ผลการแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับชิงแชมป์ประเทศไทย ครั้งที่ 12 ที่งานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ อิมแพ็ค เมืองทองธานี

ศุกร์ ๐๔ ธันวาคม ๒๐๑๕ ๑๑:๕๐
รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานมอบรางวัลแก่ผู้ชนะเลิศการแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับชิงแชมป์ประเทศไทย ครั้งที่ 12 (The 12th Thailand Paper-folded Airplane Competition) ที่องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และสมาคมเครื่องบินกระดาษพับประเทศไทย ร่วมกันจัดขึ้น ที่งาน "มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2558" อิมแพ็ค เมืองทองธานี พร้อมเตรียมส่งเป็นตัวแทนชิงชัยระดับโลกต่อที่ประเทศญี่ปุ่น

รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวในการเป็นประธานในพิธีมอบรางวัลและพิธีปิดการแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับฯ ว่า วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศให้เกิดความมั่นคงทางสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งรัฐบาลตระหนักในความสำคัญของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมอย่างยิ่ง และมีนโยบายในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปเร่งพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นสังคมที่อยู่บนพื้นฐานขององค์ความรู้ สำหรับด้านการศึกษานั้น วิทยาศาสตร์ถือเป็นวิชาพื้นฐานสำคัญที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดแนวคิดสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมใหม่ๆ ที่มีคุณค่าและมีความสำคัญในการพัฒนาประเทศ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเล็งเห็นถึงความสำคัญในการต่อยอดนำองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่แล้วมาพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ดังนั้น โครงการจัดการแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับชิงแชมป์ประเทศไทย ที่องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทย์ฯ ได้ร่วมกับสมาคมเครื่องบินกระดาษพับประเทศไทย จัดขึ้น นับเป็นการขานรับนโยบายของกระทรวงฯ และนโยบายของประเทศ ในการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ผ่านเครื่องบินกระดาษพับ ของเล่นธรรมดาๆ ที่เราทุกคนคุ้นเคยกันดีอยู่แล้วตั้งแต่วัยเด็ก มาทำให้วิทยาศาสตร์กลายเป็นเรื่องสนุก เข้าใจง่าย ไม่น่าเบื่อ และเป็นเรื่องใกล้ตัวที่สามารถนำเอาวัสดุรอบตัวเราที่มีราคาถูกมาใช้ประโยชน์ต่อการเรียนรู้อย่างไม่รู้จบ อันจะเป็นรากฐานในการสร้างสังคมวิทยาศาสตร์ เพื่อพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป

รศ.ดร.วีระพงษ์ฯ กล่าวอีกว่า การเล่นเครื่องบินกระดาษพับช่วยฝึกสมาธิได้เป็นอย่างดี และทำให้ผู้เล่นเป็นคนละเอียดอ่อน เพราะการพับเครื่องบินนั้น กระดาษจะต้องเรียบ ห้ามยับแม้แต่นิดเดียว เพราะจะมีผลต่อการบินทันที นอกจากนี้ผู้เล่นยังจะได้เรียนรู้หลักการที่ว่าทำไมเครื่องบินถึงลอยได้ ทั้งที่ไม่ต้องมีใบพัด และต้องใช้หลักทางวิทยาศาสตร์เข้าช่วยในการทำให้เครื่องบินกระดาษร่อนได้นานที่สุด ซึ่งกว่าจะเดินทางมาแข่งขัน ณ จุดนี้ได้ ทุกคนต้องผ่านความพยายาม การทุ่มเท ลองผิดลองถูก เสียสละเวลาพัฒนารูปแบบของเครื่องบินกระดาษพับและหมั่นฝึกซ้อมสม่ำเสมอจนเกิดเป็นทักษะที่เชี่ยวชาญ เพื่อให้ได้เครื่องบินกระดาษพับลำที่สมบูรณ์แบบมากที่สุดในการเข้าแข่งขัน ชิงชัยในครั้งนี้ ซึ่งในรอบสุดท้ายผู้เข้าแข่งขันจะต้องพับเครื่องบินตามแบบที่กรรมการกำหนด และตามแบบที่ผู้เข้าแข่งขันถนัด นำมาร่อนเพื่อบันทึกสถิติ โดยใช้หลักทางวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยในการหาเหตุและผล ลำไหนลอยอยู่ได้นานก็เก็บลำนั้นไว้ แล้วมาวัดสัดส่วนต่างๆ ว่าส่วนไหนเป็นอย่างไร กว้าง, ยาวเท่าไหร่ ส่วนลำไหนขว้างแล้วร่อนไม่ดี ร่อนไม่ได้นาน เราก็ต้องมาหาคำตอบว่าเป็นเพราะอะไร และพยายามหาทางแก้ไขให้ได้ โดยใช้หลักการทางฟิสิกส์ เข้าช่วย สำหรับทิศทางการขว้างก็มีผล ยิ่งขว้างเครื่องบินได้สูงเท่าไหร่ ก็จะทำให้เครื่องบินร่อนอยู่ในอากาศได้นานเท่านั้น

ด้าน นายสาคร ชนะไพฑูรย์ รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการ อพวช. กล่าวว่า ปัจจุบัน คนไทยเริ่มให้ความสนใจกับการแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับมากขึ้นกว่าอดีตที่ผ่านมา แต่ยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก และทั่วโลกก็มีอยู่เพียง 5 ประเทศเท่านั้นที่มีการแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับกันอย่างจริงจัง ได้แก่ ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เยอรมนี ฟิลิปปินส์ และไทย อย่างไรก็ตาม ทั้ง อพวช. และสมาคมฯ ยังคงให้ความสำคัญและสนับสนุนกับการเรียนรู้ผ่านเครื่องบินกระดาษพับแผ่นเล็กๆ เช่นนี้เรื่อยมา โดยเริ่มการแข่งขันมาตั้งแต่ปี 2546 และสำหรับการแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับชิงแชมป์ประเทศไทยในครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 12 แล้ว เป็นการแข่งขันแบบประเภทร่อนนาน โดยแบ่งประเภทการแข่งขันออกเป็น 2 รุ่น ได้แก่ รุ่นอายุไม่เกิน 12 ปี และรุ่นทั่วไป โดยในปีนี้นอกจากจะมีรางวัลที่ 1,2,3 แล้ว ยังจัดให้มีรางวัลพิเศษขึ้นอีก 2 รางวัล ได้แก่ รางวัลผู้เข้าแข่งขันหน้าใหม่ดีเยี่ยม และรางวัลผู้สร้างสถิติใหม่สูงสุดของประเทศไทยอีกด้วย

สำหรับการคัดเลือกเพื่อเฟ้นหาตัวแทนในแต่ละภูมิภาคเข้าร่วมชิงชัยรอบชิงชนะเลิศนั้น อพวช. และหน่วยงานร่วมจัดได้มีการออกตระเวนจัดการแข่งขันรอบคัดเลือกในจังหวัดต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ดังนี้ ส่วนแรก คัดเลือกจากสนามแข่งขันรอบคัดเลือกที่ อพวช. จัดขึ้นพร้อมๆ กับการจัดกิจกรรมคาราวานวิทยาศาสตร์ อพวช. ทั่วประเทศ ส่วนที่ 2 คัดเลือกจากสนามแข่งขันของมหาวิทยาลัยเครือข่ายในแต่ละภูมิภาค ส่วนที่ 3 คัดเลือกจากสนามแข่งขันภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2558 ซึ่งจัดขึ้นที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี ช่วงระหว่างวันที่ 14-25 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ซึ่งในวันที่ 25 พฤศจิกายน นอกจากเป็นวันสุดท้ายของการจัดงานมหกรรมวิทยาศาสตร์ฯ แล้ว ยังเป็นวันที่จัดให้มีการแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับชิงแชมป์ประเทศไทย ครั้งที่ 12 รอบชิงชนะเลิศ รวมทั้ง พิธีมอบรางวัลแก่ผู้ชนะเลิศและพิธีปิดการแข่งขันฯ โดยภายในงานยังมีการแสดงการร่อนเครื่องบินกระดาษพับให้นานที่สุด โดยคุณทาคูโอะ โทดะ เจ้าของสถิติโลก Guinness World Record ในฐานะผู้พับเครื่องบินกระดาษพับที่ร่อนอยู่ในอากาศได้นานที่สุด และมีผลงานหนังสือสอนพับเครื่องบินกระดาษกว่า 500 แบบ ปัจจุบันคุณทาคูโอะ โทดะ เป็นประธานบริษัท เคชเท็ม (สยาม) จำกัด และ บริษัท เคชเท็ม (ไทยแลนด์) จำกัด ที่ดำเนินกิจการโลหะ และยังดำรงตำแหน่งนายกสมาคมเครื่องบินกระดาษพับประเทศญี่ปุ่น (Japan Origami Airplane Association, JOAA) อีกด้วย

ด้าน รศ.ดร.วีระพงษ์ฯ กล่าวทิ้งท้ายอีกว่า ขอแสดงความยินดีในความสามารถของเยาวชน และประชาชน ที่ได้รับรางวัลกับความทุ่มเทพยายามในครั้งนี้ สำหรับผู้ที่ไม่ได้รางวัลใดๆ ก็ขอเป็นกำลังใจให้ต่อไป ที่สำคัญอยากชื่นชม อพวช. และสมาคมเครื่องบินกระดาษพับประเทศไทยที่จัดการแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับนี้ขึ้นมา สามารถทำให้เครื่องบินกระดาษพับแผ่นเล็กๆ ธรรมดาๆ ไม่ได้เป็นเพียงของเล่นเด็กหรือเรื่องไร้สาระในมุมมองเดิมๆ ที่หลายคนเคยคิดอีกต่อไป เพราะเราสามารถเรียนรู้วิทยาศาสตร์ผ่านการพับเครื่องบินกระดาษได้ และทำให้เรามีโอกาสได้สัมผัสประสบการณ์แปลกใหม่ในมุมมองที่กว้างขึ้นกว่าเดิม ดังนั้น จึงอยากเชิญชวนให้ทุกคนลองพับเครื่องบินกระดาษเล่นดู ไม่แน่กระดาษแผ่นเล็กๆ ในมือเราอาจทำให้เราค้นพบความเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีความสามารถระดับประเทศคนหนึ่งก็เป็นได้

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๔ พ.ค. Siriraj Education Expo 2024 ก้าวสู่ยุคใหม่ไปกับศิริราช พร้อมยกระดับทางการแพทย์ให้ดีขึ้น เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยทุกคน
๐๓ พ.ค. ครั้งแรก! งานเทศกาลคอนเทนต์ LGBTQ ฉลองความเท่าเทียมทางเพศ THAILAND INTERNATIONAL LGBTQ FILM TV FESTIVAL 2024 ปักหมุดเตรียมพบกัน กันยายนนี้
๐๓ พ.ค. โน วัน เอลส์ ส่ง 3 เพลงรัก 3 สไตล์! ผ่านมิวสิกซี่รีย์ ที่จะทำให้คุณเข้าใจความรักมากขึ้น
๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง