‘ดร.วิษณุ’ แนะ มรภ.สงขลา ตั้งสถาบันวิชาชีพครู ร่างแผนฯ 4 ปี ทำ 3 ภารกิจหลักหัวใจราชภัฏ

จันทร์ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๐๑๒ ๑๔:๕๗
ดร.วิษณุ เครืองาม วิพากษ์แผนฯ 4 ปี มรภ.สงขลา ชี้ยึด 3 ภารกิจหลักหัวใจราชภัฏ ตั้งสถาบันพัฒนาวิชาชีพครู ศูนย์เศรษฐกิจพอเพียง

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) กล่าวระหว่างเป็นประธานการประชุมวิพากษ์ร่างนโยบายและแผนพัฒนา มรภ.สงขลา ประจำปี 2556-2559 ณ โรงแรมมาริไทม์ ปาร์ค แอนด์ สปา รีสอร์ท จ.กระบี่ เมื่อเร็วๆ นี้ว่า การวางนโยบายและแผนพัฒนามหาวิทยาลัยในช่วงเวลา 4 ปีต่อจากนี้ คงต้องมองอะไรที่กว้างไกลออกไป โดยเฉพาะการมีปฏิสัมพันธ์กับหน่วยงานหรือสถาบันการศึกษาอื่นๆ เพราะ มรภ.สงขลา ไม่ได้อยู่โดดเดี่ยวลำพัง แต่เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยราชภัฏ เพราะฉะนั้นต้องดูว่าทิศทางของมหาวิทยาลัยราชภัฏอีก 39 แห่ง เป็นอย่างไร โดยเฉพาะอีก 4 แห่งที่อยู่ในภาคใต้ ซึ่งถือเป็นเครือเดียวกัน ถ้าจะให้ดีก็อาจจะต้องชำเลืองมหาวิทยาลัยอื่น ที่ทำมาหากินอยู่ในอาณาบริเวณเดียวกัน ต้องรู้เขารู้เราในการที่จะกำหนดแนวทางและนโยบายการพัฒนา ภาษาทางธุรกิจก็คือต้องแข่งขันกัน หากทุกแห่งคิดจะเปิดสาขาใด หรือจะทำอะไรเหมือนกันหมด ลงท้ายก็เจ๊ง การรู้เขารู้เราทำให้สามารถสร้างความแตกต่างท่ามกลางความเหมือน ซึ่งถ้าทุกคนคิดและทำได้แบบนี้ก็จะอยู่รอด

นายกสภา มรภ.สงขลา กล่าวอีกว่า อุดมการณ์ที่สำคัญของมหาวิทยาลัยราชภัฏ ไม่ว่าที่ใดก็ตามผูกติดไว้กับ 2-3 เรื่อง คือ การพัฒนาวิชาชีพครู การบริการท้องถิ่น และ การส่งเสริมสนับสนุนประสานงานกับโครงการพระราชดำริ ทั้ง 3 เรื่องนี้เป็นหัวใจของราชภัฏ เมื่อเป็นเช่นนี้เราก็จำเป็นต้องทำภารกิจที่ได้รับการฝากฝังหรือมอบหมายให้ทำอย่างดีที่สุด อย่างอื่นเป็นเรื่องประกอบ หากทำ 3 ภารกิจนี้ได้ไม่ดีหรือไม่ได้ผล ก็เท่ากับสูญเสียความความเป็นราชภัฏไปโดยสิ้นเชิง ซึ่ง 4 ปีที่ผ่านมา มรภ.สงขลา ยึดหลักการเหล่านี้อยู่แล้ว แต่จากนี้ไปคงต้องทำให้เข้มข้นขึ้น เพราะเดี๋ยวจะเห่ออาเซียนจนกระทั่งลืมไปว่าอาเซียนไม่ได้อยู่ใน 3 ภารกิจหลัก วันนี้ทุกแห่งพูดถึงแต่เรื่องอาเซียน ซึ่งก็ถูกต้องและดีแล้ว แต่สุดท้ายจะไปอาเซียนกันหมด ในขณะที่โครงการพระราชดำริที่ทำอยู่ใกล้ๆ หรือการพัฒนาพื้นที่ การร่วมมือกับท้องถิ่น หรือแม้แต่ใกล้กับเราที่สุดคือลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา จะไม่มีผู้ใดไปสนใจ

“ผมมองว่าเราหนีไม่พ้นเรื่องสถาบันพัฒนาวิชาชีพครู ซึ่งคนอื่นเขาไม่ทำแล้ว แต่ถ้าราชภัฏไม่ทำใครจะทำ คำว่าวิชาชีพครูสามารถเอาอะไรใส่เข้าไปได้ตั้งหลายอย่าง สถาบันที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง หรือจะเป็นสถาบันที่เกี่ยวกับการเรียนรู้โครงการพระราชดำริ แล้วแต่จะเรียก แต่ว่าตรงนี้เป็นที่ที่สามารถให้คนมาเรียนรู้เกี่ยวกับโครงการพระราชดำริ ปรัชญาเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง หรือการเอาไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ในการทำธุรกิจ หรือในเรื่องต่างๆ ได้” ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ กล่าวและว่า

ต้องกลับมาสู่จุดที่เป็นรากฐานให้ได้ โดยอาจมีการก่อตั้งสถาบันพัฒนาวิชาชีพครู มรภ.สงขลา ขึ้นเป็นกิจจะลักษณะ และก่อตั้งศูนย์หรือสถาบันเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในแง่ของการเรียนการสอน และการปฏิบัติ ที่สำคัญคือเอามาเป็นแบบอย่างให้คนอื่นได้เรียนรู้ โดยมี มรภ.สงขลา เป็นต้นแบบองค์ความรู้ อีกเรื่องหนึ่งที่น่าจะเกิดขึ้นได้ในช่วง 4 ปีต่อจากนี้ คือ อยากฝากให้ มรภ.สงขลา รับเป็นเจ้าภาพงานที่เกี่ยวกับการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ซึ่งเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ เป็นคลังวิทยาความรู้ และเป็นแหล่งศิลปวัฒนธรรมที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิต การทำมาหากิน การประมง หรืออื่นใดก็ตาม ซึ่งเป็นอีกงานหนึ่งที่น่าจะเชิดหน้าชูตา และทำให้ มรภ.สงขลา มีบทบาทในประเทศและในประชาคมอาเซียนได้

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วิษณุ กล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้ตนเล็งไปที่สตูล และรู้สึกดีใจที่ ผศ.ดร.ไพโรจน์ ด้วงวิเศษ อธิการบดี มรภ.สงขลา ได้ริเริ่มโครงการวิทยาเขตสตูลเอาไว้ ท่ามกลางเสียงที่อาจจะไม่เห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเบื้องต้นคงเป็นเช่นนั้น แต่ต่อไปหนีไม่พ้นที่จะต้องพัฒนาสตูลขึ้นมาให้เป็นกิจจะลักษณะให้มากกว่านี้ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่เอื้อในทางยุทธศาสตร์หลายอย่าง เหมาะที่จะไปเริ่มสิ่งใหม่ๆ ที่นั่น วันนี้ทุกคนเห่ออาเซียน ซึ่งบทบาทของ มรภ.สงขลา กับอาเซียน หากจะเปิดตัวออกไปสตูลเป็นชัยภูมิที่เหมาะที่สุด กล่าวคือ 1. อยู่ในชุมชนมุสลิมที่ปลอดภัยและเป็นมิตร 2. รัฐให้การสนับสนุนที่ใครจะช่วยเข้าไป เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา เอางานเล็กๆ ไปแบ่งและไปทำเสียตรงนั้น ซึ่ง มรภ.สงขลา ต้องพยายามสร้างจุดแข็งที่สุดของตัวเอง โดยนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้กับการที่จะบริหารมหาวิทยาลัย ว่าทำอย่างไรที่จะทำไปโดยความสมเหตุสมผล โดยที่มีภูมิคุ้มกันของเราเอง ต้องหาว่าภูมิคุ้มกันของ มรภ.สงขลา อยู่ตรงไหน ที่ผ่านมาคณะผู้บริหารได้พยายามเปิดตัวมหาวิทยาลัยออกสู่โลกภายนอก ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะคำว่าเข้าอาเซียนไม่ได้แปลว่าเปิดประตูรอให้เขาเดินเข้ามาเรียนกับเรา แต่บางครั้งเราต้องเปิดประตูออกไปหาเขา และบางครั้งเราไม่ไปหาเขา เขาไม่มาหาเรา แต่ไปเจอกันครึ่งทางตรงไหนสักแห่ง คือจับมือทำอะไรร่วมกัน ก็ถือเป็นการต้อนรับเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้ว

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๓๐ เม.ย. มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ตอกย้ำปณิธาน สร้างชีวิต มอบเครื่องเล่นสนาม อุปกรณ์ครุภัณฑ์ พร้อมเครื่องอุปโภคบริโภคแก่เด็กนักเรียนในส่วนภูมิภาค ณ โรงเรียนวัดนาร่อง อ.เมือง
๓๐ เม.ย. เฮงลิสซิ่ง จับมือ วิริยะประกันภัย เสนอ ประกันภัยอุ่นใจ ทางเลือกใหม่สำหรับประกันภัยคุ้มครองบ้าน
๓๐ เม.ย. ม.วลัยลักษณ์-สมาคมกีฬาตะกร้ออาวุโส-สมาคมกีฬา จ.นครศรีฯ เอ็มโอยูเตรียมระเบิดศึกตะกร้อเยาวชนฮอนด้า ยูเนี่ยน
๓๐ เม.ย. หลักสูตรการประยุกต์ใช้ NODE-RED ในงานอุตสาหกรรม เชื่อมต่อ CLOUD PLATFORM NEXIIOT
๓๐ เม.ย. ม.วลัยลักษณ์ คว้า 2 รางวัลระดับโลก 3G Award 2024
๓๐ เม.ย. YouTrip เปิดอินไซต์ช่วงหยุดยาวคนไทยแห่เที่ยว ญี่ปุ่น-จีน ยอดใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 150%
๓๐ เม.ย. คณะการท่องเที่ยวฯ DPU ให้ความสำคัญต่องานบริการ จัด HT Makeup Competition 2024 เพิ่มทักษะแต่งหน้าให้กับ นศ.
๓๐ เม.ย. กิจกรรมดี ๆ สำหรับเยาวชนหญิงที่หลงใหลศิลปะการทำอาหาร ในโครงการ Women for Women (WFM) Internship Program ร่วมฝึกงานในร้านอาหารโพทง
๓๐ เม.ย. ผู้ถือหุ้น CIVIL โหวตอนุมัติ จ่ายปันผล 0.012 บาท/หุ้น ทิศทางธุรกิจปี 67 เติบโตต่อเนื่อง
๓๐ เม.ย. PRM จัดประชุม E-AGM ปี 67 อนุมัติจ่ายปันผล 0.26บ./หุ้น