หอการค้าไทยประเมิน 2 เดือนขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 กระทบผู้ประกอบการถึง 82.4%

ศุกร์ ๑๕ มิถุนายน ๒๐๑๒ ๑๔:๓๑
หอการค้าไทยประเมิน 2 เดือนขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 กระทบผู้ประกอบการถึง 82.4%ชี้ใน 7 จังหวัดนำร่องส่วนใหญ่ปรับตัวได้ เหตุค่าแรงเดิมสูงอยู่แล้ว คาดปีหน้าหนักแน่ เมื่อขึ้นทั้งประเทศ ธุรกิจจ่อย้ายฐาน พึ่งเครื่องจักร และโละคนงาน แนะรัฐออกมาตรการช่วยก่อนเจ๊งทั้งระบบ เน้นมาตรการด้านภาษี มีแหล่งเงินทุนดอกต่ำให้กู้

นายภูมินทร์ หะรินสุต รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลกระทบของนักธุรกิจต่อการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท ที่ได้เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 ที่ผ่านมา ว่า ขณะนี้การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำได้ย่างเข้าสู่เดือนที่ 3 แล้ว และจากการที่หอการค้าไทยได้ทำการสำรวจทัศนะของสมาชิกใน 7 จังหวัดนำร่องที่มีการปรับขึ้นค่าแรง ได้แก่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปทุมธานี นครปฐม และนนทบุรี พบว่าสมาชิกส่วนใหญ่ยืนยันว่าได้รับผลกระทบ ซึ่งมีมากถึง 82.4% มีเพียง 17.6% ที่ไม่ได้รับผลกระทบ

โดยผลกระทบที่ได้รับส่วนใหญ่เป็นเรื่องค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการที่สูงขึ้น ความสามารถในการแข่งขันลดลง ยอดจำหน่ายสินค้าลดลงจากการขึ้นราคาสินค้า และค่าจ้างแรงงานสูงขึ้นแต่ประสิทธิภาพการทำงานเท่าเดิม

ทั้งนี้ จากการติดตามของหอการค้าไทยพบว่า สมาชิกใน 7 จังหวัดนำร่อง ส่วนใหญ่ 92.2% ปรับตัวได้มีเพียง 7.8% ที่ปรับตัวไม่ได้ โดยในการปรับตัว 13.25% มีการปรับลดคนงานลงด้วยการเลิกจ้างบางส่วน อีก 50% ไม่มีการปรับลดคนงาน และอีก 36.75% มีการปรับตัวด้านอื่นๆ เช่น ไม่รับแรงงานเพิ่ม ปรับปรุงการบริหารจัดการภายในบริษัท พยายามปรับตัวเพื่อให้สามารถดำเนินการตามนโยบายรัฐบาลได้ ใช้เทคโนโลยีแทนพนักงานและเพิ่มงานให้แรงงานทำงานมากขึ้น เป็นต้น

“เอกชนที่ปรับตัวได้ เพราะค่าแรงใน 7 จังหวัดนำร่องเดิมสูงอยู่แล้ว เมื่อขึ้นมาเป็นวันละ 300 บาทจึงปรับตัวได้ไม่ยาก แต่ก็ถือว่าได้รับผลกระทบ หากรัฐบาลไม่ต้องการให้เอกชนมีขีดความสามารถในการแข่งขันลดลง และนำไปสู่ปัญหาการปลดคนงาน ก็ต้องมีมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม เพราะมาตรการเดิมที่มีอยู่ยังไม่เพียงพอ โดยรัฐบาลต้องใช้มาตรการทางด้านภาษีให้ครอบคลุมถึง SMEs และผู้ที่ไม่อยู่ในระบบ จ่ายเงินชดเชยค่าใช้จ่ายในส่วนที่เป็นต้นทุนการผลิตให้แก่สถานประกอบการ เพิ่มผลิตภาพแรงงาน ช่วยเหลือให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนและลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ เพิ่มศักยภาพการผลิตของสถานประกอบการ และช่วยเหลือด้านการตลาด”นายภูมินทร์ กล่าว

นายภูมินทร์ กล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วง ในปี 2556 จะมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาทในทุกจังหวัดที่เหลือ จากเดิมที่มีการปรับขึ้น 40% ของค่าแรงงานขั้นต่ำเดิม ซึ่งมีค่าเฉลี่ยอยู่ระหว่างวันละ222-273 บาทไปแล้ว ตรงจุดนี้ จะเกิดผลกระทบอย่างมหาศาล ธุรกิจในหลายจังหวัด ทั้งจังหวัดเล็กและจังหวัดใหญ่ จะพิจารณาถึงการย้ายฐานการผลิต เพื่อการปรับตัว หรือลงทุนประเภทเครื่องจักรจำนวนมากเพื่อลดจำนวนแรงงานลง

ดังนั้น สถานการณ์อัตราค่าจ้าง 300 บาท ในปี 2556 อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย หากไม่มีมาตรการรองรับที่ดี รัฐจะต้องมีมาตรการเพิ่มเติม ดังนี้ 1.เร่งให้มีการพัฒนาฝีมือแรงงานตามสาขา ประเภทธุรกิจ ให้มีประสิทธิภาพและผู้ประกอบการต้องการ 2.ควรมีสถาบันการเงินเฉพาะกิจในการเพิ่มสภาพคล่องให้กับสถานประกอบการ 3.เอื่ออำนวยความสะดวกหรือลดการนำส่งประกันสังคม 4.เปิดโอกาสให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานได้มากขึ้น และสะดวกมากขึ้น เพื่อรองรับการเปิด AEC

อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศในอาเซียน พบว่า อินโดนีเซียมีการปรับขึ้นมากที่สุด เฉลี่ย 39.8% รองลงมา คือ ไทย เพิ่มขึ้น 35.7% เวียดนาม 33.5% สิงโปร์ 8.8% ฟิลิปปินส์ 5% กัมพูชา 1.1% ส่วนมาเลเซีย ลาว และพม่า ไม่มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ

นายจักริน เชิดฉาย ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า สิ่งที่อยากเสนอต่อรัฐบาล ต้องการให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในส่วนที่เหลือโดยเฉลี่ยเท่ากัน ค่าใช้จ่ายในการจัดอบรมเพื่อพัฒนาฝีมือแรงงานขอให้นำมาลดภาษีได้ในอัตรา 2 เท่า ขอให้มีมาตรการช่วยเหลือ SMEs โดยจัดหาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำจากภาครัฐ และขอให้รัฐมีมาตรการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานโดยการยกเว้นภาษีหรือค่าธรรมเนียมนำเข้าเครื่องจักร

นายวชิร คูณทวีเทพ อาจารย์ประจำศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า หอการค้าโพลล์ ได้ทำการสำรวจทัศนะของลูกจ้างต่อการปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาท พบว่า ลูกจ้างส่วนใหญ่มีความกังวลในเรื่องของการตกงาน เรื่องของราคาสินค้าในปัจจุบันและอนาคตที่จะเพิ่มสูงขึ้น จากการปรับขึ้นค่าแรง และการปรับขึ้นค่าแรงไม่ได้ทำให้ภาระหนี้น้อยลง หรือทำให้ความเป็นอยู่ดีขึ้น เนื่องจากภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น และความไม่แน่นอนทางด้านการจ้างงานของนายจ้าง ทั้งนี้ เห็นได้จากผลสำรวจถึงความมั่นคงในปี 2555 ที่แรงงานส่วนใหญ่มีความไม่แน่ใจในเรื่องของความมั่นคงของการมีงานทำเพิ่มขึ้นอย่างมาก

“ลูกจ้างเองก็มีความกังวลถึงสถานการณ์ทางด้านของการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำดังกล่าว แต่การปรับขึ้นค่าจ้างนั้น ลูกจ้างมองว่าจะเป็นส่วนที่ทำการชดเชยค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก่อนหน้านี้ แต่อย่างไรก็ตาม ลูกจ้างยังคงมีความกังวลว่าในอนาคตระดับราคาสินค้า/ค่าครองชีพจะปรับตัวสูงมากกว่ารายได้ที่เป็นอยู่”นายวิชรกล่าว

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๓:๕๕ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หารือแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรชาวนาเกลือ จังหวัดสมุทรสาคร
๒๓:๓๖ ทีทีบี มุ่งจุดประกายการ ให้ คืนสู่สังคม ผ่านงาน The Hall of Giving ปี 2567 ชูกิจกรรมอาสา Upcycle สร้างความตระหนักรู้ด้านสิ่งแวดล้อม
๒๓:๑๔ มบส.ปลื้มคนแห่ร่วมงานเทศกาลดนตรียิ่งใหญ่ ฝั่งธนเฟส 2คับคั่ง ชี้นักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติงานอย่างมืออาชีพ
๒๓:๑๘ คู่รักห้ามพลาด! สุดยอดมหกรรมเวดดิ้งแฟร์แห่งปี SabuyWedding Festival 2024 ชวนช้อปสบาย ครบ จบ ไม่ฮาร์ดเซลล์ วันที่ 25 - 26 พฤษภาคมนี้ ที่รอยัล พารากอน
๒๓:๓๕ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 41 นครพนม จัดพิธีมอบชุดเครื่องมือทำมาหากิน ให้กลุ่มแม่บ้านตำบลพะทาย
๒๓:๒๓ เชื่อมโยงการใช้ชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติ ด้วย WASABI SERIES ดีไซน์จากแนวคิด City / Art / Craft / Earth สู่ Eco Living
๒๓:๓๒ บ้านหมอละออง กรุ๊ป จัด โครงการยาเพื่อนยาก ครั้งที่ 14 เฉพาะกิจ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนผู้ประสบภัยพายุฤดูร้อน จ.นครสวรรค์
๒๓:๔๒ พาราไดซ์ พาร์ค ผนึก กรุงเทพมหานคร ร่วมสร้างสรรค์พื้นที่เพื่อชุมชน กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ในงานตลาดนัดชุมชน BKK
๒๓:๑๑ บทสรุปงานมหกรรมฟินเทคสุดยิ่งใหญ่ของเอเชีย Money20/20 Asia ครั้งแรกที่กรุงเทพฯ
๒๓:๓๘ เดอะไนน์ เซ็นเตอร์ ติวานนท์ ชวนช้อปสินค้าเกษตรแปรรูปคุณภาพดี กับ งาน ไร่ข้าวโพด มหาสนุก ตั้งแต่ 16-22