ผลสำรวจแมนูไลฟ์เผย กังวลหุ้น-อสังหาฯ ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนเอเชียลดลง

พฤหัส ๒๘ พฤศจิกายน ๒๐๑๓ ๑๑:๒๓
- นักลงทุนหวั่นตลาดหุ้นผันผวน แต่ยังนิยมหุ้น

- นักลงทุนหวั่นราคาอสังหาริมทรัพย์ปรับฐานราคา ฉุดความเชื่อมั่นตลาดอสังหาฯ

- นักลงทุนสะสมเงินสด เสี่ยงรับผลตอบแทนต่ำ

- ผลสำรวจของภูมิภาคเอเชียสอดคล้องกับความเชื่อมั่นของนักลงทุนไทยที่ลดลงด้วยเช่นกัน

ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนแมนูไลฟ์ล่าสุดประจำไตรมาส 3 ระบุว่า ความเชื่อมั่นนักลงทุนลดลงมากทั้งภูมิภาคเอเชีย โดยลดลงมากที่สุดที่ญี่ปุ่นและอินโดนีเซีย ส่วนฮ่องกงและไต้หวันมีระดับความเชื่อมั่นต่ำที่สุด โดยมีสาเหตุหลักจากความคาดหวังผลตอบแทนที่ลดลงจากภาคตราสารทุนและอสังหาริมทรัพย์

ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนแมนูไลฟ์ในช่วงสามเดือน สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์นักลงทุน 3,500 รายใน 7 ตลาดเอเชีย ประกอบด้วย จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ปรับลดลงจากไตรมาสก่อน 6 จุด มาอยู่ที่ระดับ 15 จุด ซึ่งแม้จะยังอยู่ในแดนบวก แต่เป็นตัวเลขที่ค่อนข้างต่ำกว่าดัชนีประเภทเดียวกันของแมนูไลฟ์ในสหรัฐ (20 จุด) ซึ่งตกลง 6 จุดในไตรมาสดังกล่าวเช่นกัน ดัชนีชี้ให้เห็นว่า ความเชื่อมั่นต่อสินทรัพย์ทุกประเภทที่สำรวจค่อนข้างต่ำ โดยความเชื่อมั่นนักลงทุนฮ่องกงต่ำที่สุด (-14 จุด) เป็นไตรมาสที่สองติดต่อกัน ขณะที่นักลงทุนในมาเลเซียมีระดับความเชื่อมั่นสูงที่สุด (49 จุด)

“ผลสำรวจเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า นักลงทุนทั้งภูมิภาครู้สึกว่าในช่วงนี้จะต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ นักลงทุนยังลังเล ไม่แน่ใจว่าจะทำอย่างไรดี” นาย Robert A. Cook ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (President and CEO) บริษัท Manulife Financial ประจำภูมิภาคเอเชีย กล่าว “ผลสำรวจชี้ชัดว่า นักลงทุนเอเชียไม่ต้องการความตื่นเต้นในการลงทุนมากนัก แต่ต้องการผลตอบแทนจากการลงทุนที่มั่นคงสม่ำเสมอ นักลงทุนคิดว่า แนวทางดังกล่าวเป็นแนวทางที่สมเหตุสมผล โดยเฉพาะในการเก็บออมเพื่อเป้าหมายระยะยาว”

นักลงทุนหวั่นตลาดหุ้นผันผวน แต่ยังนิยมหุ้น

นักลงทุนทั้งภูมิภาคระบุว่า ความผันผวนของตลาดเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ความต้องการลงทุนในหุ้นลดลง นอกจากนี้ ปัจจัยในเรื่องความเป็นไปได้ที่รัฐบาลสหรัฐจะลดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) ได้เพิ่มความกังวลต่อตลาด อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นในเชิงลบต่อหุ้นที่สูงขึ้นกลับไม่สะท้อนในรูปการถือครองหลักทรัพย์ลงทุน โดยเมื่อสอบถามว่า สินทรัพย์ประเภทใดที่จะเลือกลงทุนเพิ่มเติม ปรากฏว่า หุ้นก็ยังคงเป็นสินทรัพย์ที่นิยมสูงสุด

ขณะที่ความเชื่อมั่นต่ออสังหาริมทรัพย์ปรับตัวลดลงในตลาดส่วนใหญ่เช่นกัน สาเหตุหนึ่งเกิดจากมาตรฐานแทรกแซงภาครัฐเพื่อควบคุมราคาหรือการเพิ่มขึ้นของอสังหาริมทรัพย์ ความเชื่อมั่นลดลงมากในอินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และไต้หวัน ส่วนฮ่องกงมีความเชื่อมั่นในภาคอสังหาริมทรัพย์ต่ำที่สุด โดยในตลาดฮ่องกง ความเชื่อมั่นโดยรวมเริ่มติดลบในไตรมาสแรกของปีนี้และลดลงเรื่อยมา มีนักลงทุนกว่าสองในสามเชื่อว่า ราคาปัจจุบันสูงเกินไปและต่อไปน่าจะเกิดการปรับฐานราคา

“ความรู้สึกลังเลของนักลงทุนส่วนใหญ่จะเกิดจากความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐจะลดมาตรการคิวอีและปัญหาเพดานหนี้สหรัฐ เมื่อรัฐบาลกลางสหรัฐประกาศแผนเริ่มลดปริมาณการซื้อตราสารหนี้ นักลงทุนตราสารหนี้ก็เริ่มขายสินทรัพย์ในตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะตลาดที่มีปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและขาดดุลงบประมาณ” นาย Ronald CC Chan หัวหน้าฝ่ายตราสารทุนเอเชีย (Head of Equities, Asia) ของ Manulife Asset Management กล่าว “สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ค่าเงินในกลุ่มตลาดดังกล่าวอ่อนค่าลง ประกอบกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของจีนที่อ่อนแอลงในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม ส่งผลให้ความเชื่อมั่นต่อตราสารทุนลดลงในช่วงในไตรมาสที่สาม”

นาย Chan ระบุว่า ความเชื่อมั่นในตราสารทุนยังไม่ฟื้นตัวในหลาย ๆ ตลาดในเอเชีย แต่ราคาหุ้นในหลายตลาดก็น่าสนใจเช่นกัน “ในระยะกลางถึงระยะยาว เราเห็นแนวโน้มสดใส การลดมาตรการคิวอีเป็นสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้น แต่ธนาคารกลางสหรัฐประกาศแล้วว่า อัตราดอกเบี้ยจะยังต่ำต่อไปเพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน ทั้งจีน ไต้หวัน และเกาหลีต่างมีค่าดัชนี Flash PMI เดือนสิงหาคมและกันยายนเป็นบวก นอกจากนี้ รัฐบาลต่างๆ ในภูมิภาคก็ยังอยู่ระหว่างดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและปัญหาเงินเฟ้ออีกด้วย”

นักลงทุนสะสมเงินสด เสี่ยงรับผลตอบแทนต่ำ

ผลที่เกิดขึ้นช่วงนี้ คือ เงินสดยังเป็นสินทรัพย์หลักในภูมิภาค โดยเงินได้บุคคลธรรมดาเฉลี่ยถึง 22 เดือนถือเป็นเงินสด โดยในจีนและสิงคโปร์สูงถึง 35 และ 39 เดือน ตามลำดับ เงินสดมีสัดส่วนเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 40 ของสินทรัพย์ทั้งหมดของนักลงทุน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า นักลงทุนให้ความสำคัญแก่ความมั่นคงปลอดภัยของสินทรัพย์และสภาพคล่องมากเพียงใด

“ทั้งภูมิภาคช่วงนี้ถือเงินสดกันในระดับสูงเกินความจำเป็น” Donna Cotter หัวหน้าฝ่ายบริหารความมั่งคั่งประจำภูมิภาคเอเชีย (Head of Wealth Management, Asia) ของแมนูไลฟ์กล่าว “สำหรับนักลงทุนหลายคนแล้ว นั่นหมายถึงการสูญเสียโอกาสไปอย่างน่าเสียดาย เนื่องจากเงินสดให้ผลตอบแทนต่ำมากเมื่อเทียบกับทางเลือกอื่น ๆ ที่นักลงทุนมีอยู่”

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจบ่งชี้โอกาสที่ดีในการลงทุนเพื่อโอกาสในการรับผลตอบแทนที่สูงขึ้น โดยเงินสดที่ถืออยู่นั้น มีเพียงร้อยละ 20 ที่ใช้สำรองค่าใช้จ่ายประจำวันหรือค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน ที่เหลือส่วนใหญ่ยังสามารถย้ายไปลงทุนสินทรัพย์ประเภทอื่นได้ เมื่อสอบถามว่า ปัจจัยใดจะทำให้นักลงทุนตัดสินใจย้ายเงินสดไปลงทุนในสินทรัพย์อื่น คำตอบที่ได้รับมากที่สุด คือ ความเป็นไปได้ที่จะได้รับผลตอบแทนในระดับพอสมควรอย่างสม่ำเสมอ (ร้อยละ 47) หรือการรับประกันรายได้ที่แน่นอน (ร้อยละ 41) ซึ่งสะท้อนในรูปความเชื่อมั่นในตราสารหนี้ที่ยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับสินทรัพย์ประเภทอื่น ๆ

ผลสำรวจของภูมิภาคสอดคล้องกับความเชื่อมั่นของนักลงทุนไทยที่ลดลงด้วยเช่นกัน

ด้านนายต่อ อินทวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) แมนูไลฟ์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ในส่วนของประเทศไทย ผลสำรวจด้านความเชื่อมั่นของหลายสำนักต่างก็สะท้อนความเชื่อมั่นที่ลดลง เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งนอกจากจะเป็นผลจากความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศในช่วงที่ผ่านมาแล้ว ยังเป็นผลจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะหลังจากที่สภาพัฒน์ได้ประกาศปรับลดตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2556 เหลือ 3% โดยในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะเติบโตเพียงแค่ 1% ขณะที่การส่งออกในปี 2556 อาจจะขยายตัวในระดับ 0%

“ถึงแม้เราจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและความไม่แน่นอนทางการเมือง แต่การจัดสรรการลงทุนเพื่อแสวงหาผลตอบแทนยังคงเป็นเรื่องที่จำเป็น ซึ่งเรายังเชื่อมั่นว่า การลงทุนในหุ้นยังเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ และสามารถสร้างผลตอบแทนให้กับนักลงทุนได้ในระยะยาว แม้ว่าปีนี้จะไม่ใช่ปีที่ดีนักของตลาดหุ้นไทย แต่การลงทุนในหุ้นในลักษณะของการทยอยเข้าลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเป็นการลงทุนผ่านกองทุนรวมที่บริหารจัดการโดยผู้จัดการกองทุนมืออาชีพ ที่จะทำหน้าที่กลั่นกรองหุ้นคุณภาพในการเข้าลงทุน และกระจายความเสี่ยงจากการลงทุน ก็ยังเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนที่ลงทุนในตลาดหุ้นไทยหรือกองทุนที่ลงทุนในหุ้นต่างประเทศ”

สำหรับกองทุนตราสารทุนภายใต้การบริหารจัดการของ บลจ.แมนูไลฟ์ (ประเทศไทย) นั้น ที่ผ่านมา ผลตอบแทนถือว่า อยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยผลตอบแทนนับตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 25 ตุลาคม 2556 ของกองทุนเปิดแมนูไลฟ์ สเตร็งค์ อิควิตี้ แวลู อยู่ที่ 16.23% (vs SET Index 4.52%) กองทุนเปิดแมนูไลฟ์ สเตร็งค์ อิควิตี้ ปันผล อยู่ที่ 15.17% (vs SET50TR Index 8.14%) กองทุนเปิดแมนูไลฟ์ สเตร็งค์ เอเชียน สมอลแคป อิควิตี้ เอฟไอเอฟ อยู่ที่ 19.75% (vs MSCI AC Asia Pacific ex JP Index 5.42%) และกองทุนเปิดแมนูไลฟ์ สเตร็งค์ อเมริกัน โกรท เอฟไอเอฟ อยู่ที่ 24.51% (vs S&P500 Index 27.52%)

สำหรับผลสำรวจเพิ่มเติมและข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนของแมนูไลฟ์ในเอเชีย กรุณาเยี่ยมชมเว็บไซต์ www.manulife-asia.com

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๑ พ.ค. เฮลท์สเคป (Healthscape)' นำร่องส่ง 'MADE BY SILVER' ชวนสัมผัสผลิตภัณฑ์เพื่อไลฟ์สไตล์สำหรับกลุ่มซิลเวอร์เจน 20 พ.ค. - 2 มิ.ย. 67 ณ ศูนย์การค้า ดิ เอ็ม
๒๑ พ.ค. HENG เสนอขายหุ้นกู้ครั้งที่ 1/2567 จำนวน 2 ชุด อัตราดอกเบี้ยคงที่ 5.25% และ 5.50% เปิดจองซื้อ 23-24 และ 27 พ.ค. 67 เดินหน้าเสริมแกร่งธุรกิจ
๒๑ พ.ค. กลุ่มบริษัทศรีตรัง ลุยติดตั้ง EV Charger ในโรงงานทั่วประเทศ สนับสนุนพนักงานใช้พลังงานสะอาด ร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตอกย้ำจุดยืน Green Rubber
๒๑ พ.ค. Bitkub Chain และ The Sandbox ร่วมยกระดับวงการ Metaverse ในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
๒๑ พ.ค. AJA โชว์แกร่ง!! งบโค้งแรกพลิกมีกำไรพุ่งเกือบ 452% ชูกลยุทธ์ปี 67 กระจายลงทุนในธุรกิจหลากหลาย-สร้างฐานการเติบโตยั่งยืน
๒๑ พ.ค. KJL โชว์นวัตกรรมในงาน SUBCON Thailand 2024 เพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้า
๒๑ พ.ค. ITEL อวดกำไร Q1/67 โต 113% กำไรสุทธิ 123 ล้านบาท ล่าสุด ก.ล.ต. ไฟเขียวนับหนึ่งไฟลิ่ง บ.ย่อย BLUE เรียบร้อยแล้ว
๒๑ พ.ค. โอยิกะ ผู้นำด้านโซลูชั่นเทคโนโลยีแบตเตอรี่จากสิงคโปร์ ชูนวัตกรรมพลังงานสะอาด มุ่งขยายธุรกิจตู้สลับแบตเตอรี่สำหรับตลาดรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย
๒๑ พ.ค. ดื่มด่ำกับรสชาติของเนื้อโกเบจากโอซาก้า ที่ห้องอาหารฮากิ เซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว
๒๑ พ.ค. W9 เผยไทยเผชิญฝุ่นพิษล้อมเมืองติดอันดับโลก เปิด 5 กลุ่มเสี่ยงรับฝุ่นพิษ ภัยเงียบสะสม แนะวิธีรับมือเชิงเวลเนส