ซีเกท สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทยและเอไอที ร่วมกันพัฒนาทักษะด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์

ศุกร์ ๒๒ กรกฎาคม ๒๐๑๑ ๑๔:๕๙
ซีเกท สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทยและเอไอทีร่วมกันพัฒนาทักษะด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติโดยจัดการแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย

บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทยและภาควิชาเมคาโทรนิคส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (เอไอที) จะร่วมกันจัดการแข่งขันระดับประเทศเพื่อคัดเลือกทีมสุดยอดจักรยานหุ่นยนต์ไร้คนบังคับ ในการจัดการแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย เป็นครั้งที่สอง

“การจัดการแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่สองในประเทศไทยและครั้งที่สองในโลกนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างแรงบันดาลใจแก่เยาวชนในประเทศไทยเพื่อพัฒนาทักษะทางด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติและวิศวกรรมควบคุม การแข่งขันนี้ยังพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่มาจากความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และความแปลกใหม่ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ภาคอุตสาหกรรมและภาคการศึกษา ตลอดจนการพัฒนาโดยรวมของประเทศไทย” ดร. ถวิดา มณีวรรณ์ นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย กล่าว

การแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย เป็นการแข่งขันออกแบบและพัฒนาจักรยานที่มีความสามารถในการรักษาสมดุลแบบสองล้อหน้าหลังได้ด้วยตัวเองโดยไม่ล้มไปด้านข้างโดยใช้การควบคุมทางพลศาสตร์ จักรยานหุ่นยนต์ ไร้คนบังคับที่วิ่งได้ระยะทางไกลที่สุดและเร็วที่สุดจะเป็นทีมชนะเลิศ กติกาการแข่งขันซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่สองนี้เหมือนกับกติกาการแข่งขันซึ่งจัดขึ้นเป็นปีแรก การแข่งขันที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่สองนี้จะมีขึ้น ณ สนามบางกอก เรซซิ่ง เซอร์กิต (Bangkok Racing Circuit) ถ.ศรีนครินทร์

นางสาวศิริรัตน์ เอี่ยวผดุง ผู้จัดการโรงงานเทพารักษ์ บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ซีเกทมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้สนับสนุนการจัดการแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทยเป็นปีที่สอง ผู้เข้าร่วมการแข่งขันจะได้มีโอกาสอันมหาศาลในการยกระดับศักยภาพทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์ นอกจากความชำนาญทางด้านเทคโนโลยีที่ผู้เข้าแข่งขันจะได้เรียนรู้ผ่านทางประสบการณ์ของการปฏิบัติจริงในการสร้าง ออกแบบและพัฒนาโปรแกรมของจักรยานหุ่นยนต์ไร้คนบังคับ นิสิตนักศึกษาเหล่านี้จะได้มีโอกาสร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการและนักอุตสาหกรรมทางด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ตลอดจนพัฒนาทักษะทางด้านความคิด เช่น การคิดอย่างมีตรรกะ การสร้างทีมงานและการจัดการโครงงาน”

“ในขณะที่ความคิดริเริ่มของการแข่งขันนี้มีความสำคัญมากขึ้น ความเป็นไปได้ในการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อช่วยยกระดับการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนก็เพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณ บรรดาผู้ที่จะเข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้จะเป็นผู้นำเพื่อผลักดันให้มีการสร้าง การพัฒนาและการนำความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีและหุ่นยนต์ในอนาคตของประเทศไทย” นางสาวศิริรัตน์กล่าวเสริม

รองศาสตราจารย์ ดร. มนูกิจ พานิชกุล ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทยและอาจารย์ประจำภาควิชาเมคาโทรนิคส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (เอไอที) กล่าวว่า “ผ่านทางการแข่งขันอันท้าทายนี้ นิสิต นักศึกษาซึ่งชื่นชอบวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและศาสตร์

ทางด้านหุ่นยนต์เป็นพิเศษจะมีศักยภาพสูงขึ้นตามแนวโน้มล่าสุดของอุตสาหกรรม ในฐานะนักวิชาการ พวกเรา มองหาช่องทางให้นิสิต นักศึกษาได้รับโอกาสต่าง ๆ ซึ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนาของพวกเขาอยู่เสมอ เรามีเป้าหมายในการเปิดมุมมองทางด้านของเทคนิคและเปิดโอกาสให้พวกเขาได้นำความรู้ทฤษฏีไปปฏิบัติจริง ตลอดจนปลูกฝังให้พวกเขามีความเชี่ยวชาญเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการศึกษาต่อและการประกอบอาชีพในอนาคต”

“จากความสำเร็จของการจัดการแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์ไร้คนบังคับครั้งแรกเมื่อปีก่อน ทำให้เห็นถึงศักยภาพของเยาวชนไทยในการประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้งานได้จริง ดังนั้น ในปีนี้ ทีมที่จะเข้าร่วมการแข่งขันฯ ต่างมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาระบบของจักรยานหุ่นยนต์ไร้คนบังคับให้มีความเสถียรมากขึ้น โดยการพัฒนาเทคนิคต่าง ๆ ให้จักรยานหุ่นยนต์มีศักยภาพในการรักษาสมดุลดีขึ้นและเคลื่อนที่ได้เร็วขึ้น” รองศาสตราจารย์ ดร. มนูกิจ กล่าวเสริม

ในฐานะผู้สนับสนุนหลักของการแข่งขัน บริษัทซีเกทจะมอบเงินเพื่อเป็นรางวัลสำหรับจักรยานหุ่นยนต์ ดังนี้ รางวัลชนะเลิศ 150,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศ 100,000 บาท รางวัลเทคนิคยอดเยี่ยม 50,000 บาท และรางวัลความคิดสร้างสรรค์ 50,000 บาท 16 ทีมสุดยอดรถจักรยานหุ่นยนต์ไร้คนบังคับได้รับเงินรางวัลทีมละ 20,000 บาท เพื่อนำไปพัฒนาประสิทธิภาพของรถจักรยานหุ่นยนต์เพื่อเข้าแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ

ผู้สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมการแข่งขันฯ และส่งรายงานการออกแบบรถจักรยานหุ่นยนต์ไร้คนบังคับได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 5 สิงหาคม 2554 ที่ http://bicyrobo.ait.ac.th นิสิตนักศึกษาไทยที่กำลังศึกษาในระดับอาชีวศึกษาเป็นต้นไปสามารถสมัครเข้าร่วมการแข่งขันได้ โดยแต่ละทีมมีสมาชิกทีมละ 3 คนและมีอาจารย์ที่ปรึกษา 1 ท่าน การอบรมผู้เข้าร่วมการแข่งขัน ชี้แจงกติกาและตอบข้อสงสัยจะมีขึ้นในวันที่ 11 สิงหาคม 2554 การแข่งขันรอบคัดเลือกจะมีขึ้นในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2554 การแข่งขันรอบชิงชนะเลิศจะมีขึ้นในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2555

ข้อมูลเกี่ยวกับสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย

สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2543 โดยกลุ่มบุคคลที่มีความสนใจและดำเนินงานเกี่ยวข้องกับวิศวกรรมหุ่นยนต์อันประกอบไปด้วย นักวิชาการ นักวิจัย และนักอุตสาหกรรม มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้และความเข้าใจในวิทยาการด้านหุ่นยนต์ จัดกิจกรรมการปฏิบัติงานทางวิชาการ เพื่อพัฒนาความรู้และเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์ เป็นศูนย์กลางทางด้านข่าวสารในวิทยาการใหม่ ๆ ของหุ่นยนต์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศและสร้างเครือข่ายนักวิจัยและวิชาการเพื่อส่งเสริมการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา ในสาขาหุ่นยนต์และวิศวกรรมอัตโนมัติ ท่านสามารถติดต่อสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทยได้ที่ โทร. 0-2470-9713, 0-2470-9720 หรือ เว็บไซต์ www.trs.or.th

ข้อมูลเกี่ยวกับสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที)

สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียส่งเสริมความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิกผ่านการศึกษาขั้นสูง การทำวิจัย และ กิจกรรมต่อยอดอื่น ๆ สถาบันเอไอทีซึ่งตั้งขึ้นเมื่อพ.ศ. 2502 ได้กลายเป็นสถาบันบัณฑิตชั้นนำของภูมิภาคเอเชียและกำลังทำงานอย่างกระตือรือร้นร่วมกับพันธมิตรจากภาครัฐบาลและเอกชนทั่ว พื้นภูมิภาค และกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก

สถาบันฯซึ่งเป็นที่รู้จักในด้านความเป็นนานาชาติและหลากวัฒนธรรม ดำเนินการในลักษณะประชาคมนานาชาติที่มี สิ่งอำนวยความสะดวกพรั่งพร้อมภายในบริเวณสถาบันฯ ซึ่งตั้งอยู่บน กม.ที่ 40 ทางเหนือของกรุงเทพฯ ประเทศไทย

นอกเหนือจากห้องปฏิบัติการและอาคารเรียนต่างๆ บริเวณของสถาบันฯประกอบด้วยที่พัก สนามกีฬา และสิ่งอำนวยความสะดวกทางการแพทย์ ศูนย์การประชุม และห้องสมุดที่มีหนังสือกว่า 230,000 เล่ม วารสารแบบพิมพ์เป็นเล่มและแบบออนไลน์จำนวน 830 รายการ ทุกอย่างมีส่วนช่วยทำให้พันธกิจหลักของสถาบันเอไอทีบรรลุเป้าหมาย

ข้อมูลเกี่ยวกับซีเกท

ซีเกทคือผู้นำทั่วโลกในการออกแบบ การผลิตและการตลาดฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์และโซลูชั่นสำหรับจัดเก็บข้อมูลจาก การนำเสนอผลิตภัณฑ์สำหรับระบบปฏิบัติการต่าง ๆ รวมทั้งองค์กร เครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ เครื่องคอมพิวเตอร์มือถือ (Mobile Computing) อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า (Consumer Electronics) และแบรนด์โซลูชั่น (Branded Solutions) รูปแบบการดำเนินธุรกิจของซีเกทช่วยเสริมสร้างความเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีและการผลิตระดับโลก เพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และมีคุณภาพไปยังลูกค้าทั่วโลก ด้วยเป้าหมายในการเป็นผู้นำของอุตสาหกรรมไปยังลูกค้าทั่วโลก บริษัทฯ มีความมุ่งมั่นในการส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่ได้รับรางวัลและมีคุณภาพดีที่สุดเพื่อตอบสนองความต้องการจัดเก็บข้อมูลที่เพิ่มขึ้นในโลก ท่านสามารถพบซีเกทได้ทั่วโลกและค้นหาข้อมูลซีเกทเพิ่มเติมที่

ข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ

รองศาสตราจารย์ ดร. มนูกิจ พานิชกุล ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขัน

โทรศัพท์ 0-2524-5229, Email: [email protected]

นางสาวขวัญจิต สุดสวัสดิ์ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด

โทรศัพท์ 0-2715-2919, Email: [email protected]

บรรยายภาพประกอบ

Picture 1 คณะผู้จัดการแข่งขัน นำโดยผู้บริหาร บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทยและสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (เอไอที) ร่วมแถลงข่าวจัดการแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย เพื่อคัดเลือกทีมสุดยอดจักรยานหุ่นยนต์ไร้คนบังคับ ในการแข่งขันระดับประเทศที่จะจัดเป็นครั้งที่สอง

ในภาพจากซ้าย ดร. ถวิดา มณีวรรณ์ นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย นางสาวศิริรัตน์ เอี่ยวผดุง ผู้จัดการโรงงานเทพารักษ์ บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ศาสตราจารย์วรศักดิ์ กนกนุกูลชัย รองอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (เอไอที) และรองศาสตราจารย์ ดร. มนูกิจ พานิชกุล ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทยและอาจารย์ประจำภาควิชาเมคาโทรนิคส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (เอไอที)

Picture 2 นางสาวศิริรัตน์ เอี่ยวผดุง ผู้จัดการโรงงานเทพารักษ์ บริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด (ที่สองจากซ้าย) กล่าวถึงนโยบายและการสนับสนุนการจัดการแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทยอย่างต่อเนื่องเป็นที่สองโดยซีเกทได้มอบเงินงบประมาณ จำนวน 1.7 ล้านบาท เพื่อการจัดการแข่งขันและเงินรางวัลสำหรับทีมต่างๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพของนิสิตนักศึกษาไทยผ่านทางประสบการณ์ของการปฏิบัติจริงในการสร้าง ออกแบบและพัฒนาโปรแกรมของจักรยานหุ่นยนต์ไร้คนบังคับ

Picture 3 รถจักรยานหุ่นยนต์ไร้คนบังคับคันสีเหลืองซึ่งสามารถทรงตัวและวิ่งได้โดยอัตโนมัติ จักรยานคันนี้ใช้เทคนิคโมเมนตัมเพื่อรักษาความสมดุลของทั้งสองด้าน

Picture 4 นักศึกษากำลังสาธิตการทำงานของจักรยานหุ่นยนต์ไร้คนบังคับคันสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นจักรยานอีกคันเพื่อพวกเขาเพิ่งพัฒนาขึ้นใหม่ ใช้เทคนิคแรงหนีศูนย์กลางเพื่อรักษาความสมดุลของจักรยาน ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ มีเซ็นเซอร์ในการบังคับทิศทาง

Picture 5 จักรยานหุ่นยนต์ไร้คนขับรูปแบบต่าง ๆ ที่นิสิต นักศึกษาไทยพัฒนาขึ้นและส่งเข้าแข่งขันในการแข่งขัน จักรยานหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทย ซึ่งจัดขึ้นเมื่อปีแรก

Picture 6 ผลงานจักรยานหุ่นยนต์ไร้คนบังคับที่เข้าร่วมการแข่งขันจักรยานหุ่นยนต์ชิงแชมป์ประเทศไทยที่จัดขึ้นเป็น ปีแรก โดยความร่วมมือระหว่างบริษัทซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด สมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทยและภาควิชาเมคาโทรนิคส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (เอไอที)

Picture 7 จักรยานหุ่นยนต์ไร้คนบังคับซึ่งพัฒนาโดยนักศึกษาภาควิชาเมคาโทรนิคส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (เอไอที) ขณะกำลังเคลื่อนที่ไปบนเส้นทางการแข่งขัน ในการแข่งขันที่จัดขึ้นเมื่อปีก่อน

Picture 8 ทีมนิสิตนักศึกษาไทยและผลงานจักรยานหุ่นยนต์ไร้คนบังคับที่พวกเขาภาคภูมิใจ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๔ พ.ค. Siriraj Education Expo 2024 ก้าวสู่ยุคใหม่ไปกับศิริราช พร้อมยกระดับทางการแพทย์ให้ดีขึ้น เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยทุกคน
๐๓ พ.ค. ครั้งแรก! งานเทศกาลคอนเทนต์ LGBTQ ฉลองความเท่าเทียมทางเพศ THAILAND INTERNATIONAL LGBTQ FILM TV FESTIVAL 2024 ปักหมุดเตรียมพบกัน กันยายนนี้
๐๓ พ.ค. โน วัน เอลส์ ส่ง 3 เพลงรัก 3 สไตล์! ผ่านมิวสิกซี่รีย์ ที่จะทำให้คุณเข้าใจความรักมากขึ้น
๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง