“อุ้ม ดูด บีบ เก็บ” นมแม่อาหารสวรรค์จากแม่สู่ลูก

ศุกร์ ๐๘ มีนาคม ๒๐๑๓ ๑๔:๑๔
การสร้างความรู้และความมั่นใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้กับว่าที่คุณพ่อ-คุณแม่มือใหม่ เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนให้เด็กไทยได้มีโอกาสกินนมแม่มากยิ่งขึ้น เพราะนมแม่ถือเป็นรากฐานที่สำคัญต่อการเติบโตและพัฒนาการทั้งด้าน ร่างกาย สมอง จิตใจ และอารมณ์

มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย จึงได้จัดกิจกรรม “สายใยรักนมแม่ Cafe' ” ขึ้นอย่างต่อเนื่องภายใต้ “โครงการสายใยรักแห่งครอบครัว” โดยล่าสุดได้ร่วมกับ โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 13 ในหัวข้อ “นมแม่ : อุ้ม ดูด บีบ เก็บ อาหารสวรรค์จากแม่สู่ลูก” โดยได้รับเกียรติจาก แพทย์หญิงศิริพัฒนา ศิริธนารัตนกุล หัวหน้ากุมารแพทย์จาก รพ.เซนต์หลุยส์ และ นางมีนะ สพสมัย ผู้เชี่ยวชาญจากมูลนิธิศูนย์นมแม่ฯ ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พร้อมแนะนำ “เทคนิคการอุ้ม ดูด บีบ เก็บ”และ “การให้น้ำนมแม่อย่างมีประสิทธิภาพ”

พญ.ศิริพัฒนา ศิริธนารัตนกุล เผยว่านมแม่นั้นมีความสำคัญมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เพราะมีการค้นพบภาพวาดบนผนังถ้ำโบราณ เป็นภาพของแม่ที่มีเต้านมและลูกที่กำลังดูดนม แสดงให้เห็นว่านมแม่เป็นสิ่งสำคัญในชีวิต และน้ำนมแม่มีเอกลักษณ์ที่ทำให้สมองมีการพัฒนาได้อย่างเหมาะสมมนุษย์จึงอยู่รอดได้มาจนถึงปัจจุบัน

“น้ำนมแม่มีสารช่วยการเจริญเติบโตและการแตกแขนงของเส้นใยสมอง ซึ่งในนมวัวไม่มี นอกจากนี้การอุ้มลูกดูดนมแม่ยังช่วยกระตุ้นระบบประสาททุกส่วนตั้งแต่ประสาทสัมผัสที่ผิวหนังของลูกสายตา น้ำเสียง และรอยยิ้มของแม่ที่ส่งผ่านไปยังลูกจะช่วยกระตุ้นระบบการมองเห็นและระบบการได้ยิน เมื่อไรก็ตามที่เราได้อุ้มลูกขึ้นมาดูดนมแม่เท่ากับช่วยการสร้างเซลล์และเพิ่มเส้นใยประสาทในสมองทุกครั้ง” พญ.ศิริพัฒนา กล่าว

มีการวิจัยพบว่าเด็กที่กินนมวัวหรือนมผสมมีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานมากกว่า เพราะ การได้รับโปรตีนนมวัวอาจเป็นปัจจัยส่งเสริมให้มีการทำลายเบต้าเซลล์ของตับอ่อน เด็กที่กินนมแม่จะมีภาวะน้ำหนักเกินเมื่อก้าวสู่วัยรุ่นน้อยลงถึง 22 เปอร์เซ็นต์ และนมแม่ยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้

“เด็กที่กินนมแม่เมื่อถึงวัยที่กินอาหารเสริมได้ จะสามารถกินอาหารได้หลากหลายมากกว่า เพราะในน้ำนมแม่จะมีกลิ่นของอาหารต่างๆ ที่แตกต่างกันไปตามอาหารที่แม่รับประทาน ลูกมีความคุ้นเคยกับกลิ่นของอาหารที่ออกมากับนมแม่ จึงยอมรับอาหารที่มีรสชาติและกลิ่นต่างๆได้ง่าย” พญ.ศิริพัฒนา ระบุ

โดยในงานได้เปิดโอกาสให้ผู้ร่วมกิจกรรมซักถามข้อสงสัย เพื่อสร้างความมั่นใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ในประเด็นต่างๆ อาทิ เด็กกินนมแม่แล้วท้องเสีย กินนมแม่แล้วไม่ยอมถ่าย คุณค่าของนมแม่จะลดลงไปเมื่อเด็กโตขึ้นฯลฯ ซึ่งทาง นางมีนะ สพสมัย ผู้เชี่ยวชาญจากมูลนิธิศูนย์นมแม่ฯ ได้ให้ความรู้และคำแนะนำอย่างน่าสนใจว่า

“เด็กที่กินนมแม่บางคนอาจจะเข้าใจผิดคิดว่าลูกท้องเสียจึงหันไปกินนมผสมแทน ความจริงแล้วเด็กที่กินนมแม่มักจะถ่ายเหลวเป็นเรื่องปกติ ไม่เป็นก้อนแข็งแบบนมผสม ในเด็กบางคนอาจไม่ถ่ายทุกวัน และอาจเว้นไปได้หลายๆ วัน เพราะสามารถเอาสารอาหารในนมแม่ไปใช้ทั้งหมดโดยไม่เหลือเป็นกากทิ้งไว้ ประเด็นคำถามคุณค่านมแม่นั้นไม่มีการเจือจาง แต่ลักษณะของน้ำนมจะต่างกันไปในแต่ละวัย โดยในช่วง 3 เดือนแรกภูมิคุ้มกันที่สามารถนำไปใช้ได้ทันทีในนมแม่ช่วยปกป้องลูกจากการเจ็บป่วยในช่วงที่ระบบภูมิคุ้มกันลูกกำลังพัฒนา เด็กมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับนมแม่เพื่อช่วยพัฒนาระบบภูมิคุ้มกันให้สมบูรณ์ พอหลังจาก 6 เดือนนมแม่มีภูมิคุ้มกันมากขึ้นช่วยส่งต่อภูมิคุ้มกันจากแม่สู่ลูกในเวลาที่ลูกสัมผัสกับสิ่งใหม่ๆมากขึ้นเพื่อให้เด็กสามารถออกไปสัมผัสกับสิ่งแปลกปลอมจากภายนอก ซึ่งพบว่าเด็กที่กินนมแม่จะไม่ค่อยป่วยหรือเมื่อป่วยก็จะหายเร็วกว่าเด็กที่กินนมผสม” นางมีนะกล่าว

นอกจากนี้ทางวิทยากรยังร่วมให้ความมั่นใจว่า “เด็กทุกคนเกิดมาพร้อมกับสัญชาติญาณในการกินนมแม่” ทั้งเด็กที่คลอดตามปกติ หรือเด็กที่ผ่าตัดคลอด เพียงเราต้องช่วยเหลือเล็กน้อยให้กินนมแม่ได้ ดังนั้นพ่อและแม่ทุกคนจึงต้อง “เชื่อมั่นในตนเอง” และ “เชื่อมั่นในตัวลูก” เพราะการรับสารอาหารจากสายสะดือและการกินนมจากเต้าหลังคลอด เป็นการถ่ายทอดความสัมพันธ์ที่ช่วยให้แม่และลูกมีความสัมพันธ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างต่อเนื่อง

“แม่หลังคลอดจะมีอุณหภูมิร่างกายที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นเสมือนเครื่องสร้างความอบอุ่น การเอาตัวของลูกมาวางที่อกแม่ ผิวสัมผัสของทั้งสองคนที่แนบจะชิดกันจะช่วยกระตุ้นการทำงานของทุกระบบในร่างกาย ความอบอุ่นและเสียงเต้นของหัวใจของแม่ที่ลูกคุ้นเคยจะทำให้ลูกไม่หนาวสั่น กลิ่นและผิวสัมผัสจากตัวแม่จะกระตุ้นความอยากกินนมแม่ ดังนั้นการให้เด็กได้รับน้ำนมแม่ทันทีหลังคลอด จึงเป็นเสมือนการเปิดสวิทซ์การทำงานของร่างกายและเปิดสวิทซ์สมองลูก” หัวหน้ากุมารแพทย์ กล่าว

โดยปัจจัยสำคัญของความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือน และให้นมแม่ควบคู่กับอาหารเสริมไปจนถึง 2 ปีหรือนานกว่านั้นอยู่ที่การปรับเปลี่ยน “ทัศนคติและความรู้” เรื่องของนมแม่ในตัวของ พ่อ แม่ และครอบครัวให้ถูกต้อง รวมไปถึงต้องมีเทคนิค “การอุ้ม” และ “การให้นม”ลูกอย่างถูกต้อง รวมไปถึงวิธีการ “บีบ-เก็บ น้ำนม”สำหรับแม่ที่ต้องกลับไปทำงาน

“การอุ้มที่ดีที่สุดจะเป็นท่าไหนก็ได้ แต่ต้องเป็นท่าที่สบายที่สุดสำหรับแม่ ส่วนท่าอุ้มที่เหมาะสมนั้นจะต้องไม่เกร็ง เป็นการอุ้มแบบประคอง คือเมื่ออุ้มแล้วลูกจะต้องตะแคงเข้าหาหัวนมได้พอดี ส่วนการให้นมควรให้เมื่อลูกต้องการโดยไม่จำกัดจำนวนครั้งหรือชั่วโมง เพราะเด็กไม่สนใจเวลา ไม่รู้ว่านมมีเท่าไหร่ เขาจะรู้แต่เพียงว่าเขาอยากอยู่ใกล้กับแม่ อยากดูดนมแม่ ใช้การสังเกตพฤติกรรมของลูก เพราะเด็กแต่ละคนจะมีความสามารถในการดูดนมช้าหรือเร็วไม่เท่ากัน จึงต้องดูความต้องการของลูกเป็นสำคัญ ในหนึ่งวันเด็กต้องกินนมอย่างน้อย 8 ครั้ง และดูว่าปัสสาวะใสก็เป็นอันใช้ได้ นอนพักได้ไม่งอแง แต่ถ้าปัสสาวะมีสีชาเข้มก็แสดงว่าลูกต้องการน้ำนมเพิ่มมากขึ้น” นางมีนะ ระบุ

ส่วนในเรื่องของการบีบและเก็บน้ำนมนั้นก็มีความสำคัญไม่แพ้กันในแม่ที่ต้องไปทำงาน แม่จึงต้องหาเวลาอย่างน้อยประมาณทุกๆ 3 ชั่วโมง เพื่อบีบเก็บน้ำนมเก็บไว้ ส่วนเวลาที่แม่อยู่กับลูกก็ให้ลูกกินนมจากคุณแม่ตามปกติ โดยการบีบเก็บน้ำนมต้องใช้วิธีการเดียวกันกับการดูดของลูก จึงจะสามารถบีบเก็บน้ำนมได้มากที่สุด โดยใช้เพียงนิ้วโป้งกับนิ้วชี้เท่านั้น วิธีการคือ กดเข้าหาตัว บีบ ปล่อย และคลาย โดยสามารถขยับมุมการบีบไปรอบๆ เต้านมได้

น.ส.ศิลัมพา เรืองวีรยุทธ คุณแม่ของ “น้องเรียว”ด.ช.ธณินท์พงศ์ ไทยวุฒินุกุล วัย 2 ขวบที่ได้นมแม่ตั้งแต่แรกคลอดจนถึงปัจจุบันได้มาร่วมให้ความรู้ภายในงานกล่าวว่า ช่วงเวลาที่ถือว่าเป็นช่วงวิกฤติของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่คือ 2 สัปดาห์แรกหลังคลอด ถ้าให้นมไม่ถูกวิธี หัวนมเจ็บหรือแตก ส่วนใหญ่ก็มักจะถอดใจกันในตอนนี้

“แม่มือใหม่มักจะอุ้มลูกไม่ถนัด กลัวตก พอแม่เกร็งลูกก็จะเกร็งตามทำให้กินนมไม่ได้ ทำให้ต้องมาฝึกเรื่องของท่าอุ้มและวิธีการให้นมที่ถูกต้อง ท่าที่ให้นมมีหลายท่าเลือกที่เราถนัดและรู้สึกสบายที่สุด การฝึกให้น้ำนม จะช่วยให้เรามีความมั่นใจมากขึ้นในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่”คุณแม่น้องเรียวกล่าว

“การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่คือการเรียนรู้จากการปฏิบัติ การฝึกฝนบ่อยๆ จะช่วยได้ ที่สำคัญพ่อและแม่จะต้องเตรียมตัวที่จะเหนื่อยก่อน ความสุขถึงจะตามมา และบางครั้งการร้องไห้ของเด็กไม่ ได้หมายถึงความเจ็บปวด แต่หมายถึงความต้องการนมแม่และ ความอบอุ่นจากแม่ ดังนั้นจึงไม่ต้องเครียด ทำใจให้สบาย ให้ลูกได้ใกล้ชิดกับแม่มากที่สุด ขอให้เชื่อมั่นในตนเองและเชื่อมั่นในตัวลูก ก็จะทำให้สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ประสบความสำเร็จ” พญ.ศิริพัฒนา กล่าวสรุป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๑๙ ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๑๗:๕๑ GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๑๗:๒๗ กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๑๗:๑๔ กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๑๗:๒๕ First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๑๗:๐๒ CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๑๗:๑๑ บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง
๑๗:๕๒ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท เดินหน้า โครงการบ้านชื่นสุขสร้างสุขผู้สูงอายุ ตอกย้ำ ความกตัญญู
๑๗:๐๑ รีเล็กซ์ โซลูชันส์ เผยกลุ่มค้าปลีกและผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคยังไม่ใช้ศักยภาพของ AI มากนัก
๑๗:๔๓ กทม. บูรณาการหน่วยงานเร่งแก้ปัญหาเด็กเช็ดกระจก-ขายของริมถนน ใช้สหวิชาชีพแก้ปัญหารายครอบครัว