ผลการประชุมคณะกรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)

ศุกร์ ๑๖ สิงหาคม ๒๐๑๓ ๑๒:๐๕
บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้มีการประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ โดยมีนายอำพน กิตติอำพน ประธานกรรมการบริษัทฯ เป็นประธานการประชุม มีวาระสำคัญ สรุปได้ดังนี้

1. เรื่อง ผลประกอบการของบริษัทฯ ไตรมาสที่ 2 ประจำปี 2556

คณะกรรมการบริษัทฯ รับทราบผลประกอบการของบริษัทฯ ไตรมาสที่ 2 ประจำปี 2556 การเติบโตของเศรษฐกิจโลกโดยรวมยังชะลอตัวลง และส่งผลกระทบเป็นปัจจัยลบต่อการขนส่งสินค้าทางอากาศ และจากการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ประกอบกับเป็นช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว (Low Season) ของบริษัทฯ และการแข็งค่าของเงินบาท ได้ส่งผลกระทบในทางลบต่อราคาบัตรโดยสาร ขณะที่ในปี 2556 บริษัทฯ ได้ดำเนินการตามแผนธุรกิจระยะยาวในการบริหารฝูงบินเพื่อเสริมสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันระยะยาว และเตรียมความพร้อมสำหรับการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

(Asean Economic Community : AEC) โดยมีแผนรับมอบเครื่องบินใหม่ 17 ลำ และปลดระวางเครื่องบินเก่า 16 ลำ ซึ่งถือว่าเป็นปีที่บริษัทฯ รับมอบเครื่องบินจำนวนมากที่สุดทั้งในอดีตที่ผ่านมาและในอนาคต ทั้งนี้ เครื่องบินที่บริษัทฯ รับมอบใหม่ส่วนใหญ่มีความจุทั้งผู้โดยสารและพัสดุภัณฑ์มากกว่าเครื่องบินที่ปลดระวาง โดยในครึ่งปีแรกของปี 2556 รับมอบแล้ว 8 ลำ ทำให้ปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสารในไตรมาส 2 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 11.3 ถึงแม้บริษัทฯ จะสามารถเพิ่มปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร ได้ถึงร้อยละ 4.5 และมีส่วนแบ่งการตลาดสูงขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้อัตราการส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ยลดลงจากร้อยละ 75.1 ในไตรมาส 2 ของปี 2555 เหลือร้อยละ 70.5 ในไตรมาส 2 ของปีนี้ แต่ก็ยังสูงกว่าอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ยของช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยวในรอบ 5 ปี ซึ่งเฉลี่ยประมาณร้อยละ 68.6 สำหรับการขนส่งสินค้าซึ่งได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2554 และการแย่งชิงตลาดที่ ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ทำให้มีปริมาณการขนส่งพัสดุภัณฑ์ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.9

ผลการดำเนินงานครึ่งปีแรกของปี 2556 (1 มกราคม - 30 มิถุนายน 2556) บริษัทฯ และบริษัทย่อยขาดทุนสุทธิรวม 131 ล้านบาท เปรียบเทียบกับครึ่งปีแรกของปี 2555 ซึ่งมีกำไร 3,772 ล้านบาท โดยเป็นขาดทุนสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่จำนวน 156 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนต่อหุ้น 0.07บาท ลดลงจากปีก่อนที่กำไร 1.69 บาท สาเหตุหลักเนื่องจากบริษัทฯ บันทึกขาดทุนด้อยค่าเครื่องบินเป็นเงิน จำนวน 3,592ล้านบาท เปรียบเทียบกับปีก่อนที่บันทึกขาดทุนด้อยค่าเครื่องบินเพียง 181 ล้านบาท บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงาน (Operating Profit) จำนวน 1,544 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 1,542ล้านบาท หรือร้อยละ 50.0 เป็นผลมาจากอัตราการเพิ่มขึ้นของรายได้ต่ำกว่าค่าใช้จ่าย โดยมีสาเหตุหลักมาจากการแข็งค่าเงินบาททำให้รายได้จากการขายและให้บริการซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินตราต่างประเทศ เมื่อคิดเป็นเงินบาทลดลงมาก ในขณะที่ค่าใช้จ่ายซึ่งมีสัดส่วนของเงินตราต่างประเทศน้อยกว่ารายได้เมื่อคิดเป็นเงินบาทจึงลดลงในจำนวนน้อยกว่า

สำหรับในไตรมาส 2 ปี 2556 ซึ่งเป็นช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว (Low Season) บริษัทฯ และบริษัทย่อยขาดทุนจากการดำเนินงาน (Operating Loss) จำนวน 2,899 ล้านบาท ขาดทุนสูงขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 1,362ล้านบาท หรือร้อยละ 88.6 เนื่องจากการเติบโตของรายได้มีอัตราต่ำกว่าค่าใช้จ่าย โดยมีรายได้ค่าโดยสารเพิ่มขึ้นเนื่องจากปริมาณการขนส่งผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจากการขยายการผลิต แต่รายได้ค่าระวางขนส่งลดลงเนื่องจากผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอตัว ขณะที่ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นสาเหตุหลักเนื่องจากการขยายการผลิต รวมทั้ง ยังมีการปรับด้อยค่าเครื่องบินรอการขาย จำนวน 1,332 ล้านบาท เป็นผลให้ขาดทุนก่อนขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนและภาษีเงินได้ มีจำนวน 4,681 ล้านบาท ขาดทุนสูงกว่าปีก่อน 1,943 ล้านบาท หรือร้อยละ 71.0

นอกจากนี้ บริษัทฯ และบริษัทย่อย ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ 4,202 ล้านบาท ในขณะที่ไตรมาสเดียวกันของปีก่อนมีกำไร 1,316 ล้านบาท เป็นผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อย ขาดทุนสุทธิ 8,426ล้านบาท ขาดทุนสูงกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 6,957 ล้านบาท โดยเป็นขาดทุนสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 8,439 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนต่อหุ้น 3.87 บาท เปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อน ซึ่งขาดทุนต่อหุ้น 0.70 บาท

ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2556 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 324,103 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากวันที่ 31 ธันวาคม 2555 จำนวน 20,007 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.6 หนี้สินรวมเท่ากับ 256,360 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2555 จำนวน 22,082 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.4 และส่วนของผู้ถือหุ้นมีจำนวน 67,743 ล้านบาท ลดลงจากวันที่ 31 ธันวาคม 2555 จำนวน 2,075 ล้านบาท เป็นผลมาจากการจ่าย เงินปันผลจำนวน 1,226 ล้านบาท และผลกระทบจากการสูญเสียอำนาจควบคุมบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) จำนวน 721 ล้านบาท

2. เรื่อง ผลการดำเนินงานด้านการขนส่ง ประจำเดือนกรกฎาคม 2556

คณะกรรมการบริษัทฯ รับทราบผลการดำเนินงานด้านการขนส่งประจำเดือนกรกฎาคม 2556 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน บริษัทฯ มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (Available Seat - Kilometer : ASK) เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.3 จากการรับมอบเครื่องบินใหม่และปรับเส้นทางบินให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้โดยสาร เป็นผลให้ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (Revenue Passenger-Kilometer : RPK) เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 ส่งผลให้มีอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) รวมทั้งระบบเฉลี่ย ร้อยละ 75.3 ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนซึ่งเฉลี่ยร้อยละ 79.7 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณการผลิตสูงกว่าการเพิ่มขึ้นของปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร อย่างไรก็ตาม เมื่อคิดเป็นจำนวนผู้โดยสาร มีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.4

สำหรับหน่วยธุรกิจการบินไทยสมายล์ มีอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ยทั้งระบบร้อยละ 71.3 ต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อนที่เป็นเดือนแรกที่เปิดให้บริการเฉพาะเที่ยวบินระหว่างประเทศ เส้นทางกรุงเทพฯ — มาเก๊า ซึ่งมีอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ยร้อยละ 81.7 ในขณะที่เดือนกรกฎาคมปีนี้ มีอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ยของเที่ยวบินระหว่างประเทศ และเที่ยวบินภายในประเทศ ร้อยละ 68.2 และ 74.0 ตามลำดับ

สำหรับการดำเนินงานด้านการขนส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ ยังคงได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและการแข่งขันที่รุนแรง เป็นผลให้ปริมาณการผลิต (Available Dead Load Ton-Kilometers : ADTK) และปริมาณการขนส่งสินค้าพัสดุภัณฑ์ (Revenue Freight Ton-Kilometers : RFTK) ในเดือนกรกฎาคม 2556 ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.4 และ 9.5 ตามลำดับ ส่งผลให้มีอัตราส่วนการบรรทุกสินค้า (Freight Load Factor) เฉลี่ยร้อยละ 47.8 ต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อนที่เฉลี่ยร้อยละ 52.3

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๕๒ คณะ กิจกรรม วิศวฯ ม.เกษตรศาสตร์ จับมือ อัลเตอร์วิม ร่วมวิจัย-พัฒนาขีดความสามารถเชิงธุรกิจ ด้านพลังงานหมุนเวียนและระบบกักเก็บพลังงาน
๑๖:๐๖ กรุงศรีออกมาตรการช่วยเหลือ ลดดอกเบี้ยเงินกู้ 0.25% ให้ลูกค้ากลุ่มเปราะบาง เป็นเวลา 6 เดือนตอบรับแนวทางการช่วยเหลือของสมาคมธนาคารไทย
๑๖:๒๙ Lexar Professional CFexpress 4.0 Type B Card DIAMOND คว้ารางวัล BEST STORAGE MEDIA ในงาน TIPA WORLD AWARDS
๑๖:๔๔ ฟอร์ติเน็ต ร่วมมือ สกมช. คัดเลือก-ฝึกอบรมเสริมทักษะบุคลากรคลาวด์ เล็งเพิ่มทรัพยากรบุคคล เสริมความมั่นคงปลอดภัยบนคลาวด์ทุกรูปแบบ
๑๖:๒๙ ไอ-เทล รายงานผลประกอบการประจำไตรมาสแรก แข็งแกร่งด้วย รายได้กว่า 4 พันล้าน กำไรเพิ่ม 93 เปอร์เซ็นต์ มุ่งการเติบโตต่อเนื่องตลอดปี
๑๖:๒๒ หมอแม็ค แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกผมของไทย
๑๖:๐๗ ทรูเวฟ (ประเทศไทย) เปิดตัว GreenFarm.AI ผู้ช่วยคนใหม่ที่จะทำให้สวนเติบโตสวยและยั่งยืนได้ดั่งใจ
๑๖:๕๐ ไบเทคบุรี เมกะโปรเจกต์ของภิรัชบุรี กรุ๊ป พลิกโฉม ไบเทค บางนา ก้าวข้ามอุตสาหกรรม MICE สู่สถานที่แห่งไลฟ์สไตล์ครบวงจร
๑๖:๕๒ ดีมันนี่ ตอกย้ำความสำเร็จในงาน Money 20/20 Asia ในฐานะผู้บุกเบิกโซลูชัน โอนเงินไปต่างประเทศชั้นนำในวงการฟินเทคไทย
๑๖:๕๔ สบยช. ยืนยัน ชาเม่ คอลลาเจน ไม่มีสารเสพติด