ทิศทางการบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี-วิทยาศาสตร์ของไทย

อังคาร ๑๒ มีนาคม ๒๐๑๓ ๑๓:๑๓
ไทยบิสป้าวิเคราะห์แนวโน้มการบ่มเพาะธุรกิจไทย ไบโอเทคโนโลยีไทยโตระดับโลกต่อเนื่อง เมืองวิทยาศาสตร์เสร็จเมื่อไรเปลี่ยนโฉมการบ่มเพาะแน่ ชี้แต่ละศูนย์ต้องแตกต่าง เชื่อกลุ่มไอทีแรงขับเคลื่อนจากเอกชนจะสูง บริษัทใหญ่เตรียมเทงบวิจัยต่อเนื่อง สมาคมฯ เดินหน้าเตรียมแผนสร้างคนรองรับแนวโน้มนี้ พร้อมผลักงาน Thai-BISPA Day โชว์ผลงานวิจัยไทย

ศ.ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ นายกสมาคมหน่วยบ่มเพาะธุรกิจและอุทยานวิทยาศาสตร์ไทย หรือThai-BISPA เปิดเผยว่า ในปี 2012 ที่ผ่านมาทางสมาคม Thai-BISPA เห็นแนวโน้มใหม่ที่เกี่ยวข้องกับอุทยานวิทยาศาสตร์และหน่วยบ่มเพาะธุรกิจในประเทศไทยที่สำคัญหลายประการ ซึ่งจะส่งผลต่อการสร้างนวัตกรรมใหม่ของประเทศไทย ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านงานวิจัยและพัฒนาของประเทศไทยไปในทางที่ดีขึ้น ส่งผลให้ภาคธุรกิจสามารถนำงานวิจัยในจุดต่างๆ ไปใช้ในเชิงพาณิชย์มากขึ้น แนวโน้มสำคัญๆ อาทิ

1. นวัตกรรมไบโอเทคโนโลยีจากประเทศไทยได้สร้างชื่อเสียงจนขณะนี้เป็นที่จับตามองจากบริษัทในต่างประเทศ แนวโน้มนี้เกิดขึ้นจากการที่มีบริษัทตั้งใหม่ของไทยประสบความสำเร็จในการคิดค้นนวัตกรรมทางด้านไบโอเทคโนโลยีจนสามารถคว้ารางวัลจากเวทีระดับโลกและได้รับความสนใจในการร่วมลงทุนจากบริษัทต่างชาติ เช่น บริษัท เฟล็กโซรีเสิรช และ บริษัท ไฮกริมเอ็นไวรอนเมนทอล แอนด์ รีเสิร์ช

ทำให้นักวิจัยของไทยได้รับการจับตามอง ซึ่งไทยควรจะนำจุดนี้มาชูภาพลักษณ์งานวิจัยของประเทศให้ชัดเจน เพื่อเป็นการทำตลาดและสร้างแรงจูงใจให้กับนักวิจัยรุ่นใหม่

2. โครงการ “เมืองวิทยาศาสตร์” หรือ “Amata Science City” อาจเปลี่ยนโฉมหน้าของงานวิจัยและพัฒนาของไทย ทั้งฝั่งอุปสงค์และอุปทาน ซึ่งโครงการนี้มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะก่อให้เกิดนักวิจัยรุ่นใหม่จำนวนมาก โดยที่มีบริษัทวิจัยจากต่างชาติเป็นตัวจุดประกาย ฃึ่งจะส่งผลให้เกิดบริษัททางด้านวิจัยและพัฒนาของคนไทยตามมา รวมทั้งในระยะยาวงานด้านบ่มเพาะธุรกิจก็จะเติบโตขึ้นอย่างมากด้วย

3. ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจและอุทยานวิทยาศาสตร์จะมีเอกลักษณ์ และความโดดเด่นเฉพาะทางมากขึ้น ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงก่อตั้งและเรียนรู้ของศูนย์บ่มเพาะธุรกิจและอุทยานวิทยาศาสตร์ ในการให้บริการนักวิจัยและพัฒนาในด้านต่างๆ ซึ่งจากประสบการณ์การเรียนรู้ได้พบว่าการสนับสนุนไม่ควรเน้นในเชิงกว้าง แต่จะต้องเข้าไปรองรับความโดดเด่นในพื้นที่ รวมถึงอุตสาหกรรมใหญ่ในพื้นที่นั้นเป็นหลัก ดังนั้น ศูนย์ต่างๆ จะปรับตัวจับกลุ่มเป้าหมายชัดเจนขึ้น และมีความโดดเด่นในภาพลักษณ์แต่ละด้านแตกต่างกันไป

4. การบ่มเพาะธุรกิจด้านไอซีทีจะเป็นกลุ่มแรกที่จะมีภาคเอกชนเข้ามาดูแล จากเดิมการสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนา โดยใช้ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจในรูปแบบต่างๆ ในประเทศไทย เป็นภาครัฐมากกว่า 90% แต่จากรูปแบบการพัฒนาของธุรกิจไอซีทีที่มุ่งตลาดระดับโลก และเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ขณะที่กลไกการบ่มเพาะธุรกิจของภาครัฐไทยยังไม่สามารถช่วยเหลือในด้านความไวและการผลักสู่ตลาดระดับโลกได้ดีพอ ทำให้การบ่มเพาะธุรกิจโดยภาคเอกชนของไทยกลายเป็นช่องทางใหม่ในการสนับสนุนในปัจจุบัน ซึ่งแนวโน้มจะมีภาคเอกชนเข้ามาจัดทำศูนย์บ่มเพาะธุรกิจมากขึ้น แต่ในส่วนงานวิจัยด้านอื่นจะยังคงพึ่งพาศูนย์บ่มเพาะธุรกิจจากภาครัฐเป็นหลักอยู่

5. ปี 2013 เป็นปีโหมทำวิจัยจากบริษัทขนาดใหญ่ของไทย จากสภาพการแข่งขันทางด้านการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่มีมากขึ้น ในขณะที่กฎหมายและระเบียบของภาครัฐก็เอื้อต่อการทำวิจัยและพัฒนามากขึ้น ดังนั้นในปีนี้จะได้เห็นบริษัทขนาดใหญ่ของไทยเร่งใส่งบประมาณด้านนี้ โดยส่วนใหญ่จะเป็นการทำวิจัยเอง ขณะที่บางส่วนเท่านั้นที่จะนำงานวิจัยจากสถาบันการศึกษาหรือสถาบันวิจัยต่างๆ ไปพัฒนาร่วม เนื่องจากยังไม่คุ้นเคย คาดว่าแนวโน้มการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาจากบริษัทใหญ่จะมากขึ้นและช่วยผลักให้การลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาของประเทศไทยถึงเป้า 2% ของ GDP ภายในระยะเวลา 10 ปีตามที่รัฐบาลตั้งนโยบายไว้ ส่วนบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กยังต้องพึ่งพางานวิจัยเฉพาะทางจากสถาบันการศึกษาอยู่

อย่างไรก็ตามทางภาครัฐโดยโครงการ RRI นั้น จะเชื่อมโยงการวิจัยของภาคเอกชนให้ประสานกับการวิจัยของสถาบันการศึกษามากขึ้น และได้เริ่มจุดประกายในเบื้องต้นแล้ว โดย 6 บริษัทใหญ่คือ เวสเทิร์นดิจิตอล หรือ WD, ซีเกท, การปิโตรเลียม แห่งประเทศไทย, กลุ่มบริษัทปูซีเมนต์ไทย หรือ SCG, กลุ่มบริษัทมิตรผล และเบทาโกร ได้ลงนามสนับสนุนการวิจัยในภาคการศึกษาแห่งละ 25 ทุน แล้ว

6. การสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาของภาครัฐจะมีความหลากหลายและเชื่อมโยงระหว่างนักวิจัยจากสถาบันการศึกษากับภาคธุรกิจมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมกิจการอุทยานวิทยาศาสตร์ (สอว.) ที่มีแผนนโยบายและมาตรการสนับสนุนที่ชัดเจนมากขึ้น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว. ซึ่งได้เริ่มโครงการพัฒนาวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม (พวอ.) ขึ้นเพื่อเชื่อมโยงมหาวิทยาลัยกับภาคเอกชนอย่างยั่งยืน หรือการจัดตั้งกองทุนตั้งตัวได้เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการใหม่ โดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) เป็นผู้ดูแลหรือสำนักงานคณะกรรมการ นโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน .) ที่ได้ทำข้อเสนอนโยบายระบบทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี รวมทั้งหน่วยงานอื่นๆ เช่น คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ที่ได้ปรับเพิ่มการสนับสนุนกิจการด้านนี้มากขึ้น ทั้งหมดก็ล้วนมุ่งที่จะเอื้อต่อการวิจัยและพัฒนาของไทยทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในระยะยาวมากขึ้น

7. แนวโน้มการเติบโตของศูนย์บ่มเพาะธุรกิจและอุทยานวิทยาศาสตร์ของไทยยังไม่ทันกับการเติบโตของนักวิจัยของไทยที่กำลังมีมากขึ้น ในช่วงที่ผ่านมา ไทยมีผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารจัดการศูนย์บ่มเพาะธุรกิจที่ผ่านการรับรองจากองค์การนานาชาติเพียง 5 คนเท่านั้น และผู้ผ่านการฝึกอบรมในขั้นต้นและขั้นกลางไม่เกิน 20 คน ขณะที่มีแนวโน้มการเติบโตในอุตสาหกรรมการวิจัยและพัฒนามากขึ้นแบบทวีคูณในอนาคต ดังนั้น นอกจากการส่งเสริมด้วยมาตรการต่างๆ ของภาครัฐและเอกชนแล้ว ในฝั่งขององค์กรผู้สนับสนุนจำเป็นต้องมีการพัฒนาอย่างเป็นระบบรองรับด้วย ซึ่ง Thai-BISPA จะยังคงร่วมกับ InfoDev ธนาคารโลก เร่งทำการฝึกอบรมบุคลากรในส่วนนี้เพิ่มมากขึ้นอย่างเป็นระบบต่อไป

8. การสร้างเวทีประกวดเทคโนโลยีเป็นช่องทางการคัดเลือกผู้คิดค้นนวัตกรรมที่มีฝีมือ ซึ่งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจต่างๆ ตระหนักว่าการประกวดเทคโนโลยีเป็นกลไกการสร้างแบรนด์ในชั้นต้นให้กับผู้วิจัย นำไปสู่การจับคู่ทางธุรกิจ การหาแหล่งเงินทุนสนับสนุน ไปจนกระทั่งการเข้าซื้อกิจการในที่สุด ซึ่งในปีนี้นอกจากจะมีการแข่งขันในระดับประเทศแล้ว จะมีการดึงเวทีในระดับนานาชาติเข้าสู่ประเทศไทยโดยตรงมากขึ้น

9. การ Co-Incubation หรือการบ่มเพาะธุรกิจร่วมระหว่างประเทศ จะเริ่มเกิดขึ้นในประเทศไทย งานวิจัยหรือการคิดค้นกำลังเป็นแนวโน้มใหม่ที่มีนักลงทุนทั่วโลกให้ความสนใจ ซึ่งขณะนี้ หน่วยบ่มเพาะธุรกิจของไทยเริ่มสร้างเครือข่ายกับหน่วยบ่มเพาะธุรกิจในต่างประเทศแล้ว และจะเกิดรูปแบบใหม่คือการเป็นหน่วยบ่มเพาะธุรกิจร่วม ซึ่งจะมีทั้งการที่ผู้ประกอบการจากต่างประเทศเข้ามารับบริการบ่มเพาะธุรกิจในประเทศไทย และการที่ผู้ประกอบการไทยไปรับบริการบ่มเพาะธุรกิจในต่างประเทศด้วย ซึ่งจะส่งผลดีต่อการวิจัยและพัฒนาในระยะยาว

10. การเติบโตของ Seed Money, Angel Fund และหน่วยสนับสนุนการลงทุนในช่วงเริ่มต้นธุรกิจ คาดว่าแนวโน้มดังกล่าวจะยังไม่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนในประเทศไทยในปี 2013 เนื่องจากพฤติกรรมของบริษัทขนาดใหญ่ของไทยที่คุ้นเคยกับการซื้อเทคโนโลยีเข้ามาใช้ทันทีหรือทำวิจัยเอง มากกว่าที่จะเป็นผู้อุปถัมภ์หรือนายทุนให้กับธุรกิจตั้งใหม่ ส่วนภาคสถาบันการเงินก็ยังไม่สามารถยอมรับความเสี่ยงด้านนี้ได้ และเครือข่ายทางธุรกิจของไทยส่วนใหญ่มองตลาดเฉพาะในประเทศ แตกต่างจากบริษัทข้ามชาติที่สามารถนำงานวิจัยที่ดีไปต่อยอดในธุรกิจระดับโลกได้ทันที ฯลฯ ซึ่งแนวโน้มนี้น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นภายใน 3-5 ปีนี้

สำหรับแผนงานของ Thai-BISPA ซึ่งเป็นศูนย์กลางเครือข่ายของกิจกรรมบ่มเพาะธุรกิจและอุทยานวิทยาศาสตร์ของประเทศ ซึ่งในปัจจุบัน สมาคมฯ มีจำนวนสมาชิกทั้งสิ้น 33 รายนั้น ในปีนี้สมาคมจะมุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาบุคลากรของศูนย์บ่มเพาะธุรกิจและอุทยานวิทยาศาสตร์ให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ไทยมีผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารจัดการศูนย์บ่มเพาะธุรกิจที่ผ่านหลักสูตรขององค์การนานาชาติรวมทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 40 คน ขยายเครือข่ายพันธมิตรเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศให้มากขึ้น ซึ่งล่าสุด Thai-BISPA ได้รับเชิญให้เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมและอุทยานวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ หรือ SPICE Group รวมถึงเร่งส่งเสริมผู้ประกอบการขึ้นสู่เวทีระดับโลก เพื่อสร้างชื่อให้แก่ธุรกิจเทคโนโลยีของไทยในสากล และสร้างความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการและคู่ธุรกิจที่จำเป็น

การดำเนินการจะครอบคลุมการจัดสัมมนา เวิร์คชอป และการฝึกอบรมในระดับต่างๆ การสมัครเข้าเป็นสมาชิกวงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง การจัดประกวดและคัดเลือกผู้ประกอบการส่งเข้าประกวดในเวทีสากล รวมทั้งการจัดทำทำเนียบศูนย์บ่มเพาะธุรกิจและทำเนียบผู้ประกอบการในศูนย์บ่มเพาะฯ การจับคู่ธุรกิจ และการประกันคุณภาพระบบบริการ (accreditation) ของศูนย์บ่มเพาะธุรกิจด้วย

โดยเฉพาะการจัดงาน Thai-BISPA Day ในวันที่ 18 มีนาคม ภายใต้หัวข้อ "กลยุทธ์สุดยอด สร้างประโยชน์เชิงพาณิชย์จากเทคโนโลยี (Effective Strategies for Technology Commercialization)" นี้ ถือว่าเป็นมิติใหม่สำหรับการบริหารจัดการศูนย์บ่มเพาะธุรกิจและอุทยานวิทยาศาสตร์ สมาคมฯ ได้รับเกียรติจากรองนายกรัฐมนตรี ดร.ปลอดประสพ สุรัสวดี เป็นประธานในพิธีเปิดและแสดงปาฐกถานำในหัวข้อ "การพัฒนาเทคโนโลยีและสร้างประโยชน์เชิงพาณิชย์ เพื่อเศรษฐกิจและสังคมไทย"

นอกจากในเวทีสัมมนาที่จะมีการถ่ายทอดความรู้จากผู้เชี่ยวชาญในระดับโลก ทั้งวิทยากรจากซิลิคอนวัลเลย์ นักพัฒนาอุทยานวิทยาศาสตร์จากเกาหลีใต้ และผู้ทรงคุณวุฒิด้านการจัดการทรัพย์สินทางปัญญาจากประเทศอินเดียแล้ว จะยังมีกิจกรรมผู้ประกอบการพบนักลงทุน (Start-ups Meet Investors) เพื่อนำเสนอธุรกิจนวัตกรรม อาทิ เจลยางพาราลดแผลกดทับ และระบบควบคุมอุปกรณ์ไฟฟ้าอัจฉริยะ โดยจะทำให้ผู้ประกอบการของศูนย์บ่มเพาะธุรกิจต่างๆ ที่มีความพร้อมและมีศักยภาพ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น และนำไปสู่การตกลงเจรจาการลงทุนร่วมในงานได้ทันที

นอกจากนี้ จะมีการนำผลงานวิจัยในหลากหลายสาขาของมหาวิทยาลัยจากทั่วประเทศมานำเสนอ ทั้งด้านการแพทย์ สุขภาพ อาหารและการเกษตร เทคโนโลยีสารสนเทศ และอื่นๆ ที่น่าสนใจที่พร้อมถ่ายทอดและใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ อาทิ เท้าเทียมขยับได้ ชุดตรวจสอบไวรัสตัวแดงดวงขาวในกุ้ง และอื่นๆ เพื่อให้เกิดการนำไปต่อยอดในภาคธุรกิจ ในขณะเดียวกัน บริเวณหน้างานจะมีการจัดแสดงผลงานของผู้ประกอบการและหน่วยบ่มเพาะธุรกิจเพื่อเผยแพร่ผลงานและส่งเสริมเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน บุคลากรและองค์กรในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอีกด้วย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๒๙ ม.กรุงเทพ เห็นถึงคุณค่าพลังงานที่ยั่งยืนเชิญผู้เชี่ยวชาญมาสร้างสกิลตรง
๑๖:๐๗ แอลจีเผยผลประกอบการไตรมาสแรกของปี 2024 ผลักดันธุรกิจด้วยนวัตกรรมพร้อมรักษาสมดุลระหว่างธุรกิจหลักและการเติบโตในอนาคตเพื่อสร้างโอกาสใหม่ๆ
๑๖:๓๕ ฮั้วฟง รับเบอร์ฯ (HFT) จัดประชุมผู้ถือหุ้นปี 2567 ผถห.โหวตผ่านฉลุยทุกวาระ
๑๖:๕๒ ซีเอ็ด เปิดสาขาใหม่ที่ตราด! บริจาคหนังสือ 2 แสนบาท หนุนการอ่านในท้องถิ่น
๑๖:๕๙ ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 มีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น ทั้งปีที่อัตราหุ้นละ 0.52
๑๖:๕๙ ปรับการนอนหลับของคุณให้มีคุณภาพดีขึ้นด้วยฟีเจอร์ใน HUAWEI Band 9
๑๖:๓๔ ไฮเออร์ ประเทศไทย โชว์ศักยภาพแกร่ง พาเหรดทัพนวัตกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ร่วมจัดแสดงในงาน China Enterprise Product Resources
๑๖:๑๐ สถานทูตอิตาลี เปิดศูนย์รับคำร้องขอวีซ่าแห่งใหม่ในกรุงเทพ
๑๖:๕๒ CHAYO จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 ไฟเขียวทุกวาระ
๑๖:๑๓ ผู้บริหารบางจากฯ แชร์แนวทางขับเคลื่อนการรับมือวิกฤตสภาพภูมิอากาศ 2 เวที