MPA นิด้าเชื่อกรีซถอนร่วมยูโรโซนชั่วคราว แนะไทยรับมือผลกระทบทางอ้อม หวั่นภาคท่องเที่ยววูบ

ศุกร์ ๒๕ พฤษภาคม ๒๐๑๒ ๑๐:๕๘
ผู้อำนวยการหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต คณะรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า หรือ MPA NIDA มองวิกฤติหนี้ยุโรปถึงจุดเปลี่ยน เชื่อกลุ่มประเทศสมาชิกยูโรหันใช้มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐ เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจสางปัญหาหนี้ หลังจากมาตรการรัดเข็มขัดคุมเข้มรายจ่ายไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น พร้อมประเมิน “กรีซ” ขอเบรกจากยูโรโซนชั่วคราว เพื่อเดินหน้าแก้ปัญหาหนี้ ระบุเศรษฐกิจไทยไม่ได้รับผลกระทบทางตรง แต่จะได้รับผลกระทบทางอ้อม โดยเฉพาะจากจำนวนนักท่องเที่ยวยุโรปที่ลดลง แนะเจาะตลาดนักท่องเที่ยวในแถบเอเชีย ทั้งจีนและอินเดียให้มากขึ้น

รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์มหาบัณฑิต (MPA) คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยถึงวิกฤติหนี้สาธารณะที่เกิดขึ้นในกรีซ และก่อให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มยูโรโซนว่า ปัญหาสำคัญอยู่ที่จนถึงขณะนี้กรีซยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ หลังจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้กรีซต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 17 มิถุนายนนี้ อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มว่า กรีซ รวมถึงฝรั่งเศส ซึ่งเพิ่งได้ประธานาธิบดีคนใหม่ต่างมีแนวคิดแก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วยการกระตุ้นการใช้จ่ายเงินของภาครัฐ ซึ่งนโยบายดังกล่าว นับได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เนื่องจากที่ผ่านมาการดำเนินมาตรการรัดเข็มขัด ลดรายจ่ายตัดสวัสดิการประชาชนได้รับการต่อต้านจากประชาชน และยังไม่สามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจในยุโรปกลับคืนมาได้

ทั้งนี้ แนวคิดแก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วยการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐนั้น เคยประสบความสำเร็จในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจมาแล้ว อย่างไรก็ตาม การใช้มาตรการดังกล่าว ต้องมีระบบกำกับดูแลการคลังที่ดีเพื่อป้องกันเงินรั่วไหล พร้อมกับใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนปรนเพื่อกำหนดอัตราดอกเบี้ยเข้ามากระตุ้นอีกทางหนึ่ง จึงจะสามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจยุโรปในครั้งนี้ได้

“การแก้ปัญหาเศรษฐกิจจำเป็นต้องใช้เครื่องมือทั้งนโยบายการเงินและการคลัง แต่ที่ผ่านมา การใช้มาตรการการเงินไม่สามารถทำได้ เพราะธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) เป็นผู้กำหนดนโยบายการเงินของกลุ่มยูโรโซนทั้งอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยน ส่งผลให้กรีซไม่สามารถใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายแก้ปัญหาหนี้ได้ จึงมีความเป็นไปได้สูงที่กรีซจะใช้มติทางการเมือง ขอถอนตัวออกจากกลุ่มยูโรโซนชั่วคราว เพื่อให้จัดการแก้ปัญหาวิกฤติหนี้ด้วยนโยบายการเงินที่ผ่อนปรน ด้วยการกำหนดอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสมกับโครงสร้างเศรษฐกิจ พร้อมกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ ที่คาดว่าจะเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ดีกว่า” รศ.ดร.มนตรี กล่าว

ผู้อำนวยการหลักสูตร MPA คณะรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า กล่าวว่า อย่างไรก็ตามยังเชื่อว่า ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจในกลุ่มยูโรโซนในครั้งนี้ จะไม่ทำให้กลุ่มสหภาพยุโรปแตกออกจากกัน เพราะกลุ่มผู้นำเศรษฐกิจอย่างประเทศเยอรมนีและฝรั่งเศสจะต้องประคับประคองเศรษฐกิจของกลุ่มยูโรโซน ให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้ แต่รัฐบาลควรติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจยุโรปจากใกล้ชิด เพื่อเตรียมแผนรับมือผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ตามมา โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ซึ่งแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวจากยุโรปเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยประมาณ 6 ล้านคน จึงควรดึงนักท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศเอเชีย หรือประเทศที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูง เช่น จีนและอินเดีย เข้ามาท่องเที่ยวในไทยมากขึ้น ขณะที่ตลาดส่งออกไปยุโรปที่มีปัญหานั้น ก็จำเป็นต้องหาตลาดส่งออกทดแทนเช่นกัน

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๔ พ.ค. Siriraj Education Expo 2024 ก้าวสู่ยุคใหม่ไปกับศิริราช พร้อมยกระดับทางการแพทย์ให้ดีขึ้น เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยทุกคน
๐๓ พ.ค. ครั้งแรก! งานเทศกาลคอนเทนต์ LGBTQ ฉลองความเท่าเทียมทางเพศ THAILAND INTERNATIONAL LGBTQ FILM TV FESTIVAL 2024 ปักหมุดเตรียมพบกัน กันยายนนี้
๐๓ พ.ค. โน วัน เอลส์ ส่ง 3 เพลงรัก 3 สไตล์! ผ่านมิวสิกซี่รีย์ ที่จะทำให้คุณเข้าใจความรักมากขึ้น
๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง