ประเดิมเดือนแรก ไตรมาส 3 ดัชนีทรุดแตะระดับ 91.9 เหตุกำลังซื้อในประเทศชะลอตัว ปัญหาการเมือง และภาวะน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของประเทศ

ศุกร์ ๑๖ สิงหาคม ๒๐๑๓ ๑๕:๑๒
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนกรกฎาคม 2556 จำนวน 1,011 ราย ครอบคลุม 42 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แยกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ร้อยละ 31.3, 42.8 และ 25.9 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ตามลำดับ นอกจากนี้ยังแบ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ร้อยละ 44.1, 12.9, 16.3,12.8 และ13.9 ตามลำดับ อีกทั้งยังแบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดต่างประเทศ ร้อยละ 88.2 และ 11.8 ตามลำดับ ซึ่งจากผลการสำรวจพบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ระดับ 91.9 ลดลงจากระดับ 93.1 ในเดือนมิถุนายน โดยปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 7 เดือนนับจากต้นปี 2556 โดยค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ที่ลดลงเกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ อย่างไรก็ตาม สาเหตุสำคัญที่ส่งผลให้ค่าดัชนีลดลงเกิดจากความกังวลต่อกำลังซื้อในประเทศที่ชะลอตัว ปัญหาการเมืองภายในประเทศ และภัยธรรมชาติที่เกิดจากภาวะน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของประเทศ ขณะที่ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกยังส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย ซึ่งผู้ประกอบการได้เสนอให้ภาครัฐเร่งผลักดันการค้าชายแดน ปรับปรุงจุดผ่านแดน และอำนวยความสะดวกในการดำเนินพิธีการศุลกากร เพื่อเชื่อมโยงการค้าไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 97.2 ปรับตัวลดลงจากระดับ 98.7 ในเดือนมิถุนายน โดยค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ที่ลดลงเกิดจากองค์ประกอบยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

ดัชนีความเชื่อมั่นจำแนกตามขนาดของของกิจการในเดือนกรกฎาคม พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯของทุกขนาดอุตสาหกรรม ปรับตัวลดลงจากในเดือนมิถุนายน

โดยอุตสาหกรรมขนาดย่อม มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนกรกฏาคม อยู่ที่ระดับ 88.6 ลดลงจากระดับ 89.3 ในเดือนมิถุนายน โดยองค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ค่าดัชนีปรับลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร, อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์กระดาษ, และอุตสาหกรรมหัตถอุตสาหกรรม เป็นต้น ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 96.4 ลดลงจากระดับ 99.4 ในเดือนมิถุนายน โดยองค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลาง มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนกรกฎาคม อยู่ที่ระดับ 92.8 ลดลงจากระดับ 94.2 ในเดือนมิถุนายน โดยองค์ประกอบดัชนีที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง, อุตสาหกรรมรองเท้า และอุตสาหกรรมเครื่องประดับ เป็นต้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 98.4 ลดลงเล็กน้อยจากระดับ 98.8 ในเดือนมิถุนายน โดยองค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนกรกฎาคม อยู่ที่ระดับ 94.4 ลดลงจากระดับ 95.3 ในเดือนมิถุนายน โดยองค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ค่าดัชนีลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็คทรอนิกส์, อุตสาหกรรมพลาสติก และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เป็นต้น ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 95.9 ลดลงจากระดับ 97.8 ในเดือนมิถุนายน โดยองค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

ด้าน ดัชนีความเชื่อมั่นฯรายภูมิภาค ประจำเดือนกรกฎาคม 2556 จากการสำรวจพบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของทุกภาคปรับตัวลดลงจากในเดือนมิถุนายน

ภาคกลาง ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกรกฎาคม อยู่ที่ระดับ 94.6 ลดลงจากระดับ 95.3 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ โดยค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในภาคกลาง มีการปรับลดลงต่ำสุดในรอบ 12 เดือน สำหรับความกังวลของผู้ประกอบการยังคงเป็นเรื่องที่ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า ได้แก่ กำลังซื้อในประเทศและต่างประเทศที่ชะลอตัวลง ปัญหาการเมืองภายในประเทศ ต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงราคาพลังงานที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ทั้งนี้ ความกังวลดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการต้องกำหนดกลยุทธ์การดำเนินกิจการเพื่อรองรับปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวข้างต้น สำหรับอุตสาหกรรมในภาคกลางที่ปรับลดลงได้แก่ อุตสาหกรรมแก้วและกระจก, อุตสาหกรรมอลูมิเนียม และอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ เป็นต้น ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 95.9 ลดลงจากระดับ 97.4 ในเดือนมิถุนายน โดยองค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

ภาคเหนือ มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกรกฎาคม อยู่ที่ระดับ 87.1 ลดลงเล็กน้อยจากระดับ 87.4 ในเดือนมิถุนายน โดยองค์ประกอบดัชนีที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ โดยภาวะน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของภาคเหนือส่งผลให้เกิดอุปสรรคต่อการขนส่ง และการค้าชายแดน นอกจากนั้น ผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs ยังประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องในอุตสาหกรรมเซรามิก และปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมเซรามิก และหัตถอุตสาหกรรม สำหรับอุตสาหกรรมในภาคเหนือ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องประดับ, อุตสาหกรรมหัตถอุตสาหกรรม และอุตสาหกรรมสิ่งทอ เป็นต้น ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 97.8 ลดลงจากระดับ 99.4 ในเดือนมิถุนายน โดยองค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯในเดือนกรกฎาคม อยู่ที่ระดับ 90.2 ปรับลดลงจากระดับ 91.0 ในเดือนมิถุนายน โดยองค์ประกอบดัชนีที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดขายโดยรวม ต้นทุนการผลิตและผลประกอบการ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงต่อการดำเนินกิจการในเดือนนี้ ได้แก่ การชะลอตัวของการบริโภค ความกังวลต่อภาวะการแข่งขัน เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นรวมถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงาน สำหรับอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม, อุตสาหกรรมน้ำตาล, อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 96.1 ลดลงจากระดับ 99.0 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ

ภาคตะวันออก พบว่ามีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกรกฎาคม อยู่ที่ระดับ 98.0 ปรับลดลงเล็กน้อยจากระดับ 98.8 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ โดยจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่สำคัญส่งผลกระทบต่อการชะลอตัวการส่งออกของไทย สะท้อนจากดัชนียอดคำสั่งซื้อและยอดขายต่างประเทศที่ปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้า นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังประสบปัญหาต้นทุนการผลิตสูงขึ้น แต่ไม่สามารถปรับราคาขายได้ในอุตสาหกรรมพลาสติกและอุตสาหกรรมเคมี ขณะที่การบริโภคในภาคชะลอตัวลงสะท้อนจากการปรับตัวลดลงของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็คทรอนิกส์, อุตสาหกรรมยานยนต์, อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์, อุตสาหกรรมปิโตรเคมี รวมทั้งอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ และอุตสาหกรรมหัตถอุตสาหกรรม ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 101.9 เพิ่มขึ้นจากระดับ 100.4 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

และภาคใต้ มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนกรกฎาคม อยู่ที่ระดับ 84.5 ลดลงจากระดับ 86.0 ในเดือนมิถุนายน โดยองค์ประกอบดัชนีที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ทั้งนี้ ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมของผู้ประกอบการในภาคใต้ ปรับตัวลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 และมีค่าต่ำกว่า 100 สะท้อนภาพรวมของการประกอบการอุตสาหกรรมที่อยู่ในระดับที่ไม่ดี ด้วยสาเหตุจากกำลังซื้อที่ชะลอตัว การตกต่ำของราคายางพาราและปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรหลักของภาคใต้ ส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกร ทำให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักรกลการเกษตรมียอดขายลดลง ขณะที่อุตสาหกรรมอาหารแปรรูปมีปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ การเกิดโรคระบาดในกุ้งที่ยังเป็นปัญหาต่อเนื่อง นอกจากนี้ เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร, อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม และอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 97.6 ลดลงจากระดับ 99.3 ในเดือนมิถุนายน โดยองค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจำแนกตามการส่งออก (ดัชนีความเชื่อมั่นฯ จำแนกตามร้อยละของการส่งออกต่อยอดขาย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศกับกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ) โดยจากการสำรวจพบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯปรับตัวลดลงทั้ง 2 กลุ่ม

กลุ่มที่มีการส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 50 ของยอดขาย (เน้นตลาดในประเทศ) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนกรกฎาคม อยู่ที่ระดับ 92.6 ลดลงจาก 94.4 ในเดือนมิถุนายน โดยองค์ประกอบดัชนีที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯ ปรับลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ, อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม และอุตสาหกรรมน้ำตาล เป็นต้น ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 97.9 ลดลงจากระดับ 98.8 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

กลุ่มที่มีการส่งออกตั้งแต่ร้อยละ 50 ของยอดขายขึ้นไป (เน้นตลาดในต่างประเทศ) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนกรกฎาคม อยู่ที่ 87.9 ลดลงจากระดับ 89.2 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีที่ลดลงได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีลดลงได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร, อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็คทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 91.6 ลดลงจากระดับ 97.7 ในเดือนมิถุนายน โดยองค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

สำหรับด้านสภาวะแวดล้อมในการดําเนินกิจการ เมื่อพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบการอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม 2556 พบว่า ผู้ประกอบการมีความกังวลในประเด็นผลกระทบจากราคาน้ำมัน มากที่สุด รองลงมา คือ สภาวะเศรษฐกิจโลก สถานการณ์การเมืองในประเทศ อัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ โดยผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้นในปัจจัยราคาน้ำมัน สภาวะเศรษฐกิจโลก และสถานการณ์การเมืองภายในประเทศ

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีต่อภาครัฐในเดือนกรกฎาคมนี้ คือ ขอให้ภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ และเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน รวมถึงเร่งผลักดันโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ มีการสนับสนุนให้ใช้สกุลเงินบาทเพื่อการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ ยังเสนอให้ภาครัฐมีการปรับปรุงจุดผ่านแดน และอำนวยความสะดวกในการดำเนินพิธีการศุลกากร เพื่อเชื่อมโยงการค้าไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน สร้างเสถียรภาพทางการเมืองและแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่น

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๑๗ MONEY EXPO 2024 BANGKOK โปรแรง กู้บ้าน 0% 3 เดือน สินเชื่อสีเขียว 1.11% เงินฝากดอกเบี้ยสูง 2.88%
๑๖:๒๒ InnovestX บุกตลาดกองทุน คัดกองแกร่ง Core Portfolio เพื่อผลตอบแทนระยะยาว ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลก
๑๖:๔๗ กรมวิชาการเกษตรจัดงาน Thailand Best Coffee Beans ประกวดหาสุดยอดกาแฟไทย พร้อมยกระดับกาแฟไทยสู่เวทีโลก
๑๖:๑๑ บลจ.ไทยพาณิชย์ เปิดตัวกองทุน Senior Loan กองทุนแรกของไทย โอกาสลงทุนเสริมพอร์ตให้เติบโตกับ Private Credit ที่ซื้อ-ขายได้ทุกวัน(*) พร้อม IPO วันที่ 9 - 16 พ.ค.
๑๖:๕๑ ผู้บริหารเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ร่วมแสดงความยินดีเปิดตัว SPYxFAMILY POP UP STORE THAILAND ครั้งแรกในไทยกับป๊อปอัพ สโตร์แนวใหม่ ฟินกับครอบครัวสายลับสุดป่วน เข้าชมฟรี!! วันนี้-30
๑๖:๑๓ เฟสติวัลใหม่แกะกล่อง bondbond Music Mania เปิดไลน์อัปรวมศิลปินทั้ง International และ T-POP ไว้ในงานเดียว!
๑๖:๔๗ กลุ่มเซ็นทรัล ขับเคลื่อนโลกศิลปะ ส่งเสริมศิลปินในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชวนดื่มด่ำงานศิลป์หลากแขนงจากทั่วโลกในงาน เวนิส เบียนนาเล่ 2024
๑๕:๑๖ DIPROMพร้อมพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมเป้าหมาย กิจกรรมพัฒนาผลิตภาพสำหรับธุรกิจเกษตรแปรรูปเป้าหมาย (พืชเศรษฐกิจและผลไม้) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566
๑๕:๒๐ SPU จับมือ สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย MOU มุ่งพัฒนาทักษะนักศึกษาสู่ เจ้าของธุรกิจออนไลน์
๑๕:๒๓ เคทีซีแกร่งรับมาตรฐานสากลด้านความปลอดภัยของข้อมูลบัตรเครดิต (PCI DSS) เป็นสถาบันการเงินรายแรกในเอเชีย แปซิฟิก จากสถาบันมาตรฐานอังกฤษ