แจ้งเกิดระบบเกษตรกรอัจฉริยะ รวม 4 หน่วยภาครัฐ มหาดไทย เกษตรและสหกรณ์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

พฤหัส ๑๗ มกราคม ๒๐๑๓ ๑๗:๐๘
แจ้งเกิดระบบเกษตรกรอัจฉริยะ รวม 4 หน่วยภาครัฐ มหาดไทย เกษตรและสหกรณ์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงไอซีที ระดมข้อมูลเกษตรทั้งระบบ พร้อมสั่งสรอ. เตรียมระบบ G-Cloud รองรับ คาดครึ่งปีแรกรู้ผล พร้อมต่อยอดสู่ระบบบัตรประชาชน เกษตรกรต่อตรงดึงข้อมูลได้ทันที

นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า Smart Farmer ถือเป็นความร่วมมือของทั้งสี่กระทรวงสำคัญของประเทศกับหนึ่งหน่วยงานที่จะทำงานร่วมกัน ที่สำคัญคือ เห็นการบูรณการการทำงาน เพื่อที่จะพัฒนาและยกระดับการผลิตสินค้าเกษตร เพิ่มมูลค่าและราคาสินค้าเกษตร และอาหาร รวมทั้งให้สามารถเกิดการจัดพื้นที่การผลิตด้านการเกษตรกรรมและป่าไม้ที่ถูกต้องและเหมาะสม ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น คือ เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ภายใต้นโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มุ่งหมายให้เกษตรกรไทยเป็นเกษตรกรปราดเปรื่อง หรือ Smart Farmer โดยมี Smart Officer เป็นเพื่อนคู่คิด ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล และของทุกกระทรวงที่ร่วมมือกันในครั้งนี้

โครงการนี้เป็นการสนับสนุนนโยบายเร่งด่วนและสำคัญของรัฐบาล คือ นโยบายการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน การยกระดับราคาสินค้าเกษตร นโยบายครัวไทยสู่ครัวโลก นโยบายโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงเครือข่ายสื่อสารข้อมูลภาครัฐ (Government Information Network:GIN) รวมทั้งสนับสนุนต่อยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนปี ๒๕๕๘ หรือ AEC 2015 อันได้แก่ การเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของสินค้าบริการ การค้าและการลงทุน พัฒนาคุณภาพชีวิต และการคุ้มครองทางสังคม ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญ เป็นปัจจัยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชาติ

สำหรับประเทศไทยการเกษตรถือเป็นอาชีพหลักของคนไทย เนื่องจากมีประชาชนที่เป็นเกษตรกรในปัจจุบันถึง 12 ล้านคนเศษ 7 ล้านกว่าครัวเรือน โดยในอีก 3 ปีข้างหน้า ไทยจะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ประเทศไทยจะเตรียมพร้อมอย่างไรในด้านของการเกษตร เพื่อให้รองรับกับการเปิดประชาคมอาเซียน ให้มีการพัฒนาและสามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านในอนาคตได้ ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้จะสามารถทำให้บรรลุสิ่งที่คาดหวังไว้ คือ การยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตรและอาหาร ยกระดับคุณภาพเกษตรกรให้เป็นเกษตรกรปราดเปรื่อง หรือ Smart Farmer เพื่อให้เป็นกำลังสำคัญในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ดังนั้น รัฐบาลต้องเข้ามามีบทบาทในการบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วน ทุกกระทรวงภายใต้รัฐบาลนี้ เพื่อส่งเสริมระบบเกษตรกรรมให้มีการพัฒนาเพิ่มมากขึ้น

การบูรณาการครั้งนี้ถือว่าทั้งสี่กระทรวง กับหนึ่งหน่วยงานได้นำเอานโยบายของรัฐบาลที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร และยกระดับราคาสินค้าเกษตรมาเป็นแนวทางการทำงานร่วมกัน และถือว่าเป็นวิสัยทัศน์ที่น่าชมเชยเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งจะเห็นว่าได้มีการเริ่มขึ้นจากการทำความร่วมมือการสำมะโนเกษตร พ.ศ.2556 ที่จะทำข้อมูลเกษตรเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง ทันสมัย มีประโยชน์ต่อการดำเนินงาน เป็นฐานข้อมูลเกษตรกรที่มีเอกภาพ ถูกต้อง ทันสมัย แล้วจะนำไปจัดเก็บบนระบบเทคโนโลยีใหม่ คือ การจัดเก็บข้อมูลภาครัฐ หรือ g-Cloud Computing เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการใช้ข้อมูลและเกิดประโยชน์ร่วมกัน อันจะช่วยให้รัฐบาลลดการใช้จ่ายงบประมาณด้านการจัดหาเทคโนโลยีสารสนเทศที่ซ้ำซ้อนลงได้ อีกทั้งจะร่วมส่งเสริมการพัฒนาระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ ให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการผลผลิตของตนเอง และใช้บริการภาครัฐได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพอีกด้วย

“เพื่อพัฒนาให้เกษตรกรเป็นเกษตรกรปราดเปรื่อง หรือ Smart Farmer ที่มีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องทำการเกษตร มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจ มีความตระหนักถึงคุณภาพสินค้าและความปลอดภัยต่อผู้บริโภค มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยมี Smart officer เป็นเพื่อนคู่คิด เพื่อให้เกษตรกร มุ่งนำการผลิตด้านการเกษตรสู่ Green Economy และ Zero waste agriculture และเพื่อเป็นการพัฒนาประเทศ โครงการนี้เมื่อประสบความสำเร็จจะสร้างความพอใจ และสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืนให้กับเกษตรกรทุกท่าน และเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อไป” นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กล่าวสรุป

นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ICT เปิดเผยว่า โครงการ Smart Farmer/Smart Officer หรือเกษตรกรอัจฉริยะ เป็นโครงการที่ภาครัฐที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเกษตรกรมารวมตัวกันเพื่อที่จะบูรณาการข้อมูลนำไปสู่การดูแลเกษตรกรอย่างเป็นระบบ และทำให้เกษตรกรเข้าถึงข้อมูลของภาครัฐทุกด้านในอนาคต

แกนหลักของระบบข้อมูลทั้งหมดที่เชื่อมต่อกับเกษตรกร ภาครัฐจะใช้บัตรประชาชนอเนกประสงค์ หรือ Smart Card เป็นเครื่องมือ มีการเชื่อมโยงข้อมูลทะเบียนเกษตรกร ร่วมกับข้อมูลทะเบียนราษฎร และจัดเก็บข้อมูลสำคัญของเกษตรกรลงในบัตรประจำตัวประชาชน

ในด้านการดำเนินงานจะเริ่มด้วยการขึ้นทะเบียนเกษตรกร การจัดเก็บทะเบียนเกษตรกร ร่วมกับการจัดทำสำมะโนการเกษตร สำหรับการบริการจัดการด้านเกษตรกร ขณะเดียวกันทางกระทรวงมหาดไทย โดยหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย จะให้การสนับสนุนข้อมูลทะเบียนราษฎร และบูรณาการร่วมกับข้อมูลทะเบียนเกษตรกร เพื่อใช้สำหรับเป็นฐานข้อมูลในการบริหารจัดการเกษตรกรอย่างมีประสิทธิภาพ และให้มีข้อมูลที่ถูกต้อง สมบูรณ์และเป็นปัจจุบัน และให้เป็นไปตามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการขอใช้ประโยชน์ข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรจากฐานข้อมูลทะเบียนกลางด้วยระบบคอมพิวเตอร์โดยวิธีแฟ้มข้อมูล (BATCH PROCESSING) และวิธีบริการ COUNTER SERVICE ระหว่าง สำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง กับ กรมส่งเสริมการเกษตร ที่ได้ลงนามร่วมกันแล้ว เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2552

การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกันจะใช้งานระบบเครือข่ายข้อมูลภาครัฐ (Government Information Network : GIN) และให้มีการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อบริการภาครัฐ รวมทั้งระบบการจัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ของภาครัฐ (G - Cloud Computing) ซึ่งดำเนินการโดยสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สรอ. พร้อมกับต้องทำให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเกษตร ข้อมูลที่สำคัญ และสถานการณ์ต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ไปสู่เกษตรกรผ่านทางเทคโนโลยีการสื่อสาร อันได้แก่โทรทัศน์อินเทอร์เน็ต (IPTV) หรือระบบเครือข่ายข้อมูลภาครัฐ (Government Information Network : GIN) ไปยังศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนทั่วประเทศ

สรุปเบื้องต้น กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) จะเข้ามาให้การสนับสนุนในส่วนของ 1.บริการระบบเครือข่ายสารสนเทศภาครัฐ (Government Information Network : GIN) ตามนโยบายรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e — Government) 2. ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อบริการภาครัฐ การบริการระบบการจัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ของภาครัฐ (G - Cloud Computing) 3. สนับสนุน ฝึกอบรม และให้ความรู้เพื่อการทำสำมะโนการเกษตร 4. สนับสนุนข้อมูลที่ได้จากการจัดทำสำมะโนการเกษตร ในการจัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ของภาครัฐ (G - Cloud Computing) 5. สนับสนุนการจัดรายการ จัดชุดองค์ความรู้ หรือหลักสูตร จากแหล่งข้อมูลต่างๆ รวมทั้งถ่ายทอดองค์ความรู้ผ่านทางโทรทัศน์อินเตอร์เน็ต (IPTV) และ/หรือ ผ่านเครือข่ายข้อมูลภาครัฐ (Government Information Network : GIN) ไปยังศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนทั่วประเทศ 6. สนับสนุนให้ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนเป็นแหล่งให้บริการความรู้ สารสนเทศ และเป็นสถานที่ฝึกอบรมให้แก่เกษตรกร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

ดังนั้น เมื่อมีการนำข้อมูลทะเบียนเกษตรกรที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ขึ้นทะเบียนไว้ มาบูรณาการกับข้อมูลทะเบียนราษฎร โดยทำการสำรวจออกมาเป็นสำมะโนการเกษตร เพื่อการจัดเก็บข้อมูลเกษตรกรลงในบัตรประจำตัวประชาชนแบบอเนกประสงค์ (Smart Card) และนำข้อมูล แผนที่ รวมทั้งรายละเอียดของพื้นที่ อนุรักษ์ พื้นที่ป่าไม้ และพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาตรวจสอบเข้าด้วยกัน และยังมีแผนที่ในการจัดพื้นที่ด้านการผลิตการเกษตร สำหรับวางแผนและจัดการการผลิตด้านการเกษตร ทั้งกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงเกษตรฯ ได้วางแผนปรับปรุงข้อมูลในบัตรประจำตัวประชาชนแบบอเนกประสงค์ (Smart Card) ซึ่งมีข้อมูลของเกษตรกรให้เป็นปัจจุบัน ก็จะทำให้การช่วยเหลือและดูแลเกษตรกรทั่วประเทศทำได้ง่ายขึ้น

ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ผู้อำนวยการสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สรอ. เปิดเผยว่า ในแง่การปฏิบัติงานนั้น เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรมีจำนวนมาก โดยเฉพาะในกระทรวงเกษตรฯ เช่น กรมส่งเสริมการเกษตร, องค์การคลังสินค้า (อคส.), องค์การตลาดเพื่อการเกษตร (อ.ต.ก.), ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ซึ่งทุกหน่วยงานต่างมีระบบของตนเองอยู่แล้ว ดังนั้นในโครงการนี้จะจัดทำ “Government API” เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับพัฒนาระบบเชื่อมโยง/การเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้อง อาทิ เกษตรกร ข้อมูลใบประทวน และข้อมูลการขึ้นเงิน ฯลฯ ขึ้นมา ซึ่งจะทำให้การเชื่อมโยงข้อมูลจากหน่วยงานที่เกียวข้องกับข้อมูลเกษตรกร สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ (ลดระยะเวลาในการบันทึกข้อมูล) และเพิ่มความถูกต้อง/น่าเชื่อถือของข้อมูล อาทิ กรมส่งเสริมการเกษตรเชื่อมโยงข้อมูลจากบัตรประชาชนแบบ Smart Card / ฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ ทาง อคส. / อ.ต.ก. เชื่อมโยงข้อมูลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจจากกรมส่งเสริมการเกษตร / ทาง ธกส. เชื่อมโยงข้อมูลใบประทวนจาก อคส. / อ.ต.ก.

โดยข้อตกลงล่าสุดนั้น ทางกรมส่งเสริมการเกษตรจะกำหนดรูปแบบ รายการและรูปแบบข้อมูลที่ต้องการใช้บริการ G-Cloud แล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์นี้ โดยทางสรอ.จะทำหน้าที่ในการให้คำปรึกษา และจัดเตรียมระบบ G-Cloud ไว้รองรับ และคาดว่าสรอ.จะร่วมมือกับกรมส่งเสริมการเกษตรในการนำเข้าข้อมูลจากไปยัง G-Cloud ได้ภายในเดือนมีนาคม ขณะเดียวกันทางกรมการปกครองจะกำหนดแนวทาง และดำเนินการทำ Data Cleansing ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน

ขณะที่การบันทึกข้อมูลเกษตรกรเข้าบัตร Smart Card ทั้งหมดจะทำงานคู่ขนานกันไป โดยในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ทางกรมส่งเสริมการเกษตรจะกำหนดข้อมูลที่ต้องการบันทึกเข้าบัตร Smart Card

ทั้งนี้สรอ.จะทำหน้าที่ในการให้คำปรึกษาในเรื่องการนำเอาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการบูรณาการข้อมูลเกษตรกร รวมถึงการจัดเตรียมเครือข่ายความเร็วสูงและระบบ G-Cloud เพื่อสนับสนุนในการให้บริการและการนำเข้าข้อมูลของกรมส่งเสริมเกษตรกร และมีมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลที่เชื่อมโยง/แลกเปลี่ยนกันระหว่างหน่วยงาน (Security and Privacy)

หลังจากนั้นแล้วจะมาถึงจุดที่สำคัญ ก็คือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรสามารถนำข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการให้บริการกับเกษตรกรได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งในเดือนมิถุนายนนี้ สรอ.จะมีโครงการพัฒนาระบบนำร่องการให้ข้อมูลเกษตรกรผ่านอุปกรณ์ Smart Box ที่ใช้ข้อมูลเกษตรกรจากระบบ G-Cloud และภายในปีนี้หน่วยงานต่างๆ ที่เกียวข้องก็สามารถนำระบบฐานข้อมูลที่บูรณาการบน G-Cloud เพื่อไปพัฒนาเป็น application / e-Services อื่นๆ ได้อย่างไม่จำกัด

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่:

ส่วนส่งเสริมการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์

นายธรรณพ ศิริธรรมวิไล

โทรศัพท์ ๐-๒๖๑๒-๖๐๐๐ ต่อ ๖๒๐๓

อีเมล์ [email protected]

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๕:๑๙ โชเฮ โอตานิ เซ็นสัญญาความร่วมมือระดับโลกกับ โออิ โอฉะ แบรนด์ชาเขียวจากอิโต เอ็น
๑๔:๔๐ แสนสิริเปิดตัวแบรนด์ใหม่ ELSE (เอลซ์) เจาะกลุ่มลูกค้าใหม่ เอ็กซ์คลูซีฟ เรสซิเดนซ์ จำนวนยูนิตน้อย Private สูง บน 5 ทำเลศักยภาพหายาก มูลค่ารวม 835
๑๔:๕๓ ผู้บริหารบางจากฯ แบ่งปันประสบการณ์เส้นทางการดำเนินธุรกิจตามแนวทาง BCG
๑๓:๓๑ เอส เอฟ และ พรีเมี่ยมโกลด์ เยาวราช แจกจริง Big Bonus ตั๋วหนังทองคำ ครั้งแรกในไทย
๑๓:๕๔ TOA แถลงนโยบาย GREEN MISSION เดินหน้าพันธกิจ พิชิต Net Zero พร้อมคว้าฉลากลดโลกร้อน (CFR) มากที่สุดในสีอาคาร
๑๓:๔๓ โซเด็กซ์โซ่ ประเทศไทย มอบรางวัล Sodexo Long Service Awards เพื่อแสดงความยินดีและขอบคุณพนักงานที่ทุ่มเททำงานมาอย่างยาวนาน
๑๓:๒๓ พด. ส่งเสริมพัฒนาที่ดินในพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ ลดต้นทุน เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร
๑๓:๕๘ บสส. SAM ขนอสังหาริมทรัพย์ทำเลดี ราคาพิเศษทั่วชลบุรีและภาคตะวันออก จัดงาน มหกรรมทรัพย์มือสองต้อง SAM วันที่ 1-30 พ.ค. 67 นี้ ณ เซ็นทรัล
๑๓:๒๐ เตรียมพบกับงานอสังหาฯ มือสองที่ครบที่สุด รวมดีลดี โปรแรง!! กับงานมหกรรมบ้านธนาคาร 67 ครั้งที่ 1 จ.ภูเก็ต
๑๓:๕๓ กรมพัฒน์ ส่งมอบความสุขวันแรงงาน จัด 3 หลักสูตรดิจิทัลแบบออนไลน์ Upskill แรงงานไทย สมัครฟรี 1 เดือนเต็ม