อุตฯ น้ำตาล แนะรัฐผลักดันเปิดเสรีน้ำตาลทรายในตลาดอาเซียน หลังหลายประเทศสมาชิกตั้งการ์ดปกป้อง ฉุดโอกาสการส่งออก

อังคาร ๐๔ กุมภาพันธ์ ๒๐๑๔ ๑๖:๔๔
3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย หวั่นแผนขยายตลาดน้ำตาลไทยในอาเซียนมีอุปสรรค แม้เปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) หลังหลายชาติในอาเซียน คงนโยบายชะลอการเปิดเสรีตลาดน้ำตาล แนะไทยควรเร่งผลักดันประเทศสมาชิกเปิดเสรีน้ำตาลทราย ช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันน้ำตาลไทยให้ยั่งยืน

นายเชิดพงษ์ สิริวิชช์ ประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า ไทยถือเป็นประเทศที่มีศักยภาพการส่งออกน้ำตาลทรายเป็นเบอร์ 2 ของโลก โดยมีปริมาณส่งออกร้อยละ 70 จากผลผลิตเฉลี่ยอยู่ปีละ10 ล้านตัน ซึ่งตลาดส่งออกที่สำคัญอยู่ในเอเชีย ร้อยละ 90 และในจำนวนนี้ เป็นการส่งออกไปประเทศในกลุ่มอาเซียนถึงร้อยละ 45 ของปริมาณน้ำตาลส่งออกทั้งหมด โดยแนวโน้มคาดว่า จะมีปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้น เนื่องจากหลายประเทศ ยังไม่สามารถผลิตน้ำตาลทรายได้เพียงพอต่อความต้องการบริโภคภายในประเทศ จึงนำเข้าน้ำตาลทรายจากประเทศไทย เนื่องจากมีความสะดวกและมีต้นทุนค่าขนส่งต่ำกว่า การนำเข้าน้ำตาลทรายจากประเทศบราซิล ที่เป็นผู้ส่งออกน้ำตาลทรายเบอร์ 1 ของโลก

อย่างไรก็ตาม พบว่า ยังมีอุปสรรคด้านการส่งออกน้ำตาลทรายของไทยไปยังอาเซียน เนื่องจากหลายประเทศได้ชะลอการปรับลดภาษีนำเข้าน้ำตาลทราย รวมถึงการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมน้ำตาลภายในประเทศตนเอง เช่น อินโดนีเซีย ได้ใช้สิทธิกำหนดน้ำตาลเป็นสินค้าอ่อนไหวสูง จึงขอทยอยลดภาษีลดลงเหลือร้อยละ 5-10 ในปี 2558 เช่นเดียวกับประเทศฟิลิปปินส์ที่ขอทยอยลดภาษีลงเหลือร้อยละ 0-5 ในปี 2558 หรือมาเลเซียที่ใช้การกำหนดโควตา และการขอใบอนุญาตนำเข้า ส่งผลให้การส่งออกน้ำตาลทรายไปยังประเทศเหล่านี้ไม่สามารถขยายตัวได้เท่าที่ควร

“เดิมทีประเทศในอาเซียนได้ตกลงกรอบการค้าเสรีระหว่างกัน (AFTA) เมื่อปี 2535 ที่ให้สมาชิกอาเซียนเดิม 6 ประเทศ ได้แก่ บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย ลดภาษีนำเข้าน้ำตาลเหลือร้อยละ 0-5 ภายในปี 2553 และประเทศสมาชิกอาเซียนใหม่ ลาว พม่า กัมพูชาและเวียดนาม ทยอยปรับลดภาษีน้ำตาลลงเหลือร้อยละ 0-5 ภายในปี 2560 แต่ในความเป็นจริง การลดภาษีภายใต้กรอบการค้าเสรีดังกล่าว ยังไม่บรรลุเจตนารมณ์ตามกรอบการค้าที่ได้ตกลงระหว่างกัน เนื่องจากประเทศสมาชิกอาเซียนได้ปกป้องอุตสาหกรรมน้ำตาลทรายภายในประเทศ” นายเชิดพงษ์ กล่าว

ทั้งนี้ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย มีความกังวลว่า แม้ในปี 2558 ที่ชาติในอาเซียนจะรวมกลุ่มเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพื่อเปิดเสรีทางการค้าระหว่างกัน แต่หากประเทศสมาชิกเหล่านี้ ยังคงนโยบายปกป้องอุตสาหกรรมด้วยการชะลอการเปิดตลาดเสรีน้ำตาลทรายต่อไปย่อมส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมน้ำตาลทรายของไทย

ดังนั้น ประเทศไทยจึงควรเจรจาผลักดันให้ประเทศสมาชิกอาเซียน ดำเนินการเปิดเสรีนำเข้าตลาดน้ำตาลทรายได้อย่างเสรี โดยกำหนดเงื่อนไขและกรอบเวลาให้ชัดเจน ซึ่งจะช่วยเอื้อโอกาสการส่งออกน้ำตาลทรายของไทยไปยังชาติในอาเซียนมากขึ้น ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการไทย ก็ต้องเร่งพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตอย่างจริงจัง ทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพแข่งขันของอุตสาหกรรมน้ำตาลไทยให้มีความยั่งยืนและมีรายได้จากการส่งออกน้ำตาลทรายเพิ่มขึ้น

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๘:๓๓ COM7 เดินหน้าเต็มสปีด EV7 ส่งมอบแท็กซี่ไฟฟ้าล็อตแรก ดันเมกะเทรนด์ EV สู่หัวใจเมือง
๑๘:๓๖ GCAP ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ไฟเขียวผ่านฉลุยทุกวาระ พร้อมเดินหน้าแผนธุรกิจขยายสู่กลยุทธ์ Non Lending
๑๘:๔๔ PYLON จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ผู้ถือหุ้นไฟเขียวจ่ายปันผล 0.04 บาท/หุ้น
๑๘:๓๙ LDC จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2568 มุ่งเป็นคลินิกทันตกรรมพรีเมียม ในราคาที่เข้าถึงง่าย
๑๘:๑๒ ผู้ถือหุ้น TATG ไฟเขียวจ่ายปันผล 0.07 บาท/หุ้น ลงทุนเครื่องจักรใหม่เสริมแกร่งสายการผลิต พิชิตเป้ารายได้ 3,000
๑๘:๕๗ ADVICE จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นรูปแบบ Hybrid ประจำปี 2568 ผถห.ไฟเขียวทุกวาระ เคาะแจกปันผล 0.175 บ./หุ้น
๑๘:๓๖ LE ร่วมงานสถาปนิก'68 โชว์นวัตกรรมแสงสว่างอัจฉริยะ เสริมภาพผู้นำ Lighting Solutions Provider
๑๘:๔๖ SELIC จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ปี 2568 ผู้ถือหุ้นเห็นชอบทุกวาระ อนุมัติจ่ายปันผล 0.038 บาท/หุ้น เดินหน้า 3 ธุรกิจ
๑๘:๔๙ STA เปิดบ้านต้อนรับภาครัฐ โชว์มาตรฐานรับซื้อยางโปร่งใส เป็นธรรม หนุนรัฐต้านยางเถื่อน
๑๘:๓๕ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จับมือเอกชน ปั้นช่างเชื่อมโกอินเตอร์ รายได้ทะลุ 70,000 บาทต่อเดือน