พิธีลงนามความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างทริสเรทติ้ง และ Standard & Poor’s และ งานสัมมนาใหญ่ประจำปี 2555 ของทริสเรทติ้ง เรื่อง AEC และผลกระทบต่อธุรกิจไทย

พุธ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๐๑๒ ๑๔:๕๗
เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2555 บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด (ทริสเรทติ้ง) ได้จัดให้มีพิธีลงนามความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างทริสเรทติ้ง และ Standard & Poor’s โดยผู้แทนที่ลงนามฝ่ายทริสเรทติ้ง ประกอบด้วย ศ. ดร.สมชัย ฤชุพันธุ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการทริสเรทติ้ง และ ดร.สันติ กีระนันทน์ กรรมการผู้จัดการทริสเรทติ้ง ส่วน ผู้แทนลงนามในฝ่าย Standard & Poor’s ประกอบด้วย Mr. Yu-Tsung Chang, Executive Managing Director และ Head of Standard & Poor’s Asia-Pacific และ Mr. Surinder D Kathpalia, Managing Director และ ASEAN Head of Standard & Poor’s

การลงนามในความตกลงดังกล่าวระหว่างทริสเรทติ้งและ Standard & Poor’s นับเป็นอีกก้าวสำคัญของการกลับมาร่วมมือกันทางธุรกิจของสถาบันจัดอันดับเครดิตทั้งสองอย่างเป็นทางการอีกครั้ง ภายหลังจากที่ Standard and Poor’s ได้เข้าซื้อหุ้นของบริษัททริสคอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ ทริสเรทติ้ง เมื่อปลายปี 2554 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ความร่วมมือครั้งนี้ยังเป็นการหวนกลับมาของความสัมพันธ์ทางธุรกิจระหว่างสถาบันจัดอันดับเครดิตทั้งสองนับตั้งแต่ปี 2539 เป็นต้นมา เนื่องจาก Standard & Poor’s ได้เคยให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคในช่วง 3 ปีแรก (ระหว่างปี 2536 และ 2539) ของการก่อตั้ง บริษัท ไทยเรทติ้งแอนด์อินฟอร์เมชั่น เซอร์วิส จำกัด (ทริส_ ซึ่งเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นในปี 2536 ก่อนที่จะมีการแยกธุรกิจการจัดอันดับเครดิตออกเป็นทริสเรทติ้งตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา)

ความตกลงทางธุรกิจระหว่างสถาบันจัดอันดับเครดิตทั้งสองครอบคลุมทั้งด้านความร่วมมือ และการสนับสนุนด้านเทคนิคการจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้ที่มีความซับซ้อน รวมถึงการพัฒนาธุรกิจการจัดอันดับเครดิตเข้าสู่ตลาดที่กว้างขวางยิ่งขึ้น และยังเป็นการสอดคล้องกับการเตรียมตัวของตลาดทุนไทยเพื่อรองรับการพัฒนาตลาดตลาดทุนในอาเซียนภายใต้การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558

ภายหลังจากพิธีลงนาม ทริสเรทติ้งได้จัดงานสัมมนาทางวิชาการประจำปี 2555 เพื่อเป็นการฉลองวาระการย่างเข้าสู่ธุรกิจจัดอันดับเครดิตปีที่ 19 ภายใต้หัวข้อ “AEC และผลกระทบต่อธุรกิจไทย” โดย ศ. ดร.สมชัย ฤชุพันธุ์ เป็นผู้กล่าวเปิดการสัมมนา และ ดร. วรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ให้ปาฐกถาพิเศษเรื่อง AEC กับการพัฒนาตลาดทุนไทย ในขณะที่ Mr. Kim Eng Tan, Senior Director, Standard & Poor’s Sovereign Ratings (Asia Pacific) ได้บรรยายสรุปเรื่อง S&P’s Outlook for Thailand’s Sovereign Rating

งานสัมมนาจบด้วยการเสวนาหัวข้อ “AEC และผลกระทบต่อธุรกิจไทย” ซึ่งผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ดร. ธวัชชัย ยงกิตติกุล เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย คุณกรกฎ ผดุงจิตต์ รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ ดร. สันติ กีระนันทน์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ซึ่งผู้ร่วมเสวนาได้แสดงความคิดเห็นต่อการเกิดขึ้นของ AEC ในปี 2558 และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อภาคอุตสาหกรรมและภาคการเงิน รวมถึงการเตรียมตัวของผู้ประกอบการก่อนปี 2558 และการปรับตัวของภาคธุรกิจต่างๆ

ทั้งนี้ ดร. สันติ กีระนันทน์ กล่าวว่าปัจจุบันทริสเรทติ้งมีจำนวนลูกค้า 115 ราย ครอบคลุมเกือบทุกประเภทธุรกิจทั้ง ภาคอุตสาหกรรม การเกษตร การบริการ และการเงิน โดยผู้ประกอบการที่จัดอันดับเครดิตกับทริสเรทติ้งส่วนใหญ่อาจยังไม่ได้รับผลกระทบต่อการเกิดขึ้นของ AEC ในปี 2558 ในทันที เนื่องจากผู้ประกอบการที่จัดอันดับเครดิตส่วนมากเป็นบริษัทขนาดใหญ่ มีความสามารถในการแข่งขันสูง และหลายบริษัทได้ขยายฐานการผลิตและการตลาดไปต่างประเทศทั้งในและนอก ASEAN อยู่แล้ว

ดร.สันติ ยังกล่าวด้วยว่าผู้ประกอบการที่จัดอันดับเครดิตกับทริสเรทติ้งที่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่และมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง และมีความได้เปรียบในการแข่งขันน่าจะสามารถปรับเปลี่ยนให้การเกิดขึ้นของ AEC เป็นการเพิ่มขึ้นของโอกาสทางธุรกิจเพื่อขยายตลาดออกไปยังประเทศในอาเซียนได้อย่างเสรียิ่งขึ้น ในขณะที่ผู้ประกอบการที่มีขนาดธุรกิจไม่ใหญ่นัก และมีฐานะทางการเงินที่ยังไม่แข็งแกร่ง รวมทั้งมีข้อจำกัดด้านเงินทุนและการแข่งขัน อาจต้องเผชิญกับการท้าทายทั้งด้านการเข้ามาแข่งขันของนักลงทุนจากภูมิภาคอาเซียน และจากการเคลื่อนย้ายของทรัพยากรไปยังผู้ประกอบการที่มีความได้เปรียบกว่า

สำหรับการปรับตัวของผู้ประกอบการที่เป็นลูกค้าของทริสเรทติ้งในช่วงที่ผ่านมานั้น พบว่าหลายแห่งได้มีการปรับตัวอย่างรวดเร็วล่วงหน้า AEC ไปแล้ว นอกจากนี้ในบางธุรกิจ เช่น กลุ่มของสถาบันการเงิน บริษัทหลักทรัพย์ และโรงพยาบาล พบว่าหลายแห่งมีกลยุทธ์เดียวกันได้แก่ การควบรวมของธุรกิจในกลุ่มเดียวกันเพื่อสร้างความเข้มแข็งทางธุรกิจ หรือกลุ่มธุรกิจค้าปลีกที่เริ่มขยายฐานของลูกค้าและสินค้าให้มีความกว้างขวางขึ้น

ในมุมมองของสถาบันจัดอันดับเครดิตนั้น จะให้ความสำคัญกับแผนกลยุทธ์ของผู้ประกอบการ ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจในด้านการแข่งขันทางการตลาด และผลกระทบต่อภาระหนี้ และสภาพคล่องทางการเงิน เราเห็นว่าการควบรวมกันของธุรกิจที่สนับสนุนกันจะช่วยเพิ่มขนาดของธุรกิจ และกระจายความเสี่ยงทางด้านการตลาดและการลงทุน ในขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงของอันดับเครดิตก็ขึ้นอยู่กับความสมดุลระหว่างภาระหนี้ที่อาจเพิ่มขึ้นและสภาพคล่องที่อาจลดลงในระยะสั้น เปรียบเทียบกับธุรกิจที่น่าจะแข็งแกร่งขึ้นในระยะยาว

ติดต่อ:

นาฏยา สีดอกบวบ บริษัท จิ๊กซอ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด โทรศัพท์ 02-2542089

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง
๐๓ พ.ค. มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท เดินหน้า โครงการบ้านชื่นสุขสร้างสุขผู้สูงอายุ ตอกย้ำ ความกตัญญู
๐๓ พ.ค. รีเล็กซ์ โซลูชันส์ เผยกลุ่มค้าปลีกและผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคยังไม่ใช้ศักยภาพของ AI มากนัก
๐๓ พ.ค. กทม. บูรณาการหน่วยงานเร่งแก้ปัญหาเด็กเช็ดกระจก-ขายของริมถนน ใช้สหวิชาชีพแก้ปัญหารายครอบครัว