ฟิทช์ ประกาศอันดับเครดิตภายในประเทศของธนาคารไทยพาณิชย์

พฤหัส ๐๙ มิถุนายน ๒๐๐๕ ๑๕:๕๗
กรุงเทพฯ--9 มิ.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศให้อันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวแก่ธนาคารไทยพาณิชย์ที่ ‘AA(tha)’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1+(tha)’ และอันดับเครดิตภายในประเทศของหนี้ด้อยสิทธิที่ ‘AA-(tha)’ (AA ลบ (tha)) ขณะเดียวกัน ฟิทช์เรทติ้งส์ แห่งอังกฤษ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของธนาคารที่ ‘BBB+’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นที่ ‘F2’ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของหนี้ด้อยสิทธิที่ ‘BBB’ อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินที่ ‘C’ และอันดับเครดิตสนับสนุนที่ระดับ ‘2’
อันดับเครดิตดังกล่าว สะท้อนถึงการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของผลกำไรและความสามารถในการทำกำไรอันเนื่องมาจากคุณภาพสินทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้น รวมถึงระดับสำรองหนี้สูญและสถานะของเงินกองทุนที่แข็งแกร่งขึ้นของธนาคาร ธนาคารไทยพาณิชย์เป็นหนึ่งในธนาคารที่มีเครือข่ายธุรกิจและทีมผู้บริหารที่แข็งแกร่งที่สุดในประเทศไทย แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ แสดงถึงความสามารถในการทำกำไรและคุณภาพสินทรัพย์ซึ่งคาดว่าจะคงไว้ได้ในระดับเดิม แม้ว่าแนวโน้มความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะลดลงบ้างในปี 2548 อันดับเครดิตสากลสกุลเงินตราต่างประเทศของธนาคารไทยพาณิชย์ในขณะนี้ถูกจำกัดโดยอันดับเครดิตของประเทศ การลดลงของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้และหนี้ที่ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้อย่างมีนัยสำคัญในอนาคต ประกอบกับการปรับปรุงในเชิงโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจและระบบธนาคารของประเทศไทย รวมถึงโครงสร้างทางด้านการกำกับดูแลและกฎหมาย จะเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนการปรับเพิ่มอันดับเครดิตของธนาคารในอนาคตได้
ธนาคารไทยพาณิชย์ได้รับประโยชน์จากผลพวงความพยายามในการปฏิรูประบบธนาคารตั้งแต่วิกฤตการณ์การเงินในปี 2540 โดยมีเครือข่ายธุรกิจและเครือข่ายลูกค้ารายย่อยที่แข็งแกร่งของธนาคาร และสภาวะทางเศรษฐกิจที่เอื้ออำนวย ในฐานะที่ธนาคารเป็นผู้ปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยรายใหญ่ที่สุดในประเทศ ธนาคารยังได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัยอีกด้วย
ธนาคารไทยพาณิชย์มีผลกำไรที่แข็งแกร่งในปี 2547 ที่ 18.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 12.6 พันล้านบาท ในปี 2546 เนื่องจากต้นทุนการปล่อยสินเชื่อที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง รายได้จากค่าธรรมเนียมและบริการที่สูงขึ้น และผลกำไรพิเศษจากการลงทุน ผลกำไรก่อนหักสำรองเมื่อไม่นับรวมผลกำไรพิเศษจากการลงทุนแล้ว เพิ่มขึ้น 25.6% ส่วนในไตรมาสแรกของปี 2548 ผลกำไรสุทธิลดลงเป็น 4.9 พันล้านบาท จาก 6.9 พันล้านบาทในไตรมาสแรกของปี 2547 โดยมีสาเหตุหลักจากผลกำไรพิเศษที่ลดลง อัตรากำไรส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารไทยพาณิชย์ที่ระดับ 2.8% ในปี 2547 และ 3.1% ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2548 จัดได้ว่าแข็งแกร่งที่สุดของธนาคารไทย อย่างไรก็ตาม ฟิทช์กล่าวว่า ผลกำไรสุทธิของธนาคารอาจได้รับผลกระทบจากรายจ่ายทางด้านภาษีที่เพิ่มขึ้นในปี 2549
หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารไทยพาณิชย์อยู่ที่ระดับ 77.6 พันล้านบาท หรือ 13.5% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2548 และหนี้ที่ผ่านการปรับโครงสร้างคิดเป็น 10% ของสินเชื่อรวม ธนาคารได้ตั้งเป้าหมายที่จะลดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ลงมาอยู่ที่ 10% และ 5% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นปี 2548 และ 2549 ตามลำดับ ระดับสำรองหนี้สูญของธนาคารได้ลดลงมาที่ 63.8 พันล้านบาทเนื่องจากการบันทึกหนี้สูญตัดบัญชี ระดับสำรองหนี้สูญที่ 82.2% ของหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เป็นระดับที่นับว่าเป็นหนึ่งในระดับที่สูงที่สุดของธนาคารไทย อัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หลังหักสำรองต่อส่วนของผู้ถือหุ้นได้ลดลงเป็น 17% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2548 จาก 24.9% ณ สิ้นปี 2546 ชี้ให้เห็นถึงระดับสำรองหนี้สูญและสถานะของเงินกองทุนที่แข็งแกร่งของธนาคาร ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2548 เงินกองทุนขั้นที่ 1 ของธนาคารอยู่ที่ 11.1% ของสินทรัพย์เสี่ยง และเงินกองทุนทั้งหมดของธนาคารอยู่ที่ 14.7% ของสินทรัพย์เสี่ยง ฐานะเงินกองทุนของธนาคารน่าจะยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง แม้ว่าเมื่อพิจารณาถึงการจ่ายเงินปันผลและการเติบโตของสินทรัพย์แล้ว
ธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งก่อตั้งโดยกรมพระคลังมหาสมบัติ ในปี 2447 เป็นธนาคารที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยและใหญ่เป็นอันดับ 4 โดยมีส่วนแบ่งการตลาดทางด้านเงินฝากและสินเชื่อประมาณ 12% สำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มีสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ 24% ธนาคารไทยพาณิชย์มีบริษัทลูกชั้นนำในธุรกิจการปล่อยสินเชื่อให้ผู้บริโภค การดำเนินงานด้านวาณิชธนกิจ การจัดการกองทุน และประกันภัย
ติดต่อ
ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์,
Vincent Milton, กรุงเทพฯ +662 655 4762/4759
David Marshall, ฮ่องกง +852 2263 9963
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของรัฐบาลในประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่า ‘AAA’ ในระดับการจัดอันดับเครดิตแบบสากล (International Ratings) อันดับเครดิตภายในประเทศจึงไม่สามารถเปรียบเทียบกับอันดับเครดิตแบบสากล เนื่องจากอันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศได้จัดไว้ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศจะมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับประเทศนั้นๆ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย
คำจำกัดความของอันดับเครดิตของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ ท่านสามารถหาได้จาก www.fitchratings.com รวมทั้ง อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต และนโยบายที่เกี่ยวข้องซึ่งได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวไว้ตลอดเวลา เอกสารนี้จะปรากฎอยู่บนเว็บไซต์ดังกล่าวเป็นเวลา 7 วัน--จบ--

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๘:๕๑ อายุน้อยก็เสี่ยงนะ! สังเกตสัญญาณโรคหลอดเลือดสมองในหนุ่ม-สาว Stoke in the young
๐๘:๒๕ เกิร์ลกรุ๊ปสาว DE GIFT' (เดอ กิฟท์) ปังเกินเบอร์!!!! เตรียมปล่อยของโชว์ Performance เวที Dalat Best Dance Crew 2024
๐๘:๓๘ ทรีตเมนต์ยกกระชับผิวหน้า
๐๘:๒๑ โค้งสุดท้ายหลักสูตรดับทุกข์ผู้บริหารรุ่นแรก เผยชุด 2 มีบิ๊กเนมสนใจเพียบทั้งอดีต รมต.และ สว.
๐๘:๐๙ DEK SPU โชว์สกิล! คว้ารางวัล SPU TikTok Challenge 2024
๐๘:๑๔ แพ็กเกจห้องประชุม สัมมนาใจกลางกรุงเทพฯ ที่โรงแรมพูลแมน กรุงเทพฯ จี
๐๘:๔๖ มารู้จักอาจารย์ของแพทย์ คุณหมอหนุ่ม - อาจารย์นายแพทย์ รัสมิ์ภูมิ สุเมธีวิทย์
๐๘:๒๖ ร่วมวางพวงมาลาวันคล้ายวันสวรรคต สมเด็จพระนเรศวรมหาราช
๐๘:๓๕ กทม. ประสาน กฟน. เร่งแก้ไขฝาบ่อพักท่อชำรุดเชิงสะพานข้ามแยกเสนานิคม
๐๘:๓๒ ก.แรงงานหนุนจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ ปี 67 พร้อมเปิดพื้นที่รับฟังข้อเรียกร้อง ย้ำแรงงานเป็นกำลังผลักดันเศรษฐกิจสังคมไทย