องค์กรพัฒนาเอกชนกระตุ้นเกษตรกรภาคเหนือเตรียมรับมือโลกร้อน หวั่นผลเสียต่อพืชเมืองหนาวมากกว่าผลดี

พุธ ๑๙ มิถุนายน ๒๐๑๓ ๑๗:๐๒
องค์การพัฒนาเอกชนและหน่วยงานเกษตรอินทรีย์แสดงความเป็นห่วงถึงผลกระทบโลกร้อนที่มีต่อผลผลิตพืชเมืองหนาวในภาคเหนือโดยเฉพาะกาแฟและลำไยซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลัก เตือนเกษตรกรยังมีความเข้าใจและตื่นตัวในเรื่องนี้ต่ำ ซึ่งอาจทำให้การปรับตัวช้าเกินแก้

สืบเนื่องมาจากสภาพอากาศที่แปรปรวนในช่วง 3 - 4 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้คุณภาพและผลผลิตของพืชเศรษฐกิจหลักๆ ของภาคเหนือ อาทิเช่น ลำไย ลิ้นจี่ กาแฟ รวมถึงข้าวซึ่งเกษตรกรปลูกไว้บริโภคเองลดลง องค์การอ็อกแฟม (Oxfam) มูลนิธิสายใยแผ่นดิน (Earth Net Foundation — ENF) มูลนิธินโยบายสุขภาวะ และศูนย์จัดการความรู้ด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (CCKM) คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป จึงได้จัดงาน “ร้อน ลม ฝน — การปรับตัวของเกษตรกรภาคเหนือกับภาวะโลกร้อน” เพื่อสร้างความตระหนักรู้ของเกษตรกรและหน่วยงานต่างๆ ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคต เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2556

โดยงานนี้มีผู้เข้าร่วมเกือบ 100 คนจากเกษตรกรผู้ปลูกไม้ผล หน่วยงานราชการและองค์กรพัฒนาเอกชนทั้งในจังหวัดและต่างประเทศที่เกี่ยวข้อง อาทิ เช่น สำนักงานเกษตรจังหวัด สถานีอุตุนิยมวิทยาเชียงใหม่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ หน่วยงานวิชาการและมหาวิทยาลัยต่างๆ

นางสาวสุนทรี แรงกุศล ผู้อำนวยการอ็อกแฟมประเทศไทยกล่าวว่า การปรับตัวต่อโลกร้อนเป็นเรื่องสำคัญและเร่งด่วนมาก ซึ่งจากประสบการณ์การทำงานกับชาวนาในภาคอีสาน พบว่าการปรับตัวที่ถูกต้องช่วยลดผลกระทบโลกร้อนได้ “เราพบว่าเกษตรกรทุกครัวเรือนที่เข้าโครงการมีผลผลิตที่เสียหายน้อยกว่าเกษตรกรทั่วไป แม้แต่ในปีที่ภัยพิบัติหนักที่สุดไม่ว่าจะภัยแล้งหรือน้ำท่วม ครอบครัวที่ทำการปรับตัวก็ยังมีผลผลิตที่เพียงพอต่อการบริโภคในครัวเรือนแม้ไม่มีเหลือขายเหมือนปีปกติ”

ผลการศีกษาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถิติจากกรมอุตุนิยมวิทยาพบว่าภาคเหนือมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุดและต่ำสุดเพิ่มขึ้น เช่น อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยในช่วงเดือนเมษายนปี ค.ศ. 1970 — 2000 ของจังหวัดชียงใหม่คือ 37 องศาเซลเซียส แต่ในช่วง10 ปีที่ผ่านมาเพิ่มเป็น 39.5 องศาเซลเซียส และแม้ปริมาณฝนเฉลี่ยรายปีจะไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก การกระจายตัวของฝนกลับลดลงอย่างมาก โดยเห็นได้จากที่ฝนจะตกหนักและแรงบางจุดช่วงสั้นๆ แล้วขาดช่วงไปนานกว่าจะกลับมาอีกในลักษณะเดิม

นางสาววราทิพย์ วีรกิจ เจ้าหน้าที่ประสานงานภาคสนามของมูลนิธิสายใยแผ่นดิน ยกตัวอย่างผลสรุปล่าสุดของคณะทำงานประมาณการผลผลิตผลไม้เศรษฐกิจภาคเหนือว่าปริมาณผลผลิตลิ้นจี่และลำไยในปี 2556 จะลดลงเนื่องจากสภาพอากาศที่ไม่แน่นอนและไม่เอื้อต่อการติดดอก และเกิดผลที่ได้คุณภาพนั้น เป็นเรื่องที่ไม่น่าประหลาดใจเลยเพราะพืชในภาคเหนือเป็นพืชเมืองหนาว แต่ไม่เหมือนประเทศแถบยุโรปหรืออเมริกาซึ่งอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นทำให้อากาศอบอุ่นกระตุ้นการเติบโตของพืช แต่ที่นี่จะกลายเป็นร้อนมากขึ้นแทนหรือไม่ก็น้ำฝนมากเกินไป ส่งผลเสียมากกว่าผลดีทั้งต่อพืช คน และสัตว์

“พืขเศรษฐกิจเมืองเหนือนั้น โดยธรรมชาติต้องการอุณหภูมิต่ำเพื่อการออกดอก เกษตรกรต้องตื่นตัวมากกว่านี้ เพราะสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงจะทำให้เราต้องมีการวางแผนการปลูกที่รัดกุมมากขึ้น การเรียนรู้สภาพอากาศต้องลึกขึ้น การตรวจสอบต้องบ่อยขึ้นและมีการวิเคราะห์เปรียบเทียบมากขึ้น” นางสาววราทิพย์กล่าว

โดยในงานนี้ องค์การอ็อกแฟม มูลนิธิสายใยแผ่นดิน มูลนิธินโยบายสุขภาวะ และ CCKM ได้เปิดตัวศูนย์พยากรณ์อากาศชุมชนที่ ต. แม่ทา จ. เชียงใหม่ด้วย ซึ่งเป็นหนึ่งใน 2 ศูนย์ที่ก่อตั้งขึ้นภายใต้โครงการนำร่องเพื่อพัฒนาต้นแบบการปรับตัวชุมชนต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก โดยจังหวัดยโสธรเป็นพื้นที่แรกที่มีการเปิดศูนย์พยากรณ์แล้วเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

“นอกจากการจัดการน้ำในแต่ละพื้นที่ เช่น ชลประทานขนาดเล็ก เพราะพื้นที่เพาะปลูกส่วนใหญ่ยังอาศัยน้ำฝนอย่างเดียว การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยด้านการพยากรณ์อากาศเป็นสิ่งจำเป็นมากเพราะสถานการณ์โลกร้อนรุนแรงขึ้นทุกปี ส่งผลให้ปัญหาการจัดการน้ำและวิกฤติน้ำรุนแรงตามไปด้วย เราจะมีน้ำไม่พอต่อการปลูกพืชเหล่านี้อย่างแน่นอน สภาวะโลกร้อนยังทำให้มีความเสี่ยงที่โรคและแมลงศัตรูพืชจะกลับมาหรือระบาดหนักกว่าเดิมด้วย“ นางสาวสุนทรีกล่าว

ความแตกต่างระหว่างศูนย์พยากรณ์อากาศชุมชนแห่งนี้กับสถานีพยากรณ์อากาศทั่วไปคือ ความละเอียดและขอบเขตการพยากรณ์ เนื่องจากเป็นศูนย์พยากรณ์อากาศที่เน้นการวิเคราะห์ข้อมูลในตำบลเฉพาะเจาะจง จึงมีความแม่นยำสูงกว่า ภาษาที่ใช้จะเป็นภาษาที่ง่ายต่อการเข้าใจ เกษตรกรสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง โดยข้อมูลพยากรณ์จะครอบคลุมระยะเวลา 1 เดือน และ 1 สัปดาห์ล่วงหน้าเพื่อให้เกษตรกรสามารถวางแผนระยะสั้น และระยะกลาง ได้

“หลังจากทำการทดลองอยู่ถึงเกือบสองปีที่ยโสธร อัตราความแม่นยำของข้อมูลพยากรณ์ตอนนี้มีมากถึงร้อยละ 90 ในเชียงใหม่ขบวนการพัฒนาการพยากรณ์เพิ่งจะเริ่มต้นและยังต้องมีการปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เพื่อให้ตรงกับความต้องการและสถานการณ์ของเกษตรกรในเชียงใหม่ เบื้องต้นเราคาดการณ์ว่าจะมีเกษตรกรประมาณ 110,000 คนที่ได้รับประโยชน์จากศูนย์นี้ เราหวังว่าสิ่งนี้จะเป็นก้าวแรกของการนำเอาข้อมูลพยากรณ์มาใช้ประโยชน์ในเทางเกษตรในเชิงลึกมากขึ้น” นางสาววราทิพย์กล่าว

ข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ

เอื้อมดาว น้อยกร ผู้ประสานสื่อ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออก โทร: 02-632 0033

จารุรินทร์ พลหินกอง เจ้าหน้าที่โครงการ โทร: 02-632-0033 ต่อ 106

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗:๓๕ SVT ออกบูธ งาน Franchise SME Expo 2024 ชูศักยภาพ 1 ในผู้นำธุรกิจ เครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ
๑๗:๕๓ PLANET จับมือ Skydio โชว์ โดรนอัจฉริยะทางการทหาร
๑๗:๒๓ ลาซาด้า เปิด 'คัมภีร์ 4 คุ้ม' เอาใจนักช้อป ชี้เป้าที่สุดแห่งความคุ้มค่าใน '12.12' เซลใหญ่ ส่งท้ายปี'
๑๗:๐๙ เปรียบเทียบฟอกสีฟัน Zoom VS ฟอกสีฟัน Cool Light ต่างกันอย่างไร
๑๗:๓๐ เปิดเคล็ดลับการเช็กเบี้ยประกันรถยนต์ออนไลน์
๑๗:๓๒ กทม. แนะวิธีใช้น้ำประปาช่วงน้ำทะเลหนุนสูง - น้ำเค็มรุกล้ำ ป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ
๑๗:๒๐ กทม. เพิ่มมาตรการความปลอดภัยโครงการก่อสร้างทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง
๑๗:๓๑ เจมีไนน์ นรวิชญ์ ชวนแฟน ๆ ร่วมน็อคเอาท์คราบหนัก ในงาน บรีส ศึกสู้คราบหนัก Breeze Stains Fight x Gemini
๑๗:๓๕ การใช้บริการผู้เชี่ยวชาญด้าน AI ยกระดับองค์กรได้อย่างไร ?
๑๗:๐๐ 6 เรื่องน่ารู้เพื่อการใช้นาฬิกาวิ่งอย่างคุ้มค่า อ่านเลย !