ภาพรวมความเชื่อมั่นเศรษฐกิจไตรมาส 2 ของกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ใน APAC สดใสขึ้น ขณะที่ไทยกลับลดลง

พุธ ๐๘ กรกฎาคม ๒๐๑๕ ๑๐:๑๖
ดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจในกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ของเอเชียแปซิฟิกเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 จากผลการสำรวจธุรกิจนานาชาติของแกรนท์ ธอนตัน หรือ Grant Thornton's International Business Report (IBR) ซึ่งจัดทำการสำรวจทัศนคติของผู้บริหารธุรกิจ 2,580 คนทั่วโลกรายไตรมาส โดยประเทศจีนมีการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกมากที่สุด แต่ความผันผวนในตลาดหุ้นจีนที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าความเชื่อมั่นดังกล่าวนั้นอาจยังไม่แน่นอน ขณะที่ผู้บริหารธุรกิจทั่วทั้งภูมิภาคโดยรวมยังคงมีเพลิดเพลินต่อโอกาสในการขยายตัวของธุรกิจ

ทัศนคติด้านบวกของธุรกิจในกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ของเอเชียแปซิฟิกเพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 43 ในไตรมาสที่ 1 เป็นร้อยละ 52 ในไตรมาสที่ 2 โดยมีแรงผลักดันสำคัญจากประเทศจีนที่ตัวเลขทัศนคติด้านบวกเพิ่มขึ้นร้อยละ 12 จากไตรมาสก่อนกลายเป็นร้อยละ 46 และประเทศอื่นๆ อย่าง อินเดีย (ร้อยละ 85) ฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 78) และอินโดนีเซีย (ร้อยละ 60) ซึ่งแม้จะมีทัศนคติด้านบวกลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน แต่ยังคงรักษาตำแหน่งอยู่ใน 10 อันดับแรกของประเทศที่มีทัศนคติด้านบวกสูงสุดในโลก

ส่วนในประเทศไทย ทัศนคติด้านบวกลดลงจากร้อยละ 36 ในไตรมาสก่อนเป็นร้อยละ 10 ในไตรมาสที่ 2 นี้ ซึ่งมองว่าอาจเป็นผลกระทบจากประเด็นปัญหาด้านอุตสาหกรรมการประมง อุตสาหกรรมการบิน แนวโน้มที่จะเกิดภาวะแล้งในภาคกลาง ตลอดจนการที่ประเทศคู่ค้าสำคัญมีสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งผู้บริหารธุรกิจในประเทศไทยกล่าวว่าสิ่งที่น่าวิตกกังวลที่สำคัญคือการขาดแคลนความคิดริเริ่มเพื่อกระตุ้นการเติบโต

นายแอนดรูว์ แม็คบีน หุ้นส่วนและผู้เชี่ยวชาญด้านประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ของแกรนท์ ธอนตัน ในประเทศไทย กล่าวว่า "ทัศนคติด้านบวกที่เพิ่มสูงขึ้นในจีนน่าจะเป็นผลดีต่อทั่วทั้งภูมิภาค

หากสามารถทำให้เกิดความมั่นคงในตลาดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้บริโภคชาวจีนเริ่มมีความต้องการนำเข้าสินค้าในขณะที่สภาพเศรษฐกิจกำลังชะลอตัวเช่นนี้ นอกจากนี้ ประเทศจีนกำลังมองหาสถานที่น่าลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยอาจจะได้รับผลประโยชน์ไปด้วย ส่วนอินเดียแม้มีการปฏิรูปในทางที่ดี แต่ก็ยังมีอะไรที่ต้องทำอีกมากอย่างในเรื่องการสร้างงาน หากอินเดียต้องการได้ประโยชน์จากการที่มีประชากรจำนวนมาก ขณะที่อินโดนีเซียก็ได้รับผลบวกจากการที่ราคาน้ำมันลดลง แต่โครงสร้างพื้นฐานส่วนใหญ่ยังคงไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้ฉุดรั้งการเติบโตทางธุรกิจ"

"ในประเทศไทย เรากำลังพยายามหาเหตุผลจำนวนมากเสริมสร้างทัศนคติด้านบวกในเวลานี้ ซึ่งรัฐบาลมุ่งเน้นในเรื่องความมีเสถียรภาพมากกว่าความเฟื่องฟูของเศรษฐกิจ แต่ก็อาจโต้แย้งได้ว่าอย่างน้อยเป็นการยับยั้งความผันผวนทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงในปีที่ผ่านมา และรัฐบาลยังพยายามจัดระเบียบประเด็นสำคัญที่ยังไม่ได้รับการจัดการมาเป็นเวลาหลายปี ส่วนประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลวที่ใหญ่ที่สุดของโลก ก็ได้กระทบต่อภาพรวมราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลกที่ผันผวนเช่นกัน"

ทั้งนี้ การขาดแคลนแรงงานฝีมือยังคงเป็นปัญหาสำหรับภูมิภาคเอเซียแปซิฟิก โดยราว 1 ใน 3 ของนักธุรกิจระบุว่า การขาดแคลนบุคลากรที่มีความสามารถเป็นข้อจำกัดด้านโอกาสในการเติบโต (ร้อยละ 36) ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลก (ร้อยละ 29) และเป็นข้อวิตกกังวลที่สำคัญสำหรับธุรกิจในอินเดีย (ร้อยละ 64) และฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 44)

แอนดรูว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า "ภูมิศาสตร์ประชากรมีบทบาทสำคัญต่อภาพรวมของทวีป กล่าวคือประเทศจีนกำลังประสบกับสภาพสังคมอาวุโสและแรงงานย้ายถิ่นฐานมาทำงานในตัวเมืองลดน้อยลง ทางด้านอินเดีย แม้ประชากรส่วนใหญ่จะอยู่ในวัยหนุ่มสาวหรือวัยทำงาน แต่นักธุรกิจยังมีความกังวลเนื่องจากยังขาดแคลนแรงงานมีทักษะ ส่วนประเทศไทยมีอัตราการว่างงานเกือบเป็นศูนย์ และมีประชากรที่เข้าสู่วัยอาวุโสอย่างรวดเร็ว ดังนั้นเราอาจต้องหาแรงงานจากต่างประเทศเข้ามาเพิ่ม อย่างไรก็ตาม นโยบายการเข้าเมืองของเราไม่ได้ตอบรับกับความต้องการแรงงานนัก ดังนั้นในระยะกลาง เราอาจจะสะดุดหรือเกิดความท้าทายต่อปัญหาดังกล่าวนี้"

ทัศนคติด้านบวกของธุรกิจทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 33 ในไตรมาสที่ 1 เป็นร้อยละ 45 ในไตรมาสที่ 2 โดยกลุ่มเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดของโลกหลายกลุ่มมีพัฒนาการอย่างมีนัยสำคัญ สำหรับสหรัฐอเมริกาซึ่งธุรกิจมีการจ้างงานมากขึ้นนั้น ทัศนคติด้านบวกเพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 43 เป็นร้อยละ 54 และในญี่ปุ่นจากร้อยละ -17 เป็นร้อยละ 8 ส่วนในยุโรปก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 โดยขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 58

แอนดรูว์ กล่าวสรุปว่า "แม้ว่าอนาคตของประเทศกรีซในฐานะสมาชิกสหภาพยุโรปจะยังมีความไม่แน่นอน และมีความไม่มั่นคงทางการเมืองในทั่วโลก แต่ผู้บริหารธุรกิจเริ่มมีความเชื่อมั่นมากขึ้นในภาพรวมของเศรษฐกิจ และจากผลสำรวจที่กลุ่มเศรษฐกิจขนาดใหญ่หลายกลุ่มมีเชื่อมั่นที่เพิ่มสูงขึ้น เศรษฐกิจโลกกำลังมุ่งไปยังทิศทางที่ถูกต้อง การเติบโตของธุรกิจนั้นต้องอาศัยความเชื่อมั่น ความเชื่อมั่นก่อให้เกิดการขยายธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ก่อให้เกิดการจ้างงาน และเราจะได้จับตามองอย่างใกล้ชิดว่าแรงส่งดังกล่าว จะสามารถดำเนินต่อไปได้หรือไม่ ในขณะที่ยังมีความเสี่ยงทางด้านการเมืองที่รุนแรงเป็นเสมือนแรงลมต้านอยู่"

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๘:๓๓ COM7 เดินหน้าเต็มสปีด EV7 ส่งมอบแท็กซี่ไฟฟ้าล็อตแรก ดันเมกะเทรนด์ EV สู่หัวใจเมือง
๑๘:๓๖ GCAP ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ไฟเขียวผ่านฉลุยทุกวาระ พร้อมเดินหน้าแผนธุรกิจขยายสู่กลยุทธ์ Non Lending
๑๘:๔๔ PYLON จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ผู้ถือหุ้นไฟเขียวจ่ายปันผล 0.04 บาท/หุ้น
๑๘:๓๙ LDC จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2568 มุ่งเป็นคลินิกทันตกรรมพรีเมียม ในราคาที่เข้าถึงง่าย
๑๘:๑๒ ผู้ถือหุ้น TATG ไฟเขียวจ่ายปันผล 0.07 บาท/หุ้น ลงทุนเครื่องจักรใหม่เสริมแกร่งสายการผลิต พิชิตเป้ารายได้ 3,000
๑๘:๕๗ ADVICE จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นรูปแบบ Hybrid ประจำปี 2568 ผถห.ไฟเขียวทุกวาระ เคาะแจกปันผล 0.175 บ./หุ้น
๑๘:๓๖ LE ร่วมงานสถาปนิก'68 โชว์นวัตกรรมแสงสว่างอัจฉริยะ เสริมภาพผู้นำ Lighting Solutions Provider
๑๘:๔๖ SELIC จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ปี 2568 ผู้ถือหุ้นเห็นชอบทุกวาระ อนุมัติจ่ายปันผล 0.038 บาท/หุ้น เดินหน้า 3 ธุรกิจ
๑๘:๔๙ STA เปิดบ้านต้อนรับภาครัฐ โชว์มาตรฐานรับซื้อยางโปร่งใส เป็นธรรม หนุนรัฐต้านยางเถื่อน
๑๘:๓๕ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จับมือเอกชน ปั้นช่างเชื่อมโกอินเตอร์ รายได้ทะลุ 70,000 บาทต่อเดือน