“น้ำบาดาลพุ” มหัศจรรย์ธรรมชาติ แก้วิกฤติน้ำแล้งเพื่อการเกษตร

ศุกร์ ๑๐ พฤษภาคม ๒๐๑๓ ๐๙:๒๔
นายสุพจน์ เจิมสวัสดิพงษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมทรัพยากรน้ำบาดาลเดินหน้าสำรวจ ศึกษา และพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลพุ ขึ้นมาใช้ประโยชน์ ด้วยความร่วมมือของเกษตรกรในหลาย ๆ พื้นที่ เพื่อศึกษาศักยภาพของแหล่งน้ำบาดาลพุในการเป็นแหล่งน้ำเสริมเพื่อทำการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งที่ผ่านมาได้มี การดำเนินโครงการศึกษาเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลพุในพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนกลางอย่างยั่งยืน ตั้งแต่ ปี 2553 โดยนำร่องการพัฒนาน้ำบาดาลพุเพื่อการเกษตร ณ บ้านอ้อคำ ตำบลกระนวน อำเภอซำสูง จังหวัดขอนแก่น ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้รับเกียรติจาก นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานส่งมอบระบบนำร่องการพัฒนาน้ำบาดาลพุเพื่อการเกษตรแก่ประชาชนผู้ใช้น้ำและเกษตรกร ในพื้นที่บ้านอ้อคำ ตำบลกระนวน อำเภอซำสูง จังหวัดขอนแก่น เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายน 2556 ที่ผ่านมา

สำหรับการนำร่องพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลพุเพื่อการเกษตรที่บ้านอ้อคำ ตำบลกระนวน อำเภอซำสูง จังหวัดขอนแก่น ครอบคลุมเนื้อที่รวม 572 ไร่ 1 งาน 33 ตารางวา สามารถช่วยให้เกษตรกรกว่า 290 ครัวเรือน ไม่ขาดแคลนแหล่งน้ำและสามารถทำการเกษตรได้ตลอดปี โดยมีการจัดตั้งกลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำบาดาลพุบ้านอ้อคำ และคณะกรรมการกลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำบาดาลพุ เพื่อบริหารจัดการแหล่งน้ำด้วยตนเอง รวมถึงมีการต่อยอดวางระบบกระจายน้ำเพื่อทำการเกษตร ซึ่งผลสำเร็จของโครงการฯ สามารถยืนยันถึงประโยชน์ในการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลพุ ทั้งในแง่ของการแก้ปัญหาภัยแล้ง และการประหยัดพลังงานได้เป็นอย่างดี

อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวเพิ่มเติมว่า บ่อน้ำบาดาลพุ เป็นบ่อน้ำบาดาลที่น้ำไหลออกมาเอง โดยไม่ต้องใช้เครื่องสูบน้ำ ซึ่งแหล่งน้ำบาดาลพุเกิดจากสภาพอุทกธรณีวิทยาเฉพาะแห่งที่ทำให้ชั้นหินกักเก็บ น้ำบาดาลอยู่ภายใต้แรงดัน หรือเรียกว่าชั้นน้ำบาดาลภายใต้แรงดัน และสำรวจพบว่ามีกระจายอยู่ทั่วไป ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ครอบคลุมพื้นที่ทั้งในลุ่มน้ำมูล ชี และโขง ประมาณ 1.7 ล้านไร่ ระดับความสูง ของน้ำที่พุขึ้นมา มีตั้งแต่ไหลล้นจากปากบ่อจนถึงระดับความสูงถึง 8 เมตร โดยทั่ว ๆ ไปมีปริมาณการไหลอยู่ระหว่าง 50 — 200 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน แต่ในพื้นที่บางแห่งที่มีรอยแตกขนาดใหญ่จะมีปริมาณการไหลมากกว่า 4,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ดังนั้น แหล่งน้ำบาดาลพุจึงเป็นแหล่งน้ำที่ควรจะพัฒนาขึ้นมาใช้ประโยชน์ในการเกษตรและแก้ปัญหาภัยแล้งในระยะเผชิญเหตุ เนื่องจากเป็นแหล่งน้ำที่ให้ปริมาณน้ำมาก ไม่ต้องเสียพลังงานในการสูบน้ำ และสามารถต่อยอดในการวางระบบกระจายน้ำเพื่อทำการเกษตรได้

ทั้งนี้ นอกจากพื้นที่นำร่องบ้านอ้อคำแล้ว พบว่า ยังมีอีกหลายพื้นที่ทั่วประเทศที่มีศักยภาพน้ำบาดาลพุ และสามารถนำน้ำมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้ เช่น บ้านสันเจริญ อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน บ้านพุเตย อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี บ้านปากแพรก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช และบ้านหนองแวงน้อย อำเภอหนองสองห้อง จังหวัดขอนแก่น เป็นต้น และล่าสุดยังพบที่อำเภอด่านซ้าย และอำเภอภูเรือ จังหวัดเลย ซึ่งในแต่ละพื้นที่ดังกล่าวจำเป็นต้องมีการศึกษาโดยละเอียดต่อไป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๑๖ กทม. ประเมินผล Lane Block จัดระเบียบจราจรหน้าเซ็นทรัลเวิลด์ พบรถแท็กซี่-สามล้อเครื่องจอดแช่ลดลง
๑๗:๐๓ สมาคมประกันวินาศภัยไทย Kickoff การใช้ข้อมูล Non-Life IBS พร้อมส่งมอบรายงานข้อมูลสถิติในการพัฒนาธุรกิจประกันภัยของประเทศ
๑๗:๓๖ 3 โบรกฯ ประสานเสียงเชียร์ ซื้อ SAV เคาะราคาเป้า 24-25 บาท/หุ้น คาดกำไร Q1/67 ทุบสถิติออลไทม์ไฮ รับปริมาณเที่ยวบินเพิ่ม เก็งผลงานทั้งปีโตเด่น
๑๗:๐๓ Minto Thailand คว้ารางวัล Best Official Account จาก LINE Thailand Award 2023
๑๗:๒๔ กทม. ตรวจสอบความปลอดภัยอาคาร ป้ายโฆษณา ต้นไม้ใหญ่ เตรียมพร้อมหน่วยเบสท์รองรับพายุฤดูร้อน
๑๗:๓๒ ไขข้อสงสัย.เมื่อซื้อแผงโซล่าเซลล์แล้วจะขนย้ายกลับอย่างไรให้ปลอดภัย โดย เอสไอเอส ดิสทริบิวชั่น (ประเทศไทย)
๑๖:๔๕ ไทเชฟ ออกบูธงาน FHA Food Beverage 2024 ที่สิงคโปร์
๑๖:๕๓ เนื่องในวันธาลัสซีเมียโลก มหาวิทยาลัยเซนต์จอร์จ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคธาลัสซีเมียในประเทศไทย
๑๖:๓๕ EGCO Group จัดพิธีเปิดโรงไฟฟ้า EGCO Cogeneration (ส่วนขยาย) อย่างเป็นทางการ
๑๖:๒๖ เพลิดเพลินไปกับเมนูพิเศษประจำฤดูกาล: อาหารจากแคว้นซิซิลี ประเทศอิตาลี ที่ โวลติ ทัสคาน กริลล์ แอนด์ บาร์ โรงแรมแชงกรี-ลา