ถึงจะดูขัดความรู้สึกคนรอบข้างที่มักเชื่อกันว่าการทำงานในเมืองนั้นดูดีและมีอนาคต แต่ประสบการณ์เมื่อครั้งทำกิจกรรมค่ายอาสากับมูลนิธิโกมลคีมทองชักจูงให้ ”ธนภัทร”และเพื่อนสนใจงานพัฒนาชุมชน โดยเฉพาะกับภูมิลำเนาเกิดแถบภาคอีสานซึ่งทั้งหมดคือที่มาของโครงการฮักบ้านเกิด (ความสุขอยู่ที่บ้านเรา) ที่นอกจากจะมีเครือข่ายนักกิจกรรมเยาวชนร่วมด้วยช่วยกันแล้ว ยังมีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สนับสนุนอีกแรง
เมื่อถูกถามว่าสำนึกของความรักในบ้านเกิดจะถูกสร้างอย่างเป็นรูปธรรมได้อย่างไร “ธนภัทร” อธิบายว่า คนในชุมชนต้องค้นหาความภูมิใจของตัวเองและพัฒนาให้มีคุณค่าให้ได้ก่อน แต่ถึงเช่นนั้นความสำคัญไม่ได้อยู่แค่ผลลัพธ์หรือการเปลี่ยนแปลงทันทีทันใดแต่คือการฝึกทักษะให้เด็กและเยาวชนในถิ่นเกิดของเขา สนใจในเรื่องรอบตัวมากขึ้นโดยเฉพาะหัวใจจิตอาสา เสียสละ พร้อมจะลงแรงกายเพื่อสังคมส่วนรวม มากกว่าจะมองแค่ผลประโยชน์ส่วนตัวอย่างเดียว
“หลักใหญ่นั้นกว้างมาก เยาวชนทั้ง12 กลุ่มย่อยในภาคอีสานที่เข้าร่วมโครงการ จึงเอาแนวคิดการสร้างสุขภาวะ การมองถึงประโยชน์ส่วนรวมของชุมชน ไปออกแบบกิจกรรมของตัวเองตามความชอบ เช่น ค่ายเรียนรู้จิตวิญญาณชาวนากับคนรุ่นใหม่ ที่ให้เยาวชนไปเห็นวิถีของการทำนาจริงๆ โดยมีเป้าหมายให้เห็นถึงมิติของอาชีพทำนาซึ่งเป็นอาชีพพื้นถิ่น กลุ่มที่ทำเรื่องอนุรักษ์ป่าธรรมชาติที่ช่วยปลุกกระแสให้ชาวบ้านต่อต้านกลุ่มตัดไม้ การทำลายสิ่งแวดล้อมเพราะผลประโยชน์เล็กน้อย”
“เปรียบได้กับว่าโครงการไปเพิ่มพื้นที่เรียนรู้ พัฒนาศักยภาพและเยาชน กระบวนการเหล่านี้จะช่วยให้เยาวชนที่สนใจและมีศักยภาพเห็นความความสำคัญที่มีอยู่ในชุมชน ตระหนักที่จะให้ความสำคัญและภูมิใจในความมีอยู่ของชุมชนตัวเอง” เขาอธิบายเสริม
เมื่อสุดสัปดาห์ปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ณ ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนคนหนุ่มสาว ต.โพนแพง อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร คืออีกหนึ่งเวทีที่เปิดโอกาสให้เยาวชน “ฮักบ้านเกิด” ได้แลกเปลี่ยนผลงานและแนวคิดระหว่างกันภายใต้ชื่อ “มหกรรมความสุขอยู่ที่บ้านเรา”
ในซุ้มแสดงผลงานที่จัดวางอยู่รอบๆ “เบียร์-จันทร์จิรา สาขามุละ” นักเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนมัธยมวาริชภูมิ จ.สกลนคร และกลุ่มเพื่อนในโรงเรียนได้ร่วมนำเสนอผลงานในรูปแบบสื่อร่วมสมัย เช่น ภาพถ่าย หนังสั้น วีดีโอ สารคดี สิ่งพิมพ์ ตามแนวคิด”รักษ์ถิ่น”
“จันทร์จิรา” อธิบายว่า เธอและเพื่อนรุ่นเดียวกันชื่นชอบการเสพสื่อ เช่น โทรทัศน์และอินเทอร์เน็ตเป็นทุน เหตุเพราะด้านหนึ่งสื่อคือตัวแทนของความสมัยใหม่ สามารถดูได้ทุกที่ทุกเวลาและอยู่ได้ในหลายรูปแบบ เช่น อินเทอร์เน็ตซึ่งสามารถอัพโหลดและสื่อสารไปทั่วโลกได้จึงนำความภูมิใจในเรื่อง อาหาร ทัศนียภาพ ประวัติศาสตร์ ประเพณี ฯลฯ เสนอในรูปแบบสื่อต่างๆ
“การสร้างความภูมิใจให้เห็นถึงคุณค่าในชุมชนอาจไม่ใช่เรื่องที่ต้องอธิบายยากแต่พวกหนูมองว่าสามารถประยุกต์และนำเสนอในรูปแบบที่คนอื่นเข้าถึงได้ง่าย เช่น ชาวบ้านมีความภูมิใจที่ในท้องถิ่นซึ่งมีอาหารที่อร่อย อย่างแกงหวายของทางอีสาน ที่ใครมากินก็ต้องชอบ มีชนพื้นถิ่นอย่างคนภูไทที่สืบทอดมาตั้งแต่อดีต มีทัศนียภาพที่สวยงาม มีองค์พระธาตุศรีมงคลซึ่งเก่าแก่ เป็นที่เคารพของคนในชุมชน จึงนำเรื่องราวเหล่านี้มาบอกเล่าให้คนภายนอกได้เห็น”
“ส่วนคนที่เป็นคนในชุมชนเองเมื่อได้ชมสิ่งที่ตัวเองเห็นอยู่ทุกวันรูปแบบใหม่ๆ ก็เกิดความรู้สึกต่างออกไป เกิดความภูมิใจในภูมิปัญญาเหล่านี้” ตัวแทนนักเรียนมัธยมวาริชภูมิกล่าวและว่า ประสบการณ์ของการลงแรงจากกิจกรรมช่วยให้เธอและเพื่อนมองชุมชนอย่างลึกซึ้งมากขึ้นและอยากจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้บ้านของพวกเธอน่าอยู่เช่นเดิม
ในประเด็นด้านวัฒนธรรมและวิถีชีวิต “บิว-วรัญญา แสงมณี” นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนแก่งนาจารย์พิทยาคม จ.กาฬสินธุ์ หนึ่งใน ”กลุ่มเยาวชนข้าวเหนียวปั้นน้อย” ซึ่งทำกิจกรรมค่ายในชุมชน เล่าเพิ่มว่า กิจกรรมที่ทำช่วยเยาวชนได้หันมามองสิ่งรอบตัว ได้โอกาสศึกษาถึงวิถีชีวิตในชุมชนที่ยังคงเหลือความมีจิตอาสา การแบ่งปันน้ำใจของชาวบ้านควบคู่กับการเลือกที่จะมีชีวิตที่เรียบง่าย เช่น การทอเสื่อ ทอผ้า การทำเกษตรที่มุ่งตอบสนองการบริโภคเองมากกว่าเชิงพาณิชย์
“ช่วงเวลาที่ศึกษาชุมชนมันอาจไม่ได้ทำให้ใครเปลี่ยนแปลงทันที แต่ทำให้เราได้เห็นจริงในสิ่งที่เราเคยได้ยินคำบอกเล่า มีโอกาสได้คิดและทบทวนกับสิ่งที่เป็นอยู่” เธอสรุป
ขณะที่ หนุ่ม-เกียรติกร อัตรสาร นิสิตคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประธานสภาเด็กและเยาวชน จ.สกลนคร มองว่า แน่นอนที่ความสำคัญของกิจกรรมเช่นนี้ไม่ได้อยู่ที่ผลลัพธ์ที่จะเปลี่ยนแปลงทันที แต่เป็นการส่งเสริมให้เด็กมีพื้นที่แสดงศักยภาพและฝึกทักษะในสิ่งที่สนใจ มีหัวใจที่จะร่วมพัฒนาถิ่นกำเนิด
คุณค่าในสิ่งที่ทำจึงกลายเป็นความภาคภูมิใจ และนำพาความสุขมาให้แบบไม่ยากเลย