สาธารณชนคิดอย่างไรต่อ ประเด็นร้อนทางการเมืองและการยึดอำนาจ:กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนใน 17 จังหวัดของประเทศ

จันทร์ ๒๓ มกราคม ๒๐๑๒ ๑๔:๒๘
นางสาวปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา นักวิจัยประจำสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่อง สาธารณชนคิดอย่างไรต่อประเด็นร้อนทางการเมืองและการยึดอำนาจ กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนใน 17 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี สมุทรปราการ ชลบุรี น่าน พิษณุโลก เชียงใหม่ นครสวรรค์ หนองคาย ชัยภูมิ ศรีสะเกษ อุดรธานี ขอนแก่น นครราชสีมา พัทลุง นครศรีธรรมราช และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,153 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 15 — 21 มกราคม 2555 โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้นในการเข้าถึงผู้ตอบแบบสอบถามและความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 โดยผลสำรวจที่สำคัญค้นพบว่า

ประเด็นทางการเมืองที่สำคัญที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงบานปลายในหมู่ประชาชนในห้าอันดับแรก ได้แก่ ร้อยละ 54.5 ระบุเป็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รองลงมาคือ ร้อยละ 51.9 เป็นการแก้ไขกฎหมายที่กระทบต่อสถาบันสำคัญของชาติ ร้อยละ 49.6 ระบุการช่วยเหลือพวกพ้อง นักการเมือง ญาติพี่น้องของคนในรัฐบาล ร้อยละ 37.7 ระบุเป็นประเด็นเปรียบเทียบค่าเยียวยาระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมืองกับ ทหาร ตำรวจที่บาดเจ็บเสียชีวิตในภาคใต้ และร้อยละ 34.1 ระบุเป็นการปรับคณะรัฐมนตรีที่นำเอาคนภาพลักษณ์ที่เสียหายมาเป็นรัฐมนตรี

เมื่อสอบถามถึงผลงานรัฐบาลในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 76.3 รับรู้ต่อการแก้ปัญหายาเสพติดเป็นผลงานรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 80.1 ระบุการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แก้ปัญหาปากท้อง ค่าครองชีพ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ยังไม่เห็นเป็นผลงานชัดเจนของรัฐบาลชุดนี้ นอกจากนี้ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 75.2 ยังไม่เห็นผลงานรัฐบาลในการแก้ปัญหาขัดแย้ง แตกแยกของคนในชาติ

ที่น่าพิจารณาคือ แนวโน้มของคนที่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจเพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 5.4 ในเดือนมกราคม 2553 มาอยู่ที่ร้อยละ 18.3 ในขณะที่ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 81.7 ยังคงไม่เห็นด้วยต่อการยึดอำนาจจากรัฐบาลชุดปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม เกินครึ่งหรือร้อยละ 52.7 จะไม่ออกมาต่อต้านการยึดอำนาจ แต่ร้อยละ 21.1 จะออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านและร้อยละ 26.2 ไม่มีความเห็น

นางสาวปุณฑรีก์ กล่าวว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันและฝ่ายการเมืองต้องระมัดระวังอย่างยิ่งต่อความรู้สึกนึกคิดของประชาชนโดยภาพรวมทั้งประเทศ เพราะหากคำนึงถึงผลประโยชน์ของคนเฉพาะกลุ่มอาจส่งผลเสียมากมายได้ เนื่องจากผลสำรวจชี้ชัดว่า คนไทยกังวลว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการแก้กฎหมายที่ไปกระทบต่อสถาบันหลักสำคัญของชาติ รวมถึงการช่วยเหลือเอื้อผลประโยชน์ให้กับพวกพ้องของตนอาจส่งผลต่อความขัดแย้งแตกแยกรุนแรงในหมู่ประชาชนได้ อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านส่วนใหญ่รับรู้ภาพลักษณ์รัฐบาลที่มีผลงานโดดเด่นเรื่องการแก้ปัญหายาเสพติด แต่ความเดือดร้อนที่ใกล้ตัวชาวบ้านจริงๆ เช่น เรื่องเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้อง ค่าครองชีพ และค่าน้ำมันเชื้อเพลิง กลับถือว่าสอบตกอย่างน่าเป็นห่วง และการแก้ปัญหาความขัดแย้ง แตกแยกของคนในชาติก็ยังไม่ปรากฏเป็นผลงานของรัฐบาลชุดปัจจุบัน

“อย่างไรก็ตาม การจะคิดยึดอำนาจจากรัฐบาลชุดปัจจุบันก็ถูกคัดค้านจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเช่นกันเพราะชาวบ้านส่วนใหญ่เห็นแล้วว่าการยึดอำนาจที่ผ่านมาไม่ได้ทำให้ประเทศชาติและประชาชนได้ประโยชน์อย่างแท้จริง กลุ่มที่เคยได้อำนาจไปก็ไม่สามารถบริหารอำนาจได้ เพราะขาดการสนับสนุนจากสาธารณชน ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้ระบอบประชาธิปไตยของไทยหยุดชะงักอีก ทางออกคือ รัฐบาลและฝ่ายการเมืองควรเพิ่มความระมัดระวังต่อแรงเสียดทานจากอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของสาธารณชนเพื่อไม่ให้ตัวเลขยอมรับการยึดอำนาจสูงไปกว่านี้ และหากต้องการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญใดๆ การเปลี่ยนแปลงนั้นๆ น่าจะอยู่บนความเห็นพ้องต้องกันของคนส่วนใหญ่ที่แท้จริงในลักษณะที่คนไม่เห็นด้วยไม่สามารถทำอันตรายสังคมได้ เพราะถ้าความเปลี่ยนแปลงนำไปสู่ความขัดแย้งแตกแยกรุนแรงบานปลาย เรื่องมันก็จะไม่จบลงได้ง่ายและ ชาวบ้านทั่วไปก็จะมีแต่ความทุกข์ยกเว้นคนเฉพาะกลุ่มที่อาจได้ผลประโยชน์จากการยึดอำนาจนั้น” หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าว

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 48.3 เป็นชาย ร้อยละ 51.7 เป็นหญิง ตัวอย่าง ร้อยละ 5.9 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 21.8 อายุระหว่าง 20—29 ปี ร้อยละ 25.5 อายุระหว่าง 30—39 ปี ร้อยละ 20.7 อายุระหว่าง 40—49 ปี และ ร้อยละ 26.1อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 72.7 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี และร้อยละ 27.3 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 30.8 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 29.2 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 11.4 ระบุอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 10.5 ระบุอาชีพข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 8.2 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 6.6 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ และร้อยละ 3.3 ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๘:๓๓ COM7 เดินหน้าเต็มสปีด EV7 ส่งมอบแท็กซี่ไฟฟ้าล็อตแรก ดันเมกะเทรนด์ EV สู่หัวใจเมือง
๑๘:๓๖ GCAP ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ไฟเขียวผ่านฉลุยทุกวาระ พร้อมเดินหน้าแผนธุรกิจขยายสู่กลยุทธ์ Non Lending
๑๘:๔๔ PYLON จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ผู้ถือหุ้นไฟเขียวจ่ายปันผล 0.04 บาท/หุ้น
๑๘:๓๙ LDC จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2568 มุ่งเป็นคลินิกทันตกรรมพรีเมียม ในราคาที่เข้าถึงง่าย
๑๘:๑๒ ผู้ถือหุ้น TATG ไฟเขียวจ่ายปันผล 0.07 บาท/หุ้น ลงทุนเครื่องจักรใหม่เสริมแกร่งสายการผลิต พิชิตเป้ารายได้ 3,000
๑๘:๕๗ ADVICE จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นรูปแบบ Hybrid ประจำปี 2568 ผถห.ไฟเขียวทุกวาระ เคาะแจกปันผล 0.175 บ./หุ้น
๑๘:๓๖ LE ร่วมงานสถาปนิก'68 โชว์นวัตกรรมแสงสว่างอัจฉริยะ เสริมภาพผู้นำ Lighting Solutions Provider
๑๘:๔๖ SELIC จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ปี 2568 ผู้ถือหุ้นเห็นชอบทุกวาระ อนุมัติจ่ายปันผล 0.038 บาท/หุ้น เดินหน้า 3 ธุรกิจ
๑๘:๔๙ STA เปิดบ้านต้อนรับภาครัฐ โชว์มาตรฐานรับซื้อยางโปร่งใส เป็นธรรม หนุนรัฐต้านยางเถื่อน
๑๘:๓๕ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จับมือเอกชน ปั้นช่างเชื่อมโกอินเตอร์ รายได้ทะลุ 70,000 บาทต่อเดือน