คปก.ดันร่างพ.ร.บ.หลักประกันธุรกิจ ขยายหลักประกัน สร้างความเชื่อมั่นเจ้าหนี้บังคับชำระหนี้

พุธ ๑๕ สิงหาคม ๒๐๑๒ ๑๖:๒๕
คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายว่าด้วยหลักประกันทางธุรกิจในคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย(คปก.)จัดสัมมนาเพื่อรับฟังความเห็นเรื่อง “ร่างพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจพ.ศ....” ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวชั่น แจ้งวัฒนะ โดยมีศาสตราจารย์ ดร. คณิต นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวเปิดงานสัมมนา

ศาสตราจารย์ ดร.กำชัย จงจักรพันธ์ กรรมการปฏิรูปกฎหมายและประธานคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายว่าด้วยหลักประกันทางธุรกิจ กล่าวบรรยายพิเศษในหัวข้อ “คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายกับการปฏิรูปกฎหมาย”ว่า คปก.เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 81(3) เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญล่าสุดที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ถือเป็นองค์กรหลักของชาติที่ดำเนินการเป็นอิสระในการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายทั้งระบบ ซึ่งดำเนินงานมาแล้วประมาณ 1 ปีเศษโดยหลักในการปฏิรูปกฎหมายจะยึดถือหลัก 2 ประการคือ1.การใช้องค์ความรู้ ไม่ใช่ดำเนินการตามความประสงค์ของฝ่ายการเมือง ซึ่งจะตอบชัดว่าไม่ได้ปฏิรูปกฎหมายตามใจผู้ร่างกฎหมายหรือตามความประสงค์หน่วยงานรัฐ 2.จะยึดโยงการมีส่วนร่วมกับประชาชน โดยการประชุมรับฟังความเห็นครั้งนี้คาดหวังว่าจะผลักดันกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจเพื่อให้เป็นประโยชน์ทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้และเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อไป ขณะเดียวกันเชื่อไม่มีใครเสียประโยชน์จากร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ คปก.ต้องการสร้างกฎหมายที่เป็นธรรม และทำกฎหมายเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ

นายพสิษฐ์ อัศววัฒนาพร เลขาธิการคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวอภิปรายในหัวข้อ ร่างพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจพ.ศ....ว่า มีความจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายฉบับนี้เนื่องจากข้อจำกัดการนำทรัพย์สินมาเป็นหลักประกันโดยวิธีจำนองและจำนำตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประกอบกับเห็นว่าการผลักดันร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำทรัพย์สินที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมาใช้เป็นประกันการชำระหนี้เพื่อหาทุนมาใช้ในการประกอบกิจการในลักษณะที่ไม่ต้องส่งมอบทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน และเห็นว่าเป็นกฎหมายสำคัญฉบับหนึ่งที่จะทำให้ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันทางการค้า คปก.จึงหยิบร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวตรวจพิจารณาอีกครั้งและเลือกแก้ในประเด็นสำคัญโดยพิจารณาถึงผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายว่าด้วยหลักประกันทางธุรกิจ เพื่อศึกษา วิเคราะห์ทางวิชาการ ปรับปรุงและพัฒนากฎหมายว่าด้วยหลักประกันทางธุรกิจให้เป็นธรรมและทันต่อสถานการณ์

นายพสิษฐ์ กล่าวว่า หากพิจารณาในเนื้อหาของร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวในแง่สัญญาหลักประกันทางธุรกิจ จะประกอบด้วยสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ รูปแบบของสัญญา สถานะของผู้ให้หลักประกันจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้ รวมถึงประเภทและลักษณะของทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกัน ซึ่งได้แก่ กิจการ สังหาริมทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์ และสิทธิเรียกร้องซึ่งไม่จำกัดไว้เฉพาะสิทธิเรียกร้องในหนี้เงิน แต่รวมถึงสิทธิเรียกร้องประเภทอื่นๆด้วย โดยสิทธิของผู้ให้หลักประกันเองมีสิทธิครอบครอง ใช้สอย แลกเปลี่ยน จำหน่าย จ่ายโอนและจำนองทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน ใช้ในการผลิต นำไปรวมเข้ากับทรัพย์สินอื่น ฯลฯ ซึ่งทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน เว้นแต่คู่สัญญาจะได้ตกลงกันเป็นอย่างอื่น ประกอบกับมีสิทธิที่จะได้รับทราบจำนวนหนี้ที่ยังมิได้ชำระ ประกอบกับมีสิทธิไถ่ถอนทรัพย์สินก่อนมีการจำหน่ายทรัพย์ และมีสิทธิที่จะได้รับหนังสือยินยอมให้ยกเลิกการจดทะเบียน เมื่อหนี้ระงับ เมื่อตกลงยกเลิก หรือเมื่อมีการไถ่ถอนทรัพย์สิน

นายพสิษฐ์ กล่าวว่า ในร่างพ.ร.บ.ห้ามผู้ให้หลักประกันนำทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันไปจำนำต่อและรับผิดเพื่อความเสียหายในกรณีที่ทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันสูญหายหรือเสื่อมราคาลง เว้นแต่จะพิสูจน์ว่าความเสียหายดังกล่าวที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากเหตุที่ตนต้องรับผิดชอบ ขณะที่สิทธิของผู้รับหลักประกันมีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันก่อนเจ้าหนี้สามัญ ไม่ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะโอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือไม่ และมีสิทธิเหนือทรัพย์สินอื่นที่รวมเข้ากับทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน ถ้าทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันรวมเข้ากับทรัพย์สินของบุคคลอื่นจนเป็นส่วนควบหรือแบ่งแยกไม่ได้ ตามร่างมาตรา 30 นอกจากนี้ยังมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่ผู้ให้หลักประกันได้มาแทนทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน การบังคับหลักประกันที่เป็นทรัพย์สินผู้รับหลักประกันอาจบังคับหลักประกันได้ 2 วิธี คือให้ทรัพย์สินหลุดเป็นสิทธิ และจำหน่ายทรัพย์สินที่เป็นหลักประกัน ส่วนการให้ทรัพย์สินหลุดเป็นสิทธิได้ต่อเมื่อ ค้างชำระต้นเงินมากกว่าร้อยละ 60 และไม่มีหลักประกันรายอื่น ขณะเดียวกันเมื่อมีเหตุบังคับหลักประกัน ห้ามลูกหนี้จำหน่ายจ่ายโอนและผู้รับหลักประกันมีสิทธิเข้าครอบครองทรัพย์สิน แต่ต้องไม่ขัดต่อความสงบ ” นายพสิษฐ์ กล่าว

นายกกฤษฎา จีนะวิจารณะ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ถูกกำหนดเป็นทางเลือก ซึ่งเป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย คือ ผู้ประกันซึ่งจะได้รับการอนุมัติเงินกู้มากขึ้น ในขณะที่ยังดำเนินกิจการต่อไปได้ ส่วนผู้รับหลักประกันก็มีหลักประกันก็วางใจที่จะบังคับชำระหนี้ได้ ตามร่างพ.ร.บ.นี้มีประเด็นที่มีความเห็นต่างกันหลายประเด็น ได้แก่ ทรัพย์สินอะไรบ้างที่จะสามารถนำมาเป็นหลักประกัน ส่วนเรื่องบัญชีเงินฝากสมควรนำมาเป็นทรัพย์หลักประกันได้หรือไม่ ขณะที่กรณีที่เกี่ยวกับระบบการจดทะเบียนมีปัญหาว่า จะเชื่อมโยงกับระบบจำนองได้อย่างไร ขณะที่ภาระที่ตกติดไปกับตัวทรัพย์ ซึ่งจะลักษณะของธุรกิจที่ต่างกันออกไปจะมีความยากในการตีความต่างกันออกไปด้วย ส่วนเรื่องระยะเวลาการบังคับชำระหนี้ ก็เปิดช่องให้คู่สัญญาตกลงกันแทนการกำหนดตายตัว

รศ.ไพฑูรย์ คงสมบูรณ์ อาจารย์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.นี้ พยายามสร้างความสมดุลระหว่างสองฝ่าย คือ ฝ่ายลูกหนี้ ก็ได้เงินไปดำเนินกิจการ สามารถใช้สอย และเปลี่ยน หรือจำหน่ายจ่าย โอนทรัพย์ได้ และมีการขยายของเขตของทรัพย์ที่จะนำมาเป็นหลักประกัน ส่วนฝ่ายเจ้าหนี้เองก็เกิดความมั่นใจที่จะบังคับชำระหนี้แก่ลูกหนี้มากขึ้น เนื่องจากการประกันตามปกติ ทรัพย์สินจะอยู่ในความครองครองของลูกหนี้ไม่มีหลักประกันใดจึงยากที่จะบังคับได้

รศ.ไพฑูรย์ กล่าวว่า ในต่างประเทศมีการกำหนดข้อจำกัดในหลายประการ คือ การกำหนดตัวทรัพย์ที่สามารถนำมาเป็นหลักประกันได้ ขณะที่รูปแบบของสัญญาหลักประกัน โดยทั่วไปแล้วทุกประเทศกำหนดรายละเอียดเอาไว้ แต่มีเพียงบางประเทศที่ตื่นตัวและพัฒนากฎหมายให้ตามทันระบบธุรกิจ หลายประเทศได้ตกผลึกเรื่องหลักประกันเพราะได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง กรณีประเทศไทย บัญญัติเรื่องนี้เอาไว้ในกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ก่อให้เกิดข้อจำกัด เช่น ตัวทรัพย์ที่นำมาเป็นหลักประกัน การบังคับทรัพย์ การตีความของศาลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มักจะตีความอย่างแคบ ในทางปฏิบัติจึงเกิดความเสียหายโดยเฉพาะความเสียหายต่อธนาคาร เช่น ไม่ได้รับบังคับชำระหนี้ หลักประกันไม่สมบูรณ์

“ประเทศต่างๆในอาเซียนมีกฎหมายดังกล่าวก้าวหน้ามากกว่าประเทศไทย ประเทศไทยจึงควรจะเตรียมความพร้อมเพื่อที่จะสามารถแข่งขันกับประเทศต่างๆให้ทันการเปิดเสรีอาเซียนในปี 2558” รศ.ไพฑูรย์ กล่าว

ติดต่อ:

สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย : OFFICE OF LAW REFORM COMMISSION OF THAILAND อาคารซอฟต์แวร์ ปาร์ค ชั้น๑๙ ตำบลคลองเกลือ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ๑๑๑๒๐ โทร.๐ ๒๕๐๒ ๖๐๐๐ ต่อ ๘๒๗๘ โทรสาร. ๐ ๒๕๐๒ ๖๐๐๐ ต่อ ๘๒๗๔

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๘:๕๗ ซีพีเอฟ-คอนเน็กซ์ อีดี ร่วมมอบโอกาสให้น้องๆ รร.บ้านพิชิตคเชนทร์ หนุนผลสัมฤทธิ์การเรียน
๐๘:๑๐ สดช. และ ทริส ขอเชิญชวนประชาชน ร่วมตอบแบบสำรวจการศึกษา
๐๘:๑๘ เขตเฉาหยางในกรุงปักกิ่งเป็นเจ้าภาพจัดเทศกาลวัฒนธรรมชานานาชาติ
๐๘:๒๓ เนคเทค สวทช. จัดรวมพลคน KidBright ครั้งที่ 5 ภายใต้แนวคิด Edge AI หนุน 'นักนวัตกร' เรียนรู้ตลอดชีวิต ขับเคลื่อนประเทศสู่ความยั่งยืน
๐๘:๔๔ วางศิลาฤกษ์สร้างโรงงานใหม่ บัลเดอร์ เทคโนโลยี
๐๘:๑๗ LINE ผนึก สสว. เดินหน้ากระจายความรู้ดิจิทัลทั่วไทย จัดสัมมนาโรดโชว์ครั้งยิ่งใหญ่ 'UPSKILL SME - ยอดขายโตทั่วไทยด้วยโซลูชั่นจาก
๒๐ พ.ค. บมจ. เอสไอเอส ดิสทริบิวชั่น (ประเทศไทย) คว้ารางวัล Top Growth Distributor FY23 Commercial
๑๗:๒๔ นิเทศศาสตร์ SPU จัด UP SKILL FRESHY'67 อัดแน่นความรู้ ฝึกฝนทักษะ เตรียมพร้อมสู่อนาคตสื่อสาร
๒๐ พ.ค. โรงแรมม็อกซี่ แบงคอก ราชประสงค์ ต้อนรับเดือน Pride Month ขนทัพโปรโมชัน สนุกกับความอร่อยไม่ซ้ำใคร ตลอดเดือนมิถุนายนนี้
๒๐ พ.ค. มิน,อแมนด้า,เกรท,เชียร์ ร่วมฉลอง 20 ปี สุรีย์พร คลินิก ในงาน Volformer x Sureephorn clinic