“วัคซีนลูกผสมป้องกันไข้เลือดออก-เครื่องตรวจวัดคุณภาพอะลูมิเนียม” คว้ารางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นประจำปี 2555

พฤหัส ๑๑ ตุลาคม ๒๐๑๒ ๑๓:๒๘
นักวิจัย มช. และทีมวิจัยจากเอ็มเทค คว้ารางวัล“นักเทคโนโลยีดีเด่นประจำปี 2555” จากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ด้านประธานคณะกรรมการรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นฯระบุเป็นงานวิจัยที่มีประโยชน์มากต่อวงการแพทย์และวงการอุตสาหกรรมของประเทศ ชี้รางวัลนี้ตั้งขึ้นเพื่อให้คนในสังคมไทยเห็นความสำคัญของ “เทคโนโลยี” ควบคู่กับ “วิทยาศาสตร์พื้นฐาน” อันจะนำไปสู่การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันด้านเทคโนโลยีในอนาคต

รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ประธานคณะกรรมการรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันการพัฒนาเทคโนโลยีในโลกเป็นไปด้วยความรวดเร็ว มีการแข่งขันในอัตราที่สูงมาก ทำให้ประเทศไทยอยู่ในสภาพที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศและขาดอำนาจการต่อรอง มูลนิธิฯ เห็นความจำเป็นต้องกระตุ้นอัตราการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อแก้ปัญหาของประเทศอย่างเร่งด่วน จึงจัดให้มีการมอบรางวัล “นักเทคโนโลยีดีเด่น” และรางวัล “นักเทคโนโลยีรุ่นใหม่” ขึ้นในปี 2545 คู่ขนานไปกับรางวัลทางด้านวิทยาศาสตร์ ทั้งนี้เพื่อให้คนในสังคมไทยเห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีควบคู่ไปกับวิทยาศาสตร์พื้นฐาน และหวังว่ารางวัลอันทรงเกียรตินี้ จะเป็น “แรงกระตุ้น” ให้นักวิทยาศาสตร์ไทยมีกำลังใจในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ รวมถึงเป็นเป้าหมายให้เยาวชนไทยมุ่งพัฒนาตนให้เป็นกำลังสำคัญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศต่อไปในอนาคต

โดยในปีนี้ได้รับความสนใจจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเป็นจำนวนมาก ซึ่งงานวิจัยที่เสนอชื่อเข้ามามีคุณภาพสูงมาก ทั้งเนื้อหาสาระและระดับความน่าสนใจที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับสังคมไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะนักเทคโนโลยีดีเด่นประเภทบุคลและประเภททีม ซึ่งทั้ง 2 รางวัลสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้สูงสุดทั้งในวงการแพทย์ และวงการอุตสาหกรรม ส่วนนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่อีก 1 รางวัล ก็มีความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาเครื่องมือให้มีประสิทธิภาพต่อไปในอนาคต เนื่องจากเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการคำนวณการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน มีความแปรปรวนอยู่ตลอดเวลา

สำหรับในปีนี้ผู้ที่ได้รับรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่นมี 2 รางวัลคือ รางวัลประเภทบุคคล ได้แก่ รศ.นพ.นพพร สิทธิสมบัติ อาจารย์ประจำภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งประสบความสำเร็จในการนำเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมมาใช้ตัดต่อยีนเชื้อไวรัสเด็งกี่ 4 ชนิด และสร้างไวรัสพันธุ์ผสมขึ้นมา ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชื้อไวรัสเดิมที่มีฤทธิ์รุนแรงให้อ่อนฤทธิ์ลง โดยผลจากงานวิจัยชุดวัคซีนตัวเลือกแบบเชื้อไวรัสตัวเป็นอ่อนฤทธิ์สำหรับการกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสเด็งกี่ทั้ง 4 ชนิดชุดแรกได้ถูกนำไปใช้เป็นต้นแบบเพื่อการพัฒนาวัคซีนไข้เลือดออกในระดับอุตสาหกรรม

ส่วนรางวัลประเภททีม ได้แก่ คณะนักวิจัยและวิศวกรห้องปฏิบัติการวิศวกรรมการหล่อ หน่วยวิจัยการออกแบบและวิศวกรรม ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ(เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ภายใต้การนำของดร.จุลเทพ ขจรไชยกูล นักวิจัยอาวุโสและผู้อำนวยการหน่วยวิจัยการออกแบบและวิศวกรรม ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ พร้อมด้วย นายอมรศักดิ์ เร่งสมบูรณ์ นายสมภพ เพชรคล้าย นายฤทธิไกร สิริชัยเวชกุล นายวิทยา สามิตร และนายนครินทร์ มูลรินทร์ วิศวกรวิจัยพัฒนา ห้องปฏิบัติการวิศวกรรมการหล่อ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ พัฒนา“เทคโนโลยีการตรวจวัดคุณภาพของอะลูมิเนียมเหลวสำหรับการผลิตงานหล่อคุณภาพสูง”ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญสำหรับผู้ประกอบการหล่ออะลูมิเนียมที่ต้องมีอุปกรณ์ตรวจวัด วิเคราะห์ รวมถึงการใช้ซอฟต์แวร์ควบคุมชุดคำสั่งเพื่อให้ได้งานที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะความสมบูรณ์ของเนื้องานและโครงสร้างทางโลหะวิทยา ที่สำคัญเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้ประกอบการในวงการอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยและคุณภาพสินค้าที่ผู้บริโภคพึงได้รับ

ขณะที่รางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ในปีนี้มี 1 รางวัล คือ ผศ.ดร.ชินวัชร์ สุรัสวดี คณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต จากผลงานวิจัยการพัฒนาอัลกอริทึม AMPสำหรับประมาณค่าหยาดน้ำฟ้าทั่วโลกจากข้อมูลที่สังเกตจากดาวเทียมมิลลิมิเตอร์เวฟแบบพาสซีฟ ซึ่งเป็นการตรวจสอบความถูกต้องของผลการประมาณค่าหยาดน้ำฟ้าจากอัลกอริทึม AMP กับสัญญาณสะท้อนที่สังเกตโดยเรดาร์ Cloud Sat ที่อยู่บนดาวเทียม และเปรียบเทียบกับข้อมูลหยาดน้ำฟ้าที่สังเกตจากมาตรวัดฝนทั่วโลก โดยเวอร์ชั่นล่าสุดของอัลกอริทึมที่พัฒนาขึ้นคือ AMP เวอร์ชั่นที่ 5(AMP-5) ที่มีความถูกต้องแม่นยำและครอบคลุมพื้นที่ทั่วโลกมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.ศักรินทร์ กล่าวทิ้งท้ายว่า การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่เป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากขณะนี้ภาคอุตสาหกรรมการผลิตของไทยมีการขยายตัวสูง การพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรด้านเทคโนโลยีควบคู่ไปกับวิทยาศาสตร์ จะทำให้ไทยเกิดการได้เปรียบทางการแข่งขันมากยิ่งขึ้น เพราะภาพรวมในการพัฒนาเทคโนโลยีของไทยนั้นอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถพัฒนาต่อไปอย่างก้าวกระโดดได้ หากได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังพร้อมกับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

สนใจภาพประกอบและข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ 0 — 2270 — 1350 — 4

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๔ พ.ค. Siriraj Education Expo 2024 ก้าวสู่ยุคใหม่ไปกับศิริราช พร้อมยกระดับทางการแพทย์ให้ดีขึ้น เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยทุกคน
๐๓ พ.ค. ครั้งแรก! งานเทศกาลคอนเทนต์ LGBTQ ฉลองความเท่าเทียมทางเพศ THAILAND INTERNATIONAL LGBTQ FILM TV FESTIVAL 2024 ปักหมุดเตรียมพบกัน กันยายนนี้
๐๓ พ.ค. โน วัน เอลส์ ส่ง 3 เพลงรัก 3 สไตล์! ผ่านมิวสิกซี่รีย์ ที่จะทำให้คุณเข้าใจความรักมากขึ้น
๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง