“วัคซีนไรฝุ่น — ก๊าซเชื้อเพลิงชีวมวล” สุดเจ๋ง คว้ารางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นประจำปี พ.ศ.2554

อังคาร ๑๘ ตุลาคม ๒๐๑๑ ๑๑:๐๗
ทีมวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และ SCG คว้ารางวัล “นักเทคโนโลยีดีเด่นประจำปี พ.ศ.2554” จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ระบุเป็นงานวิจัยที่มีประโยชน์มากต่อวงการแพทย์และวงการอุตสาหกรรมของประเทศ ชี้รางวัลนี้ตั้งขึ้นเพื่อให้คนในสังคมไทยเห็นความสำคัญของเทคโนโลยีควบคู่ไปกับวิทยาศาสตร์พื้นฐาน และเป็นแรงกระตุ้นให้นักวิทยาศาสตร์ไทยมีกำลังใจในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศต่อไป

ศาสตราจารย์ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ประธานมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า รางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นจัดขึ้นเพื่อต้องการส่งเสริมความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของประเทศไทย และยกย่อง เชิดชูผู้ที่มีผลงานด้านเทคโนโลยี เพื่อเป็นแรงจูงใจให้คนรุ่นใหม่ยึดถือเป็นแบบอย่างต่อไป เพราะคนที่มีคุณภาพและความสามารถสูงเป็นปัจจัยที่สำคัญสำหรับการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย

รองศาสตราจารย์ ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ประธานคณะกรรมการตัดสินรางวัลรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นและรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ กล่าวถึงเกณฑ์ที่ใช้ในการตัดสินรางวัลว่ามี 3 เกณฑ์หลักๆ คือ 1. ด้านประมาณและสาระโดยต้องเป็นผลงานที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อประเทศไทย 2. ระดับของการพัฒนาโดยจะพิจารณาว่าผลงานนี้สามารถใช้ประโยชน์ได้จริงแค่ไหน และ 3. พิจารณาถึงผลกระทบของสังคมไทยที่ไม่ใช่เฉพาะทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่รวมทั้งด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อมและการป้องกันภัยด้วย

โดยในปีนี้ได้รับความสนใจจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเป็นจำนวนมาก งานวิจัยที่เสนอชื่อเข้ามามีคุณภาพสูงมาก ทั้งเนื้อหาสาระและระดับความน่าสนใจที่ก่อให้เกิดประโยชน์ให้แก่สังคมไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะนักเทคโนโลยีดีเด่นทั้ง 2 รางวัลมีผลงานที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้สูงสุดทั้งในวงการอุตสาหกรรมและวงการแพทย์ ส่วนนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ทั้ง 2 ท่านก็มีความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาต่อไปได้ในอนาคต

สำหรับในปีนี้ผู้ที่ได้รับรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นมี 2 รางวัลคือ ทีมวิจัยจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้คิดค้นวัคซีนรักษาโรคภูมิแพ้จากไรฝุ่นขึ้นภายใต้ “โครงการพัฒนาการผลิตวัคซีนโรคภูมิแพ้จากไรฝุ่นที่ได้มาตรฐานของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล” และตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา โรงพยาบาลศิริราชสามารถเพาะเลี้ยงไรฝุ่นคุณภาพดีได้ปริมาณมาก โดยเฉพาะไรฝุ่นในสายพันธุ์ Dermatophagoides pteronyssinus หรือ Dp และ Dermatophagoides farinae หรือ Df ซึ่งพบมากในประเทศไทย และสามารถเก็บเกี่ยวให้บริสุทธิ์ได้สูงกว่า 99 เปอร์เซ็นต์ และนำไรฝุ่นสายพันธุ์ดังกล่าวมาผลิตน้ำยาสกัดจากสารก่อภูมิแพ้และวัคซีนสำหรับตรวจและรักษาโรคภูมิแพ้ ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการตรวจรักษาผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ในประเทศ และทำให้สามารถตรวจรักษาผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ได้ทั่วถึงยิ่งขึ้น

และ ดร.เกรียงไกร สุขแสนไกรศร วิศวกรใหญ่ ฝ่ายวิศวกรรมและเทคนิค บริษัท เอสซีจี ซีเมนต์ จำกัด ที่ร่วมมือกับบัณฑิตวิทยาลัยด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) พัฒนาพลังงานทางเลือกที่เรียกว่า SCG Fluidized Bed Gasifier ที่ออกแบบขึ้นเพื่อรองรับกระบวนการผลิตก๊าซเชื้อเพลิงจากเชื้อเพลิงทดแทน และเชื้อเพลิงคุณภาพต่ำชนิดต่างๆ และนำไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์สำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในประเทศ ช่วยให้ประเทศไทยสามารถประหยัดงบประมาณการนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศที่มีราคาสูงได้ 5 - 7 เท่า โดยปัจจุบันโครงการนี้ได้ขยายเข้าไปใช้ใน 3 กลุ่มอุตสาหกรรมคืออุตสาหกรรม กระดาษ อุตสาหกรรมซีเมนต์และอุตสาหกรรมเซรามิก ซึ่งสามารถทดแทนการใช้ น้ำมันเตา ถ่านหิน หรือแก๊สธรรมชาติได้จำนวนมาก

ส่วนรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ในปีนี้มี 2 รางวัลคือ ดร.นิศรา การุณอุทัยศิริ หัวหน้าห้องปฏิบัติการไมโครอะเรย์แบบครบวงจร ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่ร่วมมือกับนักวิจัยของห้องปฏิบัติการไมโครอะเรย์แบบครบวงจร เพื่อพัฒนาศักยภาพการผลิตไมโครอะเรย์ในประเทศไทย ถือเป็นเทคโนโลยีพื้นฐาน ใช้สำหรับการตรวจวิเคราะห์เชื้อชนิดต่างๆจากตัวอย่างจำนวนมากๆได้ในการตรวจเพียงครั้งเดียว ทำให้ประหยัดเวลาในการตรวจ และมีราคาถูกมีประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมอาหารส่งออกและอุตสาหกรรมเกษตรเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังสามารถนำไปใช้พัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรโดยเฉพาะกุ้งกุลาดำ ช่วยแก้ไขปัญหาการเลี้ยงกุ้งของเกษตรกรได้อย่างตรงจุด ส่งผลให้สามารถฟื้นฟูและปรับปรุงอุตสาหกรรมการเลี้ยงและส่งออกกุ้งกุลาดำได้อย่างยั่งยืน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภินิติ โชติสังกาศ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับวิศวกรรมปฐพี 2 กลุ่ม กลุ่มงานแรกคือ เครื่องมือวัดหน่วยแรงของน้ำในช่องว่างดิน การวัดศักย์แรงดูดในดิน และการทดสอบที่เกี่ยวข้อง โดยมีการนำไปใช้ในงานวิจัยพื้นฐานและวิจัยประยุกต์ที่เกี่ยวข้องกับสมบัติทางกลศาสตร์ของดินและการไหลของน้ำในดิน รวมทั้งเผยแพร่สู่เครือข่ายนักวิจัยทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเป็นที่สนใจอย่างมากเนื่องจากราคาถูกและใช้งานได้สะดวก และกลุ่มงานที่ 2 คือ ระบบเตือนภัยดินถล่มและการพัฒนาเกณฑ์การเตือนภัยดินถล่มและแนวทางการปรับปรุงเสถียรภาพของลาดดิน ที่สามารถนำผลการตรวจวัดแรงดันน้ำในดิน และการเคลื่อนตัวของลาดดิน ประยุกต์สู่เกณฑ์การเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกเหนือจากการใช้ปริมาณน้ำฝนในการเตือนภัยเพียงอย่างเดียว

รองศาสตราจารย์.ดร.ศักรินทร์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยนิยมนำเข้าเทคโนโลยีมาจากต่างประเทศ ส่งผลให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในตลาดโลกมีข้อจำกัด ที่สำคัญคือทำให้คุณค่าของคนในประเทศต่ำลงไปด้วย แต่ปัจจุบันการลงทุนวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทยเริ่มเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มภาคเอกชนหลายแห่งที่ให้ความสำคัญกับการลงทุนวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้น เพราะไทยไม่สามารถแข่งขันได้เรื่องแรงงานราคาถูกอีกต่อไป จึงมีความจำเป็นที่ต้องเร่งพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นใช้เองรวมถึงบุคลากรทางด้านเทคโนโลยี เพื่อให้ก้าวทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๔ พ.ค. Siriraj Education Expo 2024 ก้าวสู่ยุคใหม่ไปกับศิริราช พร้อมยกระดับทางการแพทย์ให้ดีขึ้น เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยทุกคน
๐๓ พ.ค. ครั้งแรก! งานเทศกาลคอนเทนต์ LGBTQ ฉลองความเท่าเทียมทางเพศ THAILAND INTERNATIONAL LGBTQ FILM TV FESTIVAL 2024 ปักหมุดเตรียมพบกัน กันยายนนี้
๐๓ พ.ค. โน วัน เอลส์ ส่ง 3 เพลงรัก 3 สไตล์! ผ่านมิวสิกซี่รีย์ ที่จะทำให้คุณเข้าใจความรักมากขึ้น
๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง