ระบบสุขภาพเข้มแข็ง ต้องเริ่มที่จุดเล็กๆ

อาทิตย์ ๐๖ เมษายน ๒๐๑๔ ๑๕:๔๐
“ระบบบริการสุขภาพขั้นพื้นฐาน เป็นสิ่งสำคัญและเป็นสิ่งที่คนไทยเกือบทั้งประเทศเฝ้ารอคอยให้เกิดการพัฒนาคุณภาพให้มากขึ้น ดังนั้น “ฝ่ายซื้อบริการสุขภาพ” และ “ให้ฝ่ายบริการสุขภาพ” ควรจับมือกันเพื่อพัฒนางานบริการสุขภาพด้านพื้นฐานให้มีคุณภาพและครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่อย่างเร่งด่วน”

ศ.นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สะท้อนมุมมอง พร้อมฉายความคาดหวังที่เป็นปลายทางของระบบสุขภาพในอนาคตว่า

“โดยส่วนตัวมีความฝันอยากเห็นการดูแลสุขภาพด้วยตนเองในระดับครอบครัวหรือชุมชน (Self Care) โดยที่ไม่ต้องพึ่งพาหมอและยาจากต่างประเทศ เพราะถ้าหากชาวบ้านสามารถดูแลตัวเองในยามเจ็บป่วยได้ หรือมีการดูแลสุขภาพโดยการดื่มน้ำอย่างเพียงพอกับความต้องการของร่างกาย กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ลดการดื่มเหล้าสูบบุหรี่ อยู่ในวิถีชีวิตที่มีความสุข จะช่วยลดการเจ็บป่วยให้ลดน้อยลง สามารถใช้ชีวิตอยู่ดี กินดี มีความสุขได้ตามอัตภาพ”

ศ.นพ.สมเกียรติ กล่าวด้วยว่า แต่ถ้าหากมีการเจ็บป่วยที่มากเกินกว่าจะเยียวยาด้วยตนเองการบริการสาธารณสุขที่ดำเนินการโดยประชาชนด้วยกันเองและสามารถจะทำได้ในระดับชุมชน เช่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่เป็นการบริการสาธารณสุขมูลฐาน (Primary Health of Care) ก็จะทำหน้าที่เป็นผู้นำพาชาวบ้านที่เจ็บป่วยเข้ามารับการรักษา หรือพามาเข้าสู่ระบบบริการสุขภาพได้อย่างปลอดภัย โดยการส่งต่อด้วยระบบไร้รอยต่อ เพื่อให้ได้รับการบริการในระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ หรือตติยภูมิ ได้อย่างทันท่วงที มีคุณภาพ และมีประสิทธิภาพ” ซึ่งเป็นความคาดหวังที่ทุกฝ่ายต้องพัฒนางานบริการสุขภาพด้านพื้นฐานให้มีคุณภาพ

ฉะนั้น ถ้าหากพูดถึงความหมายของคำว่า “สุขภาพ” คำๆนี้ สามารถครอบคลุมไปทั้งชีวิต ไม่ว่าเราจะใช้ชีวิตอยู่ในบ้าน ชุมชน สังคมที่ทำงาน โรงงาน หรือที่ต่างๆ ก็จะมีคำนี้ตามติดไปด้วยทุกที่ เพราะคำว่า “สุขภาพ” อยู่กับเราทุกหนทุกแห่ง ชาวบ้านสมัยก่อนจึงรู้จักวิธีการรักษาอาการเจ็บป่วยของตัวเองได้ด้วยยาสมุนไพร เราควรนำภูมิปัญญาเหล่านี้กลับมาใช้เหมือนเก่า ในการดูแลและเยียวยาสุขภาพของตนเองให้เข้มแข็งได้ โดยลดการพึ่งพายาแผนปัจจุบันและใช้ยาเท่าที่จำเป็น

ดังนั้น หัวใจสำคัญที่จะทำให้ระบบสุขภาพเข้มแข็งและยั่งยืนได้นั้น จะต้องเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ หรือเริ่มต้นจากระบบสุขภาพหน่วยที่เล็กที่สุด ก็คือ การที่ประชาชนรู้จักดูแลสุขภาพของตัวเอง (Self care) ก่อนที่จะดูแลสุขภาพของคนในครอบครัวและคนในชุมชน ซึ่งเรื่องสุขภาพควรเป็นเรื่องที่ไม่แยกออกจากชีวิต สังคม และการทำมาหากินของชาวบ้าน เพราะเรื่องสุขภาพเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสังคมมาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว

“การที่ชาวบ้านสามารถดูแลสุขภาพของตัวเองให้เจ็บป่วยน้อยลงได้ ถือว่าชาวบ้านมีส่วนช่วยให้ภาพใหญ่ของระบบสุขภาพก็จะมีความเข้มแข็งและยั่งยืนมากยิ่งขึ้น และที่สำคัญก็คือจะช่วยให้ค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพของประเทศลดลงตามไปด้วย นี่คือเป้าหมายที่ผมคิดว่าเราควรจะเดินไปให้ถึงตรงนั้น”

สำหรับวันนี้ถามว่า ระบบสุขภาพบ้านเราเดินหน้ามาถึงตรงไหนไม่มีใครบอกได้ แต่เราต้องสร้างความท้าทาย ต้องคอยเติมเต็มช่องว่าง และทำให้ชาวบ้านสามารถดูแลสุขภาพของตนเองได้ เพื่อไม่ให้เจ็บป่วยหรือดูแลสุขภาพของตนเองในยามเจ็บป่วยในเบื้องต้นได้ อันนี้ก็คือ “ระบบสุขภาพ” ที่ผมอยากจะเห็นในอนาคต

ส่วนการสร้างต้นทุนความรู้เพื่อให้ชาวบ้านสามารถดูแลสุขภาพตัวเองได้นั้น ที่ผ่านมาหน่วยงานต่างๆ ก็ได้สร้างต้นทุนเหล่านี้เอาไว้มากพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) รวมถึงกระทรวงสาธารณสุข ที่ได้ลงพื้นที่ไปยังชุมชนต่างๆ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน และหนุนเสริมความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพให้กับชาวบ้าน

ในขณะที่ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เอง ก็มีบทบาทหน้าที่ในการศึกษาวิจัยในประเด็นที่ยังเป็นช่องโหว่ของระบบสุขภาพ เช่น การเดินหน้าโครงการวิจัยมุ่งเป้าเรื่องโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD) หนึ่งในโจทย์งานวิจัยด้านการแพทย์และสาธารณสุข ที่เล็งเห็นถึงสถานการณ์สุขภาพของคนไทยที่กำลังเผชิญภาวะเสี่ยงจากโรคเรื้อรัง ที่มีปัจจัยมาจากพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ดื่มสุรา สูบบุหรี่ ขาดการออกกำลังกาย การบริโภคอาหารที่ทำลายสุขภาพ ฯลฯ การจัดแคมเปญสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม ภายใต้ชื่อ HEALTH@I สุขภาพคนไทยเริ่มต้นที่ “ฉัน” เพื่อรณรงค์การลดภาระโรคของคนไทยด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปสู่การมีสุขภาพดี รวมถึงการพัฒนานักวิจัยในเขตสุขภาพ เพื่อพัฒนาศักยภาพให้กับบุคลากรทางด้านสาธารณสุข ได้มีความรู้ด้านการวิจัยเชิงระบบและนโยบาย ตลอดจนการพัฒนาระบบสุขภาพที่ตอบสนองต่อปัญหาสาธารณสุขในพื้นที่ เป็นต้น

เหล่านี้จะเข้าไปเติมเต็มระบบสุขภาพ ตั้งแต่หน่วยที่เล็กที่สุดไปจนถึงระบบสุขภาพที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อให้ระบบสุขภาพของไทยมีความสมดุลและยั่งยืน และเพื่อให้ประชาชนคนไทยมีสุขภาพที่ดี และมีอายุที่ยืนยาว นี่คือเป้าประสงค์สูงสุดของเรา

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗ พ.ค. สุรีย์พร คลินิก เปิดตัวตึกสูงที่สุดแห่งวงการคลินิกสถาบันเสริมความงาม ฉลอง 20 ปีความสำเร็จพร้อมยกระดับชูเทคโนโลยีล้ำสมัย Volformer
๑๗ พ.ค. ปตท.สผ. จัดงานประชุม SSHE Forum 2024 ส่งเสริมวัฒนธรรมความปลอดภัยในการทำงาน
๑๗ พ.ค. บมจ. เอสไอเอส ดิสทริบิวชั่น (ประเทศไทย) แนะนำ ชุดล็อคประตูกลอนแม่เหล็กไฟฟ้า จากแบรนด์ HIP
๑๗ พ.ค. ซัมซุง อัปเกรดประสบการณ์การชมทุกมหรรมกีฬา ด้วยนวัตกรรม AI TV สุดล้ำ ชัดทุกแมตซ์เหมือนเชียร์ติดขอบสนาม
๑๗ พ.ค. ไทยพาณิชย์ปักหมุดผู้นำดิจิทัลแบงก์ นำ AI เสริมแกร่ง 360 องศา เปิด 3 นวัตกรรม AI ครั้งแรก! สร้างปรากฏการณ์ใหม่กลุ่มสินเชื่อรายย่อย และ Digital
๑๗ พ.ค. หัวใจเต้นช้า โรคหัวใจที่มักถูกมองข้าม
๑๗ พ.ค. DDD โชว์งบ Q1/67 กวาดกำไรทะยาน 317% YoY พร้อมลุยขยายตลาดสินค้าไลฟ์สไตล์ อัพผลงานปีนี้โตสวย
๑๗ พ.ค. PCC เปิดงบ Q1/67 รายได้โต 14.25% ยอดขายสินค้าหม้อแปลงไฟฟ้า - อุปกรณ์ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ เพิ่มขึ้น มั่นใจรายได้ปีนี้โต 10%
๑๗ พ.ค. บางจากฯ สานต่อพันธกิจสนับสนุนด้านกีฬาอย่างเป็นมิตรต่อโลก ร่วมจัดกิจกรรมเดิน-วิ่ง Olympic Day 2024 Together, For A Better
๑๗ พ.ค. บัตรเครดิต ttb ช้อปคุ้ม อิ่มครบ ได้มากกว่า รับ Magic Gift Voucher รวมมูลค่าสูงสุด 1,500 บาท ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลทั้ง 5