สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง(THAIST) สวทน. เปิดเครือข่าย 19 องค์กรและมหาวิทยาลัย ร่วมมือพัฒนาคนและเทคโนโลยีขนส่งระบบรางของประเทศ ชี้การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้าน จะต้องการบุคลากรอีก 17,220 คน

ศุกร์ ๑๖ สิงหาคม ๒๐๑๓ ๑๖:๒๘
ดร.พีรพันธุ์ พาลุสุข ( Dr.Peeraphan Palusuk) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือภาคีเครือข่ายพัฒนากำลังคนและความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีระบบขนส่งทางราง 19 องค์กร ระหว่าง สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง (THAIST) สนง.คณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ(สวทน) โดย ศ.ดร. วัลลภ สุระกำพล ผู้อำนวยการ และผู้บริหารจากองค์กรต่างๆ รวม 19 องค์กรมาร่วมงานครั้งประวัติศาสตร์นี้ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ , บริษัท ซีเมนส์ จำกัด ประเทศไทย ,บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน), บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) , ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย , ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย, การรถไฟแห่งประเทศไทย ,สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ, ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ,สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ ,คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยขอนแก่น , มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ , มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี , คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี , มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ , สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง , คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ,สนง.เศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม

ศาสตราจารย์ ดร. วัลลภ สุระกำพลธร (Prof.Dr. Wanlop Surakampontorn) ผู้อำนวยการ สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นสูง ( ไทยเอสที - THAIST) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ(สวทน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า “คณะรัฐมนตรีได้มีคำแถลงนโยบาย เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2554 ให้พัฒนาระบบขนส่งทางราง โดยเชื่อมโยงโครงข่ายและการบริหารจัดการขนส่งผู้โดยสาร สินค้าและบริการที่สะดวกและปลอดภัยทั้งในพื้นที่ชนบท พื้นที่เมือง และระหว่างประเทศ รวมทั้งสนับสนุนการขยายฐานการผลิตตามแนวเส้นทางรถไฟ รัฐบาลจึงมีนโยบายพัฒนาระบบรถไฟทางคู่เชื่อมชานเมืองกับหัวเมืองหลัก สร้างเส้นทางระบบรางเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ขยายทางรถไฟสายแอร์พอร์ตเรลลิงก์ จากท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิไปยังชลบุรี สร้างรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ — เชียงใหม่ กรุงเทพฯ — นครราชสีมา กรุงเทพฯ — หัวหิน และเร่งรัดพัฒนารถไฟฟ้า 10 สายทางในกรุงเทพฯ และเขตปริมณฑล โดยเริ่มก่อสร้างให้ครบภายใน 4 ปี คิดเป็นเงินลงทุน 2.0 ล้านล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้เป็นการลงทุนด้านระบบขนส่งทางรางมากถึง 1.66 ล้านล้านบาท

ที่ผ่านมานั้น การลงทุนด้านการพัฒนาระบบขนส่งทางรางของประเทศ ได้ใช้วิธีการซื้อเทคโนโลยีและจ้างผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเกือบทั้งหมด โดยยังขาดกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศสู่ผู้เกี่ยวข้องในประเทศอย่างเพียงพอ รวมทั้งไม่สามารถใช้โอกาสที่มีโครงการลงทุนในการสร้างฐานความรู้ด้านระบบรางของประเทศนอกเหนือจากองค์กรคู่สัญญาให้เข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนรู้เทคโนโลยี จึงส่งผลให้ประเทศไทยต้องพึ่งพาเทคโนโลยีและบุคลากรผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่กระบวนการคิดวางแผน การเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ตลอดไปจนถึงการออกแบบ การก่อสร้าง การบริหารและการบำรุงรักษาระบบการเดินรถ ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้การดูดซับและเรียนรู้เทคโนโลยีด้านนี้ที่ผ่านมาประสบความสำเร็จไม่มากนัก คือ การขาดแคลนบุคลากรที่มีพื้นฐานความรู้และทักษะในด้านระบบรางเพียงพอที่จะดูดซับเทคโนโลยีจากบริษัทต่างประเทศและบ่มเพาะความรู้เทคโนโลยีเหล่านั้นเพื่อให้ประเทศสามารถพึ่งพาตนเองได้ในระดับที่เหมาะสมในอนาคต

จากผลการศึกษาของ สวทน. ได้สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการวิศวกรและช่างเทคนิคที่จะเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2558 จำนวนมากกว่า 2,000 คน จากจำนวนบุคลากรที่ต้องการประมาณ 3,679 คน และ สวทน. ได้ทำการทบทวนการศึกษาปริมาณความต้องการกำลังคนในด้านนี้อีกครั้ง พบว่า เมื่อโครงการลงทุนด้านระบบรางของรัฐบาลแล้วเสร็จ จะมีความต้องการวิศวกรและช่างเทคนิคเพิ่มเป็น 17,220 คน จากจำนวนบุคลากรที่ต้องการทั้งสิ้นประมาณ 30,000 คน

กิจกรรมโครงการหลัก ที่ได้ดำเนินการเพื่อเริ่มสร้างให้เกิดระบบการพัฒนากำลังคนด้านระบบขนส่งทางรางขึ้น ดังนี้

- สวทน. ได้ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) วางระบบการฝึกอบรมวิศวกรจากหลากหลายสาขาให้มีความรู้ด้านวิศวกรรมระบบขนส่งทางราง โดยในการจัดหลักสูตรได้ระดมความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากทั้งภาคมหาวิทยาลัยและหน่วยงานเดินรถเข้ามาร่วมดำเนินการ และได้นำร่องฝึกอบรมรุ่นแรกจำนวน 30 คน รุ่นที่สองจำนวน 34 คน และขณะนี้อยู่ระหว่างการฝึกอบรมรุ่นที่สามจำนวน 34 คน บุคลากรที่ผ่านการฝึกอบรมดังกล่าวถือว่าเป็น “เมล็ดพันธุ์” ที่จะขยายและสร้างเครือข่ายฐานความรู้ด้านระบบขนส่งทางรางของประเทศ

- สวทน. ดำเนินการให้มีการจัดหลักสูตรการศึกษาด้านวิศวกรรมระบบรางในสถาบันการศึกษาอย่างเป็นระบบเป็นครั้งแรก โดยร่วมกับมหาวิทยาลัย 5 แห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการพัฒนาให้มีรายวิชาด้านวิศวกรรมระบบขนส่งทางรางในหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ในสาขาที่เกี่ยวข้องจำนวน 12 รายวิชา และในระยะต่อไปจะมีการสนับสนุนให้เกิดการนำรายวิชาที่พัฒนาขึ้นไปนำร่องการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาต่อไป

- สวทน. ดำเนินการให้มีการจัดหลักสูตรการศึกษาด้านระบบรางระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ในสถาบันการศึกษาระดับอาชีวะศึกษาอย่างเป็นระบบเป็นครั้งแรก โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีในการพัฒนารายวิชาด้านระบบขนส่งทางรางและเป็นพี่เลี้ยงให้แก่สถาบันการศึกษาด้านอาชีวศึกษาเพื่อนำร่องในการจัดการเรียนการสอน 3 แห่ง ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคนครปฐม วิทยาลัยเทคนิคสมุทรสงคราม และ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (สยามเทค)

นอกจากนี้ ไทยเอสที ได้ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งที่จะเข้าร่วมเป็นเครือข่ายฯ อย่างเป็นทางการในวันนี้ ดำเนินการพัฒนาหลักสูตรเทคโนโลยีเพื่ออนาคต สาขาเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงและรถไฟฟ้า โดยได้เปิดหลักสูตรวิศวกรรมขนส่งทางรางระดับปริญญาตรีขึ้นเป็นครั้งแรกในภาคการศึกษาที่ 1/56 มีนักศึกษารุ่นแรกจำนวน 49 คน

นับจากนี้ไปภาคีเครือข่าย รวม 19 หน่วยงานร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงฉบับใหม่ เพื่อดำเนินงาน “เครือข่ายพัฒนากำลังคนและความเชี่ยวชาญเทคโนโลยีด้านระบบขนส่งทางรางของประเทศ” เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งของการดำเนินงานเพื่อพัฒนากำลังคนและความเชี่ยวชาญเทคโนโลยีด้านระบบขนส่งทางรางต่อไป

ดร.พีรพันธุ์ พาลุสุข ( Dr.Peeraphan Palusuk) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ในขณะนี้ แผนการดำเนินงานโครงการด้านระบบขนส่งทางราง ที่กระทรวงคมนาคมรับผิดชอบอยู่ระหว่างดำเนินการหลายส่วน อาทิ เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ — รังสิต โครงการภายใต้ความรับผิดชอบของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้แก่โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางซื่อ — บางใหญ่ สายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง — บางแค และบางซื่อ — ท่าพระ และสายสีเขียว ช่วงหมอชิต — สะพานใหม่ และแบริ่ง — สมุทรปราการ รวมถึงส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียวของ กทม. ช่วงวงเวียนใหญ่-บางหว้า เป็นต้น

สำหรับการพัฒนาระบบขนส่งทางรางในภูมิภาค ปัจจุบัน การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีระบบรางอยู่ทุกภาคทั่วประเทศ กว่า 4,000 กิโลเมตร ที่ใช้ขนส่งคนและสินค้าได้ แต่มีระบบทางคู่ซึ่งอยู่ในรัศมีจากกรุงเทพมหานครประมาณ 100-200 กิโลเมตรเท่านั้น ประสิทธิภาพการขนส่งทางรางจึงค่อนข้างน้อย ถ้าสามารถพัฒนาระบบทางคู่ไปยังแหล่งวัตถุดิบในภาคต่างๆ เพื่อเข้ามาสู่กรุงเทพมหานคร ที่มีทั้งโรงงานอุตสาหกรรม และศูนย์กลางการส่งออกทางน้ำ โดยเพิ่มประสิทธิภาพความเร็วรถ การตรงเวลา ก็จะสามารถเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้าจากทางถนนมาเป็นทางรางได้มากขึ้น

ปัจจุบัน รฟท. มีบทบาทในการขนส่งสินค้าเพียง 2% ของปริมาณการขนส่งสินค้าทั้งประเทศ ดังนั้น รัฐบาลจะเร่งดำเนินการการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของระบบราง และสนับสนุนให้ภาคเอกชนมาใช้ระบบการขนส่งทางรางให้มากขึ้น โดยการใช้แรงจูงใจ เรื่องของอัตราค่าขนส่งที่ถูก และความตรงต่อเวลาในการส่งสินค้า ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการมาก รวมถึง ความสะดวกบริเวณสถานี เรื่องเอกสาร การรับส่งสินค้า เพื่อสนับสนุนให้เกิดการขนส่งทางราง

เพื่อการพัฒนาเส้นทางรถไฟให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รัฐบาลมีนโยบายและได้เตรียมงบประมาณเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้ระบบรถไฟทางคู่มีประสิทธิภาพ โดยจะเพิ่มจำนวนเที่ยวของขบวนรถไฟ เพิ่มระดับความเร็วเพื่อให้รถไฟตรงต่อเวลา การลดและแก้ไขปัญหาจุดตัดระหว่างถนนกับรถไฟ ทำรั้วเพื่อป้องกันคนและสัตว์เข้ามาในพื้นที่เขตการเดินรถ ปรับทางให้มีความแข็งแรง ใช้รางที่รับน้ำหนักได้มากขึ้น เพื่อความปลอดภัยให้รถไฟทางคู่สามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างเป็นระบบ และมีประสิทธิภาพสูงคุ้มค่าแก่การลงทุน

นอกจากเรื่องการพัฒนากำลังคนแล้ว สวทช. ได้ดำเนินการสร้างการเรียนรู้ ผ่านการจัดพิมพ์หนังสือและบทความ จัดทำเว็บไซต์ จัดการสัมมนาและเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้ เพื่อจะให้เกิดความรู้ ความเข้าใจในระบบขนส่งทางรางในวงกว้าง และเพื่อจะร่วมผลักดันนโยบายการขนส่งทางรางของประเทศไปในทิศทางที่จะพึ่งความสามารถของตนเองได้ในอนาคตต่อไป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๔ พ.ค. Siriraj Education Expo 2024 ก้าวสู่ยุคใหม่ไปกับศิริราช พร้อมยกระดับทางการแพทย์ให้ดีขึ้น เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยทุกคน
๐๓ พ.ค. ครั้งแรก! งานเทศกาลคอนเทนต์ LGBTQ ฉลองความเท่าเทียมทางเพศ THAILAND INTERNATIONAL LGBTQ FILM TV FESTIVAL 2024 ปักหมุดเตรียมพบกัน กันยายนนี้
๐๓ พ.ค. โน วัน เอลส์ ส่ง 3 เพลงรัก 3 สไตล์! ผ่านมิวสิกซี่รีย์ ที่จะทำให้คุณเข้าใจความรักมากขึ้น
๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง