อุตฯ ครึ่งปีแรก -2.7% กำลังการผลิต 58.9%

ศุกร์ ๒๙ กรกฎาคม ๒๐๑๑ ๑๑:๐๑
สศอ.เผยดัชนีอุตฯ ไทยครึ่งปีแรกยังแผ่ว -2.7% สึนามิญี่ปุ่นส่งผลกระทบ ปรับประมาณการขยายตัวเหลือ 2-3% กำลังการผลิตอยู่ระหว่าง 62-64% ขณะที่ เดือน มิ.ย.ดัชนีอุตฯ พลิกบวก 3.3% หลังซึมยาว 4 เดือนติด

นายอภิวัฒน์ อสมาภรณ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) ในไตรมาสที่ 2/2554 หดตัว -2.7% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดย MPI ติดลบต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สอง หลังจากฟื้นตัวเป็นบวกจากวิกฤตเศรษฐกิจตั้งแต่ช่วงปลายปี 2552 เนื่องจากฐานที่สูงในปี 2553 รวมถึงผลกระทบจากเหตุภัยพิบัติที่ญี่ปุ่น โดยอัตราการใช้กำลังการผลิต อยู่ที่ 58.9% ซึ่งเป็นผลมาจากการขาดแคลนชิ้นส่วนสำคัญในการผลิตรถยนต์ จึงส่งผลต่ออัตราการใช้กำลังการผลิต ขณะที่ MPI ในเดือน มิ.ย.54 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน กลับพลิกมาเป็นบวก โดยเพิ่มขึ้น 3.32% อยู่ที่ระดับ 200.64 ซึ่งกลับมาเกิน 200 อีกครั้งเป็นเดือนที่ 3 ในรอบ 18 เดือน สะท้อนสัญญาณที่ดีในการขยายตัวของการผลิตในภาคอุตสาหกรรม

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำแท่ง) ไตรมาสที่ 2/2554 ขยายตัว 18.3% เมี่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าหลักที่ส่งผลต่อการขยายตัวมาจาก หมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ โดยเครื่องใช้ไฟฟ้าขยายตัว 15.9% ขณะที่เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัว 6.9% ภาพรวมครึ่งปีแรก 2554 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม(ไม่รวมทองคำแท่ง) ขยายตัวสูงถึง 20.4%

นายอภิวัฒน์ กล่าวว่า สศอ.ได้ปรับประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจใหม่อีกครั้ง โดยปี 2554 GDP ภาคอุตสาหกรรมจะขยายตัวในช่วง 3.5-4.5% จากเดิมประมาณไว้ที่ 5.5-6.5% MPI จะขยายตัวในช่วง 2.0 — 3.0% จากเดิมประมาณไว้ที่ 6.0-8.0% เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยง ที่ส่งผลกระทบหลายด้าน ได้แก่ ปัญหาอัตราเงินเฟ้อยังทรงตัวในระดับสูง แม้การต่ออายุมาตรการดูแลค่าครองชีพออกไปจะชะลอการเร่งขึ้นของตัวเลขเงินเฟ้อออกไป แต่แนวทางปฏิบัติของการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำและแผนการใช้จ่ายของภาครัฐในระยะข้างหน้าอาจเพิ่มแรงกดดันด้านราคาและส่งผลให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น นอกจากนี้ปัจจัยการขึ้นค่าแรง ยังเป็นหนึ่งในปัญหาต้นทุนของผู้ประกอบการที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งรวมถึง ทิศทางอัตราดอกเบี้ยซึ่งเป็นต้นทุนทางการเงินที่ยังเป็นขาขึ้น และการประกาศขึ้นราคาขายก๊าซหุงต้มภาคอุตสาหกรรม 3 บาทต่อกิโลกรัม ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา

สรุปภาพรวมอุตสาหกรรมรายสาขาไตรมาสที่ 2/2554 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ดังนี้

อุตสาหกรรมอาหาร ไตรมาสที่ 2/2554 ภาวะการผลิต ในภาพรวม เพิ่มขึ้น 46.1% เนื่องจากการผลิตในสินค้าสำคัญ ได้รับผลดีจากภาวะเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว โดยเฉพาะในตลาดส่งออกหลักของไทย เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และยุโรป ซึ่งระดับราคาสินค้าในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมถึงในสินค้าน้ำตาล ปริมาณการผลิตน้ำตาลปี 2553/54 ปรับเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะไตรมาสที่ 2 ปรับเพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 153.4% จากปริมาณอ้อยที่เข้าโรงงานเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ จากปริมาณ 68 ล้านตันในปี 2552/53 เพิ่มขึ้นเป็น 95 ล้านตัน ขณะที่ราคาน้ำตาลตลาดโลกยังทรงตัวในระดับที่สูงกว่าปีก่อน ขณะที่แนวโน้มการผลิตอุตสาหกรรมอาหารในภาพรวม ปี 2554 คาดว่า จะปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก ปี 2553 ประมาณ 17.9% โดยเป็นผลจากระดับราคาสินค้าอาหารในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลผลิตทางการเกษตรสำคัญๆ หลายประเภทของโลกมีปริมาณลดลงจากภาวะภัยธรรมชาติในแต่ละพื้นที่

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ไตรมาสที่ 2/2554 การผลิตผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ส่วนใหญ่มีการผลิตลดลง ทั้ง ผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูป โดยลดลง 4.7% และ 5.6% ตามลำดับ ขณะที่แนวโน้มอุตสาหกรรมในปี 2554 คาดว่าการผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม จะยังขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะการผลิตเส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูป เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มดีขึ้นและมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้การรวมกลุ่มภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียนและการรวมกลุ่มการค้าอื่นๆ ทำให้เกิดความต้องการนำเข้าสินค้าต้นน้ำ กลางน้ำ ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตเครื่องนุ่งห่มในกลุ่มอาเซียน ส่งผลให้การส่งออกของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในอาเซียนขยายตัว

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ไตรมาสที่ 2/2554 ภาพรวมหดตัวเล็กน้อย 0.06% โดยอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์หดตัว 0.23% ขณะที่อุตสาหกรรมไฟฟ้าขยายตัว 1.13% ขณะที่ แนวโน้มการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาสที่ 3/2554 และคาดการณ์ทั้งปี 2554 คาดว่า การผลิตในไตรมาสที่ 3 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าที่มีแนวโน้มเป็นตัวผลักดันที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น และ IC โดยความต้องการสินค้า consumer electronics แต่คงมีอัตราการขยายตัวได้ไม่มากนัก เนื่องจากฐานที่สูงในปี 2553 ส่วนประมาณการการผลิตโดยรวมทั้งปี 2554 ปรับตัวสูงขึ้น 8% เนื่องจากคุณลักษณะผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคในตลาดส่งออกหลักต่างๆ ซึ่งไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญในอาเซียน และเอเชีย รองจากจีน ทำให้การผลิตเพื่อส่งออกเพิ่มสูงขึ้น

อุตสาหกรรมรถยนต์ ไตรมาสที่ 2/2554 การผลิตชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุสำคัญเกิดจากภัยพิบัติในประเทศญี่ปุ่น ทำให้ขาดแคลนชิ้นส่วนในการประกอบรถยนต์ ส่งผลกระทบต่อโรงงานผลิตรถยนต์ในประเทศไทย โดยไตรมาสที่ 2/54 มีการผลิตรถยนต์จำนวน 341,629 คัน ลดลง -11.53% แบ่งเป็นการผลิตรถยนต์นั่ง 123,215 คัน รถกระบะ 1 ตันและอนุพันธ์ 214,517 คัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ 3,897 คัน ขณะที่ แนวโน้มอุตสาหกรรมรถยนต์ ในไตรมาสที่ 3/2554 คาดว่า จะมีการขยายตัวเมื่อ

เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผู้ประกอบการรถยนต์เร่งการผลิตรถยนต์ เพื่อชดเชยช่วงที่ไม่มีการผลิตรถยนต์เนื่องจากขาดแคลนชิ้นส่วน อันเป็นผลจากกรณีภัยพิบัติในประเทศญี่ปุ่น โดยจะมีการผลิตรถยนต์ 487,000 คัน เพิ่มขึ้น 13.72% การจำหน่ายในประเทศ 237,000 คัน เพิ่มขึ้น 18.70% และการส่งออก 250,000 คัน เพิ่มขึ้น 1.35%

ส่วนแนวโน้มอุตสาหกรรมรถยนต์ทั้งปี 2554 แม้ว่าในช่วงต้นปีอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจะได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติในประเทศญี่ปุ่น แต่ก็ถือว่ามีการฟื้นตัวที่เร็ว จึงคาดว่าปี 2554 จะมีการผลิตรถยนต์ 1,800,000 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 9.40% แบ่งเป็นการจำหน่ายในประเทศ 900,000 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 12.45% และการส่งออก 900,000 คัน เพิ่มขึ้น 0.46%

นายอภิวัฒน์ ได้สรุปตัวเลข MPI เดือนมิถุนายน 2554 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เป็นดังนี้ ดัชนีผลผลิต (มูลค่าเพิ่ม) อยู่ที่ระดับ 200.64 เพิ่มขึ้น 3.3% จากระดับ 194.19 ดัชนีการส่งสินค้า อยู่ที่ระดับ 203.13 เพิ่มขึ้น 1.07% จากระดับ 200.97 ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง อยู่ที่ระดับ 190.72 เพิ่มขึ้น4.71% จากระดับ 182.14 ดัชนีแรงงานในภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 119.27 ลดลง -1.63% จากระดับ 121.24 ดัชนีผลิตภาพแรงงานในภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 148.04 เพิ่มขึ้น 4.93% จากระดับ 141.08 โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 63.58%

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและอัตราการใช้กำลังการผลิต

Index 2553 2554

มิ.ย. ก.ค. ส.ค. ก.ย. ต.ค. พ.ย. ธ.ค. ม.ค. ก.พ. มี.ค. เม.ย. พ.ค. มิ.ย.

ดัชนีผลผลิต 194.19 190.12 183.71 201.47 191.21 190.43 188.38 186.93 177.79 198.24 165.31 178.14 200.64

อุตสาหกรรม

อัตราการเปลี่ยนแปลง (MOM) % 4.96 -2.05 -3.37 9.67 -5.09 -0.41 -1.08 -0.77 -4.89 11.50 -16.61 7.8 12.6

อัตราการ 14.22 13.10 8.41 8.14 604 5.65 -3.43 4.05 -2.97 -6.69 -8.14 -3.7 3.3

เปลี่ยนแปลง (YOY)%

อัตราการใช้ 65.22 64.55 63.61 64.36 63.92 63.60 62.35 62.32 62.32 66.08 54.43 58.81 63.58

กำลังการผลิต %

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๑๒ หาดทิพย์ มอบรถรถพยาบาลพร้อมอุปกรณ์ช่วยเหลือฉุกเฉิน ให้โรงพยาบาลท่าโรงช้าง จ.สุราษฎร์ธานี เป็นสาธารณประโยชน์แก่ผู้ประสบเหตุและประสบภัยด้านสุขภาพ
๑๗:๐๓ เมอร์เซเดส-เบนซ์ เดินหน้าแผน Circular Economy ลุยโปรเจกต์ Urban Mining สู่การสร้างวัสดุทดแทนชิ้นส่วนรถยนต์ในขั้นตอนการผลิต
๑๗:๓๒ บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป เล่นใหญ่ เสิร์ฟพิซซ่า ร่วมเฉลิมฉลอง Bitcoin Pizza Day
๑๗:๑๑ GRAND - PF - SUMITOMO ผนึกกำลัง เปิด Grande Lounge ใจกลางเมืองห้างเอ็มโพเรียม ตอบรับกระแสนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ
๑๗:๒๓ FTI ล็อคเป้ารายได้ปีนี้ 930 ลบ. Q1/67 โกยแล้ว 195.91 ลบ. ชูกลยุทธ์ขยายสาขา-กำลังผลิต-ร่วมทุน ดันรายได้โต 3
๑๗:๔๔ เชฟชุมพล จับมือ ททท. ยกขบวน Soft Power อาหารไทยและการท่องเที่ยว ลุยโปรโมทในงาน สงกรานต์มินนิโซตา
๑๗:๐๕ ว.การบินและคมนาคม SPU เปิดประสบการณ์จริง! เรียนรู้แบบเจาะลึก การปฏิบัติงานภาคพื้น กับมืออาชีพสายการบิน
๑๗:๑๘ ยัวซ่า ร่วมสนับสนุนการแข่งขันฟุตบอลเยาวชนไทยแลนด์ ยูธ คัพ ชิงถ้วยประทาน พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลีกรมหมื่นสุทธนารีนาถ
๑๗:๑๖ เมสัน ร่วมปล่อยเต่าทะเล ในวันเต่าโลกต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ตอกย้ำแนวคิด MASON BETTER TOGETHER - GIVING TOGETHER
๑๗:๓๔ EKH ส่งสัญญาณ Q2 โตแกร่ง ผู้ป่วย OPD - IPD-ศูนย์ IVF - รพ.คูนหนุนเต็มเหนี่ยว ปักหมุดลุยธุรกิจสุขภาพไม่ยั้ง มั่นใจปั๊มผลงานโตไม่ต่ำกว่า