คลอเลสเตอรอล ภัยเงียบแฝงตัวในหลอดเลือด

จันทร์ ๒๙ กรกฎาคม ๒๐๑๓ ๑๑:๕๖
“คลอเลสเตอรอล” มีหน้าที่ที่จำเป็นหลายอย่างยิ่งในร่างกาย โดยจะถูกนำมาใช้สร้างฮอร์โมน และเป็นส่วนประกอบของเยื่อหุ้มเซลล์ ในภาวะที่ร่างกายขาดคลอเลสเตอรอลจะทำให้ผนังเซลล์อ่อนแอลง ไม่สามารถป้องกันเชื้อโรคได้ตามปกติ และอาจมีผลทำให้ผนังหลอดเลือดบาง การสร้างฮอร์โมนเพศชายหรือหญิงรวมถึงอดรีนอลฮอร์โมนอาจมีการผิดปกติไปด้วย และที่สำคัญ คือ คลอเลสเตอรอลจะถูกนำไปสร้างกรดน้ำดีโดยตับ เพื่อใช้ย่อยไขมัน ถ้าขาดคลอเลสเตอรอล กลไกนี้ก็จะผิดปกติไปด้วย

คลอเลสเตอรอล เป็นสารที่เรียกว่า “ไลโปโปรตีน” จะถูกสร้างขึ้นที่ตับร้อยละ 60 — 70 ที่เหลือจะได้รับจากอาหารที่มีไขมันคลอเลสเตอรอลสูง ได้แก่ อาหารมันต่างๆ โดยเฉพาะที่ได้จากไขมันสัตว์ เช่น เนื้อติดมัน หมูติดมัน หมูสามชั้น ข่าวมันไก่ ขาหมู เครื่องใน หนังเป็ด หนังไก่ ไข่แดง ไข่ปลา กุ้ง ปลาหมึก หอยนางรม เป็นต้น ถ้ามีมากเกินไปคลอเลสเตอรอล จะไปเกาะตามผนังหลอดเลือด ทำให้เกิดอาการหลอดเลือดแข็งตัว อันเป็นสาเหตุของกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หลอดเลือดหัวใจตีบ

ซึ่งโดยปกติเราจะไม่มีทางรู้เลยว่าเรามีไขมันในเลือดสูง เพราะคลอเลสเตอรอลจะสะสมอยู่ตามผนังหลอดเลือดแดงเงียบๆ และไม่มีอาการเจ็บปวดใดๆ ทางเดียวที่เราจะรู้ได้ ก็คือ การตรวจด้วยเครื่องมือสมัยใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่อาจจะตรวจคลอเลสเตอรอลรวม (Total Cholesterol) ซึ่งความจริงแล้วคลอเลสเตอรอลในร่างกายเรานั้น มีทั้งตัวที่ให้คุณและให้โทษ อาทิ

แอล-ดี-แอล-ซี (LDL-C) ไขมันตัวร้าย ให้โทษ ซึ่งถ้าเรามี LDL-C ไม่เพียงพอ ผนังหลอดเลือดจะบางลง การผลิตฮอร์โมนต่างๆ ก็จะลดลง แต่ถ้ามีมากเกินไปก็จะไปเกาะตามผนังหลอดเลือดแดงจนหลอดเลือดแดงแข็งตัวมากขึ้นเรื่อยๆ เกิดพยาธิสภาพตามอวัยวะต่างๆ เช่น สมอง (อัมพาต), หัวใจ (โรคหัวใจขาดเลือด), ไต (ไตวาย), อวัยวะเพศ (หย่อนสมรรถภาพทางเพศ) เป็นต้น

เอช-ดี-แอล-ซี (HDL-C) ไขมันดี ทำหน้าที่นำคลอเลสเตอรอลที่เหลือใช้กลับไปยังตับ หรือนำไขมันที่สะสมอยู่ตามผนังหลอดเลือดออกมานั่นเอง ผู้ที่มี HDL-C ต่ำจะเสียงต่อโรคหัวใจขาดเลือด แต่หากยิ่งมี HDL-C สูงก็ยิ่งดีต่อสุขภาพ ซึ่งเราสามารถเพิ่ม HDL-C ให้สูงได้ด้วยการหยุดบุหรี่และแอลกอฮอล์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และการลดน้ำหนัก

ส่วนอีกตัวหนึ่งก็คือ ไตรกลีเซอร์ไรด์ (Triglycerides) ซึ่งมีความร้ายกาจพอสมควร ไตรกลีเซอร์ไรด์ เป็นไขมันอีกชนิดหนึ่งที่ไม่ใช่คลอเลสเตอรอล แต่ก็มีความสำคัญเช่นกัน ซึ่งพบว่าไตรกลีเซอร์ไรด์ มีความสัมพันธ์กับโรคหัวใจขาดเลือด แต่ไม่อาจไม่ชัดเจนเหมือนคลอเลสเตอรอล ภาวะไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือดสูงพบได้บ่อยในผู้ที่อ้วน ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ที่ดื่มสุราเป็นประจำ แต่ปัจจุบันยังไม่มีการศึกษายืนยันว่าการลดไตรกลีเซอร์ไรด์ จะลดโอกาสเกิดโรคหัวใจขาดเลือดได้

นอกจากนี้ยังมี ไลโปโปรตีน เอ (Lipoprotien a) หรือ Lp(a) ซึ่งเป็นไขมันที่เกาะรวมอยู่กับโปรตีน และพบว่าถ้ามีระดับ Lp(a) สูง จะมีความสัมพันธ์กับโรคหัวใจขาดเลือดเช่นเดียวกับ LDL-C แต่โดยทั่วไปแล้วจะไม่นิยมส่งตรวจ เนื่องจากมีราคาแพงและไม่สามารถทำได้อย่างแพร่หลาย

ค่าปกติของคลอเลสเตอรอลรวม ต้องน้อยกว่า 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร และถ้ามากว่า 240มิลลิกรัม ต่อ เดซิลิตร ถือว่าผิดปกติ สำหรับ LDL-C ต้องน้อยว่า 130 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร และสำหรับผู้ที่เป็นโรคหัวใจแล้ว ควรรักษาระดับ LDL-C ให้น้อยกว่า 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ส่วนไตรกลีเซอร์ไรด์แนะนำให้ต่ำกว่า 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

การรับประทานอาหารที่มีเส้นใยละลายน้ำ เช่น พวกเพคติน ซึ่งจะมีมากใน ฝรั่ง แอปเปิล ถั่วฝัก ฟักทอง ผิวสีขาวด้านในของส้ม พลับ และแครอท จะช่วยดูดซึมคลอเลสเตอรอลและกรดน้ำดีไว้ และขับถ่ายออกมากับอุจจาระ เมื่อกรดน้ำดีถูกขับออกมาจากร่างกาย ตับก็จะสร้างกรดน้ำดีขึ้นมาใหม่โดยใช้คลอเลสเตอรอลในเลือด จึงทำให้ปริมาณคลอเลสเตอรอลในเลือดลดลง นอกจากนี้ เพคตินยังไปขัดขวางการดูดซึมน้ำตาล ทำให้เกิดไตรกลีเซอร์ไรด์ยากขึ้น

โดยทั่วไปแล้วคนเราต้องการเพคติน 20 กรัมต่อวัน และควรรับประทานผักเป็น 2 เท่าของเนื้อ หรือ 300 กรัมต่อวัน หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง คลอเลสเตอรอลสูง เช่น ไขมันจากสัตว์ ไข่แดง ไข่นกกระทา เครื่องในสัตว์ เนื้อสัตว์ส่วนที่ติดมันทุกชนิด สมองสัตว์ อาหารทะเล เช่น หอยนางรม ปลาหมึก ฯลฯ และคุมปริมาณแคลลอรี่อย่าให้มากเกินกว่าที่ร่างกายต้องการ

ส่วนการออกกำลังกายและควบคุมน้ำหนักเพื่อให้เกิดการเผาพลาญพลังงาน และลดปริมาณไขมันในเลือดนั้น ต้องเป็นการออกกำลังกายที่สม่ำเสมอและต่อเนื่อง ครั้งละ 20 — 30 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 - 4 ครั้ง เพื่อเพิ่มสมรรถภาพของปอด และหัวใจ โดยการเดินเร็ว จ๊อกกิ้ง เต้นรำ ขี่จักรยาน สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจและผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี แนะนำปรึกษาแพทย์ว่าควรออกกำลังกายชนิดใด

หากการควบคุมน้ำหนัก การออกกำลังกาย และการควบคุมอาหารไม่ได้ผล แพทย์จะแนะนำให้รับประทานยารักษาไขมันในเลือด ซึ่งเป็นการรักษาเพื่อหวังผลในระยะยาว คือ ต้องควบคุมให้ไขมันในเลือกอยู่ในเกณฑ์ปกติเป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปีขึ้นไป จึงจะได้ประโยชน์จากยา ดังนั้น การรับประทานยาไม่สม่ำเสมอจะทำให้ไม่ได้ประโยชน์จากยา และเสียค่าใช้จ่ายโดยเปล่าประโยชน์

ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า “สำหรับการใช้สมุนไพร มีสมุนไพรหลายชนิดที่มีคุณสมบัติในการลดไขมันในเลือด แต่การวิจัยส่วนใหญ่ยังไม่มีการทดลองใช้ในคนมากนัก จึงไม่สามารถบอกได้ว่าผู้ป่วยที่มีระดับคลอเลสเตอรอลสูงจะสามารถใช้สมุนไพรทดแทนได้ แต่การควบคุมระดับคลอเลสเตอรอลนั้นต้องอาศัยปัจจัยหลายด้านตามที่กล่าวมาข้างต้น ดังนั้น จึงเป็นการดีต่อผู้ป่วยถ้าสามารถรับประทานอาหารที่มีคุณสมบัติลดคลอเลสเตอรอลได้

ผู้ที่มีระดับคลอเลสเตอรอลสูงทั้งในระดับที่ต้องใช้ยาหรือไม่ต้องใช้ยา ควรมีความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรที่มีคุณสมบัติในการลดคลอเลสเตอรอล เพื่อให้สามารถใช้ให้เกิดประโยชน์ในการดูแลสุขภาพของตัวเอง ซึ่งสมุนไพรที่จะแนะนำเป็นสมุนไพรที่มีข้อมูลการศึกษาวิจัยในสัตว์ทดลอง และมีการใช้เป็นพืชผักในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว อาทิ กระเทียม ขิง พริก และหอมใหญ่

“กระเทียม” มีสารที่มีกลิ่นฉุน ซึ่งส่วนประกอบของกำมะถัน เช่น อัลลิอิน อัลลิซิน ไดอัลลิลไดซัลไฟด์ และสารอินทรีย์ กำมะถันที่ละลายน้ำได้ อาทิ เอสอัลลิลซีสทีอิน และเอสอัลลิลเมอร์ คาโตซิสทีอีน เป็นต้น เมื่อเทียบกับพืชผักที่มีกลิ่นฉุน กระเทียมจัดได้ว่ามีสารประกอบกำมะถันมากกว่าผักชนิดอื่นๆ ถึง 4 เท่า สารกลิ่นฉุนของกระเทียมจะช่วยรักษาสมดุลของระดับคลอเลสเตอรอล โดยเพิ่มปริมาณไขมันดี คือ HDL-C และลดไขมันร้าย คือ LDH-C ช่วยต้านปฏิกิริยาออกซิเดชั่นของไขมันร้าย ต้านการจับตัวกันของเกร็ดเลือด ซึ่งจะลดการจับเป็นคราบของไขมันที่ผนังหลอดเลือดแดง อันเป็นสาเหตุของโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) กระเทียมจึงจัดเป็นพนักงานทำความสะอาดเส้นเลือด มีประโยชน์ต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดอย่างยิ่ง นอกจากนี้แล้ว กระเทียมยังช่วยลดความดันโลหิตและลดระดับน้ำตาลในเลือดด้วย

ขนาดรับประทานพื่อการรักษา แนะนำให้รับประทานกระเทียมสดครั้งละ 5 กรัม (1 ช้อนชาพูน) วันละ 3 เวลา หลังอาหาร และสำหรับขนาดรับประทานพื่อการป้องกัน แนะนำให้รับประทานกระเทียมสดครั้งละ 5 กรัม (1 ช้อนชาพูน) วันละครั้ง

ข้อควรระวัง กระเทียมจะตกตะกอนโปรตีน ทำให้มีฤทธิ์ระคายเคื่องต่อระบบทางเดินอาหาร ดังนั้น จึงควรรับประทานพร้อมโปรตีน และไม่ควรรับประทานตอนท้องว่าง บางท่านอาจแพ้กระเทียมได้ มีทั้งอาการแพ้ทางผิวหนัง หอบหืด ผู้ที่แพ้ละอองเกสรดอกไม้มีโอกาสแพ้กระเทียมมากกว่าคนปกติ การรับปรทานกระเทียมมากเกินไปติดต่อกันเป็นเวลานานๆ ก็อาจเป็นพิษได้เช่นกัน และต้องระวังการรับประทานร่วมกับยาป้องกันการแข็งตัวของหลอดเลือดเพราะจะเสริมฤทธิ์ของยาดังกล่าว สำหรับผู้ที่รับประทานกระเทียมในปริมาณมากเป็นประจำ หากต้องทำการผ่าตัดควรแจ้งให้แพทย์ทราบ เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะเลือดไม่แข็งตัวหลังการผ่าตัด

“ขิง” มีสรรพคุณช่วยขับลม ช่วยย่อยอาหาร ช่วยขับเหงื่อ ขับน้ำนม มีการศึกษาพบว่า ขิงมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของโลหิต ลดคลอเลสเตอรอล ลดการอักเสบ เพิ่มภูมิคุ้มกัน แก้ปวด แก้คลื่นไส้อาเจียน เป็นต้น

มีรายงานการศึกษาในหนูยืนยันว่า ขิงมีประโยชน์ต่อผู้ที่มีคอเลสเตอรอลสูง โดยพบว่าการผสมขิงสดลงในอาหารที่มีคลอเลสเตอรอลผสมอยู่ จะช่วยลดการเพิ่มขึ้นของคลอเลสเตอรอลในเลือดได้ และยังพบว่าขิงยังช่วยลดการสร้างคลอเลสเตอรอลของตับได้อีกด้วย นอกจากนี้ ขิงยังมีประโยชน์ต่อผู้ที่มีความดันโลหิตสูง และผู้ที่มีปัญหาของโรคหัวใจและหลอดเลือดได้อีกด้วย เนื่องจากขิงมีฤทธิ์ขยายหลอดเลือดและขับปัสสาวะ จึงช่วยลดความดันโลหิตและยังมีฤทธิ์ป้องกันการจับตัวของเกล็ดเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น

สำหรับวิธีรับประทานนั้นยังไม่มีขนาดที่แน่นอน แต่แนะนำให้รับประทานสดพร้อมอาหารวันละ 3 เวลา หรือใช้ขิงสดฝานแล้วต้มน้ำ ทำเป็นน้ำขิงรับประทานเป็นประจำ

“พริก” ตามหลักของแพทย์ตะวันออกนั้น เป็นยาร้อน จึงช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด และมีรายงานว่าพริกช่วยลดความดันโลหิตและคลอเลสเตอรอลได้ จากการศึกษาในหนูตัวผู้พบว่าเมื่อได้รับอาหารที่มีคลอเลสเตอรอลสูงพร้อมกับพริก พบว่า พริกทำให้ระดับไตรกรีเซอไรด์ในเลือดลดลง แต่ไม่มีผลต่อระดับคลอเลสเตอรอล กลไกการออกฤทธิ์ของพริก คือ พริกไปกระตุ้นการหลั่งของฮอร์โมนที่ชื่อว่า แคททีโคลามีน (Catecholamine) ทำให้การเผาผลาญคาร์โบไฮเดรตดีขึ้น นอกจากนี้ พริกยังทำให้หลอดเลือดขยายตัว ซึ่งสามารถลดความดันโลหิตได้อีกด้วย

พริกไม่ได้ทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหารอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่ผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหารไม่ควรรับประทาน เพราะพริกจะกระตุ้นให้เลือดไหลเวียนมาที่กระเพาะอาหารมากขึ้น และอาจทำให้เลือดออกมากขึ้นได้

สำหรับวิธีรับประทานนั้น ยังไม่มีขนาดที่แน่นอนในการใช้เพื่อการรักษา แต่แนะนำให้รับประทานพริกพร้อมอาหารให้มากขึ้น สำหรับท่านที่ไม่สามารถทานเผ็ดได้ ให้เริ่มรับประทานพริกหยวกที่มีรสเผ็ดน้อยก่อนแล้วค่อยเพิ่มขนาด

“หอมใหญ่” มีสรรพคุณเช่นเดียวกับกระเทียม คือ แก้หวัด แก้ไอ แก้หอบหืด ต้านมะเร็ง บำรุงระบบย่อยอาหาร บำรุงกำลัง บำรุงกำหนัด ขับปัสสาวะ ลดความดันโลหิตสูง ลดคลอเลสเตอรอล ลดน้ำตาลในเลือด ทั้งยังมีสารยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคอีกมากมาย

สารสำคัญในหอมใหญ่มี 2 พวก คือ สารที่มีกำมะถันเป็นองค์ประกอบ เช่น อัลลิล โพรพิล ไดซัลไฟด์ (Allyl Propyl disulphide-APDS) และสารพวกฟราโวนอยด์ (Flavonoids) เช่น เคอร์ซิทิน (Quercitin) ซึ่งสารเหล่านี้ทำให้หอมใหญ่มีสรรพคุณทางยามากมาย เช่น ลดน้ำตาลในเลือดโดยการยับยั้งการสลายตัวของอินซูลิน กระตุ้นการสร้างอินซูลินจากตับอ่อน นอกจากนี้ สารประกอบกำมะถันยังมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ซึ่งช่วยลดความข้นของเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น ป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด และมีรายงานการศึกษาว่าสามารถใช้ลดระดับไขมันในเลือดได้

สำหรับวิธีรับประทาน แนะนำให้รับประทานเป็นประจำวันละ 50 กรัม (ครึ่งขีดหรือประมาณ ? หัว) โดยแบ่งรับประทาน ประมาณ ? หัว วันละ 3 เวลา

ส่วนหอมเล็กก็น่าจะช่วยลดไขมันในเส้นเลือดได้เช่นกัน วิธีรับประทานก็ใช้วิธีเดียวกับหอมใหญ่ ถ้าจะคุมไม่ให้ไขมันเพิ่มขึ้น ให้รับประทาน 1 หัว วันละ 1 ครั้ง หรือรับประทานต้นหอม 2-3 ต้นเป็นประจำทุกวัน แต่ถ้ารับประทานเพื่อลดไขมัน ให้รับประทานครั้งละ 1-2 หัว วันละ 3 ครั้ง หรือต้นหอม 3-5 ต้น ติดต่อกันทุกวันจนครบ 1 เดือน พอครบเดือนให้เปลี่ยนมารับประทานวันละครั้งแทน หรืออาจรับประทานอาหารที่มีหัวหอมเล็กสดหรือต้นหอมสดผสมให้มากหน่อยก็ได้เช่นกัน

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

โทร 037-211-289

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๔ พ.ค. Siriraj Education Expo 2024 ก้าวสู่ยุคใหม่ไปกับศิริราช พร้อมยกระดับทางการแพทย์ให้ดีขึ้น เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยทุกคน
๐๓ พ.ค. ครั้งแรก! งานเทศกาลคอนเทนต์ LGBTQ ฉลองความเท่าเทียมทางเพศ THAILAND INTERNATIONAL LGBTQ FILM TV FESTIVAL 2024 ปักหมุดเตรียมพบกัน กันยายนนี้
๐๓ พ.ค. โน วัน เอลส์ ส่ง 3 เพลงรัก 3 สไตล์! ผ่านมิวสิกซี่รีย์ ที่จะทำให้คุณเข้าใจความรักมากขึ้น
๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง