บอร์ดกระจายเสียง/กสทช. มีมติอนุญาตให้ กองทัพบก บมจ. อสมท. กรมประชาสัมพันธ์ และ องค์การแพร่ภาพและกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เป็นผู้ให้บริการโครงข่ายทีวีดิจิตอล

อังคาร ๑๘ มิถุนายน ๒๐๑๓ ๑๔:๑๖
พันเอก ดร. นที ศุกลรัตน์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) เปิดเผยว่าที่ประชุม กสท. ครั้งที่ ๒๓/๒๕๕๖ วันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๖ ได้พิจารณาเรื่อง ความจำเป็นการใช้คลื่นความถี่และกำหนดระยะเวลาการถือครองคลื่นความถี่ของกิจการโทรทัศน์ และเรื่องผลการวิเคราะห์ความเหมาะสมของการประกอบกิจการโทรทัศน์สำหรับการให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ ประเภทที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ของกองทัพบก บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กรมประชาสัมพันธ์ และองค์การแพร่ภาพและกระจายเสียงแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) และมีมติ ดังนี้

๑. เห็นชอบผลการพิจารณาการตรวจสอบความชอบด้วยสถานะภาพตามกฎหมาย และความจำเป็นในการถือครองคลื่นความถี่ของสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก (ช่อง ๕) กองทัพบก สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ (ช่อง ๙) บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (ช่อง ๑๑) กรมประชาสัมพันธ์ และสถานีโทรทัศน์ทีวีไทย (ไทยพีบีเอส) องค์การแพร่ภาพและกระจายเสียงแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ตามที่คณะอนุกรรมการพิจารณาความจำเป็นในการถือครองคลื่นความถี่เสนอ โดยพิจารณาถึงประโยชน์สาธารณะ ความจำเป็นของการประกอบกิจการ และการใช้คลื่นความถี่ จึงเห็นควรกำหนดระยะเวลาการถือครองคลื่นความถี่ และการคืนคลื่นความถี่ ดังนี้

๑.๑ กรณีสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก (ช่อง ๕) กองทัพบก สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ (ช่อง ๙) บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (ช่อง ๑๑) กรมประชาสัมพันธ์ เห็นควรกำหนดระยะเวลาการถือครองคลื่นความถี่เพื่อใช้ในการประกอบกิจการโทรทัศน์ภายใต้บทเฉพาะกาลแห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ มาตรา ๗๔ โดยกำหนดให้คืนคลื่นความถี่ตามมาตรา ๘๓ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. ๒๕๕๓ ภายใน ๕ ปี นับตั้งแต่วันที่ กสทช. มีมติเห็นชอบการกำหนดระยะการคืนคลื่นความถี่ ตามที่แจ้งความประสงค์ไว้กับคณะกรรมการ

๑.๑.๑ ให้สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก (ช่อง ๕) กองทัพบก นำเสนอแผนการปรับเปลี่ยนรูปแบบการประกอบกิจการโทรทัศน์จากรูปแบบเดิมไปสู่การประกอบกิจการโทรทัศน์ บริการสาธารณะ ประเภทที่สอง ตามมาตรา ๑๐ (๑) (ข) แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ต่อ กสท. เพื่อพิจารณาภายใน ๑ ปีนับตั้งแต่วันที่มีมติ โดยแผนดังกล่าวจะต้องมีรายละเอียดของการดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน ๕ ปีนับตั้งแต่วันที่ได้รับอนุญาต

๑.๑.๒ ให้สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (ช่อง ๑๑) กรมประชาสัมพันธ์ ตามข้อ ๑.๑ (๒) นำเสนอแผนการปรับเปลี่ยนรูปแบบการประกอบกิจการโทรทัศน์จากรูปแบบเดิมไปสู่การประกอบกิจการโทรทัศน์ บริการสาธารณะ ประเภทที่สาม ตามมาตรา ๑๐ (๓) แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ต่อ กสท. เพื่อพิจารณาภายใน ๑ ปีนับตั้งแต่วันที่มีมติ โดยแผนดังกล่าวจะต้องมีรายละเอียดของการดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน ๕ ปีนับตั้งแต่วันที่ได้รับอนุญาต

๑.๒ กรณีสถานีโทรทัศน์ทีวีไทย (ไทยพีบีเอส) องค์การแพร่ภาพและกระจายเสียงแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) เห็นควรกำหนดระยะเวลาการถือครองคลื่นความถี่เพื่อใช้ในการประกอบกิจการโทรทัศน์ตามมาตรา ๘๘ และกำหนดให้คืนคลื่นความถี่ตามมาตรา ๘๓ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. ๒๕๕๓ ภายในระยะเวลาการอนุญาตให้ประกอบกิจการและใช้คลื่นความถี่ที่เหลืออยู่

๒. เห็นชอบผลการวิเคราะห์ความเหมาะสมของการประกอบกิจการโทรทัศน์สำหรับการให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ ประเภทที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลของกองทัพบก บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กรมประชาสัมพันธ์ และองค์การแพร่ภาพและกระจายเสียงแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) และเพื่อประโยชน์ในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลของประเทศไทย และประโยชน์สาธารณะอื่นที่เกี่ยวข้อง จึงเห็นควร

๒.๑ อนุญาตให้กองทัพบก บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กรมประชาสัมพันธ์ และองค์การแพร่ภาพและกระจายเสียงแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ได้รับใบอนุญาตให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ ประเภทที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล เป็นระยะเวลา ๑๕ ปี นับตั้งแต่วันที่ กสท. มีมติ

๒.๒ เห็นสมควรกำหนดรายละเอียดและเงื่อนไขในการอนุญาตเพิ่มเติมเฉพาะรายของผู้ได้รับอนุญาตตามข้อ ๒.๑ ดังนี้

๒.๒.๑ ปฏิบัติตามเงื่อนไขใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ สำหรับการให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ ภาคผนวก ก และตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตเพิ่มเติมในส่วนการให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ประเภทที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล พ.ศ. ๒๕๕๖ รวมถึงประกาศ กสทช. อื่นที่เกี่ยวข้อง

๒.๒.๒ ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ ประเภทที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลเป็นไปตามหมายเลขช่องความถี่วิทยุสำหรับมัลติเพล็กซ์ และเงื่อนไขที่ กสท. กำหนด

๒.๒.๓ เสนอแผนการยุติการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ในระบบ แอนะล็อกโดยละเอียดต่อ กสท. เพื่อให้ความเห็นชอบภายใน ๑ ปี นับตั้งแต่ได้รับใบอนุญาตให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ ประเภทที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล

๒.๒.๔ การขยายโครงข่ายโทรทัศน์ ประเภทที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล และการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน ให้ปฎิบัติตามที่ กสท. กำหนด

๒.๒.๕ เพื่อให้ประชาชนที่เปลี่ยนมารับบริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลสามารถรับชมช่องรายการโทรทัศน์ในระบบแอนะล็อกที่เคยชมอยู่เดิมได้อย่างต่อเนื่อง ให้ผู้รับใบอนุญาตข้อ ๒.๑ มีหน้าที่ออกอากาศบริการโทรทัศน์ที่ได้รับอนุญาตตามมาตรา ๘๓ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ในระบบแอนะล็อก คู่ขนาน (Simulcast) ตามมติ กสท. ครั้งที่ ๖/๒๕๕๖ วาระที่ ๔.๙ เรื่อง แนวทางการออกอากาศช่องรายการโทรทัศน์ระบบแอนะล็อกบนโครงข่ายระบบดิจิตอล โดยให้ออกอากาศบริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลแบบรายละเอียดคมชัดสูง (HD) จนกว่าจะยุติการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ในระบบแอนะล็อก ทั้งนี้ไม่เกินระยะเวลาที่ กสทช. ได้พิจารณากำหนดเวลาคืนคลื่นไว้ตามข้อ ๑

๒.๓ กรณีที่ กสทช.ปรับปรุงหรือปรับเปลี่ยนแผนความถี่วิทยุสำหรับกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล เพื่อให้มีการใช้งานความถี่อย่างมีประสิทธิภาพหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ผู้ได้รับใบอนุญาตให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ประเภทที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลตาม ๒.๑ จะต้องดำเนินการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์โครงข่ายเพื่อให้บริการให้สามารถใช้งานกับคลื่นความถี่ที่กำหนดในแผนความถี่ใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่มีสิทธิเรียกร้องความเสียหายใด ๆ จาก กสทช. หรือสำนักงาน กสทช.

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๔:๔๒ เฮลท์สเคป (Healthscape)' นำร่องส่ง 'MADE BY SILVER' ชวนสัมผัสผลิตภัณฑ์เพื่อไลฟ์สไตล์สำหรับกลุ่มซิลเวอร์เจน 20 พ.ค. - 2 มิ.ย. 67 ณ ศูนย์การค้า ดิ เอ็ม
๑๔:๐๗ HENG เสนอขายหุ้นกู้ครั้งที่ 1/2567 จำนวน 2 ชุด อัตราดอกเบี้ยคงที่ 5.25% และ 5.50% เปิดจองซื้อ 23-24 และ 27 พ.ค. 67 เดินหน้าเสริมแกร่งธุรกิจ
๑๓:๑๕ กลุ่มบริษัทศรีตรัง ลุยติดตั้ง EV Charger ในโรงงานทั่วประเทศ สนับสนุนพนักงานใช้พลังงานสะอาด ร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตอกย้ำจุดยืน Green Rubber
๑๓:๒๔ Bitkub Chain และ The Sandbox ร่วมยกระดับวงการ Metaverse ในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
๑๓:๔๗ AJA โชว์แกร่ง!! งบโค้งแรกพลิกมีกำไรพุ่งเกือบ 452% ชูกลยุทธ์ปี 67 กระจายลงทุนในธุรกิจหลากหลาย-สร้างฐานการเติบโตยั่งยืน
๑๓:๕๙ KJL โชว์นวัตกรรมในงาน SUBCON Thailand 2024 เพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้า
๑๓:๐๑ ITEL อวดกำไร Q1/67 โต 113% กำไรสุทธิ 123 ล้านบาท ล่าสุด ก.ล.ต. ไฟเขียวนับหนึ่งไฟลิ่ง บ.ย่อย BLUE เรียบร้อยแล้ว
๑๓:๒๓ โอยิกะ ผู้นำด้านโซลูชั่นเทคโนโลยีแบตเตอรี่จากสิงคโปร์ ชูนวัตกรรมพลังงานสะอาด มุ่งขยายธุรกิจตู้สลับแบตเตอรี่สำหรับตลาดรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย
๑๓:๔๗ ดื่มด่ำกับรสชาติของเนื้อโกเบจากโอซาก้า ที่ห้องอาหารฮากิ เซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว
๑๓:๕๒ W9 เผยไทยเผชิญฝุ่นพิษล้อมเมืองติดอันดับโลก เปิด 5 กลุ่มเสี่ยงรับฝุ่นพิษ ภัยเงียบสะสม แนะวิธีรับมือเชิงเวลเนส