ความภาคภูมิใจของชาวมหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมพลิกฟื้นพระราชวังจันทน์เป็นแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้ สะท้อนความรุ่งเรืองของประวัติศาสตร์ชาติไทย ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

อังคาร ๑๒ มกราคม ๒๐๑๖ ๑๒:๓๓
วันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๕๘ นับเป็นวันแห่งความปลื้มปิติและความภาคภูมิใจของชาวจังหวัดพิษณุโลก เมื่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน ณ พระราชวังจันทน์ ดินแดนแห่งประวัติศาสตร์ชาติไทย ด้วยเป็นสถานที่ประทับของสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ สถานที่พระราชสมภพและประทับขณะดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราชของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงพระสุหร่ายพระอัฏฐารสศรีสุคตทศพลญาณบพิตร (จำลอง) หรือพระอัฏฐารส และทรงเปิดป้ายอาคารศูนย์ประวัติศาสตร์พระราชวังจันทน์

ในฐานะของคนทำงาน ณ สถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวรให้รู้สึกอิ่มเอิบใจ ด้วยเป็นหนึ่งในฟันเฟืองขับเคลื่อนการบูรณะและพัฒนาพระราชวังจันทน์ ตามนโยบายของศาสตราจารย์ ดร.สุจินต์ จินายน อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร ด้วยเป็นสถาบันการศึกษาที่ได้รับพระราชทานพระนามของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเป็นชื่อของมหาวิทยาลัย

"เมื่อมีคนถามถึงพระราชวังจันทน์ ถ้าเราชาวมหาวิทยาลัยนเรศวร รวมทั้งชาวพิษณุโลกไม่มีองค์ความรู้ที่รวบรวมไว้เลยคงตอบไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่เป็นประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญต่อประเทศชาติเป็นอย่างมาก ถ้าเราฟื้นฟูพระราชวังจันทน์ขึ้นมา ก็จะเป็นจุดที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ในฐานะที่เป็นเมืองเอกของเมืองหลวงในแทบทุกยุคทุกสมัย"

- จัดการเสวนาวิชาการ โดยระดมผู้เชี่ยวชาญระดับปรมาจารย์ ทั้งด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดีและสถาปัตยกรรม เช่น นายพีรพน พิสณุพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ ๖ สุโขทัย (ตำแหน่งในขณะนั้น), ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. สันติ เล็กสุขุม นักประวัติศาสตร์ศิลปะ ผู้สร้างรูปแบบสันนิษฐานซึ่งจัดวางอยู่ ณ พระราชวังจันทน์, ศาสตราจารย์ ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ไทย, ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรพล วิรุฬห์รักษ์ ราชบัณฑิต, รองศาสตราจารย์ ดร.มังกร ทองสุขดี นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เป็นต้น เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ความคิดเห็นในมุมมองต่าง ๆ เกี่ยวกับการพัฒนาพระราชวังจันทน์ ตลอดจนการลงพื้นที่ปฏิบัติการ ณ พระราชวังจันทน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นคณะแรกที่ได้ศึกษาศูนย์ประวัติศาสตร์พระราชวังจันทน์ซึ่งสร้างเสร็จแล้ว แต่ยังไม่เปิดให้บริการ นับเป็นโครงการสำคัญกระตุ้นให้เกิดการการบริหารจัดการและบูรณะ พัฒนาพระราชวังจันทน์

- จัดงาน "ย้อนอดีตพระราชวังจันทน์ สร้างสรรค์เมืองพิษณุโลกสองแคว" ประกอบด้วยการจำลองวิถีชีวิต วัฒนธรรมในยุคสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช นิทรรศการพระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและประวัติศาสตร์พระราชวังจันทน์ พร้อมการแสดงละครเทิดพระเกียรติ

- เป็นวิทยากรในการอบรม สัมมนา และร่วมประชุมหารือแนวทางการพัฒนาพระราชวังจันทน์สู่แหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์และแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของจังหวัดพิษณุโลก ในฐานะคณะกรรมการอำนวยการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่โบราณสถานพระราชวังจันทน์

- จัดสร้างรูปแบบสัณฐานพระที่นั่งในพระราชวังจันทน์ในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชในรูปแบบสองมิติและสามมิติ โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูล ผู้อำนวยการสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร อันนำมาสู่การจัดสร้างพระที่นั่งจำลองในปัจจุบัน

ปัจจุบันพระราชวังจันทน์ซึ่งมีพื้นที่ ๑๒๘ ไร่ ๒ งาน ๕๐ ตารางวา ได้รับการบูรณะ ปรับปรุง พัฒนา บำรุง รักษา โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งได้รับการถ่ายโอนจากกรมศิลปากร คาดว่าใช้เวลาอีก ๒ ปีจึงจะเสร็จสมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม ภายหลังการเสด็จพระราชดำเนินของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าศึกษา เยี่ยมชมพระราชวังจันทน์ ตั้งแต่วันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๘

การกลับมาเยือนพระราชวังจันทน์ของชาวสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวินในครั้งนี้ สัมผัสได้ถึงความเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์โดยรอบอันสะอาด สดใส สวยงาม ร่มรื่น สบายตา ขณะนี้อยู่ในระหว่างการสร้างพระที่นั่งในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช การพัฒนาบริเวณสระสองห้อง สระน้ำโบราณ ในอดีตเป็นสถานที่สรงสนานของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเอกาทศรถ ตลอดจนการบูรณะอาคารไม้ทรงโบราณอายุกว่า ๑๐๐ ปี สำหรับจุดที่ผู้มาเยือนสามารถเยี่ยมชมได้อย่างเต็มรูปแบบ คือ ศูนย์ประวัติศาสตร์พระราชวังจันทน์ พระอัฏฐารสศรีสุคตทศพลญาณบพิตร (จำลอง) และวัดสำคัญต่าง ๆ ปกติแล้ว การเยี่ยมชมพระราชวังจันทน์จะมีมัคคุเทศก์คอยนำชมให้ความรู้ทุกวัน ตั้งแต่ ๐๙.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. แต่ในวันนี้เรามีมัคคุเทศก์กิตติมศักดิ์ คือ คุณลุงสิทธิชัย โหมดจิ๋ว พนักงานรักษาความปลอดภัยที่ไม่ได้ผ่านการอบรมด้านการนำชม แต่เปี่ยมด้วยพลังของประสบการณ์ตรง จากการใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่แห่งนี้

พระอัฏฐารสศรีสุคตทศพลญาณบพิตร (จำลอง) หรือพระอัฏฐารส เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดสูง ๑๐ เมตร ๕๒ เซนติเมตร ซึ่งคณะกรรมการโครงการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่โบราณสถานพระราชวังจันทน์จัดสร้างขึ้นเพื่อประดิษฐาน ณ วัดวิหารทอง ดังที่เคยมีมาเมื่อครั้งอดีต เนื่องจากภายในวิหารของวัดวิหารทองเดิมเป็นที่ประดิษฐานพระอัฏฐารส ศิลปะสกุลช่างสมัยสุโขทัยตอนต้น หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ทั้งองค์ ซึ่งแตกต่างจากพระอัฏฐารสองค์อื่น ซึ่งมักจะสร้างด้วยการก่ออิฐถือปูน สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้อัญเชิญพระอัฏฐารสของวัดวิหารทองไปยังกรุงเทพฯ โดยสร้างวิหารขึ้นใหม่ที่วัดสระเกศ และอัญเชิญพระอัฏฐารสมาประดิษฐานในวิหารเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๘ ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้ทรงเฉลิมพระนามพระอัฏฐารสองค์นี้ว่า พระอัฏฐารสศรีสุคตทศพลญาณบพิตร

ศูนย์ประวัติศาสตร์พระราชวังจันทน์ จัดสร้างโดยกองทัพภาคที่ ๓ กรมศิลปากร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และมูลนิธิเย็นศิระเพราะพระบริบาล ตามโครงการอนุรักษ์และพัฒนาพระราชวังจันทน์ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๔๕ เพื่อเป็นสถานที่เรียนรู้ ศึกษาทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ของจังหวัดพิษณุโลก ลักษณะเป็นอาคารกลุ่มชั้นเดียวเชื่อมต่อกัน สถาปัตยกรรมแบบไทยประยุกต์หลังคาทรงปั้นหยาผสมจั่ว

ภายในศูนย์ประวัติศาสตร์พระราชวังจันทน์แบ่งเป็นห้องนิทรรศการ ๖ ส่วน

ส่วนที่ ๑ เป็นส่วนต้อนรับ ให้บริการข้อมูลแก่ผู้เข้าชม มีการจัดทำแอพพิเคชั่น "chan palace" เพื่ออำนวยความสะดวกการเข้าถึงข้อมูลผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่

ส่วนที่ ๒ "พิษณุโลก: เมืองประวัติศาสตร์สำคัญที่ตั้งอยู่บนสองฝั่งแม่น้ำน่าน" จัดแสดงภาพรวมทั้งด้านทางภูมิศาสตร์ ลักษณะทางกายภาพและข้อมูลพื้นฐานของจังหวัด

ส่วนที่ ๓ "บันทึกประวัติศาสตร์ ๙ ศตวรรษ เมืองพิษณุโลก" จัดแสดงเรื่องราวตั้งแต่กำเนิดเมืองสองแคว จนถึงปัจจุบันเป็นศูนย์กลางภาคเหนือตอนล่าง ปกติเราจะรู้จักพิษณุโลกในอีกสองชื่อว่า สองแคว กับ อกแตก ด้วยมีแม่น้ำสองสายไหลผ่านคือแม่น้ำน่านและแม่น้ำแควน้อย โดยแม่น้ำน่านไหลผ่านกลางเมืองพิษณุโลก แต่ที่นี่เราจะได้รู้จักพิษณุโลกในอีก ๒ ชื่อ คือ เมืองสรลวงสองแควและเมืองชัยนาท ซึ่งเป็นชื่อที่มีมาก่อนที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนารถซึ่งเสด็จฯ มาประทับที่เมืองนี้ โปรดให้ขนานนามว่าเมืองพิษณุโลก หมายถึงที่ประทับของพระนารายณ์ตามความเชื่อที่ว่า พระมหากษัตริย์คืออวตารหนึ่งของพระนารายณ์

ส่วนที่ ๔ "ศิลปกรรมและงานช่างหลวงพิษณุโลก" มีแผนผังพระราชวังจันทน์และวัดสำคัญโดยรอบ ตลอดจนวัดสำคัญในพิษณุโลก คุณลุงสิทธิชัยชี้ให้เราดูภาพของวัดหนึ่งซึ่งเราและหลายคนคาดไม่ถึงว่าจะจัดแสดงอยู่ในห้องนี้คือ วัดอรัญญิก ซึ่งตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองพิษณุโลก สันนิษฐานว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (พระยาลิไท) แห่งกรุงสุโขทัย ในคราวเสด็จฯ มาครองราชสมบัติที่เมืองพิษณุโลก ระหว่างพ.ศ. ๑๙๐๔ – ๑๙๒๑ วัดอรัญญิกแห่งนี้เป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นอิทธิพลของสุโขทัยและอยุธยาที่มีต่อเมืองพิษณุโลกเป็นอย่างดี ในห้องนี้ยังมีเกมดิจิตอลค้นพบโบราณสถานที่สำคัญให้ผู้เข้าชมได้เล่นเพื่อความสนุกสนานและได้รับความรู้ด้วย คุณลุงชี้ให้ดูช่องบรรจุหลอดไฟ จำนวน ๒๔ ช่องบนผนังกำแพง ที่ตอนแรกเราคิดว่าเป็นเพียงการตกแต่ง แต่คุณลุงก็ชวนให้คิดว่าน่าจะมีความหมาย เช่น แทน ๒๔ ชั่วโมงใน ๑ วัน เรื่องนี้คงต้องหาความจริงกันต่อไป อีกหนึ่งความสำคัญของห้องนี้คือ ผังจำลองพื้นที่โบราณสถานพระราชวังจันทน์ ให้ได้ศึกษาอย่างชัดเจน ตั้งแต่ตัวอาคารศูนย์ประวัติศาสตร์พระราชวังจันทน์ ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และส่วนที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง พัฒนา คือ พระที่นั่งในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช สระสองห้อง ตลอดจนการบูรณะอาคารไม้ลักษณะสถาปัตยกรรมไทยทรงปั้นหยา จำนวน ๒ หลัง ซึ่งตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าศูนย์ประวัติศาสตร์ฯ เมื่อเดินเข้ามาอีกห้อง พบกับรูปแบบสันนิษฐานพระราชวังจันทน์ โดยศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. สันติ เล็กสุขุม แสดงให้เห็นพระราชวังจันทน์ทั้ง ๓ สมัย ที่คุณลุงเปิด-ปิดไฟให้เราดูขอบเขตของแต่ละยุคสมัย แถมด้วยตัวอย่างของโบราณวัตถุ (จำลอง) ที่ขุดค้นพบ เช่น เครื่องถ้วยจีน, คนโทสำริด เป็นต้น

ส่วน ๕ "จากเจ้าฟ้าพระองค์น้อยแห่งวังจันทน์สู่พระมหาวีรบุรุษของชาติไทย" จัดแสดงพระราชประวัติและวีรกรรมของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้รู้จักพระนามของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชจากหลักฐานต่าง ๆ เช่น พระนารายณ์บพิตรเป็นเจ้า จากพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์, สมเด็จบรมบาทบงกชลักษณ์อัครบุรีโสดมบรมหน่อนราเจ้าฟ้านเรศเชษฐาบดี จากบานแพนก กฎหมายลักษณะกบฏศึก ตอน ๑ จุลศักราช ๙๕๕ รัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ, พระราชาไฟ จากจดหมายเหตุของนายปีเตอร์ ฟลอริส เรียกพระนามเป็นภาษามลายู เป็นต้น เรื่องราวและการจำลองเหตุการณ์สำคัญ ได้แก่ พระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง, พระแสงดาบคาบค่าย, พระมาลาเบี่ยงและโล่, พระแสงทวน, พระแสงของ้าวแสนพลพ่าย สุดท้ายก่อนออกจากห้องนี้ได้สักการะพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งคุณลุงสิทธิชัยบอกว่ามีลักษณะสมบูรณ์แบบที่สุด

ส่วนที่ ๖ นิทรรศการหมุนเวียน จัดแสดงเรื่องราว เหตุการณ์ การบูรณะ พัฒนาพระราชวังจันทน์ เช่น พระราชวังจันทน์เดิมเป็นที่ตั้งของโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม, การถ่ายโอนพระราชวังจันทน์จากกรมศิลปากรให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก, การพัฒนาพระราชวังจันทน์ ปี ๒๕๕๘ งบประมาณ ๕๐ ล้านบาท, จัดการแสดงแสง เสียง เทิดพระเกียรติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช, การอบรมมัคคุเทศก์น้อยแนะนำพระราชวังจันทน์ ซึ่งคุณลุงสิทธิชัยบอกว่า ในช่วงปิดเทอมหรือเสาร์/อาทิตย์จะมีมัคคุเทศก์น้อยจากโรงเรียนต่าง ๆ เช่น เฉลิมขวัญสตรี, จ่านกร้อง, โรงเรียนในสังกัดเทศบาลนครพิษณุโลก เป็นต้น

ขณะเดินชมอาณาบริเวณโดยรอบศูนย์ประวัติศาสตร์พระราชวังจันทน์ เราก็ได้รับความรู้ เกร็ดชวนสนใจจากคุณลุงสิทธิชัยอีกหลายอย่าง เช่น

- ในการบูรณะอาคารไม้โบราณ ๒ หลังให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ตามรูปแบบสถาปัตยกรรมไทยโบราณต้องใช้ความละเอียด ประณีตอย่างสูง เนื่องจากอาคารทั้ง ๒ หลังมีอายุถึง ๑๑๘ ปี สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ โดยเป็นจะปรับปรุงให้สถานที่จัดแสดงนิทรรศการและอนุรักษ์ศิลปะอันทรงคุณค่า

- เนื่องจากพระราชวังจันทน์ ตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำน่าน ตรงข้ามกับวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร (วัดใหญ่) ซึ่งประดิษฐานหลวงพ่อพระพุทธชินราช จึงมีแผนที่จะก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำน่าน เชื่อมสถานที่สำคัญทั้ง ๒ แห่ง เพื่อความสะดวกของนักท่องเที่ยว

- ในจำนวน ๑๕ โครงการการพัฒนาพระราชวังจันทน์นั้น สิ่งที่ยังไม่ได้ทำคือ การก่อสร้างห้องสุขาและอาคารร้านค้า ซึ่งนับว่ามีความสำคัญไม่แพ้ส่วนอื่น

- เมื่อเราแนะนำว่านอกจากมัคคุเทศก์น้อยแล้ว ให้คำนึงถึงมัคคุเทศก์ใหญ่ด้วย นั่นคือ ผู้สูงอายุเช่นเดียวกับคุณลุงสิทธิชัย เพราะจะได้องค์ความรู้ที่หาไม่ได้จากตำรา คุณลุงก็บอกว่ามีข้าราชการบำนาญมาเป็นอาสาสมัครในการนำชมแล้ว นับเป็นจิตอาสาที่น่านับถือยิ่ง

เมื่อถึงเวลาของการชมส่วนอื่น ๆ คุณลุงสิทธิชัยก็ให้คำแนะนำอย่างตั้งใจ ซึ่งแต่ละแห่งอยู่ไม่ไกลกัน เริ่มจากวัด

วิหารทอง วัดโพธิ์ทอง วัดศรีสุคต สระสองห้อง ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และใกล้กันเป็นการก่อสร้างพระที่นั่งในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พิเศษสุด เราไม่ลืมตรงไปสักการะศาลหลักเมืองเดิมตามคำแนะนำของคุณลุง ซึ่งน้อยคนนักจะรู้จัก เนื่องจากไม่ได้อยู่ในเขตพระราชวังจันทน์ ตั้งอยู่บริเวณด้านหลังศาลากลางจังหวัด และไม่ได้เป็นพื้นที่ที่ผู้คนจะพบเห็นได้โดยง่าย ทั้งนี้แม้ว่าจะมีการสร้างศาลหลักเมืองขึ้นมาใหม่แล้ว แต่ศาลหลักเมืองเดิมนี้ก็ยังได้รับการสักการะบูชาจากคนในพื้นที่

วันนี้เราเอมอิ่ม ภูมิใจ สุขใจ กับความสำเร็จที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการพัฒนาพระราชวังจันทน์ พลิกฟื้นดินแดนประวัติศาสตร์สำคัญในอดีต ให้กลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง ในรูปแบบของการศึกษา ท่องเที่ยว ชื่นชม ให้ชาวจังหวัดพิษณุโลกได้ภาคภูมิใจในถิ่นกำเนิด คนไทยได้ร่วมรำลึกเหตุการณ์สำคัญ และชาวต่างชาติตื่นตาตื่นใจ ทึ่งในคุณค่าประวัติศาสตร์ชาติไทย

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๐๔ พ.ค. Siriraj Education Expo 2024 ก้าวสู่ยุคใหม่ไปกับศิริราช พร้อมยกระดับทางการแพทย์ให้ดีขึ้น เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยทุกคน
๐๓ พ.ค. ครั้งแรก! งานเทศกาลคอนเทนต์ LGBTQ ฉลองความเท่าเทียมทางเพศ THAILAND INTERNATIONAL LGBTQ FILM TV FESTIVAL 2024 ปักหมุดเตรียมพบกัน กันยายนนี้
๐๓ พ.ค. โน วัน เอลส์ ส่ง 3 เพลงรัก 3 สไตล์! ผ่านมิวสิกซี่รีย์ ที่จะทำให้คุณเข้าใจความรักมากขึ้น
๐๓ พ.ค. ทีซีเอ็มซีมอบรางวัลประกวดการออกแบบผลงานด้านผลิตภัณฑ์อคูสติกส์
๐๓ พ.ค. GT Auto ฉลองแชมป์ยอดขาย Volvo จัดงาน มหกรรม GT Auto Show ลดสูงสุด 1,000,000 บาท พร้อมชูบริการ GT Auto Exclusive Service
๐๓ พ.ค. กทม. เตรียมพร้อมให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงและนักเรียนในสังกัด
๐๓ พ.ค. กรมส่งเสริมการเกษตร ประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการรับรองแหล่งผลิตพืชฯ (GAP พืช) ครั้งที่ 1/2567
๐๓ พ.ค. First Sale! realme 12 5G และ realme 12X 5G สัมผัสประสบการณ์ Portrait Master กับกล้องซูม 3X in sensor
๐๓ พ.ค. CRYSTALLIZING ใหม่! โดย SHISEIDO PROFESSIONAL อัปเกรดกลุ่มผลิตภัณฑ์ยืด-ดัดผม ชูเทคโนโลยีสุดล้ำ DUAL PERFORMANCE SYSTEM
๐๓ พ.ค. บัลเลต์ รีทรีต บนเกาะมัลดีฟส์ กลับมาอีกครั้ง ที่ อวานี พลัส แฟเรส โดย คาร์ริส สการ์เลต นักเต้นบัลเลต์ชื่อดัง