ก.ล.ต. ปรับปรุงรูปแบบหนังสือชี้ชวนของกองทุนรวมและการลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

พฤหัส ๑๘ สิงหาคม ๒๐๑๑ ๐๘:๔๑
นายชาลี จันทนยิ่งยง รองเลขาธิการ รักษาการเลขาธิการ ก.ล.ต. ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับตลาดทุน กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการกำกับตลาดทุนในการประชุมครั้งที่ 8/2554 ประจำเดือนสิงหาคมว่า คณะกรรมการให้ความสำคัญกับข้อมูลที่ผู้ลงทุนในกองทุนรวมจะได้รับ และการกระจายความเสี่ยงของสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. ปรับปรุงรูปแบบและวิธีการแจกจ่ายหนังสือชี้ชวนของกองทุนรวม

ก.ล.ต. กำหนดให้หนังสือชี้ชวนของกองทุนรวมประกอบด้วย 3 ส่วน คือ (1) “หนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญ” ซึ่งต้องมีเนื้อหากระชับ ชัดเจน เข้าใจง่าย และจัดทำเป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ต้องจัดส่งหรือแจกจ่ายให้แก่ผู้สนใจลงทุนทุกรายพร้อมใบจองซื้อ (2) “หนังสือชี้ชวนส่วนข้อมูลกองทุนรวม” ซึ่งประกอบด้วยข้อมูลรายละเอียดต่าง ๆ ของกองทุนรวมอย่างครบถ้วน แต่จัดทำในรูปคำถามและคำตอบ ใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย โดย บลจ. ต้องจัดส่งหรือแจกจ่ายให้ผู้สนใจอย่างทั่วถึง (3) “หนังสือชี้ชวนส่วนรับรองความถูกต้องครบถ้วน” ซึ่งเป็นส่วนที่ บลจ. รับรองว่าข้อมูลที่เปิดเผยนั้นถูกต้อง ครบถ้วน และไม่เป็นเท็จ

2. ปรับปรุงหลักเกณฑ์การลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

สำหรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก.ล.ต. ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์เพื่อให้มีการกระจายความเสี่ยงอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับแนวปฏิบัติสากล เนื่องจากเป็นเงินออมเพื่อใช้ในยามเกษียณ โดยเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสมาชิกโดยตรงมี 2 เรื่อง ได้แก่ (1) กรณีที่สมาชิกกองทุนเลือกลงทุนในนโยบายที่มีความเสี่ยงสูง บริษัทจัดการต้องจัดทำการประเมินระดับความเสี่ยง (suitability test) และให้คำแนะนำที่เหมาะสมแก่สมาชิก (2) เพิ่มทางเลือกในการลงทุนและให้มีการกระจายความเสี่ยงที่เหมาะสม โดยให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพสามารถลงทุนในกลุ่มทรัพย์สินทางเลือก เช่น กองทุนรวมสินค้าโภคภัณฑ์หรือตราสารที่อ้างอิงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานได้ไม่เกินร้อยละ 15 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) รายกองทุนหรือรายนโยบายการลงทุนแล้วแต่กรณี เป็นต้น

“ก่อนที่จะตัดสินใจลงทุน ผู้ลงทุนจะต้องรู้จักและเข้าใจในสินค้าที่ตนจะลงทุนให้ดี ก.ล.ต. จึงให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูลและเอกสารที่แจกจ่ายให้แก่ผู้ลงทุนเพื่อให้ศึกษาก่อนที่จะตัดสินใจ เมื่อหลักเกณฑ์เรื่องนี้ใช้บังคับ บลจ. และตัวแทนขายทุกแห่งจะต้องมีหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปที่มีเนื้อหาสำคัญครบถ้วน เข้าใจง่าย แจกจ่ายให้แก่ผู้ที่สนใจลงทุนทุกราย และการกำหนดให้จัดทำเป็นมาตรฐานเดียวกันก็เพื่อความสะดวกของผู้ลงทุนที่จะใช้เปรียบเทียบข้อมูลระหว่างกองได้

ส่วนการปรับปรุงหลักเกณฑ์การลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในครั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการจัดตั้งกองทุนและหลักสากลในเรื่องการกระจายความเสี่ยงที่เหมาะสมสำหรับเงินออมที่จะมีไว้ใช้เมื่อเกษียณหรือออกจากงาน ” นายชาลี กล่าว

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๑:๔๖ บีซีพี เทรดดิ้ง (บีซีพีที) ทำบุญสำนักงานแห่งใหม่ในสิงคโปร์ เสริมทัพขยายธุรกิจ ค้าน้ำมันดิบของกลุ่มบริษัทบางจาก
๑๑:๑๔ วีซ่าเผย 80% ของคนไทยประสบความสำเร็จใช้ชีวิตไร้เงินสด
๑๑:๕๙ แอสเซทไวส์ จับมือ สยามสปอร์ต มอบถ้วยรางวัลศึกลูกหนังเยาวชน 'แอสเซทไวส์ สยามกีฬาคัพ 2024' สานฝันเยาวชนสู่เส้นทางนักบอลอาชีพ
๑๑:๓๓ ยูนิเวนเจอร์ เผยผลประกอบการครึ่งปีแรก
๑๑:๐๖ พักอวานี รับฟรีบัตรชมคอนเสิร์ต
๑๑:๓๙ ACE เปิดงบ Q1/67 กวาดรายได้ 1,471.4 ลบ. แย้มข่าวดีมีโรงไฟฟ้าใหม่อีกกว่า 15 โครงการ จ่อทยอย COD ภายในปีนี้และปีหน้า
๑๑:๐๐ digiRunner แพลตฟอร์มการจัดการเอพีไอบนระบบคลาวด์ของทีพีไอซอฟต์แวร์ มีให้บริการบน AWS Marketplace แล้ว
๑๐:๒๒ IP ปักธงรายได้ปี 67 โตกว่าสองพันล้านบาท ลุยเปิดร้าน Lab เป็น 40 สาขาภายในสิ้นปี โชว์ผลงานงวดแรก 1Q24 รายได้นิวไฮเฉียด 500
๑๐:๒๓ กลับมาแล้ว! Big Bad Wolf Books เทศกาลหนังสือภาษาอังกฤษสุดยิ่งใหญ่ เริ่ม 23 พ.ค. - 4 มิ.ย.นี้ ที่ The Market Bangkok ราชประสงค์ ตั้งแต่ 10
๑๐:๕๔ 54 ปี SPU ให้ความรู้ : SIT SPU ชวนฟัง มืออาชีพมาเล่าประสบการณ์จริง Tech Talk #03: AI ช่วยการวินิจฉัยโรคผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลและภาพทางการแพทย์