หลายสิบปีผ่านพ้นไป หากอุดมการณ์แน่วแน่มิเคยถูกลบเลือน “มูลนิธิโกมลคีมทอง” คืออีกหนึ่งเจตนารมณ์ที่คงไว้เชิดชูในคุณความดีของครูโกมลฯ ซึ่งนอกไปจากองค์ความรู้ เนื้องานอาสาสมัครที่มูลนิธิเผยแพร่อย่างต่อเนื่องแล้ว “กิจกรรมออกค่ายอาสา”คืออีกหนึ่งแนวทางเด่น ที่มูลนิธิฯหวังผลิตต้นกล้าเยาวชนให้เติบโตเป็นร่มเงาสำหรับสังคมในภาคหน้า
นับได้ 7 ปีที่เคี่ยวหลักสูตรงานค่ายอาสา ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้ชื่อ“ค่ายอาสาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต” (ค่ายสร้างสุข) “วีรินทร์วดี สุนทรหงส์” มูลนิธิโกมลฯ สรุปความทำค่ายแบบครูโกมลฯ ว่า หลักคือต้องไม่ใช่ค่ายที่มีจุดมุ่งหมายที่การสร้างวัตถุ หรือมุ่งให้ชุมชนในลักษณะการอุปการะเพียงอย่างเดียว แต่ตัวเยาวชนเองต้องไปฝังตัวร่วมกับชุมชนก่อน เก็บข้อมูลสังเกตความเป็นไปในสิ่งที่เกิดขึ้น เรียนรู้ข้อเท็จจริงก่อน ก่อนจะต้องมองโจทย์ให้ออกว่าสิ่งที่ชุมชนต้องการนั้นคืออะไร มีกระบวนการใดที่จะคลี่คลายเรื่องเหล่านั้นได้บ้าง ซึ่งการออกค่ายจะไปหนุนเสริมในส่วนนั้น
“นักศึกษาไม่ได้เป็นใหญ่ ไม่ใช่คนที่มีอุดมการณ์ มีความรู้มากกว่าใคร แล้วไปช่วยชุมชนที่ด้อยโอกาสกว่า จริงอยู่คุณอาจจะเรียนสูงกว่า แต่เมื่อเข้าไปในชุมชน คุณก็จะรู้ความจริงว่าเขาอยู่กันอย่างไร อะไรเป็นสิ่งที่เขาต้องการจริงๆ และเมื่อได้รับมันแล้วเขาจะสามารถจะทำให้ดีขึ้นต่อไปได้แม้จะไม่มีใครช่วยเหลืออีกหรือไม่ ขณะเดียวกันนักศึกษาก็ต้องสำรวจตัวเองว่าสามารถจะเรียนรู้เรื่องใดจากชุมชนได้บ้าง ไม่ใช่ผ่านมาหรือผ่านไป ทำกิจกรรมกันเพียงแค่ประเพณีเท่านั้น”
ผู้รับผิดชอบการผลิตค่ายแบบครูโกมลฯ บอกว่า อย่าไปมองว่าการออกค่ายคือเรื่องของนามธรรมและความใฝ่ฝันของนักอุดมคติ ปัจจุบันนี้ทุกคนเข้าใจดีว่าอดีตกับสภาพจริงต่างกัน เพราะทุกวันนี้ต้องแข่งขันกันสูง แต่“บทเรียน”ที่กิจกรรมค่ายอาสาต้องปูพื้นฐานคือการสร้างทางเลือกคู่ขนาน ในเรื่องจิตสาธารณะ ความเสียสละที่พอจะเอื้อเฟื้อได้ในรูปแบบที่ตัวเองถนัด ไม่ว่าจะเป็น สละเวลา แรงงาน องค์ความรู้ การแบ่งปัน-ระดมความคิด ฯลฯ
“ไม่แปลกที่เด็กจะแข่งกันเรียน แข่งกันได้งานดีๆในตลาดแรงงาน ไม่ผิดที่จะมองตัวเองก่อน แต่เราจะเสนอให้เขามีจิตสาธารณะคู่ขนานไป ให้เขาได้เห็น ได้คิดอะไรเหนือไปจากห้องเรียน สร้างจิตสำนึกของความเสียสละ ในรูปแบบใดมันได้ทั้งนั้น การออกค่ายของเราไม่ได้คิดให้มันใหญ่โต แต่เมื่อเด็กเข้ามาเราก็ต้องกระตุ้นให้เขาคิดถึงส่วนรวมบ้าง มาตั้งคำถามว่าในประเทศนี้ส่วนใดที่มีคนไม่ได้รับความเป็นธรรม มีความไม่เท่าเทียมจนทำให้เขาด้อยกว่าคนอื่นอยู่”
ผลของหลักสูตรค่ายอาสาฯตลอด7ปี 4ระยะโครงการที่ผ่านมา จึงสร้างเมล็ดพันธุ์สังคมขึ้นใหม่ได้ มากกว่า100โครงการ ทั้งในระยะสั้นและยาว เปิดประเด็นปัญหาที่ครอบคลุมในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นในระดับย่อยด้านสุขภาวะในชุมชน ประเด็นยอดนิยมอย่างสิ่งแวดล้อม การรณรงค์ ด้านการศึกษาอย่างเรื่องมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ เรื่อยไปถึงระดับภูมิภาคที่เชื่อมโยงเข้ากับโครงการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่หรือกระทั่งปัญหาคนไร้ถิ่นอาศัยในเมืองหลวง
ขณะที่แบบฝึกหัดของเยาวชนค่ายอาสาฯ เองต้องเริ่มจาก การลงพื้นที่จริงก่อนเพื่อหาข้อมูลเบื้องต้น รู้เป้าหมาย วัตถุประสงค์ก่อนจะริเริ่มโครงการ พร้อมกับมีโจทย์ของตัวเองแล้วว่าจะทำอะไร ไปเพื่อใคร
“มันไม่มีสูตรตายตัวหรอก จะไปบอกว่าที่ใดต้องการแปลงเพาะเห็ดเพื่อความมั่นคงทางอาหาร หรือจะหาที่เก็บน้ำเพราะขาดแคลนเป็นประจำ ไปคิดแทนเช่นนั้นคงไม่ได้ ตัวอย่างบางกลุ่มเคยไปสร้างศูนย์การเรียนรู้ในชุมชนทั้งที่เขาไม่ต้องการ ไม่นานมันก็ถูกทิ้งร้าง ดังนั้นอย่าไปคิดแทน เรื่องเหล่านี้มันเริ่มจากข้อมูลจริงก่อน ไม่ใช่ทำตามใจ เมื่อชุมชนมองว่าสิ่งเหล่านี้คือเรื่องที่เขาต้องการ จะเกิดขั้นตอนของการพัฒนาต่อไปให้คงอยู่ สิ่งเหล่านี้มันอยู่ในชุมชนตลอดเราผ่านเขาไปเพื่อเรียนรู้ในพื้นที่ ได้ร่วมมือกับชุมชน ถ่ายโอนความรู้ระหว่างกัน ทั้งความรู้ในระบบที่ร่ำเรียนมา หรือเรื่องวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ วิถีที่ยังคงนำพาชุมชนให้ดำรงอยู่ได้”
“อย่าเพิ่งไปคิดถึงผลลัพธ์ เราสนใจกระบวนการ อยากที่จะสร้างเยาวชนที่มีจิตสาธารณะ และคิดเชื่อมโยงได้ในหลายมิติ“เธอย้ำถึงภารกิจ
ส่วนปฏิบัติการที่จะเกิดขึ้น “ตัวแทนมูลนิธิโกมล” บอกว่า เมษายนนี้คือช่วงรอยต่อของกิจกรรม การสรุปบทเรียน ระดมสมองพัฒนาทักษะการทำค่าย เหตุนี้จึงพักการทำกิจกรรมไว้ก่อน เพื่อเปิดทางให้โปรเจคหน้าในช่วงมิถุนายน โดยหนนี้กิจกรรมจะลึกและเข้มข้นขึ้นบนเป้าหมายของการหนุนเสริมพลังเยาวชนร่วมผลักดันสังคมทดแทนบุคลากรรุ่นเก่าที่โรยราตามกาลเวลา
ตามรอยครูโกมลฯในรูปแบบที่ตัวเองรัก และมีความสุขเมื่อได้ลงมือทำ
โครงการค่ายอาสาฯ เริ่มต้นขึ้นในปี 2549 และจัดมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปีนี้ได้ให้การสนับสนุนการทำค่ายของนิสิตนักศึกษาไปกว่า 200 ค่ายแล้ว โดยในแต่ละปีจะให้การสนับสนุนทั้งหมดใน2รูปแบบ คือในรูปแบบค่ายเดียวและค่ายต่อเนื่องที่ใช้เวลาทำตลอดทั้งปี ค่ายเป็นอีกหนึ่งโครงการที่ช่วยปลูกฝังจิตสำนึกให้กับเยาวชน ทำให้พวกเขาได้เรียนรู้ชีวิตจริงจากนอกห้องเรียน เรียนรู้ผู้คน เรียนรู้การทำงานร่วมกัน และนำเอาประสบการณ์นั้นมาประยุกต์ใช้กับตนเอง คิดและพัฒนาการทำค่ายให้มีคุณภาพมากขึ้น
ที่สำคัญค่ายนี้เป็นการสร้างให้พวกเขารู้จักปฏิเสธเหล้าและบุหรี่อย่างเข้มงวด จริงจัง จึงเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้พวกเขาอย่างยืนยาว ขณะเดียวกันนิสิต นักศึกษาก็จะได้เรียนรู้และเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากค่ายมาเติมเต็มคุณภาพชีวิตให้กับตนเอง หากใครสนใจติตามรายละเอียดได้ที่มูลนิธิโกมลคีมทอง