ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เสนอ 3 มาตรการทางเลือกเพื่อช่วยลูกค้าสินเชื่อรายย่อยที่ประสบภัยน้ำท่วม

ศุกร์ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๐๑๑ ๑๒:๑๗
นายสุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารมีความตั้งใจที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยแบ่งเบาความเดือดร้อนให้แก่ลูกค้าของธนาคารที่ประสบอุทกภัย โดยได้ออกมาตรการ 3 ทางเลือกเพื่อบรรเทาภาระของลูกค้าสินเชื่อรายย่อยที่ประสบภัย โดยลูกค้าปกติทั้งสินเชื่อบุคคลมีหลักประกัน และสินเชื่อบุคคลไม่มีหลักประกัน สามารถพิจารณาเลือกมาตรการที่สอดคล้องกับสถานะความต้องการและความจำเป็นของแต่ละบุคคล มาตรการข้อหนึ่งข้อใดในสามแนวทาง ได้แก่ 1) การพักชำระหนี้ให้สูงสุดที่ 90 วัน หรือ 3 เดือน โดยลูกค้าไม่ต้องผ่อนชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยกับธนาคารเป็นเวลา 3 เดือน (3 งวด) จากนั้นในเดือนที่ 4 ลูกค้าจึงผ่อนชำระค่างวดในอัตราเดิมตามปกติที่เคยผ่อนอยู่ จนกว่าจะครบอายุสัญญาที่ทำไว้ จากนั้นจึงค่อยผ่อนชำระเงินต้นและดอกเบี้ยของ 3 เดือนที่พักชำระไว้ดังกล่าวต่อท้าย กล่าวคือ หากเวลาครบกำหนดสัญญาเดิมอยู่ที่ 3 ปี หรือ 36 เดือน ก็จะชำระเสร็จสิ้นที่ 39 เดือน หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นแนวทางในการยืดเวลาการชำระหนี้ให้ลูกค้าออกไป 3 เดือน เพื่อไม่ต้องพะวงกับการชำระค่างวดระหว่างน้ำท่วม

สำหรับมาตรการที่ 2) คือ การขยายระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ให้สูงสุด 12 เดือน ซึ่งจะเป็นการช่วยลดจำนวนเงินผ่อนชำระต่อเดือนให้แก่ลูกค้า เช่น หากเดิมลูกค้าทำสัญญาเงินกู้ไว้กับธนาคารจำนวน 5 ปี หรือ 60 เดือน ยอดผ่อนชำระที่ 10,000 บาทต่อเดือน ถ้าขยายระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ออกไปสูงสุดที่ 12 เดือน สัญญาเงินกู้ดังกล่าวก็จะกลายเป็น 6 ปี หรือ 72 เดือน โดยยอดผ่อนชำระต่อเดือนก็จะลดลงเหลือ 8,000 บาทต่อเดือน

มาตรการที่ 3) คือ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงจากอัตราปัจจุบัน เป็นเวลา 6 เดือน โดยแบ่งเป็นการลดดอกเบี้ยสูงสุดที่ 1.5% สำหรับสินเชื่อบุคคลมีหลักประกัน และลดดอกเบี้ยสูงสุดที่ 7% สำหรับสินเชื่อบุคคลไม่มีหลักประกัน หรือคิดเป็นการปรับลดดอกเบี้ยให้ต่อเดือนสูงสุดที่ประมาณ 30% โดยลูกค้ายังคงผ่อนชำระหนี้ในแต่ละเดือนจำนวนเท่าเดิม แต่จะทำให้ลูกค้าสามารถเสร็จสิ้นการผ่อนชำระได้เร็วขึ้นจากเดิม

“เนื่องจากความจำเป็นและความต้องการของลูกค้าแต่ละท่านที่ย่อมแตกต่างกันออกไป ดังนั้นธนาคารจึงได้หาแนวทางที่ค่อนข้างหลากหลายไว้เพื่อเป็นตัวเลือกของลูกค้า ซึ่งเมื่อลูกค้าได้ติดต่อแจ้งความประสงค์เข้ามา ธนาคารจะพิจารณาให้ความช่วยเหลือด้วยแนวทางที่เหมาะสมและลดหลั่นกันไปตามความเดือดร้อนของแต่ละราย โดยหากลูกค้าท่านใดที่ได้รับผลกระทบมาก ธนาคารก็จะให้ความช่วยเหลือตามมาตรการดังกล่าวในเกณฑ์ที่สูงไปตามลำดับ ทั้งนี้ มาตรการที่ได้ประกาศออกมานี้ อยู่บนพื้นฐานที่ธนาคารมีความตั้งใจจริงที่จะช่วยเหลือลูกค้าในแนวทางที่ดีที่สุดและเชื่อว่าเป็นมาตรการที่อยู่ในเกณฑ์ที่ดีในระบบสถาบันการเงิน” นายสุภัค กล่าว

อนึ่ง ลูกค้าสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม และแจ้งความจำนงเข้าร่วมในมาตรการช่วยเหลือของธนาคารดังกล่าว ได้ที่ CIMB Thai Care Center 0-2626-7777 กด 0

ข้อมูลเกี่ยวกับธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน)

ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เป็นธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศไทย มี 155 สาขาทั่วประเทศ และให้บริการผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่หลากหลายแก่ทั้งลูกค้าบรรษัทและลูกค้ารายย่อย ธนาคารยังให้บริการค้าหลักทรัพย์ ที่ปรึกษาทางการเงินให้แก่บริษัท ให้บริการกองทุนรวม การจัดการสินทรัพย์ และผลิตภัณฑ์ประกันภัย และบริการต่างๆผ่านทางบริษัทในเครือและสาขา หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม โปรดเข้าเว็บไซต์ www.cimbthai.com

ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เดิมรู้จักกันในชื่อ ไทยธนาคาร ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของ กลุ่มซีไอเอ็มบี ในปี 2552 เมื่อกลุ่มซีไอเอ็มบี ได้เข้าถือหุ้น 93.15% โดย วันที่ 30 กันยายน 2554 สินทรัพย์ของธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย มีมูลค่าคิดเป็น 157,493 ล้านบาท

ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศปรับเพิ่มอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เป็น ‘BBB’ จาก ‘BBB-’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ แก่ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย สะท้อนเหตุผลหลักที่มาจากการเพิ่มขึ้นของระดับการเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจทั้งในเชิงกลยุทธ์และการดำเนินงานระหว่างธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย และซีไอเอ็มบี แบงก์ เบอร์ฮาด ของมาเลเซีย (ปัจจุบัน ฟิทช์ให้อันดับเครดิตที่ ‘BBB+’/ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) และมีเหตุผลรองมาจากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ในช่วง 12-18 เดือนที่ผ่านมาจากสภาวะของการดำเนินธุรกิจที่ดีขึ้น ซึ่งทำให้อันดับเครดิตของธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย สามารถปรับเข้าใกล้กับอันดับเครดิตของกลุ่มซีไอเอ็มบีมากขึ้น

ข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มซีไอเอ็มบี

CIMB Group Holdings Berhad มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ กัวลาลัมเปอร์ และเป็นบริษัทจดทะเบียนที่ให้บริการทางการเงินที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของมาเลเซีย ณ วันที่ 31 มีนาคม 2554 กลุ่ม ซีไอเอ็มบี เป็นบริษัทที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ในตลาดหลักทรัพย์ เบอร์ซ่า มาเลเซีย ด้วยมูลค่าเงินทุนหมุนเวียนในตลาด จำนวน 60.9 พันล้านริงกิต ตลาดหลักของกลุ่ม ซีไอเอ็มบี ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ไทย และกัมพูชา ปัจจุบัน กลุ่ม ซีไอเอ็มบี มีจำนวนพนักงานมากกว่า 38,000 คน ใน 14 ประเทศ และเป็นผู้ให้บริการและนำเสนอผลิตภัณฑ์การเงินอย่างครบวงจร ที่ครอบคลุมถึง บริการการธนาคารเพื่อลูกค้ารายย่อย บริการด้านบรรษัทธุรกิจและด้านวาณิชธนกิจ ธนาคารอิสลาม การบริหารจัดการสินทรัพย์ การบริหารความมั่งคั่งส่วนบุคคล บริการประกันภัย และ ตะกาฟุล รวมทั้งการให้บริการธนบดีธนกิจ ผ่านทางเครือข่ายรายย่อยที่มีมากกว่า 1,100 สาขาในอาเซียน หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม โปรดเข้าเว็บไซต์ www.cimb.com

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๕:๓๘ Siriraj Education Expo 2024 ก้าวสู่ยุคใหม่ไปกับศิริราช พร้อมยกระดับทางการแพทย์ให้ดีขึ้น เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยทุกคน
๐๓ พ.ค. ครั้งแรก! งานเทศกาลคอนเทนต์ LGBTQ ฉลองความเท่าเทียมทางเพศ THAILAND INTERNATIONAL LGBTQ FILM TV FESTIVAL 2024 ปักหมุดเตรียมพบกัน กันยายนนี้
๐๓ พ.ค. โน วัน เอลส์ ส่ง 3 เพลงรัก 3 สไตล์! ผ่านมิวสิกซี่รีย์ ที่จะทำให้คุณเข้าใจความรักมากขึ้น
๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง