สช. ชี้เด็กไทยยังเสี่ยงภัยจากสารพิษ “พลาสติก-ตะกั่ว” หนุนให้ความรู้ พ่อแม่-ชุมชน-ภาครัฐ ป้องกันการปนเปื้อน

อังคาร ๓๐ สิงหาคม ๒๐๑๑ ๑๐:๒๘
สถาบันสุขภาพเด็กฯ เดินหน้าปกป้องเด็กไทยให้ปลอดภัยจากสารพิษในพลาสติกและสารตะกั่วในสิ่งแวดล้อม หลังพบขวดนมเด็กจากพลาสติกอันตรายขายเต็มท้องตลาด มีผลต่อฮอร์โมนเพศและการเจริญเติบโตบกพร่อง หนุนพ่อแม่และหน่วยงานภาครัฐร่วมจัดการสิ่งแวดล้อม ลดใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากพลาสติกอันตราย และเด็กอายุน้อยกว่า 6 ขวบมีความเสี่ยงต่อพิษจากสารตะกั่วมากทีสุดหวั่นส่งผลต่อ IQ เด็ก

สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี สังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการจัดทำโครงการ “อาหารปลอดภัย เด็กไทยพ้นภัยสารพิษพลาสติก” และโครงการ “รณรงค์ป้องกันภัย อาหารปนเปื้อนสารตะกั่ว” ภายใต้โครงการ “อาหารปลอดภัยเด็กไทยฉลาด” ของกระทรวงสาธารณสุข โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เด็กไทยฉลาดรู้ ฉลาดเลือก และฉลาดบริโภค สอดคล้องตามข้อตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิเด็กของ UNICEF และองค์การสิ่งแวดล้อมโลก (UNEP) ที่ระบุว่าเด็กควรได้รับการปกป้องคุ้มครองให้ปลอดภัยจากผลกระทบสิ่งแวดล้อม

โดยสถาบันสุขภาพเด็กฯ ได้มุ่งเน้นการทำงานเชิงรุกมาอย่างต่อเนื่อง จากการลงพื้นที่สำรวจข้อมูลในพื้นที่ๆ มีรายงานการพบการปนเปื้อนสารตะกั่วในเลือดของเด็กที่ อ.อุ้มผาง จังหวัดตาก และการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทำให้ทราบว่า ในสิ่งแวดล้อม ที่อยู่อาศัย และสิ่งของเครื่องใช้ใกล้ตัวเด็ก ยังมีสารปนเปื้อนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาศักยภาพด้านสติปัญญาและการเจริญเติบโตอยุ่เป็นจำนวนมาก อาทิ “ขวดนม” ซึ่งมีสาร Bisphenol A (BPA) ที่จะส่งผลต่อการพัฒนาของระบบประสาทและอวัยวะสืบพันธ์ของทารกและเด็กเล็ก และ “แบตเตอรี่” ซึ่งอาจมี “สารตะกั่ว” รั่วไหลและปนเปื้อนในอาหารและน้ำที่เด็กมีโอกาสสัมผัสได้โดยง่าย ที่ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการด้านสติปัญญาและการเจริญเติบโต

แพทย์หญิงรัตโนทัย พลับรู้การ รองผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีสารอันตรายมากมายหลายชนิดปนเปื้อนอยู่ในสิ่งของเครื่องใช้ของเด็ก และสิ่งแวดล้อมที่อยู่อาศัย ซึ่งไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า สารปนเปื้อนบางชนิดที่สะสมอยู่ในร่างกายของเด็ก อาจใช้เวลานานหลายปีก่อนจะปรากฏอาการเด่นชัด ซึ่งเมื่อปรากฏอาการหรือตรวจพบในภายหลังจะไม่สามารถแก้ไขหรือรักษาให้เป็นปกติได้ การขจัดความเสี่ยงต่อการสัมผัสสารปนเปื้อนของเด็ก จึงเป็นสิ่งที่พ่อแม่และผู้ปกครอง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ผลิตเครื่องใช้สำหรับเด็ก ต้องร่วมมือกันจัดการปัญหาอย่างเร่งด่วน

“กิจกรรม Building healthy kids ดูแลสิ่งแวดล้อมให้ปลอดสารพิษ สร้างคุณภาพชีวิตและอนาคตเด็กไทย เป็นกิจกรรมที่มุ่งสร้างและเน้นย้ำความรู้ให้แก่พ่อแม่และผู้ปกครองได้ทราบถึงภัยจากสารพิษพลาสติกและสารตะกั่วมากยิ่งขึ้น เพราะการที่บุตรหลานได้สัมผัสสารปนเปื้อนแม้เพียงเล็กน้อย ก็อาจส่งผลให้พัฒนาการด้านต่างๆ ของเด็กไม่เป็นไปตามวัย และเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงได้ในอนาคต” พญ.ศิราภรณ์กล่าว

แพทย์หญิงรัตโนทัย พลับรู้การ รองผู้อำนวยการ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี และประธานโครงการรณรงค์ป้องกันภัย อาหารปนเปื้อนสารตะกั่ว เปิดเผยว่า สภาพแวดล้อมในปัจจุบันมีสารปนเปื้อนที่เป็นอันตรายแฝงอยู่มากมาย ซึ่งเด็กมีโอกาสสัมผัสได้โดยไม่รู้ตัว ดังนั้นการแก้ปัญหาเรื่องสารปนเปื้อนในวัตถุสิ่งของและสิ่งแวดล้อมที่อยู่อาศัย จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันแสดงความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค โดยการไม่ใช้วัตถุดิบที่ประกอบด้วยสารอันตรายในการผลิตเครื่องใช้สำหรับเด็ก ในขณะเดียวกันทุกภาคส่วนโดยเฉพาะพ่อแม่และผู้ปกครองต้องร่วมกันสังเกตว่าในสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติในบริเวณที่อยู่อาศัย และสิ่งแวดล้อมภายในบ้าน มีสารปนเปื้อนที่เป็นอันตรายซ่อนเร้นอยู่หรือไม่

“ในปี 2554 สถาบันสุขภาพเด็กฯลงพื้นที่เพื่อตรวจหาสารตะกั่วในเลือดของเด็กวัย 1-2 ปี จำนวน151 คน ในพื้นที่อุ้มผาง จังหวัดตาก พบว่าร้อยละ60ของเด็ก มีระดับสารตะกั่วในเลือดเกินกว่า 10 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร ซึ่งเป็นปริมาณที่สูงเกินกว่าจะยอมรับได้ และจำนวนเด็กที่มีระดับสารตะกั่วสูงนั้นพบมากกว่าในปีที่แล้ว เด็กวัย 1-2 ปี เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูดสุดในการเกิดพิษจากสารตะกั่ว ซึ่งจะทำให้การพัฒนาศักยภาพทั้งด้านสติปัญญาและการเจริญเติบโตบกพร่องไปจากระดับที่ควรจะเป็น การดำเนินงานต่อจากนี้จะมีการเก็บข้อมูลเพิ่มเติม แล้วนำหารือร่วมกับหน่วยงานที่รับผิดชอบ อาทิ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อำเภออุ้มผาง สาธารณสุขจังหวัดตาก สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค และกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพิษวิทยาในเด็ก ในการกำหนดแนวทางการดูแลสุขภาพที่เหมาะสมสำหรับเด็กที่อาศัยอยู่ในอำเภออุ้มผางโดยเฉพาะ และใช้เป็นต้นแบบการดูแลสุขภาพให้แก่พื้นที่ซึ่งมีบริบทด้านสิ่งแวดล้อมและวิถีการดำเนินชีวิตที่คล้ายคลึงกันต่อไป” พญ.นัยนา ณีศะนันท์ หัวหน้าคณะนำทีมลงพื้นที่อุ้มผางระบุ

แพทย์หญิงรัชดา เกษมทรัพย์ กุมารแพทย์ หน่วยกุมารเวชศาสตร์สังคม และเลขาฯ โครงการอาหารปลอดภัยเด็กไทยพ้นภัยสารพิษพลาสติก เปิดเผยว่า การดำเนินงานในปีนี้ มุ่งรวบรวมความรู้และรณรงค์ให้พ่อแม่และผู้ปกครองเลือกใช้ขวดนมพลาสติกที่สำหรับทารกและเด็กเล็ก ที่ผลิตจากพลาสติก Polypropylene หรือ PP แทนการใช้ขวดนมพลาสติกที่ผลิตจาก Polycarbonate ซึ่งมีสาร BPA ที่จะส่งผลต่อการพัฒนาระบบประสาทและพฤติกรรมของทารกและเด็กเล็ก เนื่องจากสารเคมีตัวนี้มีโครงสร้างคล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิง จึงอาจขัดขวางการทำงานของฮอร์โมนในร่างกาย ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาระบบสืบพันธ์

“ปัจจุบันมีประเทศแคนาดา สหภาพยุโรป จีน มาเลเซีย และแอฟริกาใต้ ได้ประกาศห้ามผลิตและจำหน่ายขวดนมที่มีสาร BPA แล้ว แต่ตามท้องตลาดในประเทศไทย ยังมีการจำหน่ายขวดนมที่ผลิตจาก polycarbonate ซึ่งมีสาร BPA อยู่เป็นส่วนใหญ่ แม้พ่อแม่และผู้ปกครองเริ่มเปลี่ยนไปใช้พลาสติกที่ไม่เป็นอันตรายมากขึ้น แต่ผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายในท้องตลาดกลับยังผลิตจากพลาสติกที่เป็นอันตราย ผู้บริโภคจึงไม่มีทางเลือกมากนัก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจึงได้ร่วมกับหน่วยงานทางภาครัฐและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อร่วมกันพิจารณาแนวทางการควบคุมการผลิตและการใช้ขวดนมพลลาสติกสำหรับทารก โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาซึ่งจะทราบผลในเร็ววันนี้” พญ.รัชดา กล่าว

“การที่จะทำให้เด็กไทยพ้นภัยและห่างไกลจากพิษภัยของสารพิษจากพลาสติกและตะกั่วได้อย่างแท้จริงนั้น จะต้องทำให้พ่อ แม่และผู้ปกครอง เกิดความตระหนัก มีความรู้ ความเข้าใจถึงพิษภัยต่างๆ ที่แฝงมากับสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็ก แต่ในขณะเดียวกันหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง จะต้องให้ความสำคัญในการป้องกันและดูแลสิ่งแวดล้อมภายใต้ขอบเขตหน้าที่รับผิดชอบของตนเองอย่างเต็มความสามารถ เพื่อปกป้องบุตรหลานให้ปลอดภัย มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงและเติบโตสมวัย” แพทย์หญิงศิราภรณ์ สวัสดิวร ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวสรุป.

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๕๒ คณะ กิจกรรม วิศวฯ ม.เกษตรศาสตร์ จับมือ อัลเตอร์วิม ร่วมวิจัย-พัฒนาขีดความสามารถเชิงธุรกิจ ด้านพลังงานหมุนเวียนและระบบกักเก็บพลังงาน
๑๖:๐๖ กรุงศรีออกมาตรการช่วยเหลือ ลดดอกเบี้ยเงินกู้ 0.25% ให้ลูกค้ากลุ่มเปราะบาง เป็นเวลา 6 เดือนตอบรับแนวทางการช่วยเหลือของสมาคมธนาคารไทย
๑๖:๒๙ Lexar Professional CFexpress 4.0 Type B Card DIAMOND คว้ารางวัล BEST STORAGE MEDIA ในงาน TIPA WORLD AWARDS
๑๖:๔๔ ฟอร์ติเน็ต ร่วมมือ สกมช. คัดเลือก-ฝึกอบรมเสริมทักษะบุคลากรคลาวด์ เล็งเพิ่มทรัพยากรบุคคล เสริมความมั่นคงปลอดภัยบนคลาวด์ทุกรูปแบบ
๑๖:๒๙ ไอ-เทล รายงานผลประกอบการประจำไตรมาสแรก แข็งแกร่งด้วย รายได้กว่า 4 พันล้าน กำไรเพิ่ม 93 เปอร์เซ็นต์ มุ่งการเติบโตต่อเนื่องตลอดปี
๑๖:๒๒ หมอแม็ค แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกผมของไทย
๑๖:๐๗ ทรูเวฟ (ประเทศไทย) เปิดตัว GreenFarm.AI ผู้ช่วยคนใหม่ที่จะทำให้สวนเติบโตสวยและยั่งยืนได้ดั่งใจ
๑๖:๕๐ ไบเทคบุรี เมกะโปรเจกต์ของภิรัชบุรี กรุ๊ป พลิกโฉม ไบเทค บางนา ก้าวข้ามอุตสาหกรรม MICE สู่สถานที่แห่งไลฟ์สไตล์ครบวงจร
๑๖:๕๒ ดีมันนี่ ตอกย้ำความสำเร็จในงาน Money 20/20 Asia ในฐานะผู้บุกเบิกโซลูชัน โอนเงินไปต่างประเทศชั้นนำในวงการฟินเทคไทย
๑๖:๕๔ สบยช. ยืนยัน ชาเม่ คอลลาเจน ไม่มีสารเสพติด