กลับเข้าบ้าน..หลังน้ำลดอย่างอุ่นใจ ด้วยเคล็ดลับ “ซ่อมบ้าน...หลังน้ำลด” กับ 6 คำถามยอดฮิต พร้อมแนวทางรับมือ!!!

ศุกร์ ๑๖ ธันวาคม ๒๐๑๑ ๑๖:๒๙
หลัง “น้ำลด” ใครๆ ก็อยากกลับบ้าน...เมื่อปัญหาอุทกภัยเริ่มเข้าสู่ช่วงคลี่คลาย ผู้ประสบภัยจำนวนมากต้องเผชิญกับปัญหาบ้านเกิดความเสียหายโดยได้รับผลกระทบมาจากน้ำท่วมเป็นระยะเวลานาน ซึ่งผู้ประสบภัยส่วนใหญ่ ยังขาดประสบการณ์ในการซ่อมแซมบ้านอย่างถูกต้องและตรงจุด ตราช้างและคอตโต้ ร่วมกับ สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ผลิตคู่มือ “ซ่อมบ้าน หลังน้ำลด” ที่รวบรวมหลากหลายคำถามยุ่งยากใจที่ผู้ประสบภัยหลายต่อหลายคนต้องการ “คำตอบ” และสาระน่ารู้ในการฟื้นฟูบ้านหลังน้ำลด เพื่อส่งผ่านเป็นกำลังใจให้ทุกครอบครัวของผู้ประสบภัยสามารถใช้ยึดเป็นแนวทางในการซ่อมแซมฟื้นฟูและกลับคืนสู่บ้านอันเป็นที่รักทุกหลังได้อย่างอุ่นใจ

เนื้อหาสาระในคู่มือ “ซ่อมบ้าน หลังน้ำลด” เล่มนี้เป็นความร่วมมือครั้งสำคัญของผู้คนในแวดวงวิศวกรรม ทั้งเหล่าวิศวกรอาสา จากคลินิกช่างของ วสท. รวมถึงผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมช่างเหมาไฟฟ้าและเครื่องกลไทย (TEMCA) และทีมงานที่มากประสบการณ์จากตราช้างและคอตโต้ในเครือเอสซีจีที่มาร่วมระดมความคิดในการตอบคำถามเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาฟื้นฟูบ้านหลังน้ำท่วมให้กับผู้ประสบภัย ซึ่ง นายอนุวัตร เฉลิมไชย แบรนด์ไดเร็คเตอร์ สำนักงานบริหารแบรนด์ บริษัท เอสซีจีผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด ได้บอกเล่าถึงเนื้อหาสำคัญของคู่มือ ซึ่งจะครอบคลุมทั้ง 6 เรื่องสำคัญที่ต้องจัดการ นั่นก็คือ การเตรียมตัวก่อนเข้าตรวจเช็คความเสียหายภายในบ้าน ด้วยความปลอดภัย ความปลอดภัยในระบบไฟฟ้า ระบบประปาและสุขาภิบาล ระบบโครงสร้าง งานตกแต่งภายใน และงานบ้านและสวน ในรูปแบบของข้อแนะนำง่ายๆ สำหรับประชาชน เพื่อใช้เป็นแนวทางการดูแล ความปลอดภัย และส่งต่อความห่วงใยไปยังผู้ประสบภัยน้ำท่วมทุกครอบครัว

เมื่อน้ำเริ่มลดระดับ แน่นอนว่าเจ้าของบ้านทุกคนต่างสรรหาทุกวิธีทางที่จะกลับเข้าสู่บ้านของตนเองให้ได้เร็วที่สุด คำถามแรกก็คือ “เราจะต้องเตรียมตัวอย่างไร ในการเข้าไปตรวจเช็คความเสียหายภายในบ้านครั้งแรก หลังน้ำลด" วิธีการที่เจ้าของบ้านจะต้องปฏิบัติก็คือ หาความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับ “ระบบไฟฟ้า” เพราะไฟฟ้า เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อัตราการเสียชีวิตของผู้ประสบภัยน้ำท่วมสูงอย่างน่าตกใจ ทางที่ดีแนะนำให้กลับเข้าไป ในช่วงเวลากลางวัน เพื่อทัศนวิสัยในการมองเห็นชัดเจนกว่า แถมยังปลอดภัยจากสัตว์มีพิษต่างๆและพวกมิจฉาชีพ และ สิ่งที่ขาดไม่ได้ ก็คือ เราต้องจดรายการของใช้จำเป็นที่ควรเตรียมพร้อมก่อนเข้าไปสำรวจบ้านครั้งแรกให้พร้อม ได้แก่

รองเท้ายาง ถุงมือยาง ไฟฉาย ไขควงเพื่อเช็คไฟรั่ว ไม้ยาวสำหรับเคาะไล่สัตว์ร้ายต่างกล้องถ่ายรูปแบบพกพา กระดาษ ดินสอ เป็นต้น

ทำอย่างไรให้ปลอดภัยจากความเสี่ยงของระบบไฟฟ้าหลังน้ำลด — เบื้องต้นเช็คก่อนเลยว่า ระดับน้ำที่ถนน หน้าบ้านของเราอย่างน้อยต้องไม่สูงเกินกว่า 10 เซนติเมตร และ น้ำในตัวบ้านต้องแห้งสนิทแล้วเท่านั้น หากยังพบว่า มีน้ำขัง ก็ยังไม่ควรผลีผลามเข้าบ้าน เพราะเสี่ยงมากและเป็นอันตรายถึงชีวิต หากมีไฟรั่วอยู่ในบริเวณบ้านของเรา ดังนั้น ถ้าสามารถเข้าบ้านได้ เจ้าของบ้านควรตรวจสอบพื้นที่ของการไฟฟ้านครหลวง หรือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคก่อนว่าพื้นที่นั้นๆ ได้ทำการตัดไฟจากสายไฟหลักของพื้นที่แล้วหรือไม่ เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถกลับเข้าบ้านได้อย่างปลอดภัยจริง ๆ นอกจากนี้ ก็ควรสวมรองเท้ายาง ถุงมือยาง และพกอุปกรณ์เช็คไฟไว้กับตัว จากนั้น ตรวจสอบแผง เมนสวิตซ์ภายในบ้าน หากแผงเมนสวิตซ์ไม่มีร่องรอยของน้ำแต่อย่างใดสามารถปิดเมนสวิตซ์ ถอดปลั๊กอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ที่น้ำท่วมออกให้หมด หากตรวจสอบโดยละเอียดแล้วว่าอุปกรณ์ไฟฟ้าทั้งหมดไม่ถูกน้ำท่วม สามารถเปิด เมนสวิตซ์ใช้งานระบบไฟฟ้าภายในบ้านได้ ส่วนแผงเมนสวิตซ์ที่ถูกน้ำท่วมหรือมีร่องรอยโดนน้ำแม้เพียงนิดเดียวหมายถึงอุปกรณ์ดังกล่าวไม่อยู่ในสภาพที่พร้อมจะใช้งาน และอาจเป็นอันตราย ต้องให้ช่างไฟฟ้าผู้ชำนาญ มาตรวจสอบและซ่อมแซมเท่านั้น

เริ่มต้นตรวจเช็คและดูแลระบบน้ำอย่างไรดี — โดยทั่วไปแล้วระบบประปาและสุขาภิบาลในตัวบ้านจะแบ่งเป็นระบบน้ำดีและระบบน้ำเสีย ในส่วนของระบบน้ำดีควรเริ่มจากการตรวจสอบความสะอาดภายในถังเก็บน้ำใต้ดินดูว่า มีตะกอนดินหรือขยะสะสมภายในถังมากน้อยแค่ไหน แล้วจึงถ่ายน้ำภายในถังทิ้งทั้งหมด ก่อนทำความสะอาดถังและเติมน้ำประปาใหม่ทันที เพื่อปรับให้แรงดันภายในและภายนอกถังเก็บน้ำมีความสมดุล หากไม่เติมน้ำทันทีนำมาซึ่งปัญหาถังยุบตัว อย่าลืมเช็คดูลูกลอยภายในถังเก็บน้ำใต้ดินด้วยว่ามีการงอเสียหายหรือไม่ ส่วนระบบน้ำเสียนั้น ต้องตรวจสอบอย่างละเอียดด้วยการเปิดฝาเพื่อตรวจเช็คดูปริมาณตัวกลางจุลินทรีย์ที่หลุดลอยออกไปแล้ว เติมจุลินทรีย์ใหม่ และเช็คสภาพระบบชำระล้างเพื่อดูว่าสุขภัณฑ์ยังสามารถชำระล้างได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ หากมีการอืด ตัน อาจเป็นผลมาจากการอุดตันในเส้นท่อระบายน้ำของเหล่าเศษขยะและตะกอนต่างๆ

บ้านจะพังหรือไม่ ถ้าบ้านถูกน้ำท่วมนาน - บ้านโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กที่นิยมใช้กันอยู่ในปัจจุบันส่วนใหญ่แล้วไม่พบปัญหาที่เกิดขึ้นจากการถูกน้ำท่วม แต่เพื่อความมั่นใจว่าโครงสร้างยังมีความมั่นคงแข็งแรง ให้รอดูประมาณ 1-2 เดือนหลังเนื้อคอนกรีตแห้งแล้ว หากเหล็กที่เสริมคอนกรีตเป็นสนิมจะดันให้เนื้อคอนกรีตแตกออกมาให้เห็น ควรเรียกวิศวกรเข้ามาตรวจสอบ แต่หากไม่พบความเสียหายใดๆ ก็สามารถตกแต่งผิวและทาสีได้เลย ส่วนสัญญาณอันตรายที่บ่งบอกว่าโครงสร้างบ้านไม่มั่นคงแข็งแรงอีกต่อไป และจำเป็นต้องรีบตามวิศวกรมาตรวจสอบโดยเร็ว คือ รอยร้าวปรากฏบนผนังและเป็นรอยร้าวที่มีรูปแบบ เช่น มีลักษณะเป็นเส้นตรง เส้นเฉียง เส้นโค้ง หรือมีรอยแตกบริเวณเนื้อเสาใกล้มุมเสา หรือมีรอยแตกที่แนวเสาหรือท้องคาน ยกเว้นแต่พวกรอยแตกเล็กๆและไม่เป็นระเบียบเกิดขึ้นบนผิวผนัง ที่เรียกกันว่ารอยแตกลายงา ซึ่งไม่เป็นรอยร้าวอันตรายต่อโครง เพียงแต่ทำให้ผิวผนังอาคาร ไม่สวยงามเท่านั้น

กลุ้มใจกับกระเบื้อง เซรามิค ยาแนว และรอยแตกร้าวในตัวบ้าน - เมื่อบ้านต้องเจอน้ำท่วมสูง แรงดันของน้ำ จากด้านล่างใต้พื้นดินจะบุกรุกเข้าบ้านตามรอยต่อของแผ่นพื้นสำเร็จและดันทะลุปูนทับหน้า ทำให้วัสดุกรุผิวต่างๆ เสียหาย อาทิ พื้นบ้านประเภทที่เป็นเซรามิค กระเบื้อง จะประสบปัญหากาวยาแนวเสียหายให้ต้องรื้อทิ้งและปูใหม่ ส่วนพื้นไม้ปาร์เก้ติดกับพื้นด้วยกาวนั้นไม่ควรรีบร้อนซ่อมแซม เพราะต้องทิ้งระยะเวลาปล่อยให้พื้นไม้และรวมทั้ง พื้นคอนกรีตด้านล่างแห้งสนิทเสียก่อน สำหรับบ้านที่ปูพื้นไม้ลามิเนต MDF หลังจากการจมน้ำแล้ว เนื้อไม้จะแยกตัว ไม่สามารถใช้งานได้อีก ต้องรื้อเปลี่ยนใหม่อย่างเดียว แต่หากเป็นลามิเนตไม้จริง เจ้าของบ้านควรเร่งนำไปผึ่งแห้ง แล้วให้ช่างผู้ชำนาญตรวจสอบดูว่ายังสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ไหม

สวนสวย พังไม่เป็นท่า เกินเยียวยาจริงหรือ - ไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ที่แช่อยู่ในน้ำเป็นเวลานานหลายวันอาจทำให้รากต้นไม้ชุ่มน้ำเกินไปและมีอาการสำลักน้ำ คือ กิ่งก้านกรอบแห้งเป็นสีน้ำตาลแก่ หากเจ้าของบ้านลังเลไม่อยาก โค่นทิ้ง ควรรีบเล็มพุ่มให้เล็กลงพร้อมกับขุดร่องรอบโคนต้นเพื่อเพิ่มอากาศในดิน เพื่อป้องกันปัญหาไม้ใหญ่ล้มทับบ้านในวันใดวันหนึ่ง แต่หากต้องการดูว่าต้นไม้ต้นใดจะรอดบ้างนั้น อาจต้องใช้เวลาในการรอดูว่า หลังน้ำลดแล้ว สภาพต้น กิ่งก้านจะมีสภาพที่ดีขึ้นหรือไม่ โดยสำหรับต้นไม้เล็กจะใช้เวลารอดูประมาณ 3-4 วัน ต้นไม้ขนาดกลาง ใช้เวลา 5-6 วัน และต้นไม้ขนาดใหญ่จะใช้ระยะเวลาราว 7-14 วัน เป็นต้น

คู่มือ “ซ่อมบ้าน หลังน้ำลด” จะเป็นเสมือนคู่มือชั้นเยี่ยมสำหรับการกลับเข้าบ้านหลังน้ำลดได้อย่างอุ่นใจและปลอดภัย ผู้สนใจสามารถติดตามอ่านเนื้อหาโดยละเอียดในหนังสือคู่มือ “ซ่อมบ้าน หลังน้ำลด” ได้ โดยติดต่อขอรับคู่มือฟรีได้ที่โฮมโซลูชั่น เซ็นเตอร์ ตราช้างรูฟฟิ่ง เซ็นเตอร์ คอตโต้ สตูดิโอ และที่เอสซีจี เอ็กซพีเรียนซ์ รวม 20 แห่ง หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ Call Center 02- 5864141, 02-586-2222 และดาวน์โหลดคู่มือ “ซ่อมบ้าน หลังน้ำลด” ได้ที่เว็บไซต์ www.trachang.co.th และ www.cotto.co.th

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๔ พ.ค. Siriraj Education Expo 2024 ก้าวสู่ยุคใหม่ไปกับศิริราช พร้อมยกระดับทางการแพทย์ให้ดีขึ้น เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยทุกคน
๐๓ พ.ค. ครั้งแรก! งานเทศกาลคอนเทนต์ LGBTQ ฉลองความเท่าเทียมทางเพศ THAILAND INTERNATIONAL LGBTQ FILM TV FESTIVAL 2024 ปักหมุดเตรียมพบกัน กันยายนนี้
๐๓ พ.ค. โน วัน เอลส์ ส่ง 3 เพลงรัก 3 สไตล์! ผ่านมิวสิกซี่รีย์ ที่จะทำให้คุณเข้าใจความรักมากขึ้น
๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง