ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้มีการค้ำประกันวงเงินไม่เกิน 1,000 ล้านบาท “บ. บางกอกมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ลีส” ที่ระดับ “AA+/Stable”

จันทร์ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๐๑๓ ๐๘:๑๐
ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้มีการค้ำประกันในวงเงินไม่เกิน 1,000 ล้านบาทของบริษัท บางกอกมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ลีส จำกัด ที่ระดับ “AA+” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” หุ้นกู้ดังกล่าวได้รับการค้ำประกันเต็มจำนวนโดยบริษัทแม่ คือ Mitsubishi UFJ Lease and Finance Company Limited (MUL) ในประเทศญี่ปุ่น โดย MUL ได้รับอันดับเครดิตในระดับ “A” จาก Standard & Poor’s (S&P) และ “A3” จาก Moody’s Japan KK (Moody’s) ซึ่งอันดับเครดิตของหุ้นกู้ดังกล่าวอยู่บนพื้นฐานความน่าเชื่อถือของผู้ค้ำประกันซึ่งค้ำประกันหุ้นกู้แบบไม่มีเงื่อนไขและไม่สามารถเพิกถอนได้

ภายใต้ข้อตกลงการค้ำประกันซึ่งบังคับใช้ภายใต้กฎหมายของประเทศญี่ปุ่น ผู้ค้ำประกันจะให้การค้ำประกันเต็มจำนวนแบบไม่มีเงื่อนไขและไม่สามารถเพิกถอนได้สำหรับหุ้นกู้ที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตดังกล่าว โดยผู้ค้ำประกันพร้อมที่จะชำระหนี้ให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้ภายใต้ข้อตกลงการค้ำประกันในกรณีที่บริษัทบางกอกมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ลีส ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด นอกจากนี้ หากมีการควบรวมหรือการเข้าครอบงำกิจการของ MUL บริษัทใหม่ที่เกิดขึ้นหลังการควบรวมกิจการหรือบริษัทที่เข้าครอบงำกิจการของ MUL จะต้องรับข้อผูกพันในการค้ำประกันหุ้นกู้ดังกล่าวด้วย ในกรณีที่ MUL ไม่สามารถจ่ายชำระหนี้ตามกำหนดหลังจากได้รับหนังสือบอกกล่าวแล้ว ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้สามารถดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ค้ำประกัน ณ ศาลในประเทศญี่ปุ่นเพื่อฟ้องร้องเรียกเงินที่ผิดนัดชำระคืนได้ อนึ่ง ภาระการค้ำประกันนี้ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขหรือเพิกถอนได้โดยปราศจากมติเอกฉันท์จากผู้ถือหุ้นกู้

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” ของหุ้นกู้มีการค้ำประกันของบริษัทบางกอกมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ลีส สะท้อนถึงคุณภาพเครดิตของผู้ค้ำประกันคือ MUL ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ของ MUFG ซึ่ง MUL ได้รับอันดับเครดิตที่ระดับ “A-/Stable” จาก S&P และ “A3/Stable” จาก Moody’s

MUL ก่อตั้งในปี 2514 โดย Diamond Lease Co., Ltd. ภายหลังการควบรวมกับ UFJ Central Leasing Co., Ltd. ในปี 2550 บริษัทได้เปลี่ยนชื่อเป็น MUL และทำให้ MUL กลายเป็นหนึ่งในบริษัทลีสซิ่งที่ใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น ณ วันที่ 31 มีนาคม 2555 Mitsubishi UFJ Financial Group, Inc. (MUFG) ซึ่งรวมถึง Bank of Tokyo-Mitsubishi UFJ Ltd. (BTMU) และ Mitsubishi UFJ Trust and Banking Corp. (MUTB) ถือหุ้น MUL ในสัดส่วน 23.4% ในขณะที่ Mitsubishi Corporation (MC) ถือหุ้น 20.0%

อันดับเครดิตของ MUL ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันหุ้นกู้ได้รับแรงหนุนจากการมีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งในประเทศญี่ปุ่น โดย MUL มีจุดแข็ง 2 ประการ ได้แก่ 1) การเป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ของทั้ง MUFG และ MC และ2) ผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลายซึ่งตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างครบถ้วน MUL เป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในอุตสาหกรรมลีสซิ่งของประเทศญี่ปุ่น บริษัทได้รับการสนับสนุนจากบริษัทในเครือของ MUFG และ MC ซึ่งช่วยให้บริษัทมีฐานลูกค้าที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวลดทอนลงจากปริมาณธุรกรรมลีสซิ่งที่มีแนวโน้มลดลงในญี่ปุ่น

MUL มุ่งเน้นในธุรกิจลีสซิ่ง การขายผ่อนชำระ (Installment Sale) และ ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายเกี่ยวกับการเงิน MUL ยังมีแหล่งรายได้ที่กระจายตัวโดยมาจากธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจ ลีสซิ่งแบบเช่าดำเนินงาน (Operating Lease) ธุรกิจซื้อขายเครื่องจักรมือสอง (Used Equipment Trade) ธุรกิจการบริหารจัดการสินทรัพย์โดยผ่านคอมพิวเตอร์ (Asset Management Service - e-Leasing Direct) ธุรกิจให้เช่าดำเนินงานรถยนต์พร้อมบริการซ่อมบำรุง (Auto Lease) บริการเกี่ยวกับเครื่องมือเครื่องจักรที่ช่วยประหยัดพลังงาน (ECO Related Service) บริการให้กู้โดยใช้อสังหาริมทรัพย์ค้ำประกัน (Real Estate Finance) ธุรกิจให้เช่าอสังหาริมทรัพย์แบบลีสซิ่ง (Real Estate-related Lease - Symphony) ธุรกิจให้กู้เพื่อโครงการสาธารณูปโภค (Private Finance Initiative) และธุรกิจขายลดลูกหนี้ (Factoring) ณ สิ้นเดือนกันยายน 2555 MUL มีสินทรัพย์ทั้งสิ้น 3.7 ล้านล้านเยน ซึ่งประกอบด้วยสินทรัพย์ให้เช่า 1.7 ล้านล้านเยน (45.7% ของสินทรัพย์ทั้งหมด) เงินให้กู้ยืม 1.2 ล้านล้านเยน (33.0% ของสินทรัพย์ทั้งหมด) และสินทรัพย์จากสินเชื่อผ่อนชำระ 0.2 ล้านล้านเยน (6.0% ของสินทรัพย์ทั้งหมด)

การมีธุรกิจที่หลากหลายช่วยทำให้ MUL สามารถข้ามพ้นวิกฤติเศรษฐกิจปี 2551 มาได้ ทั้งนี้ ในงวดปีบัญชี 2552 (เมษายน 2551-มีนาคม 2552) ผลประกอบการของ MUL ปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่บริษัทยังคงมีกำไรอยู่ โดยมีกำไรสุทธิ 7.1 พันล้านเยน ลดลงจาก 30.2 พันล้านเยนในงวดปีบัญชี 2551 ผลประกอบการของ MUL ในงวดปีบัญชี 2552 ปรับลดลงค่อนข้างมากจากเงินสำรองหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญที่เพิ่มขึ้นหลังจากการด้อยค่าลงอย่างมากของสินทรัพย์ประเภทอสังหาริมทรัพย์ การลดลงของมูลค่าอสังหาริมทรัพย์เป็นผลมาจากวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศญี่ปุ่น กำไรสุทธิของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 20.7 พันล้านเยนในปีบัญชี 2553 เป็น 25.8 พันล้านเยนในปีบัญชี 2554 และ 34.6 พันล้านเยนในปีบัญชี 2555 สำหรับงวดครึ่งแรกของปีบัญชี 2556 กำไรสุทธิอยู่ที่ 21.2 พันล้านเยน เพิ่มขึ้น 14.9% จากงวดเดียวกันของปีบัญชีก่อน MUL มีการใช้แหล่งเงินกู้ระยะสั้นในสัดส่วนหนึ่งซึ่งไม่สอดคล้องกับระยะเวลาของสินทรัพย์ทำให้บริษัทมีความเสี่ยงด้านสภาพคล่องระยะสั้นในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงดังกล่าวลดลงจากการบริหารจัดการสินทรัพย์และหนี้สิน (Asset Liability Management) อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากธนาคารหลายแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากผู้ถือหุ้นที่เกี่ยวข้องคือ BTMU

MUL ได้กำหนดแผนธุรกิจ 3 ปีโดยเริ่มตั้งแต่งวดบัญชีปี 2554 เป้าหมายหลักของแผนดำเนินงานคือการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ โดยบริษัทจะเน้นไปยังธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการรักษาสิ่งแวดล้อม การให้บริการทางการเงินแก่ผู้ค้าขาย (Vendor Finance) และการซื้อและขายเครื่องมือเครื่องจักรที่ใช้แล้ว ความพยายามดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อผลักดันให้ MUL กลายเป็นบริษัทที่ให้บริการทางการเงินที่ครบวงจรของเอเชีย ปัจจุบันสินทรัพย์ดำเนินงานของบริษัทที่เกี่ยวข้องที่อยู่ในต่างประเทศของ MUL มีรวมทั้งสิ้น 297 พันล้านเยน ซึ่งใกล้เคียงกับเป้าหมายในปีบัญชี 2556 ที่ 300 พันล้านเยน

จากแผนธุรกิจในปัจจุบันรวมทั้งแนวโน้มที่ดีในอุตสาหกรรมลีสซิ่งสำหรับเครื่องจักรและอุปกรณ์และการให้เช่าดำเนินงานรถยนต์ในประเทศไทย MUL ได้มุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยผ่านบริษัทลูกของตนคือบริษัทบางกอก มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ลีส โดยบริษัทบางกอกมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ลีส เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจให้เช่าแบบลีสซิ่งสำหรับเครื่องจักรและอุปกรณ์ในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน บริษัทก่อตั้งในปี 2534 โดยความร่วมมือกับกลุ่มธนาคารกรุงเทพในประเทศไทย ปัจจุบันบริษัทมีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ MUL ซึ่งถือหุ้น 44% ในขณะที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และบริษัทที่เกี่ยวข้องถือหุ้นรวมกันในสัดส่วน 34%

บริษัทบางกอกมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ลีส ให้บริการใน 2 ธุรกิจหลัก คือ สินเชื่อลีสซิ่งสำหรับเครื่องจักรและอุปกรณ์ และการให้เช่าดำเนินงานรถยนต์พร้อมบริการซ่อมบำรุง โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2555 บริษัทมีพอร์ตสินเชื่อ 9,212 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 5,322 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2554 หรือเพิ่มขึ้น 73% และ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2555 สินทรัพย์ดำเนินงานรวมของบริษัทประกอบด้วยเครื่องมือเครื่องจักรประมาณ 80% ส่วนที่เหลือเป็นรถยนต์ MUL ได้แสดงความตั้งใจในการให้การสนับสนุนทั้งทางด้านธุรกิจและด้านการเงินแก่บริษัทบางกอกมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ลีส ซึ่งได้แก่การให้ความรู้ในด้านธุรกิจทั้งแนวปฏิบัติในการดำเนินงานและการบริหารความเสี่ยง รวมถึงการคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ทั้งนี้ การให้การค้ำประกันหนี้ทั้งหมดของบริษัทรวมทั้งหุ้นกู้ที่เสนอขายในครั้งนี้เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการให้การสนับสนุนด้านการเงินที่บริษัทได้รับในฐานะเป็นบริษัทลูกของ MUL การสนับสนุนอย่างเต็มที่จากบริษัทแม่คาดว่าจะมีอย่างต่อเนื่องในอนาคตซึ่งสอดคล้องกับการให้ความสำคัญแก่กลุ่มธุรกิจต่างประเทศ ของ MUL โดยเฉพาะทวีปเอเชีย

บริษัท บางกอก มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ลีส จำกัด (BMUL)

อันดับเครดิตตราสารหนี้:

หุ้นกู้มีการค้ำประกันในวงเงินไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนภายในปี 2559 AA+

แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๔:๔๒ เฮลท์สเคป (Healthscape)' นำร่องส่ง 'MADE BY SILVER' ชวนสัมผัสผลิตภัณฑ์เพื่อไลฟ์สไตล์สำหรับกลุ่มซิลเวอร์เจน 20 พ.ค. - 2 มิ.ย. 67 ณ ศูนย์การค้า ดิ เอ็ม
๑๔:๐๗ HENG เสนอขายหุ้นกู้ครั้งที่ 1/2567 จำนวน 2 ชุด อัตราดอกเบี้ยคงที่ 5.25% และ 5.50% เปิดจองซื้อ 23-24 และ 27 พ.ค. 67 เดินหน้าเสริมแกร่งธุรกิจ
๑๓:๑๕ กลุ่มบริษัทศรีตรัง ลุยติดตั้ง EV Charger ในโรงงานทั่วประเทศ สนับสนุนพนักงานใช้พลังงานสะอาด ร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตอกย้ำจุดยืน Green Rubber
๑๓:๒๔ Bitkub Chain และ The Sandbox ร่วมยกระดับวงการ Metaverse ในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
๑๓:๔๗ AJA โชว์แกร่ง!! งบโค้งแรกพลิกมีกำไรพุ่งเกือบ 452% ชูกลยุทธ์ปี 67 กระจายลงทุนในธุรกิจหลากหลาย-สร้างฐานการเติบโตยั่งยืน
๑๓:๕๙ KJL โชว์นวัตกรรมในงาน SUBCON Thailand 2024 เพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้า
๑๓:๐๑ ITEL อวดกำไร Q1/67 โต 113% กำไรสุทธิ 123 ล้านบาท ล่าสุด ก.ล.ต. ไฟเขียวนับหนึ่งไฟลิ่ง บ.ย่อย BLUE เรียบร้อยแล้ว
๑๓:๒๓ โอยิกะ ผู้นำด้านโซลูชั่นเทคโนโลยีแบตเตอรี่จากสิงคโปร์ ชูนวัตกรรมพลังงานสะอาด มุ่งขยายธุรกิจตู้สลับแบตเตอรี่สำหรับตลาดรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย
๑๓:๔๗ ดื่มด่ำกับรสชาติของเนื้อโกเบจากโอซาก้า ที่ห้องอาหารฮากิ เซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว
๑๓:๕๒ W9 เผยไทยเผชิญฝุ่นพิษล้อมเมืองติดอันดับโลก เปิด 5 กลุ่มเสี่ยงรับฝุ่นพิษ ภัยเงียบสะสม แนะวิธีรับมือเชิงเวลเนส