กรมการแพทย์จัด “พิราบอาสาต้านภัยยาเสพติด” เผยสถิติผู้ติดยาเสพติดไทย ระบุปี 56 รุกเข้ม 5 มาตรการติดยารักษาได้

พุธ ๑๙ ธันวาคม ๒๐๑๒ ๑๔:๑๒
กรมการแพทย์จัด “พิราบอาสาต้านภัยยาเสพติด” เผยสถิติผู้ติดยาเสพติดไทยระบุปี 56 รุกเข้ม 5 มาตรการติดยารักษาได้ วอนสื่อช่วยป้องกันภัยใหม่แพร่ระบาด

กรมการแพทย์ร่วมกับสถาบันธัญญารักษ์ ดันยุทธศาสตร์จัดการปัญหายาเสพติดเชิงรุก จัดโครงการสัมมนา "พิราบอาสาต้านภัยยาเสพติด" หวังให้สื่อมวลชนเป็นตัวกลางเผยแพร่ข่าวสารยาเสพติด พฤติกรรมคนติดสารเสพติด และองค์ความรู้ด้านการรักษาผู้ติดยาเสพติดที่ถูกต้องแบบทันเหตุการณ์ หลังพบตัวเลขคนไทยยุ่งเกี่ยวกับยานรกสูงเป็นประวัติการณ์เกือบ 2 ล้านคน และเป้าหมายใหม่ยังเป็นกลุ่มเยาวชน ที่มีแนวโน้มขยับขึ้นเป็นกลุ่มผู้ติดยาอันดับ 2 ของประเทศ ส่วนยาเสพติดยอดฮิตที่ต้องเร่งปราบปรามอย่างจริงจัง ได้แก่ ยาบ้าและยาไอซ์ นั้นเริ่มแปรรูปและกระจายตัวใหม่แพร่ระบาดในกลุ่มคนทำงานมากขึ้นด้วย

ระบุปี 56 เข้ม 5 มาตรการ 1.สร้างชุมชนเข้มแข็ง 2.บำบัดฟื้นฟู 3.ป้องกันกลุ่มเสี่ยง 4.ปราบปราม และ 5.สกัดกั้น เพื่อนำผู้ติดยาเสพติดในฐานะผู้ป่วยที่รักษาให้หายขาดได้ กลับคืนสู่สังคมและดำรงตนอยู่ได้อย่างปกติสุข ไม่กลับไปติดยาซ้ำ

ที่อาคารปาร์คเวนเจอร์ เพลิตจิต กทม. วันที่ 19 ธ.ค. 2555 แพทย์หญิงวิลาวัณย์ จึงประเสริฐ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวเปิดงานอบรมสัมมนาวิชาการ "พิราบอาสาต้านภัยยาเสพติด" สำหรับสื่อมวลชนไทย เพื่อขจัดและบรรเทาปัญหายาเสพที่ระบาดหนักในข้างต้นว่า ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนต้องตระหนักและให้ความใส่ใจถึงอันตรายของยาเสพติดอย่างแท้จริง ดั่งที่รัฐบาลประกาศเจตนารมณ์ไว้ว่า ต้องการให้ยาเสพติดเป็นนโยบายเร่งด่วนจนกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ

ดังนั้น กรมการแพทย์และสถาบันธัญญารักษ์จึงกำหนดกลยุทธ์และเป้าหมายในเรื่องนี้ร่วมกัน ให้เป็นไปตามนโยบายภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นการรวมพลังทุกภาคส่วนเป็นพลังแผ่นดินร่วมต่อสู้กับภัยยาเสพติด ในแบบยึดหลักเมตตาธรรม นำผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติดเข้ารับการบำบัดรักษาฟื้นฟู และใช้หลักควบคุมเพื่อลดปัจจัยลบในกลุ่มเสี่ยง ร่วมกับการใช้หลักนิติธรรมและมาตรการทางกฎหมายในการปราบปราม

พญ.วิลาวัณย์ กล่าวต่อถึงสิ่งที่จะเร่งมือทำในปีหน้าด้วยว่า แผนยุทธศาสตร์ในปี 2556 สิ่งที่ตั้งใจลงมือทำร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัฐ มีอยู่ด้วยกัน 5 ประการ ได้แก่

1. สร้างหมู่บ้านหรือชุมชนเข้มแข็งจำนวน 84,320 แห่ง

2. บำบัดฟื้นฟูด้วยการสร้าง 1 อำเภอ 1 ศูนย์จำแนกคัดกรอง พร้อมนำผู้เสพและผู้ติดยาเข้ารับการบำบัดทุกระบบจำนวน 300,000 คน และติดตามผู้ผ่านการบำบัดให้ได้จำนวน 700,000 คน โดยต้องมีมาตรการให้ผู้ผ่านการบำบัดไม่กลับไปเสพติดซ้ำอย่างน้อย 80%

3. ป้องกันกลุ่มเสี่ยง ด้วยการให้ความรู้นักเรียนชั้นประถมศึกษาตอนปลายจำนวน 1.5 ล้านคน และผู้เสพซึ่งมีสถานะเป็นผู้ติดรายใหม่จำนวน 20% ของจำนวนผู้เสพหน้าใหม่ทั้งหมด

4. การปราบปราม ตั้งเป้าจับกุมผู้กระทำความผิดในข้อหาคดีสำคัญด้านยาเสพติดให้ได้ 40,000 ราย พร้อมยึดทรัพย์สินจากการกระทำผิดให้ได้ 2,000 ล้านบาท

และ 5. การสกัดกั้น จะพยายามให้สัดส่วนการสกัดกั้น พื้นที่ชายแดนต่อพื้นที่ภายในเป็นไปในแบบ 70:30

"ทั้งนี้สิ่งที่เรามุ่งหวังให้เกิดจริงและพร้อมลงมือปฏิบัติเลยก็คือ การปรับปรุงการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยา ด้วยการคัดกรอง จำแนก และติดตามผลเชิงคุณภาพ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนต้องพึ่งพิงอาศัยเจ้าหน้าที่ที่มีคุณภาพในการทำงานสูง จึงจำเป็นต้องพัฒนาบุคลากรเพิ่มเติม พร้อมทั้งพัฒนารูปแบบการบำบัด จากนั้นจึงจัดให้มีระบบการติดตามช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัดทั่วประเทศ" อธิบดีกรมการแพทย์ สธ.แจงเพิ่มและกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า หวังว่าสื่อมวลในฐานะพิราบอาสา ที่มีความสำคัญในด้านจิตวิทยาที่สามารถชี้นำผู้คนในสังคมได้ จะช่วยเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารดังกล่าวให้เป็นที่ประจักษ์และเกิดประโยชน์ต่อมวลชนโดยรวม

จากนโยบายมาสู่สถิติที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ความรุนแรงที่นับวันจะยิ่งทวีเพิ่มมากขึ้น นายแพทย์จิโรจ สินธวานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ สธ. เผยถึงข้อมูลในเรื่องนี้ไว้ว่า จากการศึกษาประมาณการได้ว่าผู้เสพผู้ติดยาเสพติด คาดว่าจะมีผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดทั่วประเทศในปี 2556 ประมาณ 1.9 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อน (2554-5) เกือบหนึ่งเท่าตัว แต่ผู้เสพและผู้ติดเข้าบำบัดรักษาเพียง 1.2 ล้านคน ขณะที่ผู้เกี่ยวข้องเข้ารับการบำบัดเพียง 5.6 แสนคน และเมื่อศึกษาผลการดำเนินงานการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ของสถาบันธัญญารักษ์ทั่วประเทศภายในปีเดียวกันพบว่า กลุ่มที่ติดยาเสพติดมากที่สุดคือกลุ่มรับจ้าง 41.71% รองลงมาเป็นกลุ่มคนที่ว่างงาน 17.41% การเกษตร 16.81% ท้ายสุดเป็นกลุ่มเยาวชน 9.12 % ที่พบได้ตั้งแต่อายุ 18-29 ปี โดยในกลุ่มหลังนี้มีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นทุกปี และอาจมีจำนวนแซงหน้ากลุ่มว่างงานในไม่ช้านี้

นพ.จิโรจ กล่าวต่อในเรื่องสัดส่วนของกลุ่มเยาวชนที่ใช้ยาเสพติดและเข้ารับการรักษา เป็นการเพิ่มขึ้นที่น่าตกใจ เพราะเมื่อสำรวจการบำบัดทั่วประเทศตามปีงบประมาณ 2553-2555 เยาวชนในกลุ่มอายุ 18-24 ปี มีสถิติเข้ารับการบำบัดสูงที่สุดเป็นอันดับ 1 และมีจำนวนมากกว่าช่วงอายุอื่น ๆ เกือบ 1 เท่าตัว ส่วนช่วงอายุ 12-17 ตามมาเป็นอันดับที่ 4 จาก 7 กลุ่มช่วงอายุ และในกลุ่ม 7-11 ปี ก็ติดโผสถิติเข้ารับการบำบัดอาการติดยาเสพติดด้วยเช่นกัน เพียงแต่รั้งท้ายเป็นอันดับที่ 7 ด้วยสถิติเฉลี่ย 0.016%

ข้อมูลที่สำคัญอีกประการก็คือ เมื่อจำแนกตามกลุ่มผู้เสพรายเก่ารายใหม่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2551-2555) ปรากฏว่าผู้เสพรายเก่าและรายใหม่ที่หมายถึงผู้ที่เพิ่งเข้ารับการบำบัดครั้งแรกมีสูงถึงเกือบ 80% ขณะที่รายใหม่จริงที่หมายถึงผู้ที่เพิ่งเข้ารับการบำบัดครั้งแรกและมีประวัติระบุว่าเริ่มใช้ยาเสพติดไม่เกิน 1 ปี มีอยู่ราวเกือบ 10% ซึ่งในปี 2555 มีผู้เสพรายใหม่จริงสูงถึง 13,363 คน ส่วนรายเก่าและรายใหม่รวมกันสูงที่สุดมากกว่าปีอื่น ๆ 234,984 คน พ่วงด้วยกราฟแสดงจำนวนผู้ติดยาที่เข้ารักษาตามความรุนแรงของการเสพติดประจำปี 2555 จำนวน 3 แสนคน ซึ่งมีจำนวนสูงที่สุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาพบว่า กลุ่มผู้เสพเข้ารับการรักษามากที่สุด รองลงมาเป็นกลุ่มผู้ติด ส่วนผู้ติดตาเสพติดรุนแรงเข้ารับการรักษาเพียงหลักพันคน

นพ.จิโรจยังกล่าวด้วยว่า เมื่อสำรวจผู้เข้ารับการบำบัดตามปีงบประมาณ 2555 ก็พบด้วยว่ายาเสพติดประเภทยาบ้าและยาไอซ์มีผู้เข้ารับการบำบัดสูงที่สุด โดยเป็นยาบ้าอันดับ 1 จำนวน 77,653 คน และยาไอซ์รองลงมาเป็นอันดับ 2 จำนวน 5,412 คน ซึ่งในส่วนของยาไอซ์มีสัดส่วนผู้เสพเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ๆ มากที่สุด 1.7% นอกนั้นจะเป็น กัญชา กระท่อม สารระเหย ฝิ่น เฮโรอีน เมธาโดน ยาอี ยาเลิฟ มอร์ฟีน โคเคน และอื่น ๆ จำพวกสุรา เหล้าแห้ง ยาลดความอ้วน เอ็กซ์ตาซี่ แวเลี่ยม ตามลำดับ

ด้าน นายแพทย์อังกูร ภัทรากร จากสถาบันธัญญารักษ์ กรมการแพทย์ สธ. กล่าวต่อถึงวิธีในการบำบัดรักษาผู้ติดตาเสพติดของประเทศไทยที่ใช้อยู่ในปัจจุบันว่า ก่อนไปถึงกระบวนการบำบัดควรเรียนรู้ถึงธรรมชาติของการติดยาเสพติดหรือที่ทางการเรียกกันว่าสมองติดยา ซึ่งหากคิดเป็น 100% การลองเสพจะอยู่ที่ 100 คน ถัดมาจะเป็นการหาโอกาสเสพต่ออีก 70 คน และกลายเป็นกลุ่มเสพประจำ 30 คน จนกระทั่งเหลือกลุ่มเสพตลอดเวลาราว 5-10 คน โดยวงจรนี้ส่วนใหญ่เริ่มจากการเสพสนุก เสพเอามัน เหตุที่ให้คนติดยาเสพติดมากขึ้นในปัจจุบัน เพราะหลงผิดไม่รู้เท่าทันว่าทุกครั้งที่เสพยาเสพติดไปทำลายสมอง คิดแต่ว่าทำให้คึกทำงานได้เยอะ หรือไม่ก็ถูกโฆษณาชวนเชื่อหลอกว่าเสพแล้วจะผิวขาว รูปร่างผอมหุ่นดี เป็นต้น ก่อนเข้าขั้นเสพเอาเป็นเอาตายแบบเสพติด ผลที่เกิดแก่ผู้เสพจึงกลายเป็นผู้มีโรคแทรกซ้อนเฉียบพลัน ก่อนเปลี่ยนเป็นโรคแทรกซ้อนเรื้อรัง และเสียชีวิตในที่สุด โดยเฉพาะในกลุ่มที่เสพยาวนานถึง 20 ปี เพราะมีโรคร่วมที่เกิดจากยาเสพติดเกิดขึ้นหลายโรค เช่น บุคลิกภาพผิดปกติ สมาธิสั้น ซึมเศร้า วิตกกังวล โรคจิต หวาดระแวง หลงผิด สมองเสื่อม สมรรถภาพทางเพศเสื่อม นอนไม่หลับ เป็นต้น

"ในกลุ่มของผู้ติดยาเสพติดเรื้อรังกว่า 80% ที่เข้ารับการบำบัดในช่วง 3-10 ปีที่ผ่านมา เราพบว่าครึ่งหนึ่งนั้นหยุดและเลิกได้ ส่วนอีก 40% เสียชีวิตจากโรคแทรกซ้อน อุบัติเหตุ ถูกฆ่าตาย ฯลฯ และอีก 10% กลายเป็นคนบ้าคนจรจัดอยู่ตามถนน" นพ.อังกูร อธิบายเพิ่ม

แพทย์จากสถาบันธัญญารักษ์คนเดิมบอกด้วยว่า เกณฑ์วินิจการติดยาเสพติดหากคุณหรือคนใกล้ตัวมีพฤติกรรม 3 ใน 7 ข้อนี้ 1.มีอาการขาดยาเมื่อไม่ได้เสพ 2.ต้องเพิ่มปริมาณการเสพมากขึ้น 3.ควบคุมปริมาณและระยะเวลาที่เสพไม่ได้ 4.หมกมุ่นกับการเสพและการหาสารมาเสพ 5.พยายามเลิกเสพหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ 6.เสพจนมีผลกระทบต่อสังคมและการงาน 7.คงเสพแม้เกิดผลเสียต่อร่างกายและจิตใจ ให้สันนิษฐานว่าเป็นผู้ติดยาเสพติดแล้ว

นอกจากนี้ แพทย์หญิงวรางคณา รักษ์งาน สถาบันธัญญารักษ์ ยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการบำบัดผู้ติดสารเสพติดว่า "การรักษาผู้ป่วยติดยาเสพติดของสถาบันธัญญารักษ์นั้น แบ่งเป็นการการรักษาโดยสมัครใจ บังคับบำบัด และต้องโทษบำบัด โดยมีแนวทางการรักษาคือเตรียมความพร้อม ถอนพิษยา ฟื้นฟูสมรรถภาพ และติดตามผล โดยขั้นแรกต้องประเมินภาวะทางร่างกาย ระดับความรุนแรง แรงจูงใจ โรคร่วม สังคมและครอบครัวของผู้ป่วย จากนั้นให้การรักษาด้วยยาและฟื้นฟูสมรรถภาพโดยแบ่งเป็นผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน สุดท้ายจบที่การส่งต่อและติดตามผล ซึ่งทางสถาบันจะส่งต่อผู้ป่วยให้กับสถานบำบัดใกล้บ้านและติดตามผลการรักษาเป็นระยะๆ"

อย่างไรก็ดี พญ.วรางคณา ยังให้ความรู้เพิ่มเติมถึงความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับการรักษาผู้ป่วยยาเสพติดไว้ด้วยว่า ความเชื่อที่ว่าคนติดยาเป็นคนนิสัยแย่ ติดยาแล้วไม่มีทางรักษาหาย หรือต้องรักษาด้วยการเข้าค่ายเท่านั้น ตนเรียนว่าในความเป็นจริง ยาเสพติดทำให้สมองเปลี่ยนแปลงไปเพราะเกิดจากอาการสมองติดยา ส่วนที่บอกว่าเป็นโรคเรื้อรังเลิกแล้วก็กลับไปเสพอีกนั้น แท้จริงแล้วรักษาให้หายขาดได้เพียงแต่ต้องใช้เวลาและความเข้าใจในการรักษา ส่วนวิธีการรักษาไม่จำเป็นต้องเข้าค่ายอย่างเดียว แต่สามารถให้ความรู้ด้านกาย จิต สังคม ทานยารักษาต่อเนื่อง และครอบครัวผู้ติดยาให้ความรักความอบอุ่นก็สามารถหายขาดได้

"อยากขอความร่วมมือจากสื่อมวลชนในการเผยแพร่ข้อมูลเหล่านี้ออกไป เพื่อให้คนไทยตระหนักว่าผลของการติดยาเสพติดนั้นมีโทษต่อร่างกายผู้เสพทันที โดยไม่ต้องรอถูกจับกุม แต่ถ้าผู้เสพรู้ตัวและยินยอมเข้ารับการรักษาการติดยาเสพติดหรือโรคสมองติดยานั้น แม้จะเป็นโรคเรื้อรังแต่ก็รักษาให้หายได้ เรามีนโยบายเพิ่มขีดความสามารถของเครื่องมือช่วยตรวจสอบการทำงานของสมองให้ทันสมัยมากขึ้น เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากพอและสามารถใช้ได้กับทุกคน และการเชื่อมโยงความร่วมมือแบบบูรณาการกับหน่วยงานท้องถิ่นในการประสานความร่วมมือรอบด้าน

ทั้งนี้ หากเริ่มรักษาผู้ติดยาเสพติดได้เร็วเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเป็นผลดีต่อผู้ติดยามากเท่านั้น และหากได้รับการบำบัดนานเท่าไหร่ โอกาสที่จะประสบผลสำเร็จก็มีมากขึ้นตามเช่นกัน สุดท้ายขอให้เข้าใจว่าการเสพติดซ้ำ เป็นธรรมชาติของโรคสมองติดยา ไม่ใช่การรักษาที่ล้มเหลวแต่อย่างใด ญาติและสังคมผู้ใกล้ชิดจึงต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องและให้โอกาสด้วย" พญ. วิลาวัณย์กล่าวย้ำ.

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๔ พ.ค. Siriraj Education Expo 2024 ก้าวสู่ยุคใหม่ไปกับศิริราช พร้อมยกระดับทางการแพทย์ให้ดีขึ้น เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยทุกคน
๐๓ พ.ค. ครั้งแรก! งานเทศกาลคอนเทนต์ LGBTQ ฉลองความเท่าเทียมทางเพศ THAILAND INTERNATIONAL LGBTQ FILM TV FESTIVAL 2024 ปักหมุดเตรียมพบกัน กันยายนนี้
๐๓ พ.ค. โน วัน เอลส์ ส่ง 3 เพลงรัก 3 สไตล์! ผ่านมิวสิกซี่รีย์ ที่จะทำให้คุณเข้าใจความรักมากขึ้น
๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง