สรุปประเด็นสำคัญจากงานสัมมนา Capital Market Research Forum 5/2557

ศุกร์ ๐๓ ตุลาคม ๒๐๑๔ ๑๐:๑๖
“การเตรียมพร้อมสำหรับการวางแผนทางการเงินเพื่อวัยเกษียณของกลุ่มแรงงานในระบบ ช่วงอายุ 25 - 39 ปี”

โดย ดร. บุญเลิศ จิตรมณีโรจน์ และ ผศ.ดร. วีระชาติ กิเลนทอง

สถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบายมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

แรงงานในระบบในช่วงอายุ 25-39 ปี มีจำนวนประมาณ 47% ของแรงงานในระบบทั้งหมดซึ่งใหญ่กว่าแรงงานในช่วงอายุ 40-60 ปี การสร้างความตระหนักในด้านการออมการลงทุนเพื่อวัยเกษียณสำหรับแรงงานกลุ่มนี้จึงมีความสำคัญต่อการบรรเทาปัญหาสังคมผู้สูงอายุในอนาคต สถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้มอบหมายให้สถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยทำการสำรวจการเตรียมพร้อมสำหรับการวางแผนทางการเงินเพื่อวัยเกษียณของกลุ่มแรงงานในระบบ ช่วงอายุ 25 - 39 ปี จากกลุ่มตัวอย่าง 1,105 รายในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล

งายวิจัยได้สรุป 9 ปัจจัยขับเคลื่อนความเพียงพอของการออมเพื่อวัยเกษียณโดยเปรียบเทียบผลการวิเคราะห์ข้อมูลของแรงงานอายุ 25-39 ปีกับกลุ่มอายุ 40-60 ปี[1] พบว่า 63% ของแรงงานในกลุ่มอายุ 25-39 ปีมีโอกาสเกษียณทุกข์สูงกว่ากลุ่มอายุ 40-60 ปี

เนื่องจากกลุ่มอายุ 25-39 ปียังอยู่ในช่วงการเริ่มต้นสร้างรากฐานของชีวิตจึงให้ความสำคัญกับการออมเพื่อวัยเกษียณเป็นอันดับสุดท้ายเมื่อเทียบกับการออมเพื่อวัตถุประสงค์อื่น อย่างไรก็ตามอัตราการออมในปัจจุบันอยู่ในระดับ 20% ของรายได้ซึ่งใกล้เคียงกับกลุ่มอายุ 40-60 ปีที่อยู่ในวัยสะสมความมั่งคั่ง นอกจากนี้กลุ่มอายุ 25-39 ปีประเมินค่าใช้จ่ายในช่วงวัยเกษียณไว้ประมาณ 12.6% ของสินทรัพย์ ณ ปีที่เกษียณซึ่งสูงกว่ากลุ่มอายุ 40-60 ปีที่ประเมินไว้ที่ระดับ 5.7% อย่างไรก็ตามทั้งสองกลุ่มอายุยังคงประเมินค่าใช้จ่ายในวัยเกษียณไว้ต่ำกว่าที่ควรโดยประเมินว่าค่าใช้จ่ายหลังเกษียณจะเหลือเพียง 34-35% ของค่าใช้จ่ายก่อนเกษียณด้วย ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์การประเมินค่าใช้จ่ายหลังเกษีณที่ระดับ 70% ของค่าใช้จ่ายก่อนเกษียณตามหลักการวางแผนทางการเงิน

ปัจจัยด้านเวลาที่มีอิทธิพลต่อความเพียงพอของเงินออมในวัยเกษียณที่สำคัญได้แก่ อายุเริ่มต้นในการวางแผนทางการเงินเพื่อวัยเกษียณพบว่ากลุ่มอายุ 25-39 ปีเริ่มวางแผนตั้งแต่อายุ 33 ปีซึ่งเร็วกว่ากลุ่มอายุ 40-60 ปี ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีว่าจะมีระยะเวลาออมเพื่อวัยเกษียณนานกว่า อย่างไรก็ตามแรงงานในกลุ่มอายุ 25-39 ปีมีสัดส่วนผู้ที่คาดว่าจะเกษียณอายุงานก่อนกำหนด 33% ซึ่งสูงกว่ากลุ่มอายุ 40-60 ปี ซึ่งเป็นปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อความเพียงพอของเงินออมเพื่อวัยเกษียณ

ผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่คุณวิวรรณ ธาราหิรัญโชติ กรรมการและที่ปรึกษา สมาคมนักวางแผนการเงินไทย และคุณฉัตรรพี ตันติเฉลิม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด ผู้วิจารณ์ผลงานวิจัยมีความเห็นสอดคล้องในหลายประเด็น ได้แก่ 1) การให้ความรู้ด้านการวางแผนทางการเงินเพื่อวัยเกษียณซึ่งควรสร้างความตระหนักให้คนไทยเห็นเป็นเรื่องใกล้ตัวตั้งแต่เริ่มมีเงินได้โดยเรียนรู้เรื่องการวางแผนการใช้จ่ายก่อนนำไปสู่การวางแผนเพื่อวัยเกษียณ 2) เพิ่มความครอบคลุมของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกำหนดกองทุนต้นแบบ (default policy) เพื่อช่วยให้ผู้ลงทุนตัดสินใจเลือกกองทุนง่ายขึ้นแล้วจึงพัฒนาไปสู่ระบบ employee choice 3) ภาครัฐควรส่งเสริมให้เกิดการออมภาคบังคับซึ่งประสบความสำเร็จมากกว่าระบบสมัครใจ 4) เพิ่มความต่อเนื่องของการออมในกองทุนเพื่อการเกษียณ เช่น กรณีเกษียณอายุเป็นเหตุให้สิ้นสุดสมาชิกภาพจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือ กบข. ควรเปิดโอกาสให้โอนไปลงทุนต่อเนื่องในกองทุนอื่นได้โดยอัตโนมัติ เช่น RMF 5) พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินเพื่อการเกษียณประเภทควบการลงทุน (unit linked) โดยเฉพาะการลงทุนในตราสารทุนเพื่อโอกาสในการเพิ่มผลตอบแทน 6) พัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สามารถปรับสัดส่วนตราสารที่ลงทุนให้เหมาะกับอายุที่เพิ่มขึ้นของผู้ลงทุน

คุณวิวรรณให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่า กองทุนที่เหมาะสมกับการลงทุนเพื่อวัยเกษียณได้แก่ กองทุนผสม และควรส่งเสริมการลงทุนในตราสารทุน (equity culture) เพิ่มเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่สูงขึ้นโดยคำนึงถึงการยอมรับความเสี่ยงที่ลดลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น และข้อเสนอแนะสำหรับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนควรแสดงให้ผู้ลงทุนเห็นว่าการปรับเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในตราสารทุนไม่ได้เพิ่มความผันผวนให้กับผลตอบแทนของพอร์ตมากจนเกินระดับที่ยอมรับได้ และควรปรับแนวคิดในการลงทุนใน LTF โดยควรสนับสนุนให้นำเงินใหม่มาลงทุนเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ไม่ควรสนับสนุนการนำเงินที่ได้จากการขายเงินลงทุนที่ครบกำหนดตามเงื่อนไขมาลงทุนใหม่ ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้ลงทุนให้มีเงินออมมากขึ้น และบลจ.มีขนาดกองทุนภายใต้การบริหารมากขึ้น

คุณฉัตรรพีได้ให้ข้อเสนอแนะต่อผู้กำหนดนโยบายว่าไม่ควรกลัวความเสี่ยงแทนผู้ลงทุนซึ่งส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ที่ควรเป็นทางเลือกให้กับผู้ลงทุนเกิดขึ้นยาก แต่ควรสนับสนุนการให้ความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทุกประเภท และสนับสนุนให้ลงทุนโดยใช้บริการจากผู้บริหารการลงทุนมืออาชีพ

[1] โครงการวิจัยเรื่องการเตรียมพร้อมสำหรับการวางแผนทางการเงินเพื่อวัยเกษียณของกลุ่มแรงงานในระบบ ช่วงอายุ 40 - 60 ปี,

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, 2555

download เอกสารการสัมมนาสามารถได้ที่ www.set.or.th/setresearch

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๗ พ.ค. สุรีย์พร คลินิก เปิดตัวตึกสูงที่สุดแห่งวงการคลินิกสถาบันเสริมความงาม ฉลอง 20 ปีความสำเร็จพร้อมยกระดับชูเทคโนโลยีล้ำสมัย Volformer
๑๗ พ.ค. ปตท.สผ. จัดงานประชุม SSHE Forum 2024 ส่งเสริมวัฒนธรรมความปลอดภัยในการทำงาน
๑๗ พ.ค. บมจ. เอสไอเอส ดิสทริบิวชั่น (ประเทศไทย) แนะนำ ชุดล็อคประตูกลอนแม่เหล็กไฟฟ้า จากแบรนด์ HIP
๑๗ พ.ค. ซัมซุง อัปเกรดประสบการณ์การชมทุกมหรรมกีฬา ด้วยนวัตกรรม AI TV สุดล้ำ ชัดทุกแมตซ์เหมือนเชียร์ติดขอบสนาม
๑๗ พ.ค. ไทยพาณิชย์ปักหมุดผู้นำดิจิทัลแบงก์ นำ AI เสริมแกร่ง 360 องศา เปิด 3 นวัตกรรม AI ครั้งแรก! สร้างปรากฏการณ์ใหม่กลุ่มสินเชื่อรายย่อย และ Digital
๑๗ พ.ค. หัวใจเต้นช้า โรคหัวใจที่มักถูกมองข้าม
๑๗ พ.ค. DDD โชว์งบ Q1/67 กวาดกำไรทะยาน 317% YoY พร้อมลุยขยายตลาดสินค้าไลฟ์สไตล์ อัพผลงานปีนี้โตสวย
๑๗ พ.ค. PCC เปิดงบ Q1/67 รายได้โต 14.25% ยอดขายสินค้าหม้อแปลงไฟฟ้า - อุปกรณ์ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ เพิ่มขึ้น มั่นใจรายได้ปีนี้โต 10%
๑๗ พ.ค. บางจากฯ สานต่อพันธกิจสนับสนุนด้านกีฬาอย่างเป็นมิตรต่อโลก ร่วมจัดกิจกรรมเดิน-วิ่ง Olympic Day 2024 Together, For A Better
๑๗ พ.ค. บัตรเครดิต ttb ช้อปคุ้ม อิ่มครบ ได้มากกว่า รับ Magic Gift Voucher รวมมูลค่าสูงสุด 1,500 บาท ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลทั้ง 5