider
๑๘:๔๖ SELIC จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ปี 2568 ผู้ถือหุ้นเห็นชอบทุกวาระ อนุมัติจ่ายปันผล 0.038 บาท/หุ้น เดินหน้า 3 ธุรกิจ
๑๘:๔๙ STA เปิดบ้านต้อนรับภาครัฐ โชว์มาตรฐานรับซื้อยางโปร่งใส เป็นธรรม หนุนรัฐต้านยางเถื่อน
๑๘:๓๕ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จับมือเอกชน ปั้นช่างเชื่อมโกอินเตอร์ รายได้ทะลุ 70,000 บาทต่อเดือน