คุมเข้มอาหารเข้าออสเตรเลีย

พุธ ๒๔ ตุลาคม ๒๐๑๒ ๑๘:๐๐
ส่งออกไทย-ออสเตรเลียพุ่งสวนกระแสขยายตัวกว่า 5% เผยวิกฤตเศรษฐกิจโลกส่งผลดีต่อผู้บริโภคออสเตรเลียในการซื้อสินค้าออนไลน์ ท่องเที่ยว การนำเข้า ชี้ชาวออสซี่มีเงินออมสูง

นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงการค้าระหว่างไทยกับออสเตรเลียในช่วง 8 เดือนแรก(ม.ค.-ส.ค.)ของปี 55ว่า การค้ามีมูลค่ารวม 9,876 ล้านเหรียญสหรัฐฯ(338,357 ล้านบาท) โดยแบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 5,983 ล้านเหรียญสหรัฐฯ(185,668 ล้านบาท)หรือ เพิ่มขึ้น 5.4% และการนำเข้ามูลค่า 3,893 ล้านเหรียญสหรัฐฯ( 121,905 ล้านบาท) หรือ ลดลง29%โดยไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้า 2,090 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปออสเตรเลีย ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ซึ่งมีมูลค่ากว่า 2,205 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ เพิ่มขึ้นกว่า 12% เมื่อเทียบกับปีก่อน รองลงมาเป็นอัญมณีและเครื่องประดับ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์บาง ผลิตภัณฑ์พลาสติก น้ำมันสำเร็จรูป และเคมีภัณฑ์

สินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าจากออสเตรเลีย ได้แก่ น้ำมันดิบซึ่งมีมูลค่ากว่า 890 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือลดลง 42%เมื่อเทียบกับปีก่อน รองลงมาเป็นสินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช ถ่านหิน เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ด้ายและเส้นใย เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนปะกอบ และนมและผลิตภัณฑ์นม

“วิกฤตเศรษฐกิจในตลาดหลักทั้งสหรัฐฯ ยุโรปและญี่ปุ่นยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะในยุโรปที่ทวีความรุนแรงขึ้นอาจส่งผลให้ค่าเงินออสเตรเลียยิ่งแข็งค่าขึ้นส่งผลดีต่อผู้บริโภคออสเตรเลียในการซื้อสินค้าออนไลน์ ท่องเที่ยว การนำเข้า และการลงทุนในยุโรป รวมถึงจำนวนแรงงานที่มีคุณภาพจากยุโรปที่ต้องการทำงานในออสเตรเลียจะเพิ่มขึ้นด้วย”นางศรีรัตน์ กล่าวและว่า ในด้านการค้าออนไลน์นั้น กรมฯได้มีแผนงานรองรับการเพิ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยให้เปิดทำการค้าผ่านออนไลน์เพิ่มขึ้นในเว็บไซต์ thaitrade.com ซึ่งขณะนี้มีจำนวนร้านค้าออนไลน์ที่ได้รับการคัดสรรแล้วว่ามีคุณภาพมาตรฐานการส่งออกจำนวนกว่า 6,616 ร้านค้า ครอบคลุมสินค้ามากกว่า 72,200 รายการ

สำหรับการส่งออกของไทยไปออสเตรเลีย กลุ่มสินค้าอาหารจากไทยอาจไม่ได้รับผลกระทบมากนักเนื่องจากสินค้าอาหารเป็นสินค้าจำเป็น และออสเตรเลียนำเข้าสินค้าอาหารจากไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยปี 2554 นำเข้าเพิ่มขึ้น 22% จากปีก่อนหน้าและในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมาออสเตรเลียได้นำเข้าอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปคิดเป็นมูลค่า 207 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ เพิ่มขึ้น11% รวมทั้งหากมีแรงงานจากยุโรปเข้ามาทำงานในออสเตรเลียมากขึ้น ก็จะส่งผลให้ความต้องการอาหารเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

สถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจโลกโดยรวม จะส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคออสเตรเลียลดลงและระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นส่งผลให้อัตราการออมในออสเตรเลียสูงขึ้นจากที่สูงมากอยู่แล้วในปัจจุบัน (มากที่สุดในรอบ 20 ปี) ทำให้อุตสาหกรรมต่างๆ ในออสเตรเลียเช่น ค้าปลีก (แฟชั่น) ท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งปัจจุบัน ประสบปัญหาสภาพคล่อง อาจประสบภาวะชะลอตัว และส่งผลให้การประกอบธุรกิจมีอัตราความเสี่ยงสูง และอาจส่งผลต่ออัตราการว่างงานในระยะยาวได้ อย่างไรก็ดีในอีกทางหนึ่งก็จะส่งผลกระทบทางบวก จากการที่นักลงทุนชาวยุโรปจำเป็นต้องเทขายสินทรัพย์ในออสเตรเลียและทวีปเอเชีย ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสให้นักลงทุนชาวออสเตรเลียสามารถซื้อสินทรัพย์เหล่านั้น และอาจซื้อได้ในเงื่อนไขและราคาที่เป็นประโยชน์สำหรับการลงทุนต่อไปในอนาคต

ล่าสุดกรมฯได้นำหน่วยงานภาครัฐและเอกชน 43 รายเข้าร่วมงาน Fine Food Australia 2012 ครั้งที่ 28 ระหว่างวันที่ 10-13 กันยายน 2555 ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุดในทวีปออสเตรเลีย โดยคาดว่าจะมียอดขายประมาณ 3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สินค้าที่ได้รับความสนใจ อาทิ ข้าวสาร วุ้นเส้น บะหมี่ เครื่องแกงสำเร็จรูป ซอสปรุงรส เป็นต้น ทั้งนี้ออสเตรเลียเป็นประเทศที่มีรายได้ประชากรต่อหัวสูงถึง 41,000 เหรียญสหรัฐฯต่อคน ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับประเทศใหญ่ๆ ในยุโรปตะวันตก โดยไทยเป็นคู่ค้าที่ออสเตรเลียนำเข้าสินค้าในอันดับที่ 4 รองจากจีน สหรัฐ และญี่ปุ่น

“ออสเตรเลียเป็นประเทศที่มีลักษณะทางกายภาพเป็นเกาะและเป็นประเทศเกษตรกรรม จึงมีการใช้มาตรการสุขอนามัย(Bio Security Quarantine Measures)ที่เคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยทางชีวภาพ เนื่องจากมีความกังวลเรื่องแมลงและโรคที่จะทำให้ระบบเกษตรกรรมของประเทศมีปัญหา ปัจจุบันผักและผลไม้สดของไทยส่วนใหญ่ยังนำเข้าไม่ได้ ยกเว้น มังคุด ลำไย ลิ้นจี่ มะพร้าวอ่อน ทุเรียนแช่แข็งและข้าวโพดอ่อน นอกจากนี้ออสเตรเลียมีกฎระเบียบการนำเข้าที่เปลี่ยนแปลงบ่อยและแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบบ้างบางครั้งเท่านั้น ทำให้เกิดปัญหาในการส่งสินค้าไปยังออสเตรเลีย อย่างไรก็ตามเชื่อว่าหากผู้ประกอบการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ถูกต้องตามกฎระเบียบและติดตามการเปลี่ยนแปลงของกฎระเบียบอย่างใกล้ชิด มีบรรจุภัณฑ์ที่สะดุดตาและจับตลาดสินค้าลักษณะพิเศษที่อยู่ในกระแสความนิยมเช่น สินค้าเพื่อสุขภาพและอาหารเอเชีย จะช่วยให้สินค้าไทยสามารถส่งออกไปในตลาดออสเตรเลียได้มากขึ้น” นางศรีรัตน์ กล่าว

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๔ พ.ค. Siriraj Education Expo 2024 ก้าวสู่ยุคใหม่ไปกับศิริราช พร้อมยกระดับทางการแพทย์ให้ดีขึ้น เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยทุกคน
๐๓ พ.ค. ครั้งแรก! งานเทศกาลคอนเทนต์ LGBTQ ฉลองความเท่าเทียมทางเพศ THAILAND INTERNATIONAL LGBTQ FILM TV FESTIVAL 2024 ปักหมุดเตรียมพบกัน กันยายนนี้
๐๓ พ.ค. โน วัน เอลส์ ส่ง 3 เพลงรัก 3 สไตล์! ผ่านมิวสิกซี่รีย์ ที่จะทำให้คุณเข้าใจความรักมากขึ้น
๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง