“ความดันโลหิตดี หัวใจเต้นดี” คำขวัญวันความดันโลหิตสูงโลก ปี 56 นี้ สธ. เน้นประชาชนต้องรู้ค่าความดันโลหิต-จังหวะการเต้นของหัวใจตัวเอง

จันทร์ ๒๐ พฤษภาคม ๒๐๑๓ ๑๐:๔๒
องค์การอนามัยโลกรายงานว่าทั่วโลกมีผู้ที่มีความดันโลหิตสูงมากถึงพันล้านคน 2 ใน 3 ของจำนวนนี้อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา โดยประชากรวัยผู้ใหญ่ทั่วโลกและในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 1 คน ใน 3 คน จะมีภาวะความดันโลหิตสูง เช่นกัน และยังมีการคาดการณ์ไว้ว่าในปี พ.ศ.2568 (ค.ศ. 2025) ประชากรวัยผู้ใหญ่ทั่วโลกจะป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงถึง 1.56 พันล้านคน

ดร.นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคความดันโลหิตสูงถือเป็น “เพชฌฆาตเงียบ” ที่คอยคุกคามสุขภาพของประชากรทั่วโลก โรคนี้เป็น 1 ในสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ในแต่ละปีประชากรวัยผู้ใหญ่ทั่วโลกเสียชีวิตจากโรคนี้ถึงเกือบ 8 ล้านคน ส่วนประชากรในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีผู้เสียชีวิตจากโรคความดันโลหิตสูงประมาณ 1.5 ล้านคน ซึ่งโรคความดันโลหิตสูงนี้ยังเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตเกือบร้อยละ 50 ด้วยโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต และโรคหัวใจ

สำหรับสถานการณ์โรคความดันโลหิตสูงของประเทศไทยจากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข พบว่าปี 2554 มีผู้เสียชีวิตจากความดันโลหิตสูงถึง 3,664 คน โดยพบว่าผู้ป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูงที่เข้ารับการรักษาในสถานบริการสาธารณสุขของกระทรวงสาธารณสุขมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อเปรียบเทียบจากปี 2544 และปี 2554 พบว่าอัตราผู้ป่วยในด้วยโรคความดันโลหิตสูงต่อประชากรแสนคนเพิ่ม จาก 287.5 เป็น 1433.61 ซึ่งมีอัตราสูงขึ้นถึง 5 เท่า

ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงคือผู้ที่มีระดับความดันโลหิตสูงเรื้อรัง มีค่าตั้งแต่ 140/90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป ส่วนใหญ่มักไม่ทราบว่าตนเองมีภาวะนี้ เนื่องจากเป็นโรคที่มักไม่ค่อยปรากฏอาการที่ชัดเจนในช่วงแรก แต่เมื่อปล่อยนานไปโดยไม่ได้รับการดูแลรักษา แรงดันในหลอดเลือดที่สูงจะไปทำลายผนังหลอดเลือดและอวัยวะที่สำคัญทั่วร่างกาย ส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อสุขภาพ ทำให้เส้นเลือดแดงแข็งขึ้น ลดความเร็วการไหลเวียนเลือดและออกซิเจนไปสู่หัวใจ เป็นสาเหตุให้เกิดหัวใจล้มเหลว หลอดเลือดสมองแตก/ตีบ (Stroke) และมีแนวโน้มของการเพิ่มการเป็นโรคไตวายระยะสุดท้ายตามมาได้ โรคนี้มีสาเหตุมาจากพฤติกรรมและการใช้ชีวิตโดยเฉพาะการบริโภคอาหารรสเค็ม รับประทานผักและผลไม้ไม่เพียงพอ ความอ้วน วิถีชีวิตนั่งๆนอนๆ/ขาดการออกกำลังกาย ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาก สูบบุหรี่ เครียดและอายุที่เพิ่มขึ้น

ดร.นายแพทย์พรเทพ กล่าวอีกว่า จากข้อมูลการสำรวจสุขภาพคนไทยครั้งที่ 4 ระหว่าง พ.ศ.2551-2552 พบว่าประชากรไทยที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปมีภาวะความดันโลหิตสูง 11.5 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นชายร้อยละ 60 และเป็นหญิงร้อยละ 40 ที่ไม่เคยได้รับการวินิจฉัยมาก่อนและไม่รู้ตัวว่าเป็นความดันโลหิตสูง มีร้อยละ 9 ที่ได้รับการวินิจฉัยแต่ไม่ได้รับการรักษา ส่งผลให้อาการทวีความรุนแรงขึ้น ส่วนกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาพบว่ามีเพียง 1 ใน 4 ที่สามารถควบคุมความดันโลหิตได้ตามเกณฑ์ และจากข้อมูลการสำรวจของสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรคยังพบอีกว่าภายในหนึ่งปีที่ผ่านมา 1 ใน 5 ของประชากรอายุ 35 —74 ปี ไม่ได้รับการตรวจความดันโลหิตจากแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน แยกเป็นเพศชายร้อยละ 26.8 เพศหญิงร้อยละ 18

เพื่อจะสื่อสารสร้างกระแสให้ประชากรตื่นตัวต่อภาระโรค อันตราย และสาเหตุของโรคความดันโลหิตสูงจึงได้มีการกำหนดให้วันที่ 17 พฤษภาคม ของทุกปีเป็น “วันความดันโลหิตสูงโลก” (World Hypertension day)สำหรับคำขวัญวันรณรงค์ความดันโลหิตสูงของกระทรวงสาธารณสุขและสมาคมความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทยประจำปีพุทธศักราช 2556 นี้ คือ “ความดันโลหิตดี หัวใจเต้นดี"โดยเน้นการป้องโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคหัวใจ โรคไต ที่มีสาเหตุจากโรคความดันโลหิตสูง และเพื่อการส่งข้อมูล การป้องกัน การคัดกรอง และการดูแลรักษาไปสู่สาธารณชน

“ในการรณรงค์วันความดันโลหิตสูงภายใต้คำขวัญที่ว่า “ความดันโลหิตดี หัวใจเต้นดี" กรมควบคุมโรคในฐานะที่ได้รับมอบหมายจาก นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มีการสื่อสารความรู้ถึงประชาชนผ่านช่องทางสื่อต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนตื่นตัวที่จะได้รู้ค่าความดันโลหิตของตนเอง รู้จักจังหวะการเต้นของหัวใจ และรู้จักภาวะหัวใจสั่นพริ้ว พร้อมทั้งได้ให้คำแนะนำแก่ประชาชนรู้จักการปฏิบัติ เพื่อป้องกันโรคความดันโลหิตสูงและการเกิดภาวะหัวใจสั่นพริ้ว ด้วยการใช้ชีวิตกระฉับกระเฉงอย่างสม่ำเสมอ เพิ่มการรับประทานผักและผลไม้ที่มีรสหวานน้อย ลดการรับประทานอาหาร จำพวกอาหารสำเร็จรูป อาหารหมักดอง จำกัดการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการสูดดมควันบุหรี่ ในผู้ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปควรตรวจวัดความดันโลหิตปีละ 1 ครั้งเพื่อลดปัญหาการเจ็บป่วย ตลอดจนให้ทุกจังหวัดจัดกิจกรรมรณรงค์พร้อมกันทั่วประเทศ เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนถึงสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง”

“ หากประชาชนมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคความดันโลหิตสูงสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422 ” ดร.นายแพทย์พรเทพ กล่าวปิดท้าย

ติดต่อ:

สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค โทร. 02-590-3862 /โทรสาร 02-590-3386

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๔ พ.ค. Siriraj Education Expo 2024 ก้าวสู่ยุคใหม่ไปกับศิริราช พร้อมยกระดับทางการแพทย์ให้ดีขึ้น เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยทุกคน
๐๓ พ.ค. ครั้งแรก! งานเทศกาลคอนเทนต์ LGBTQ ฉลองความเท่าเทียมทางเพศ THAILAND INTERNATIONAL LGBTQ FILM TV FESTIVAL 2024 ปักหมุดเตรียมพบกัน กันยายนนี้
๐๓ พ.ค. โน วัน เอลส์ ส่ง 3 เพลงรัก 3 สไตล์! ผ่านมิวสิกซี่รีย์ ที่จะทำให้คุณเข้าใจความรักมากขึ้น
๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง