ซีพีเอฟ แนะเทคนิคเลี้ยงปลาฝ่าวิกฤติแล้ง

ศุกร์ ๑๓ มีนาคม ๒๐๑๕ ๑๖:๔๙
นายอดิศร์ กฤษณวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เปิดเผยว่า จากการประเมินสถานการณ์ภัยแล้งของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่าปี 2558 นี้ปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางมีปริมาณน้อยกว่าปีที่แล้ว ประมาณ 5,432 ล้านลูกบาศก์เมตร สอดคล้องกับข้อมูลของศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ที่ประเมินปริมาณน้ำฝนในปีนี้ พบว่าจะมีแนวโน้มน้อยกว่าปกติจากปรากฏการณ์เอลนินโญ่ ส่งผลให้สถานการณ์แล้งมีผลกระทบรุนแรงมากขึ้น ปริมาณน้ำต้นทุนที่ไหลลงสู่ที่ราบมีน้อยลง ซึ่งภัยแล้งกอปรกับสภาวะอากาศร้อนในปัจจุบัน ส่งผลโดยตรงต่อการเจริญเติบโตของปลาเลี้ยงทุกชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งปลานิลและปลาทับทิมที่เป็นปลาเศรษฐกิจที่สำคัญ เนื่องจากอุณหภูมิน้ำที่เหมาะสมกับการเลี้ยงปลาจะอยู่ที่ 26-32 องศาเซลเซียส รวมถึงคุณภาพน้ำในด้านต่างๆ ที่จะผันผวนมากยิ่งขึ้น ซึ่งในพื้นที่ที่ประสบภัยแล้งจะแนะนำเกษตรกรไม่ให้ลงเลี้ยงปลา หรือชะลอการเลี้ยงไปสักระยะหนึ่ง เพื่อรอให้มีปริมาณน้ำมากเพียงพอและมีคุณภาพที่เหมาะสม สำหรับในพื้นที่ที่ยังสามารถลงเลี้ยงปลาได้ ซีพีเอฟมีเทคนิควิธีการเลี้ยงปลามาแนะนำเกษตรกรเพื่อลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น

นายอดิศร์ กล่าวว่า สำหรับเกษตรกรที่เลี้ยงปลาในแหล่งน้ำเปิด อันดับแรกต้องหลีกเลี่ยงการเลี้ยงในแหล่งน้ำตื้น อัตราการไหลของน้ำมีน้อย หรือเป็นจุดตกตะกอน แหล่งน้ำที่ใช้วางกระชังปลาต้องเป็นน้ำสะอาด มีกระแสน้ำไหลดีตลอดเวลาไม่ต่ำกว่า 15 เมตรต่อนาที ไม่ควรวางกระชังในน้ำนิ่ง และต้องเป็นจุดที่มีการตกตะกอนน้อย จากนั้นต้องบริหารจัดการการเลี้ยงด้วยการลดปริมาณปลาที่จะเลี้ยงลงเหลือประมาณร้อยละ 60-70 จากภาวะปกติ เพื่อให้ปลาอยู่สบายไม่แออัดช่วยลดความเครียดที่จะเกิดขึ้นได้ เนื่องจากปริมาณออกซิเจนที่ละลายน้ำได้จะลดลง อย่างไรก็ตาม หากผู้เลี้ยงต้องการเลี้ยงปลาในปริมาณเท่ากับที่เคยเลี้ยงในภาวะปกติ ขอแนะนำให้พิจารณาเพิ่มจำนวนกระชังแทน

“กรณีที่ปริมาณน้ำลดลงมากอาจมีผลต่อปริมาณออกซิเจนที่ละลายในน้ำมีน้อยลง เกษตรกรควรเพิ่มออกซิเจนในน้ำด้วยการติดตั้งเครื่องให้อากาศในกระชัง โดยเทคโนโลยีนี้ซีพีเอฟได้พัฒนาต่อยอดมาจากระบบให้อากาศในบ่อเลี้ยงกุ้ง พบว่าสามารถเพิ่มอากาศในน้ำของระบบกระชังปลาได้เป็นอย่างดี”

ปัจจุบันซีพีเอฟ ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในแหล่งน้ำ เช่น แม่น้ำ และเขื่อน ใช้เครื่องให้อากาศดังกล่าวอย่างแพร่หลาย เพราะเมื่อออกซิเจนในน้ำเพิ่มขึ้นและการไหลของน้ำผ่านกระชังดีขึ้น จะทำให้การเลี้ยงปลามีประสิทธิภาพดีขึ้น ปลาเติบโตได้ดีขึ้น และมีความต้านทานโรคดี

นอกจากนี้ สภาพอากาศร้อนจัดจะเพิ่มความเครียดให้กับปลาและทำให้ปลามีภูมิต้านทานลดลง เกษตรกรจึงควรเพิ่มวิตามินซีให้ปลากินสัปดาห์ละครั้ง ติดต่อกัน 3 วัน เพื่อช่วยเพิ่มภูมิต้านทานโรคแก่ปลา ควบคู่กับการใช้สารโปรไบโอติก (Probiotics) ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่มีประโยชน์ เพื่อช่วยควบคุมเชื้อก่อโรคในตัวปลาได้ และควรให้สารเพิ่มภูมิต้านทานคือ เบต้ากลูแคน ที่สามารถกระตุ้นระบบภูมิต้านทานของปลาช่วยป้องกันโรคติดเชื้อจากแบคทีเรียต่างๆได้

สำหรับการให้อาหารเป็นเรื่องที่เกษตรกรต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยให้อาหารเท่าที่ปลากินได้ในแต่ละมื้อ อาจแบ่งการให้อาหารเป็น 5-6 มื้อต่อวัน เพื่อกระตุ้นการกิน ที่สำคัญต้องหมั่นสังเกตการกินอาหารของปลา เพราะปลาอาจกินอาหารลดลงในช่วงอากาศร้อนจัด ที่สำคัญไม่ควรปล่อยให้อาหารลอยน้ำเกิน 15 นาที หากกินไม่หมดต้องรีบตักอาหารออก อย่าให้อาหารเหลือลอยน้ำซึ่งจะกลายเป็นอาหารของแบคทีเรีย และต้องปรับปริมาณอาหารให้พอดีกับการกิน

นายอดิศร์ กล่าวอีกว่า ในกรณีที่อากาศร้อนจัดเกษตรกรต้องทำการลดอุณหภูมิของน้ำลง เพื่อลดความเสี่ยงในกรณีที่ปลาอาจป่วยจากอากาศร้อนจัดดังได้กล่าวแล้ว สำหรับการเลี้ยงปลานิลและปลาทับทิมในกระชัง ควรใช้สแลนด์ดำคลุมกระชังปลาหรือบ่อเลี้ยง เพื่อช่วยควบคุมอุณหภูมิและลดความเครียดจากแสง (light stress) ที่เกิดจากการถูกแสงแดดจ้าส่องกระทบโดยตรง ซึ่งจะทำให้ปลากินอาหารลดลง โตช้า และป่วยในระยะต่อไป ส่วนการเลี้ยงปลาในบ่อต้องมีการควบคุมคุณภาพน้ำ โดยปรับสภาพให้น้ำลึกไม่ต่ำกว่า 1.8 เมตร ทำความขุ่นใส 40-50 เซนติเมตร ทั้งนี้ น้ำที่อุณหภูมิสูงขึ้นออกซิเจนที่ละลายในน้ำจะลดลง และปริมาณแพลงตอนจะเติบโตอย่างรวดเร็วซึ่งเป็นตัวแย่งใช้ออกซิเจน จึงต้องตรวจวัดออกซิเจนที่ละลายในน้ำ (Dissolved Oxygen : DO) อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเช้ามืด หากปริมาณออกซิเจนที่ละลายน้ำได้ต่ำกว่า 5 ppm ต้องควบคุมความขุ่นใสของน้ำที่เกิดจากแพลงตอน ต้องไม่ต่ำกว่า40-50 เซนติเมตร หรือเพิ่มการใช้เครื่องให้อากาศและใช้สารโปรไบโอติกใส่ในบ่ออย่างสม่ำเสมอ

นอกจากนี้ ต้องหมั่นตรวจสอบสุขภาพปลาด้วยการสุ่มตรวจวิการและพาราไซต์ทุกๆสัปดาห์ จากการวัดค่าของแอมโมเนียรวมที่ละลายน้ำไม่ควรเกิน 0.5 ppm ประกอบกับมีระบบป้องกันโรคที่ดี โดยการทำความสะอาดกระชังบ่อยครั้งขึ้น เนื่องจากในฤดูร้อนพาราไซต์และแบคทีเรียจะเติบโตอย่างรวดเร็วเพราะมีอาหารในธรรมชาติมาก จึงต้องกำจัดวัชพืชน้ำและสาหร่ายไม่ให้เกาะกระชัง ซึ่งจะกีดขวางทางการไหลของน้ำผ่านกระชัง ทำให้ออกซิเจนในกระชังต่ำลง

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๐๗ พลัส พร็อพเพอร์ตี้ เป็นวิทยากรพิเศษ Brokerage and selling strategy ให้กับโครงการปริญญาโทธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
๑๖:๓๓ เจโทรฯ จัดงาน JAPAN PREMIUM HOTATE - From HOKKAIDO Ocean to your Table - ชูความสำเร็จ ดันส่งออกหอยเชลล์โฮตาเตะจากญี่ปุ่นมาไทย โตขึ้นเป็น 2.3
๑๖:๑๒ การ์ทเนอร์เผยคาดการณ์ 8 ไซเบอร์ซีเคียวริตี้ แห่งปี 2567
๑๖:๓๖ KGI จัดพิธีทำบุญบริษัท เปิดสำนักงานแห่งใหม่ที่ One Bangkok ด้วยแนวคิดพื้นที่แห่งความยั่งยืน
๑๖:๓๕ LINE STICKERS เสิร์ฟฟีเจอร์ใหม่แกะกล่อง 'คอมบิเนชัน สติกเกอร์' ส่งสติกเกอร์หลายตัว ได้ในคราวเดียว เพิ่มความสนุกทวีคูณให้การแชท
๑๖:๕๔ 'จุฬาฯ' จับมือ 'ไอ ทู เอ็นเตอร์ไพรซ์' วิจัยและพัฒนาการจัดการกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ขับเคลื่อนสังคมคาร์บอนต่ำ
๑๖:๑๙ ประกาศ!! พร้อมจัดงาน PET Expo Thailand 2024
๑๖:๔๓ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค เปิดตัวซอฟต์แวร์สำหรับการบริหารจัดการพลังงาน เพื่อความยั่งยืน ในงาน Future Energy
๑๖:๕๘ เตรียมสายจูงให้พร้อมแล้วพาน้องแมวน้องหมามาสนุกกันอีกครั้งกับ โรยัล คานิน ในงาน Pet Expo Thailand 2024
๑๕:๒๖ MAGURO หุ้นไอพีโอสุดฮอตจัดประชุมนักวิเคราะห์ ก่อนขาย IPO 34 ล้านหุ้นไตรมาสนี้