บทความ: มุมต่างหลังภัยน้ำท่วม GDP โตบนความสูญเสีย

พฤหัส ๒๐ ตุลาคม ๒๐๑๑ ๑๖:๔๙

รศ.ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ที่ปรึกษา ฝ่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า ปัญหาน้ำท่วมครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นอย่างมาก ข้อมูลจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย วันที่ 18 ต.ค. 54 ระบุมีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบอุทกภัยในภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลาง 62 จังหวัด 621 อําเภอ ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 2,742,310 ครัวเรือน 8,795,516 คน เสียชีวิต 315 ราย สูญหาย 3 คน มีการประมาณการเบื้องต้นว่าน้ำท่วมครั้งนี้จะสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากกว่า 100,000 ล้านบาท จะฉุดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่คาดไว้ว่าจะโตร้อยละ 4 ให้ลดลง ซึ่งเป็นการคาดประมาณตามที่ท่านนายกรัฐมนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้กล่าวไว้ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

ในความเป็นจริงสิ่งที่เกิดขึ้นมักตรงข้าม โดยจะพบว่า เมื่อประเทศเกิดปัญหาภัยพิบัติอย่างรุนแรง เผชิญความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างมหาศาล ในไตรมาสต่อๆมากลับมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น เช่น จากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่คาดการณ์ไว้เดิมที่ร้อยละ 4 มาเป็นร้อยละ 4.5 เป็นต้น ซึ่งสาเหตุแท้จริงก็ไม่ได้เป็นเพราะปัญหาพิบัติภัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นช่วยทำให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้น โดยดูจากรายได้ประชาชาติปรับเพิ่มสูงขึ้น แต่เป็นเพราะบัญชีรายได้ประชาชาติมิได้ถูกออกแบบมาเพื่อวัดมูลค่าความเสียหายที่เกิดจากภัยพิบัติเหล่านี้

สิ่งที่มักพบช่วงหลังภัยพิบัติหรืออุกทกภัยคือ แน่นอนมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สร้างรายได้บางประเภทประสบปัญหาและทำให้รายได้ประชาชาติปรับลดลง เช่น รายได้จากภาคอุตสาหกรรมการผลิตในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ลดลง แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีกิจกรรมที่สร้างรายได้เพิ่มขึ้นเกิดขึ้นอีกมาก เช่น อุปกรณ์และวัสดุก่อสร้าง อิฐ หิน ปูน ทราย ข้าวสาร อาหารแห้ง น้ำดื่มบรรจุขวด ปั๊มน้ำ สูบน้ำ อุปกรณ์ไฟฟ้า ตู้เย็น ทีวี เครื่องซักผ้า ธุรกิจจัดสวน ไม้ดอกประดับ อู่ซ่อมรถ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ธุรกิจประกันภัย เวชภัณฑ์ การรักษาพยาบาล รวมไปถึงการเร่งจ่ายงบประมาณภาครัฐ เพื่อชดเชยให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วม กิจกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นกิจกรรมที่สร้างรายได้เพิ่มขึ้นจากภาวะน้ำท่วม ซึ่งการเพิ่มขึ้นของยอดขายเหล่านี้ จะมีผลทำให้รายได้ประชาชาติเพิ่มขึ้นและทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ GDP เพิ่มสูงขึ้นด้วย

ที่ปรึกษาฯทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า แม้ประชาชนจะสูญเสียทรัพย์สินมีค่าที่ใช้เวลาสะสมมานานอย่างบ้าน ที่อยู่อาศัย สถานประกอบการ เครื่องจักรอุปกรณ์ ที่สวน ไร่นา มูลค่าทรัพย์สินเหล่านี้ไม่ได้ถูกบันทึกในรายการในบัญชีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ จึงไม่ส่งผลฉุดให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ GDP ลดลง อย่างที่ท่านนายกรัฐมนตรีกล่าวไว้ อย่างไรก็ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นและให้ผลบวกต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจซึ่งในภาวะปรกติจะสะท้อนความกินดีอยู่ดี แต่ในสภาวะการณ์ภายหลังภัยพิบัติ GDP ที่เติบโตจะสะท้อนความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่ประเทศต้องนำทรัพยากรไปใช้ในกิจกรรมอันไม่พึงประสงค์ ดังนั้นรัฐบาลจึงควรประเมินความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากปัญหาน้ำท่วมโดยไม่ต้องอิงการเปลี่ยนแปลงของ บัญชีรายได้ประชาชาติ.

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๔ พ.ค. C Rhyne Group ร่วมจัดงาน Asia Top Awards 2024 พร้อมรับรางวัล Business Awards
๒๔ พ.ค. FTI พบนักลงทุน Opportunity Day โชว์ผลงานไตรมาสแรก ปี 67
๒๔ พ.ค. ต้อนรับศูนย์อินเดียฯ สู่สถาบันเอเชียศึกษา พร้อมเปิดตัวหนังสือพุทธโคดม : บทวิเคราะห์เชิงรัฐศาสตร์ ว่าด้วยพุทธประวัติในบริบททางเศรษฐกิจ การเมือง
๒๔ พ.ค. Alibaba Cloud ประกาศเปิด Availability Zones ใหม่ และลงทุนทั่วโลกเพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมด้าน AI
๒๔ พ.ค. PwC ประเทศไทย แนะซีเอฟโอสร้างทัศนคติทางดิจิทัลเพื่อพลิกโฉมฝ่ายการเงิน
๒๔ พ.ค. เจแอนด์ที เอ็กซ์เพรส จับมือ กรมป่าไม้ จัดโครงการรักษาผืนป่า JT Forest สร้างการตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลสิ่งแวดล้อม
๒๔ พ.ค. 3 นวัตกรรมจุฬาฯ คว้ารางวัลเหรียญทอง และถ้วยรางวัลพิเศษ จากเวทีนวัตกรรมนานาชาติในงาน ITEX 2024 ที่มาเลเซีย
๒๔ พ.ค. ส่องไอเดียเยาวชนสร้างสรรค์! DekSDM SPU ออกแบบ Art Toy สุดน่ารัก หนึ่งในผลงาน โชว์บนเวที Thailand Toy Expo
๒๔ พ.ค. MAGURO เคาะราคาไอพีโอ 15.90 บาท จองซื้อ 28-30 พ.ค.นี้ ระดมทุนขยายธุรกิจ- หนุนการเติบโต และเสริมแกร่งการเงิน จ่อเทรด 5 มิ.ย.
๒๔ พ.ค. มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง สร้างอาชีพ สร้างชีวิต ร่วมกับกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว มอบอุปกรณ์ประกอบอาชีพให้กับสตรีที่ด้อยโอกาสในโครงการส่งเสริมอาชีพเพื่อสตรี ณ ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวรัตนาภา