ส.อ.ท. ร่วม องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก เร่งเครื่องส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีประสิทธิภาพ เตรียมพร้อมรองรับระบบการซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจก

พุธ ๓๐ กันยายน ๒๐๑๕ ๑๔:๓๐
สถาบันสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จับมือ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. เร่งเครื่องส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมในการบริหารจัดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับระบบการซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในกรณีที่ประเทศไทยต้องกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อไปในอนาคต โดยทั้ง 2 หน่วยงานได้ร่วมมือกันจัดงานสัมมนาเผยแพร่ผลการดำเนินงาน "โครงการขยายผลการส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรในภาคอุตสาหกรรม ระยะที่ 4" เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 24 กันยายน 2558 ที่ผ่านมา ณ ห้องวิภาวดีบอลรูม เอ โรงแรม เซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว

เป็นที่ทราบกันดีว่า ปัญหาโลกร้อนที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมีแนวโน้มที่รุนแรงขึ้น ซึ่งมีต้นเหตุมาจากปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้น โดยปัญหาโลกร้อนที่เกิดขึ้นนี้เองได้ส่งผลให้เกิดการละลายของน้ำแข็งทั่วโลก ทำให้ปริมาณน้ำทะเลเพิ่มขึ้น และมีการคาดการณ์ว่าปริมาณน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นเพียง 1 เมตร ทำให้ปริมาณพื้นดินลดลง ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากต้องตกอยู่ในสภาวะไร้ที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ยังทำให้อุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้น โดยมีผลการศึกษาพบว่า น้ำทะเลที่อุ่นขึ้น จะทำให้ความหลากหลายทางชีววิทยาของสัตว์ทะเลเปลี่ยนแปลงไป แน่นอนว่าจากผลกระทบที่เกิดขึ้น ทั่วโลกได้มีการตื่นตัวร่วมมือหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว สำหรับประเทศไทยเองก็ได้ลงนามและให้สัตยาบันในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และได้ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม Non-Annex I คือไม่มีพันธกรณีในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งนี้ในที่ประชุม COP 20 ประเทศไทยได้มีการกล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมถึงแนวทางในการดำเนินงานด้านการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ ที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศไทยลงร้อยละ 7 ในภาคพลังงาน และภาคการคมนาคมขนส่งภายในปี พ.ศ. 2563 โดยเทียบกับ BAU (Business as Usual) และอาจลดได้ถึงร้อยละ 20 หากได้รับการสนับสนุนจากนานาชาติ โดยมีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน ซึ่งปัจจุบันได้มีการจัดทำแผนแม่บทแห่งชาติด้านการจัดการ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ช่วงปี พ.ศ. 2558 – 2593 เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก ผลักดันการจัดทำแผนดำเนินงานอย่างเหมาะสมมีประสิทธิภาพในทุกภาคส่วนและทุกระดับ ส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศไทย และส่งเสริมให้ไทยเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) ภายใต้บริบทการพัฒนาประเทศแบบเศรษฐกิจพอเพียง

นายสมชาย หวังวัฒนาพาณิช ประธานสถาบันสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า งานสัมมนาเผยแพร่ผลการดำเนิน "โครงการขยายผลการส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรในภาคอุตสาหกรรม ระยะที่ 4" ในวันนี้ เป็นโครงการที่ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมทำการคำนวนค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร ทำให้ทราบถึงปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเอง โดยองค์กรสามารถนำผลที่ได้มาใช้ต่อยอดการดำเนินงาน ใช้เป็นข้อมูลปีฐานขององค์กรในการจัดทำแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตน ซึ่งผลจากการดำเนินการดังกล่าวนั้นจะส่งผลให้องค์กรสามารถลดการใช้ทรัพยากรภายในองค์กร ซึ่งเป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจก และทำให้ภาพรวมปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาพรวมของประเทศลดลงได้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ-ไทย นอกจากจะเป็นศูนย์รวมขององค์กรธุรกิจภาคเอกชน เป็นตัวแทนของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม มีหน้าที่สนับสนุน ส่งเสริมและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของไทยให้แข็งแกร่งแล้ว อีกบทบาทหน้าที่หนึ่งที่สำคัญของสภาอุตสาหกรรมฯ คือ การส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมทั้งที่เป็นสมาชิกของสภาอุตสาหกรรมฯ และผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมทั่วไป มีการดำเนินการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งมีความรับผิดชอบต่อสังคม สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน โดยดำเนินการสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการ ถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ทันสมัย และเหมาะสมแก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทุกสาขา และทุกพื้นที่ โดยคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อก้าวสู่ความเป็นเลิศ และเพื่อความสมดุลด้านสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศวิทยาอย่างยั่งยืน

"การดำเนินงานโครงการขยายผลการส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรในภาคอุตสาหกรรม ระยะที่ 4 นั้น เป็นอีกโครงการที่สภาอุตสาหกรรมฯ ได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีการดำเนินการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งโครงการดังกล่าวได้ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 โดยในปี 2558 นี้ มีองค์กรนำร่องเข้าร่วมโครงการ และได้รับการขึ้นทะเบียนคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร จาก อบก. ทั้งสิ้นจำนวน 39 แห่ง ซึ่งจากเดิมได้กำหนดเป้าหมายไว้ 35 แห่ง แต่จากการดำเนินงาน มีผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมเล็งเห็นประโยชน์ที่จะได้รับจากการเข้าร่วมโครงการ จึงขอสมัครเข้าร่วมเพิ่มเติมอีกจำนวน 4 แห่ง ทั้งนี้ องค์กรทั้ง 39 แห่งที่เข้าร่วมเป็นองค์กรนำร่องในการดำเนินโครงการ ได้ให้การสนับสนุนข้อมูลสำหรับทำการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ภายในองค์กร ทั้งทางตรงและทางอ้อม อาทิ เช่น ข้อมูลปริมาณการใช้ทรัพยากรต่างๆ ที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต ข้อมูลปริมาณการใช้ไฟฟ้าขององค์กร รวมถึงข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการดำเนินงานต่างๆ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่จะช่วยให้ทุกภาคส่วนได้เข้าใจหลักการในการประเมินค่าคาร์บอนฟุต พริ้นท์ขององค์กร และทราบถึงแนวทางในการเตรียมตัวเพื่อขอรับการรับรองผล ซึ่งนอกจากจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพให้กับผู้ประกอบการและธุรกิจของไทยให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกได้แล้ว ยังแสดงถึงความมุ่งมั่นในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของตนให้สามารถบริหารจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนได้ อีกทางหนึ่งด้วย" นายสมชาย กล่าว

ด้าน ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ รองผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) กล่าวว่า องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางข้อมูลที่เกี่ยวกับสถานการณ์ด้านก๊าซเรือนกระจก ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ ตลอดจนให้คำแนะนำแก่หน่วยงานต่างๆ เกี่ยวกับการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ได้ให้การส่งเสริมและสนับสนุนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากทุกภาคส่วนโดยดำเนินการผ่านโครงการต่างๆ อาทิ โครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism) เรียกโดยย่อว่า CDM , โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) เป็นต้น ซึ่งโครงการขยายผลการส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรในภาคอุตสาหกรรม ระยะที่ 4 นี้ ถือเป็นอีกโครงการที่ทำให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรม โดยจะเน้นที่องค์กรภาคอุตสาหกรรม ซึ่งถือเป็นภาคส่วนที่สำคัญที่มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณที่สูง ทำการคำนวณค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่างๆ ภายในองค์กรของตนเอง ซึ่งผลจากการดำเนินงานนี้ ทำให้สามารถประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมขององค์กรตน สามารถจำแนกสาเหตุของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีนัยสำคัญและหาแนวทางเพื่อลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก ส่งผลให้ภาพรวมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศลดลง อีกทั้งยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถของประเทศไทยในการบริหารจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๔ พ.ค. Siriraj Education Expo 2024 ก้าวสู่ยุคใหม่ไปกับศิริราช พร้อมยกระดับทางการแพทย์ให้ดีขึ้น เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยทุกคน
๐๓ พ.ค. ครั้งแรก! งานเทศกาลคอนเทนต์ LGBTQ ฉลองความเท่าเทียมทางเพศ THAILAND INTERNATIONAL LGBTQ FILM TV FESTIVAL 2024 ปักหมุดเตรียมพบกัน กันยายนนี้
๐๓ พ.ค. โน วัน เอลส์ ส่ง 3 เพลงรัก 3 สไตล์! ผ่านมิวสิกซี่รีย์ ที่จะทำให้คุณเข้าใจความรักมากขึ้น
๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง