ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร “บ. เอเซียเสริมกิจลีสซิ่ง” ที่ระดับ “BBB+/Stable”

พฤหัส ๒๙ มีนาคม ๒๐๑๒ ๑๓:๒๒
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท เอเซียเสริมกิจลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB+” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” อันดับเครดิตสะท้อนถึงคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์ในธุรกิจสินเชื่อรถยนต์และความสามารถในการดำรงสถานะทางการตลาดแม้ว่าจะมีการแข่งขันที่รุนแรงและได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่สนับสนุนอันดับเครดิต อาทิ สถานะที่แข็งแกร่งในธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ในตลาดเฉพาะกลุ่มของรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ การสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ระบบการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ และความสัมพันธ์ที่ยาวนานกับตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนลงบางส่วนจากลักษณะสินเชื่อของบริษัทที่มีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจแม้ลักษณะของสินเชื่อประเภทนี้จะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าก็ตาม บริษัทได้กระจายแหล่งเงินทุนเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นทางการเงินหลังจากที่ถูกจำกัดโดยกฎระเบียบของรัฐบาลจากการกำหนดเพดานการกู้ยืมที่ผู้ถือหุ้น คือ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จะให้แก่บริษัท ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” ของบริษัทอยู่บนพื้นฐานการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถดำรงสถานะทางการตลาดในตลาดเฉพาะกลุ่มสำหรับยานพาหนะเพื่อการพาณิชย์ต่อไปได้ การมีคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์และความสามารถ ตลอดจนระบบการบริหารความเสี่ยงและระบบการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพจะช่วยให้บริษัทสามารถควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ให้อยู่ในระดับที่ดี โดยคาดว่าผู้ถือหุ้นรายใหญ่น่าจะให้การสนับสนุนต่อไป นอกจากนี้ คาดว่าบริษัทจะปรับอายุของสินทรัพย์และหนี้สินให้มีความสอดคล้องกันมากขึ้นโดยการกระจายอายุของเงินกู้ยืม

ทริสเรทติ้งรายงานว่า ณ สิ้นปี 2554 ในจำนวนสินเชื่อรวมของบริษัทเอเซียเสริมกิจลีสซิ่งนั้น จำนวน 84.6% เป็นสินเชื่อรถยนต์สำหรับลูกค้ารายย่อยซึ่งดำเนินการโดยบริษัท ซึ่งอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2553 และ 2552 ที่ระดับ 85.2% และ 83.6% ตามลำดับ ขณะที่สัดส่วนสินเชื่อลีสซิ่งและแฟคตอริ่งของบริษัทในเครือที่บริษัทถือหุ้นทั้งหมด คือ บริษัท กรุงเทพแกรนด์แปซิฟิคลีส จำกัด (มหาชน) อยู่ที่ระดับ 10.1% และ 4.9% ตามลำดับ สำหรับสินเชื่อรวมนั้น ผลจากการเติบโตของตลาดรถยนต์ภายในประเทศในปี 2553 ส่งผลให้สินเชื่อรวมปรับเพิ่มขึ้น 23.5% เป็น 15,153 ล้านบาทในปี 2553 จาก 12,267 ล้านบาทในปี 2552 ในปี 2554 ภัยพิบัติทางธรรมชาติ 2 เหตุการณ์ ได้แก่ แผ่นดินไหวที่ประเทศญี่ปุ่นและอุทกภัยในประเทศไทย ได้กระทบต่ออุปทานของรถยนต์ในตลาด อย่างไรก็ตาม บริษัทก็ยังสามารถขยายฐานสินเชื่อเป็น 17,686 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2554 หรือคิดเป็นการเติบโต 16.7%

ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของฐานลูกค้าโดยรวมของบริษัทเอเซียเสริมกิจลีสซิ่งอยู่ในระดับต่ำเนื่องมาจากลักษณะของสินเชื่อรถยนต์สำหรับลูกค้ารายย่อยซึ่งบริษัทมีสัดส่วนสินเชื่อในส่วนนี้มากที่สุด นอกจากนี้ การกระจายตัวของส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ในสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์สำหรับลูกค้ารายย่อยยังมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงจากการกระจุกตัวในด้านผลิตภัณฑ์ของสินเชื่อได้ด้วย โดย ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2554 สินเชื่อรถยนต์สำหรับลูกค้ารายย่อยคงค้างประกอบด้วยรถยนต์นั่งและรถกระบะจำนวน 34.1% รถตู้ 26.0% รถบรรทุก 29.3% รถแท็กซี่ 8.8% รถโดยสาร 0.5% และสินเชื่อสำหรับลูกค้าเก่า 1.3% โดยทั่วไปแล้ว แม้ว่าสินเชื่อสำหรับยานพาหนะเพื่อการพาณิชย์ เช่น รถบรรทุก รถตู้ และรถแท็กซี่จะสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่า แต่ส่วนผสมของสินเชื่อที่มีสินทรัพย์ประเภทดังกล่าวจะทำให้ผู้ประกอบการมีความเสี่ยงที่สูงกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่อื่น ๆ ที่เน้นการให้สินเชื่อสำหรับรถยนต์นั่งและรถกระบะ ดังนั้น เพื่อลดทอนความเสี่ยงที่สูงกว่า บริษัทจึงใช้กลยุทธ์ในการแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อเน้นสินเชื่อเฉพาะผลิตภัณฑ์และกลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยงน้อยเพื่อลดความเสี่ยงโดยรวม

แม้สินเชื่อของบริษัทเอเซียเสริมกิจลีสซิ่งจะดูเหมือนมีความเสี่ยงที่สูงกว่า แต่อัตราส่วนของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (ค้างชำระมากกว่า 3 งวด) ต่อสินเชื่อรวมยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับผู้ให้บริการรายอื่น การมีคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์และความสามารถ ตลอดจนระบบการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ และนโยบายการอนุมัติสินเชื่อแบบระมัดระวังจะเป็นปัจจัยที่ช่วยให้บริษัทสามารถดำรงคุณภาพสินทรัพย์ให้อยู่ในระดับที่น่าพอใจ อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ปรับดีขึ้นจาก 1.42% ในปี 2552 เป็น 0.89% ในปี 2553 วิกฤตการณ์อุทกภัยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 ได้ส่งผลต่อคุณภาพสินเชื่อรถยนต์สำหรับลูกค้ารายย่อย โดยอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ปรับเพิ่มจาก 0.43% ในปี 2553 เป็น 0.61% ในปี 2554 อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้สำหรับสินเชื่อลีสซิ่งและแฟคตอริ่งของบริษัทกรุงเทพแกรนด์แปซิฟิคลีสได้ปรับดีขึ้นในปี 2554 ส่งผลให้บริษัทยังคงสามารถรักษาระดับอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้รวม ณ สิ้นปี 2554 ที่ระดับ 0.88%

การแข่งขันที่ทวีความรุนแรงในอุตสาหกรรมสินเชื่อรถยนต์ยังมีผลกดดันต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัทเอเซียเสริมกิจลีสซิ่งและผู้ประกอบการรายอื่น โดยเฉพาะในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้นในปี 2553 และ 2554 ผลตอบแทนด้านอัตราดอกเบี้ยรับได้รับการกดดันจากสภาวะการแข่งขัน ขณะที่ต้นทุนทางการเงินปรับเพิ่มขึ้นตามสภาวะอัตราดอกเบี้ยตลาดที่เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม บริษัทสามารถรักษาระดับต้นทุนทางการเงินจากการใช้เงินทุนเพื่อขยายสินเชื่อจากการกู้ยืมระยะสั้นขึ้น ค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่ยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมและภาระการตั้งสำรองสินเชื่อลดลงในปี 2554 ส่งผลให้ความสามารถในการทำกำไรปรับเพิ่มขึ้น อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยของบริษัทปรับตัวขึ้นมากเป็น 2.07% ในปี 2553 จากระดับ 1.58% ในปี 2552 อัตราส่วนดังกล่าวปรับลดลงเล็กน้อยมาที่ระดับ 1.97% ในปี 2554 อัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นถัวเฉลี่ยก็ปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยปรับเพิ่มขึ้นจาก 11.00% ในปี 2552 เป็น 15.48% ในปี 2553 และ 16.58% ในปี 2554

ในด้านของแหล่งเงินทุน บริษัทเอเซียเสริมกิจลีสซิ่งได้รับประโยชน์จากการมีสถานะเป็นบริษัทในเครือของธนาคารกรุงเทพ อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ดังกล่าวถูกจำกัดโดยกฎเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับการให้กู้ยืมแก่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกันของสถาบันการเงิน โดยกฎเกณฑ์ดังกล่าวจำกัดจำนวนเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์ที่ให้แก่บริษัทที่เกี่ยวข้องของธนาคาร โดยเงินให้สินเชื่อแก่บริษัทที่เกี่ยวข้องถูกจำกัดไว้ไม่เกิน 5% ของเงินกองทุนของธนาคาร หรือ 25% ของหนี้สินรวมของผู้กู้ ขึ้นอยู่กับว่าจำนวนใดน้อยกว่ากัน กฎเกณฑ์ใหม่จำกัดความยืดหยุ่นทางเงินของบริษัทและความสามารถในการได้รับประโยชน์จากแหล่งเงินทุนที่มีความมั่นคงจากธนาคารกรุงเทพ บริษัทได้กระจายแหล่งเงินทุนไปยังสถาบันการเงินอื่นและตลาดทุนซึ่งรวมถึงการออกตั๋วแลกเงินและหุ้นกู้ โดยเก็บวงเงินคงเหลือจากธนาคารกรุงเทพไว้เป็นแหล่งเงินทุนสำรองเพื่อลดความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2554 บริษัทระดมทุนผ่านตั๋วแลกเงินคิดเป็น 27.08% ของเงินกู้ยืมรวม เพิ่มขึ้นจาก 22.50% และ 11.49% ในปี 2553 และ 2552 ตามลำดับ การระดมเงินผ่านตั๋วเงินช่วยให้บริษัทสามารถควบคุมต้นทุนทางการเงินไว้ได้ อย่างไรก็ตาม โดยปกติแล้ว การระดมทุนผ่านตั๋วแลกเงินจะก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านการกู้ยืมใหม่เพื่อชำระหนี้เก่า (Refinancing risk) เนื่องจากตั๋วเงินจัดเป็นตราสารทางการเงินที่มีความอ่อนไหวต่อสภาวะตลาด อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงดังกล่าวของบริษัทได้รับการลดทอนจากการมีกระแสเงินสดจากการชำระค่างวดของลูกค้าและการมีวงเงินสำรองที่เพียงพอต่อความต้องการเงินทุนของบริษัทอย่างครบถ้วน ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทมีการใช้เงินกู้ยืมที่มีระยะสั้นขึ้นเพื่อควบคุมต้นทุนทางการเงินซึ่งส่งผลให้เกิดความไม่สอดคล้องกันของอายุสินทรัพย์และหนี้สินของบริษัท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2554 หนี้สินจำนวน 44.39% ของเงินกู้ยืมทั้งหมดจะครบกำหนดในปี 2556 ซึ่งคาดว่าบริษัทจะชำระคืนโดยการกู้ยืมใหม่ด้วยเงินกู้ระยะยาว เงินทุนที่ใช้ในการขยายสินเชื่ออย่างมีนัยสำคัญในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามาจากการกู้ยืมโดยส่วนใหญ่ ส่งผลให้อัตราส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมลดลงเป็น 11.23% ในปี 2554 จาก 12.68% ในปี 2553 และ 14.29% ในปี 2552 บริษัทได้ประกาศแผนการปรับโครงสร้างทุนโดยการออกหุ้นใหม่ กระบวนการในการเพิ่มทุนคาดว่าจะแล้วเสร็จในกลางปีนี้ฐานทุนที่แข็งแกร่งขึ้นจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของบริษัทในการก่อหนี้เพิ่มเพื่อขยายฐานสินเชื่อ ทริสเรทติ้งกล่าว

บริษัท เอเซียเสริมกิจลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน) (ASK)

อันดับเครดิตองค์กร: คงเดิมที่ BBB+

แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable (คงที่)

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๑ พ.ค. เฮลท์สเคป (Healthscape)' นำร่องส่ง 'MADE BY SILVER' ชวนสัมผัสผลิตภัณฑ์เพื่อไลฟ์สไตล์สำหรับกลุ่มซิลเวอร์เจน 20 พ.ค. - 2 มิ.ย. 67 ณ ศูนย์การค้า ดิ เอ็ม
๒๑ พ.ค. HENG เสนอขายหุ้นกู้ครั้งที่ 1/2567 จำนวน 2 ชุด อัตราดอกเบี้ยคงที่ 5.25% และ 5.50% เปิดจองซื้อ 23-24 และ 27 พ.ค. 67 เดินหน้าเสริมแกร่งธุรกิจ
๒๑ พ.ค. กลุ่มบริษัทศรีตรัง ลุยติดตั้ง EV Charger ในโรงงานทั่วประเทศ สนับสนุนพนักงานใช้พลังงานสะอาด ร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตอกย้ำจุดยืน Green Rubber
๒๑ พ.ค. Bitkub Chain และ The Sandbox ร่วมยกระดับวงการ Metaverse ในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
๒๑ พ.ค. AJA โชว์แกร่ง!! งบโค้งแรกพลิกมีกำไรพุ่งเกือบ 452% ชูกลยุทธ์ปี 67 กระจายลงทุนในธุรกิจหลากหลาย-สร้างฐานการเติบโตยั่งยืน
๒๑ พ.ค. KJL โชว์นวัตกรรมในงาน SUBCON Thailand 2024 เพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้า
๒๑ พ.ค. ITEL อวดกำไร Q1/67 โต 113% กำไรสุทธิ 123 ล้านบาท ล่าสุด ก.ล.ต. ไฟเขียวนับหนึ่งไฟลิ่ง บ.ย่อย BLUE เรียบร้อยแล้ว
๒๑ พ.ค. โอยิกะ ผู้นำด้านโซลูชั่นเทคโนโลยีแบตเตอรี่จากสิงคโปร์ ชูนวัตกรรมพลังงานสะอาด มุ่งขยายธุรกิจตู้สลับแบตเตอรี่สำหรับตลาดรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย
๒๑ พ.ค. ดื่มด่ำกับรสชาติของเนื้อโกเบจากโอซาก้า ที่ห้องอาหารฮากิ เซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว
๒๑ พ.ค. W9 เผยไทยเผชิญฝุ่นพิษล้อมเมืองติดอันดับโลก เปิด 5 กลุ่มเสี่ยงรับฝุ่นพิษ ภัยเงียบสะสม แนะวิธีรับมือเชิงเวลเนส