ท้องทะเลมูลค่า 24 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ จ่อวิกฤติ

จันทร์ ๐๘ มิถุนายน ๒๐๑๕ ๑๑:๐๐
จากการประเมินมูลค่าความร่ำรวยของท้องทะเลพบว่าสามารถแข่งขันกับเขตเศรษฐกิจชั้นนำของโลกได้เป็นอย่างดี แต่ทว่าปัจจุบัน ทรัพยากรทางทะเลเหล่านั้นกำลังลดลงอย่างรวดเร็ว ตามรายงาน ข้อเสนอแนะ การฟื้นฟูเศรษฐกิจทางทะเล ปี พ.ศ.2558 ของ WWF หรือ กองทุนสัตว์ป่าโลกที่เผยแพร่ออกมาในวันทะเลโลก (World Oceans Day) ในวันนี้ วิเคราะห์ถึงหน้าที่ของท้องทะเลในการเป็นแหล่งทรัพยากรให้กับระบบเศรษฐกิจที่สำคัญและชี้ให้เห็นถึงภัยคุกคามที่กำลังทำให้ท้องทะเลค่อยๆ เสื่อมถอยลง

โดยรายงานระบุว่า มูลค่าสินทรัพย์ของท้องทะเลที่สำคัญของโลกนั้นคาดกันว่ามีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 24 ล้านล้านเหรียญสหรัฐหรือกว่า

800 ล้านล้านบาท ซึ่งหากเปรียบเทียบกับเศรษฐกิจ 10 อันดับต้นๆ ของโลกแล้ว จะทำให้มหาสมุทรนั้นติดอยู่ในอันดับที่ 7 โดยมีมูลค่าของสินค้าและบริการรายปีสูงถึง 2.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

รายงานการฟื้นฟูเศรษฐกิจทางทะเลฉบับนี้ มุ่งเน้นศึกษาฐานสินทรัพย์ของท้องทะเล โดยได้รับความร่วมมือจากสถาบันการเปลี่ยนแปลงของโลก (The Global Change Institute: GCI) แห่งมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์และกลุ่มที่ปรึกษาบอสตัน (The Boston Consulting Group: BCG) โดยรายงานเปิดเผยความมั่งคั่งอันมหาศาลของท้องทะเลผ่านการประเมินค่าของสินค้าและบริการทางทะเลอันหลากหลาย ตั้งแต่การทำประมงไปจนถึงการป้องกันพายุชายฝั่ง และยังอธิบายถึงการทำลายทรัพยากรทางทะเลอย่างไม่หยุดหย่อนจากการแสวงหาผลประโยชน์จนเกินควร การปฏิบัติอย่างผิดๆ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“ท้องทะเลมีความมั่งคั่งสูสีกับประเทศที่ร่ำรวยที่สุดของโลกเลยทีเดียว แต่ถึงอย่างนั้นก็สามารถจม ลงไปอยู่ในส่วนที่ลึกที่สุดของเศรษฐกิจได้เช่นกัน” นายมาร์โค แลมเบอร์ตินี่ ผู้อำนวยการกองทุนสัตว์ป่าโลกกล่าว “หากมองในฐานะผู้ถือหุ้น พวกเราไม่สามารถคาดหวังที่จะใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์อันมีค่าของท้องทะเลต่อไปโดยปราศจากการคิดและลงมือทำเพื่ออนาคตของมัน”

โดยรายงานระบุว่า 2 ใน 3 ของมูลค่ารายปีของท้องทะเลขึ้นอยู่กับปัจจัยความสมบูรณ์ที่เป็นส่วนสำคัญในการคงปริมาณผลผลิตทางเศรษฐกิจประจำปีนั้นๆ ไว้ได้ ซึ่งการทำประมงแบบทำลายล้าง การตัดไม้ทำลายป่าโกงกางหรือป่าชายเลน รวมถึงการหายไปของปะการังและหญ้าทะเลจำนวนมากนั้นเป็นภัยคุกคามอย่างร้ายแรงต่อกลไกเศรษฐกิจทางทะเล ที่เอื้อต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนทั่วโลก

โดยนายดักลาส บีล ผู้ถือหุ้นและกรรมการผู้จัดการกลุ่มที่ปรึกษาบอสตันกล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “ในการประเมินมูลค่าทั้งมูลค่ารายปีและมูลค่าสินทรัพย์ของท้องทะเลทำให้เราเห็นว่าสิ่งที่ยากในการระบุเป็นตัวเลขก็คือมูลค่าทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม เราหวังว่านี่จะเป็นสิ่งย้ำเตือนให้เหล่า ผู้ประกอบธุรกิจและผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบายทั้งหลายตัดสินใจการดำเนินการต่างๆ ที่จะส่งผลกับอนาคตของเศรษฐกิจทางทะเลของเราอย่างชาญฉลาดและถี่ถ้วนมากขึ้น”

ผลการวิจัยในรายงานชี้ให้เห็นว่าทะเลในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วกว่าทุกช่วงเวลาในรอบหลายล้านปีนี้ ในขณะที่การเติบโตของประชากรมนุษย์และการพึ่งพาอาศัยทรัพยากรทางทะเลมีมากขึ้น ทำให้การฟื้นฟูเศรษฐกิจทางทะเลและสินทรัพย์สำคัญของมันกลายเป็นปัญหาเร่งด่วนระดับโลก

“ท้องทะเลกำลังตกอยู่ในความเสี่ยงสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ที่มีการบันทึกไว้ เราจับปลามามากเกินไป สร้างมลพิษไว้มากเกินไป และทำให้ท้องทะเลกลายเป็นกรดและอุ่นเกินไปจนทำให้ระบบฟื้นฟูตัวเองทางธรรมชาติหยุดทำงาน” ศาสตราจารย์โอเว โฮ-กัลด์เบิร์ก หัวหน้าทีมผู้เขียนรายงานดังกล่าว และผู้อำนวยการสถาบันการเปลี่ยนแปลงของโลกแห่งมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์กล่าว

การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นตัวการสำคัญในการทำให้ความสมบูรณ์ของท้องทะเลถดถอยลง โดยผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่าหากอุณหภูมิของน้ำทะเลเพิ่มขึ้นด้วยอัตราคงที่จะส่งผล ให้แนวปะการังอันเป็นแหล่งอาหาร ทำมาหากิน และแนวป้องกันพายุให้กับผู้คนหลายร้อยล้านคนหายไปอย่างสมบูรณ์ในปี 2593 นอกจากนั้นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังก่อให้เกิดปฏิกิริยาที่ทำให้น้ำทะเลมีความเป็นกรดสูงขึ้น ซึ่งจะต้องใช้เวลาหลายร้อยอายุคนในการฟื้นฟู

นอกจากนี้การแสวงหาผลประโยชน์จนเกินควรก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้ความสมบูรณ์ของท้องทะเลเสื่อมถอยลงเช่นกัน โดยทำให้ปลาร้อยละ 90 ของทั่วโลกถูกจับมาเพื่อการแสวงหาผลประโยชน์อย่างเต็มที่และเกินควร ซึ่งส่งผลให้ประชากรของปลาทูน่าครีบน้ำเงินแปซิฟิกเพียง ชนิดเดียวลดลงกว่าร้อยละ 96 จากประชากรทั้งหมด

มันยังไม่สายเกินไปที่จะสวนกระแสที่ก่อให้เกิดปัญหานี้ และกลับมาคืนความสมบูรณ์ให้ท้องทะเลเพื่อประโยชน์แก่ผู้คน เศรษฐกิจ รวมถึงธรรมชาติ ด้วย 8 วิธีการดำเนินการเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลให้กลับคืนสู่ศักยภาพสูงสุดที่ระบุไว้ในรายงานการฟื้นฟูเศรษฐกิจทางทะเลฉบับดังกล่าว

โดยภายใต้วิธีการแก้ปัญหาในสภาวะวิกฤตที่ปรากกฏในรายงานฉบับนี้นั้นจะแฝงการฟื้นฟูท้องทะเลอยู่ในเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ เพื่อให้มีการดำเนินการเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและสร้างพันธสัญญาที่แข็งแกร่งในการปกป้องพื้นที่ชายฝั่งและท้องทะเล

โดยนายแลมเบอร์ตินี่กล่าวว่า “ท้องทะเลให้อาหาร ให้โอกาสในการประกอบอาชีพ และสุขภาพที่ดีแก่เรา แต่เรากลับทำให้มันล่มสลายลงต่อหน้าต่อตา หากการเสื่อมถอยลงของความสมบูรณ์ในท้องทะเลไม่ทำให้ผู้นำของเรารู้สึกอะไร บางทีการที่เศรษฐกิจตกต่ำอาจจะทำให้คิดอะไรได้บ้างก็ เป็นได้ พวกเรามีหน้าที่สำคัญยิ่งในการปกป้องท้องทะเล เริ่มจากการสร้างพันธสัญญาเกี่ยวกับการดูแลสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาอย่างยั่งยืนขึ้นมาจริงๆ ทั่วโลก”

ด้วยเหตุนี้ WWF จึงเริ่มการรณรงค์เพื่อท้องทะเลขึ้นมาในชื่อ “Sustain Our Seas” จากการทำงานนับทศวรรษขององค์กรและผู้ร่วมอุดมการณ์ในการอนุรักษ์ท้องทะเล โดย WWF ได้ทำงานร่วมกับภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม เพื่อผลักดันให้เหล่าผู้มีอำนาจหามาตรการเร่งด่วนเพื่อฟื้นคืนเศรษฐกิจทางทะเล รวมถึงปกป้องผู้คนและการดำรงอยู่ของคนหลายพันล้านชีวิตทั่วโลก

“การทำประมงและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง รวมทั้งการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำต้องปรับเปลี่ยน เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมอื่นๆที่ต้องคำนึงถึงต้นทุนทางธรรมชาติและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทาน ยกตัวอย่าง การเพาะเลี้ยงกุ้ง 1 กิโลกรัมใช้ปลาป่นในอาหารกุ้งโดยเฉลี่ย 400 ถึง 500 กรัม คิดเป็นร้อยละ 50 ของน้ำหนักกุ้ง ดังนั้นจะเห็นว่าอาหารที่เราได้มาจากการเพาะเลี้ยงนั้นใช้ทรัพยากรที่มาจากธรรมชาติมากกว่าที่เราคิด ผู้บริโภคก็ต้องรู้ที่มาและความเชื่อมโยง เราต้องนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ผลการวิจัย และเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้การทำประมงมีความยั่งยืน ขณะเดียวกันหน่วยงานรับผิดชอบต้องให้ความสำคัญและเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง โดยร่วมมือกับชาวประมง ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค เพื่อให้เราสามารถยืนอยู่ในตลาดโลกได้ต่อไป ถ้าเราไม่ลงมือตั้งแต่ตอนนี้ และปล่อยให้มีการทำประมงแบบทำลายล้างและเกินขีดความสามารถที่ธรรมชาติจะฟื้นตัวเองได้อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ปลาหลายชนิดก็จะสูญพันธุ์ไปในคราวเดียวกัน และยากที่จะฟื้นฟูกลับมา ซึ่งจะกระทบกับผู้คนจำนวนมาก” นางสาวกฤษณา แก้วปลั่ง ผู้จัดการโครงการตลาดยั่งยืน (Market Transformation Initiative-MTI) กล่าว

ประเทศไทยนับเป็นผู้ผลิตและส่งออกอาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลก WWF-ประเทศไทยจึงดำเนินโครงการตลาดยั่งยืน(Market Transformation Initiative-MTI) โดยเริ่มดำเนินงานส่วนของอาหารทะเล ทั้งชนิดที่จับจากธรรมชาติและเพาะเลี้ยง เพื่อความยั่งยืนและสร้างกลไกการตรวจสอบย้อนกลับ (traceability) ทางฝั่งของผู้ผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยมีการจัดทำโครงการปรับปรุงการทำประมง (FIPs) ด้วยการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ ซึ่งรวมถึง ชาวประมง ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำ ภาครัฐ(กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานหลัก) ภาควิชาการ และองค์กรพัฒนาเอกชน เพื่อความยั่งยืนของท้องทะเลไทย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๒๗ เม.ย. อแมนด้า ชาร์ลีน ออบดัม VICHY LIFTACTIV BRAND PARTNER ตัวแทนประเทศไทย ร่วมงาน 'V.I.C VICHY INTEGRATIVE CENTER' อีเว้นท์สุดยิ่งใหญ่ในรอบ 5 ปี ของแบรนด์ VICHY (วิชี่) อวดลุคเซ็กซี่สุดฮอต สวย ปัง
๒๖ เม.ย. ไทยพีบีเอสผนึกกำลัง สสส. ผลิต และเผยแพร่เนื้อหาส่งเสริมสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว
๒๖ เม.ย. NPS ร่วมสืบสานประเพณีสงกรานต์ชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ประจำปี 2567
๒๖ เม.ย. แพทย์แผนไทย มทร.ธัญบุรี แนะฤดูร้อนควรทานพืชผักที่มีฤทธิ์เย็นช่วยลดความร้อนในร่างกาย
๒๖ เม.ย. แพรนด้า จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2566
๒๖ เม.ย. RBRU Herb Shot ขยายศักยภาพทางธุรกิจ รุกตลาดอินเดีย
๒๖ เม.ย. ไฮเออร์ ประเทศไทย เดินเกมรุกไตรมาส 2 เปิดตัวตู้เย็นรุ่นใหม่ Multi-door HRF-MD679 ตั้งเป้าปี 67 ดันยอดขายตู้เย็นโต
๒๖ เม.ย. เอ็น.ซี.ซี.ฯ ประกาศจัดงาน PET EXPO THAILAND 2024 ระดมสินค้า บริการ ลดหนักจัดเต็ม รับกระแส Petsumer ดันตลาดสัตว์เลี้ยงโตแรง
๒๖ เม.ย. ธอส. ขานรับนโยบายรัฐบาล ลดอัตราดอกเบี้ย MRR 0.25% ต่อปี พร้อมส่งเสริมวินัยการออม ด้วย เงินฝากออมทรัพย์เก็บออม ดอกเบี้ยสูงถึง 1.95%
๒๖ เม.ย. ManageEngine ลดความซับซ้อน ช่วยองค์กรจัดการต้นทุนบนคลาวด์ทั่วมัลติคลาวด์ได้ง่ายขึ้น พร้อมรองรับแพลตฟอร์ม Google Cloud