ส.อ.ท. จับมือ กพร. เร่งพัฒนามาตรฐานแรงงานไทย

พฤหัส ๒๘ สิงหาคม ๒๐๑๔ ๑๒:๑๖
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)ร่วมกับ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน จัดสัมมนา “พัฒนาคน พัฒนางาน..พัฒนามาตรฐานฝีมือแรงงาน” ในวันพุธที่ 27 สิงหาคม 2557 ณ ห้องแกรนด์ฮอลล์ (GH 201 - 202) ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ร่วมพัฒนายกระดับแรงงาน และเตรียมความพร้อมแรงงานเข้าสู่การเปิดเสรีภายใต้กรอบ AEC

นายสมพงศ์ นครศรี รองประธานอาวุโส สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และสภาอุตสาหกรรมฯ ได้ร่วมกันดำเนินการจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติตามการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม โดยในปี 2554 และปี 2555 กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ร่วมกับ 11 กลุ่มอุตสาหกรรม ของสภาอุตสาหกรรมฯ จัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ และวิธีการทดสอบมาตรฐาน เป็นจำนวนที่มากถึง 44 สาขาอาชีพได้สำเร็จ ถือเป็นมิติใหม่ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ที่ได้พัฒนากระบวนการในการจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติจนเป็นที่ยอมรับของสถานประกอบการ สอดคล้องกับการจ้างงานจริงในอุตสาหกรรม มีการนำไปใช้ในการทดสอบรับรองพนักงาน และจ่ายค่าตอบแทนตามระดับมาตรฐานที่กำหนด โดยขณะนี้มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติดังกล่าว ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นายสมพงศ์ กล่าวว่า จากผลงานและความร่วมมือดังกล่าว ทำให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้ร่วมกับ 11 กลุ่มอุตสาหกรรม ของสภาอุตสาหกรรมฯ อีกครั้ง ในการดำเนินการจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติเพิ่มอีก 44 สาขาอาชีพ ซึ่งจะได้นำเสนอร่างมาตรฐานดังกล่าว เพื่อรับฟังความคิดเห็น ทั้งจากภาคประกอบการ ภาครัฐ ภาคการศึกษา สมาคม องค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง รวมกว่า 500 คน พร้อมกันทั้ง 11 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร กลุ่มอุตสาหกรรมต่อเรือและซ่อมเรือ กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก กลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ กลุ่มอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ กลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น และกลุ่มอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ

“จากการเดินทางไปศึกษาระบบการรับรองความสามารถของบุคคลในประเทศชั้นนำหลายประเทศที่มีระบบดีๆ ทำให้ตนเองเกิดความคิดและพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นในประเทศไทยมาโดยตลอด

จนปัจจุบันสิ่งที่เกิดขึ้นคือความจริง ที่เจ้าของอาชีพมีความเข้มแข็ง ร่วมกันกำหนดความต้องการกำลังคนของตนเอง โดยมีภาครัฐเป็นผู้สนับสนุน ซึ่งถือเป็นภารกิจที่สำคัญ และถูกทิศทาง โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และสภาอุตสาหกรรมฯ ได้หารือถึงแผนงานและแนวทางในอนาคตไว้แล้วว่า งานนี้ต้องขยายผลและดำเนินการไปจนครบทุกอุตสาหกรรม และครบทุกกระบวนการของการรับรองความสามารถของคน ทั้งในเรื่องของการยกร่างมาตรฐานฝีมือแรงงาน และการนำมาตรฐานไปใช้ในการฝึกอบรม ทดสอบและรับรองฝีมือแรงงาน ทั้งแรงงานเข้าใหม่ และแรงงานในสถานประกอบการ รวมถึงใช้เป็นกรอบในการพัฒนาเส้นทางอาชีพ และกำหนดค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานต่อไป” นายสมพงศ์ กล่าว

ด้าน หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การพัฒนามาตรฐานฝีมือแรงงานเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่จะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีความยั่งยืน เพราะเมื่อผู้ประกอบกิจการมีการจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงาน หรือกำหนดกรอบความรู้ความสามารถ และสมรรถนะของงานในแต่ละตำแหน่งแล้วย่อมสามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารทรัพยากรบุคคลได้ เริ่มตั้งแต่กระบวนการคัดเลือกคน คือกำหนดกรอบความรู้ ความสามารถ และสมรรถนะของบุคคลที่จะรับเข้าทำงาน และคัดเลือกบุคลากรได้ตรงกับตำแหน่งที่ต้องการ

กระทรวงแรงงานมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการแรงงานซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และองค์ประกอบที่สำคัญและจำเป็นในการเพิ่มขีดความสามารถในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศประเทศ สู่ระดับโลก โดยดำเนินการผ่านระบบรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงานและค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ ซึ่งมีแนวทางดำเนินการดังนี้

1. พัฒนาและขับเคลื่อนขีดความสามารถในการแข่งขันของแรงงานและผู้ประกอบกิจการด้วยระบบรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงาน โดยเร่งสร้างระบบประเมินและรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงานโดยการใช้หลักการประเมิน (Competency) ที่สามารถเชื่อมโยงกับระบบการศึกษา ระบบการบริหารค่าจ้าง ค่าตอบแทน ส่งเสริมให้มีการจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานของผู้ประกอบอาชีพ

2. สร้างความร่วมมือและพัฒนาเครือข่ายการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อให้ภาคเอกชนและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับระบบการศึกษาและการพัฒนาแรงงานเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นในกระบวนการพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยการสนับสนุนให้สมาคม/องค์กรวิชาชีพ มีความเข้มแข็งเพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลและรับรองคุณภาพควบคุมจรรยาบรรณในการทำงานของแรงงานในสายอาชีพนั้นๆ

3. พัฒนาศักยภาพแรงงานและสถานประกอบกิจการเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพื่อพัฒนาศักยภาพแรงงานและผู้ประกอบกิจการไทยรองรับการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจภายในประเทศ และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในระดับภูมิภาค และนานาชาติ โดยส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของแรงงานและผู้ประกอบกิจการให้มีความรู้ทักษะด้านภาษาต่างประเทศ ความรู้ด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศที่จะช่วยให้แรงงานและผู้ประกอบกิจการสามารถเชื่อมโยงการดำเนินธุรกิจทั้งภายใน และต่างประเทศ รวมถึงส่งเสริมให้แรงงานมีผลิตภาพเพิ่มขึ้น

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗ พ.ค. สุรีย์พร คลินิก เปิดตัวตึกสูงที่สุดแห่งวงการคลินิกสถาบันเสริมความงาม ฉลอง 20 ปีความสำเร็จพร้อมยกระดับชูเทคโนโลยีล้ำสมัย Volformer
๑๗ พ.ค. ปตท.สผ. จัดงานประชุม SSHE Forum 2024 ส่งเสริมวัฒนธรรมความปลอดภัยในการทำงาน
๑๗ พ.ค. บมจ. เอสไอเอส ดิสทริบิวชั่น (ประเทศไทย) แนะนำ ชุดล็อคประตูกลอนแม่เหล็กไฟฟ้า จากแบรนด์ HIP
๑๗ พ.ค. ซัมซุง อัปเกรดประสบการณ์การชมทุกมหกรรมกีฬา ด้วยนวัตกรรม AI TV สุดล้ำ ชัดทุกแมตซ์เหมือนเชียร์ติดขอบสนาม
๑๗ พ.ค. ไทยพาณิชย์ปักหมุดผู้นำดิจิทัลแบงก์ นำ AI เสริมแกร่ง 360 องศา เปิด 3 นวัตกรรม AI ครั้งแรก! สร้างปรากฏการณ์ใหม่กลุ่มสินเชื่อรายย่อย และ Digital
๑๗ พ.ค. หัวใจเต้นช้า โรคหัวใจที่มักถูกมองข้าม
๑๗ พ.ค. DDD โชว์งบ Q1/67 กวาดกำไรทะยาน 317% YoY พร้อมลุยขยายตลาดสินค้าไลฟ์สไตล์ อัพผลงานปีนี้โตสวย
๑๗ พ.ค. PCC เปิดงบ Q1/67 รายได้โต 14.25% ยอดขายสินค้าหม้อแปลงไฟฟ้า - อุปกรณ์ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ เพิ่มขึ้น มั่นใจรายได้ปีนี้โต 10%
๑๗ พ.ค. บางจากฯ สานต่อพันธกิจสนับสนุนด้านกีฬาอย่างเป็นมิตรต่อโลก ร่วมจัดกิจกรรมเดิน-วิ่ง Olympic Day 2024 Together, For A Better
๑๗ พ.ค. บัตรเครดิต ttb ช้อปคุ้ม อิ่มครบ ได้มากกว่า รับ Magic Gift Voucher รวมมูลค่าสูงสุด 1,500 บาท ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลทั้ง 5