ส.อ.ท. จับมือ องค์กรชั้นนำร่วม “ส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กรในภาคอุตสาหกรรม”

พฤหัส ๑๐ มกราคม ๒๐๑๓ ๑๓:๔๗
ส.อ.ท. จับมือ องค์กรชั้นนำร่วม “ส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กรในภาคอุตสาหกรรม” พร้อมเปิดตัว 25 องค์กรนำร่อง มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

สถาบันสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกับ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) และสัมมนาเชิงปฏิบัติการโครงการ “ส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรในภาคอุตสาหกรรม” ในวันพฤหัสบดีที่ 10 มกราคม 2555 ณ ห้อง Meeting Room 2 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมมีการคำนวณข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโรงงาน และจัดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับภาคอุตสาหกรรมในการเข้าสู่ระบบการซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกรณีที่ประเทศไทยต้องกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งประโยชน์ขององค์กรนำร่องที่เข้าร่วมโครงการ จะสามารถคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร และนำผลไปใช้พัฒนาแนวทางการบริหารจัดการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนได้ โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 11 เดือน (20 ธันวาคม 55 — 15 พฤศจิกายน 56)

ทั้งนี้ การจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรจะเป็นวิธีในการแสดงข้อมูลปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยจากการดำเนินงานขององค์กร ตลอดจนการพัฒนาระบบการรับรองและทวนสอบข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กรของประเทศ อันจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถขององค์กรในประเทศไทยในการบริหารจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาธุรกิจ องค์การบริหารจัดการ ก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก.เป็นองค์กรกำกับดูแลการดำเนินงานตามกลไกการพัฒนาที่สะอาด ภายใต้พิธีสารเกียวโต และส่งเสริมธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศผ่านการพัฒนาแนวทางหรือหลักเกณฑ์การประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์และองค์กร แต่ทั้งนี้กิจกรรมการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรในประเทศไทยยังมีน้อย ซึ่งมีเพียงองค์กรขนาดใหญ่ไม่กี่องค์กรที่ได้เริ่มดำเนินการ เนื่องจากส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ ไม่ทราบเทคนิคและวิธีการคำนวณ ดังนั้น อบก. จึงได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร เมื่อปี 2553-2554 (เฟส 1) โดยมีองค์กรนำร่อง จำนวน 12 องค์กร และโครงการส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปี 2554-2555 (เฟส 1) ซึ่งมีเทศบาลเข้าร่วมโครงการจำนวน 27 แห่ง

สำหรับโครงการส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรในภาคอุตสาหกรรม ปี 2555 -2556 นี้ ได้รับความร่วมมือจากสถาบันสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมฯ ทำหน้าที่ดำเนินโครงการ โดยมีโรงงานอุตสาหกรรมเข้าร่วมเป็นองค์กรนำร่อง 25 แห่ง เพื่อส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมต่างๆ ทั้งการผลิตและการบริการขององค์กร อันจะเป็นการช่วยเสริมสร้างศักยภาพให้กับผู้ประกอบการและธุรกิจของไทยให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก

ดร.พงษ์วิภา กล่าวว่า การเข้าร่วมโครงการองค์กรในภาคอุตสาหกรรมสามารถจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์และมีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนมีความพร้อมที่จะเข้าสู่ระบบการซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading Scheme) หากมีการพัฒนาขึ้นในอนาคต ทั้งยังก่อให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ในการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์แก่ภาคีหลักที่เกี่ยวข้องให้สามารถนำไปใช้ขยายผลได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้ภาคอุตสาหกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อันจะส่งผลให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยจากภาคอุตสาหกรรมลดน้อยลง

“สำหรับคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ ประเทศไทยมีการตื่นตัวในเรื่องนี้มาก กล่าวคือปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุมัติให้ใช้เครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์แล้วจำนวน 726 ผลิตภัณฑ์ จาก 177 บริษัท (ข้อมูล ณ วันที่ 12 ตุลาคม 2555) ซึ่งถือได้ว่าเป็นอันดับหนึ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทั้ง 25 องค์กรที่เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ จะเป็นต้นแบบเพื่อรองรับและขยายผลไปสู่อุตสาหกรรมอื่นๆ ต่อไป” ดร.พงษ์วิภา กล่าว

ด้าน รศ.ดร.ธำรงรัตน์ มุ่งเจริญ ผู้อำนวยการโปรแกรมสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน และประธานคลัสเตอร์พลังงานและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า โครงการ “ส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรในภาคอุตสาหกรรม” เป็นกิจกรรมที่สำคัญกิจกรรมหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรม โดยประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมทั้งหมดขององค์กร คำนวณออกมาในรูปคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าในเชิงปริมาณเป็นกิโลกรัมหรือตัน และนำข้อมูลที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาองค์กรให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“ต้องขอขอบคุณองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) และสภาอุตสาหกรรมฯ ที่ให้ความสำคัญกับการช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเป็นพันธมิตรร่วมดำเนินโครงการดังกล่าว โดยที่ผ่านมาศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ได้ดำเนินกิจกรรมและโครงการต่างๆ มากมายเพื่อส่งเสริมให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง ทั้งการจัดทำฐานข้อมูลสิ่งแวดล้อมของวัสดุพื้นฐานและพลังงานของประเทศ การทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรในครั้งนี้ ซึ่งเอ็มเท็คมีความตั้งใจที่จะสนับสนุนให้มีการขยายผลการดำเนินงานไปสู่ภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ เพื่อเป็น Base Line ในกลุ่มอุตสาหกรรมของตน และเป็นฐานข้อมูลในกรณีที่ประเทศไทยต้องเข้าสู่ระบบการซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอนาคต” รศ.ดร.ธำรงรัตน์ กล่าว

นายเชวง จาว รองประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สภาอุตสาหกรรมฯ มีความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง และให้ความสำคัญในการดำเนินโครงการเกี่ยวกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดมา เช่น โครงการพัฒนาฐานข้อมูลสิ่งแวดล้อมของวัสดุพื้นฐานและพลังงานของประเทศ โครงการการจัดทำคู่มือข้อมูลวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ (LCI-LCA) และโครงการส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ ซึ่งได้ขยายผลไปสู่กลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง

“สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในครั้งนี้ จะเป็นการเปิดตัว 25 องค์กรนำร่อง ที่ได้รับคัดเลือกจาก 47 บริษัทที่สนใจสมัครเข้าร่วมประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร ซึ่งจะเป็นสื่อกลางให้ทุกภาคส่วนเห็นถึงความสำคัญของการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากองค์กรนั้นๆ นอกจากจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพให้กับผู้ประกอบการและธุรกิจของไทยให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกได้แล้ว ยังแสดงถึงความมุ่งมั่นของบริษัทในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของตนให้สามารถบริหารจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนได้ และมีการดำเนินงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น อีกทั้งเป็นจุดเริ่มต้นที่จะช่วยสนับสนุน และเป็นต้นแบบสำหรับองค์กรและหน่วยงานอื่นๆ ในการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร เพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลในการปรับปรุงการดำเนินงานขององค์กรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนต่อไป” นายเชวง กล่าว

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อฝ่ายประชาสัมพันธ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

โทร. 0-2345-1017 โทรสาร 0-2345-1296-9

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๔ พ.ค. Siriraj Education Expo 2024 ก้าวสู่ยุคใหม่ไปกับศิริราช พร้อมยกระดับทางการแพทย์ให้ดีขึ้น เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยทุกคน
๐๓ พ.ค. ครั้งแรก! งานเทศกาลคอนเทนต์ LGBTQ ฉลองความเท่าเทียมทางเพศ THAILAND INTERNATIONAL LGBTQ FILM TV FESTIVAL 2024 ปักหมุดเตรียมพบกัน กันยายนนี้
๐๓ พ.ค. โน วัน เอลส์ ส่ง 3 เพลงรัก 3 สไตล์! ผ่านมิวสิกซี่รีย์ ที่จะทำให้คุณเข้าใจความรักมากขึ้น
๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง