จุฬาฯเผยเปิด AEC ธุรกิจอัญมณีเครื่องประดับมาแรง

พุธ ๒๗ มกราคม ๒๐๑๖ ๑๕:๔๕
ดร.จักรกฤษณ์ ดวงพัสตรา คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเปิดเผยว่า ที่ผ่านมา ปี 2557 พบว่า ในภาพรวม ประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีการใช้ผลิตภัณฑ์อัญมณีและเครื่องประดับของไทยมากที่สุด ได้แก่บรูไน (นำเข้ามูลค่าเฉลี่ย 503.05 บาท/คน) นอกจากนี้หากพิจารณาเป็นรายผลิตภัณฑ์ พบว่า (ก) เพชร ตลาดที่มีมูลค่าเฉลี่ยต่อหัวของประชากรในการซื้อเพชรจากไทยมาก ได้แก่ สิงคโปร์ (ข) พลอยเจียระไน ตลาดที่มีมูลค่าเฉลี่ยต่อหัวของประชากรในการซื้อพลอยเจียระไนจากไทยมาก ได้แก่ สิงคโปร์ (ค) เครื่องประดับทอง ตลาดที่มีมูลค่าเฉลี่ยต่อหัวของประชากรในการซื้อเครื่องประดับทองจากไทยมาก ได้แก่ บรูไน และ (ง) เครื่องประดับเงิน ตลาดที่มีมูลค่าเฉลี่ยต่อหัวของประชากรในการซื้อเครื่องประดับเงินจากไทยมาก ได้แก่ สิงคโปร์

ทั้งนี้ การรวมตัวเป็น AECก่อให้เกิดความท้าทายต่างๆ ต่อธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับของไทย ได้แก่

1) การลด/ยกเลิกภาษีอากรนำเข้าและภาษีส่งออกของสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ทำให้เกิดผลกระทบทางบวกและลบต่อสินค้าแต่ละประเภทของไทย ซึ่งการลดภาษีนำเข้าสินค้าของไทยภายใต้ AEC เป็นการถาวรจะช่วยสร้างความมั่นใจให้ผู้ประกอบการสามารถใช้ประโยชน์การนำเข้าวัตถุดิบจากอาเซียนมาใช้เป็นปัจจัยการผลิตได้โดยลดภาระต้นทุนด้านภาษีลง ขณะเดียวกันผู้ประกอบการไทยควรเร่งพัฒนารูปแบบสินค้าและบริหารต้นทุนการผลิตให้มีความเหมาะสมในการส่งออกไปยังตลาดที่มีศักยภาพใน AEC เนื่องจากประเทศสมาชิกอาเซียน รวมทั้งคู่เจรจาของอาเซียน เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย มีพันธกรณีการเปิดตลาดให้ไทยตามกรอบระยะเวลาการลด/ยกเลิกภาษีที่กำหนดไว้ในตารางข้อผูกพันการเปิดตลาดสินค้า

2) การลดอุปสรรคที่มิใช่ภาษี เช่น การลดข้อจำกัดใบอนุญาตนำเข้าและใบอนุญาตส่งออก ข้อกำหนดการโอนเงินและการชำระเงินระหว่างประเทศ การเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด ระเบียบพิธีการศุลกากร การใช้ระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน การจัดตั้งระบบบริการแบบเบ็ดเสร็จ การเปิดด่านการค้าใหม่ การใช้ระบบประเมินราคาศุลกากรที่เป็นสากล และการพิจารณาปรับลดข้อจำกัดการกำหนดมูลค่าขั้นต่ำของสินค้าที่จะต้องทำพิธีการศุลกากรจะทำให้การเคลื่อนย้ายสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับภายในภูมิภาคเป็นไปโดยสะดวกยิ่งขึ้น

3) การปรับมาตรฐานสินค้าและมาตรฐานวิชาชีพให้เป็นรูปแบบเดียวกัน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการจัดทำมาตรฐานพลอย ทองคำ เงิน และมาตรฐานวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับอัญมณีและเครื่องประดับ เช่น ผู้ประกอบวิชาชีพนักอัญมณีศาสตร์ เป็นต้น ตลอดจนผู้ผลิตต้องปรับมาตรฐานคุณสมบัติของสินค้าให้สอดคล้องกับรสนิยมของผู้บริโภค อาทิ การทำเครื่องประดับทองคำในประเทศไทยจะนิยมทองคำที่มีมาตรฐานความบริสุทธิ์ที่ 96.5% หรือ 23.16 กะรัตซึ่งจะได้สีทองที่เหลืองเข้มและมีความแข็งของเนื้อทองพอเหมาะสำหรับนำมาทำเครื่องประดับ ขณะเดียวกันในตลาดอื่นในอาเซียนจะเน้นการใช้ทองคำที่มีความบริสุทธิ์แตกต่างกันไป ทำให้ผู้ผลิตต้องเรียนรู้การออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องประดับแท้และเทียม

4) การส่งเสริมกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าและการจัดทำระเบียบพิธีการทางปฏิบัติภายใต้กฎแหล่งกำเนิดสินค้า เช่น การยอมรับการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตัวผู้ส่งออกเอง (Self Certification) การยอมรับระบบ Back to Back Certificate of Origin เพื่อส่งเสริมให้นำวัตถุดิบภายในอาเซียนมาประกอบรวมกันเพื่อส่งออกไปยังประเทศคู่เจรจาของอาเซียน (เช่น การที่สิงคโปร์นำเข้าเครื่องประดับเงินจากประเทศไทยแล้วส่งต่อไปจำหน่ายยังบรูไนอีกทอดหนึ่งภายใต้สิทธิประโยชน์ ASEAN Trade in Goods Agreement (ATIGA) หรือการที่ไทยนำเข้าหยกจากเมียนมาร์มาประกอบเป็นตัวเรือนในไทยแล้วส่งออกไปยังจีนโดยใช้สิทธิประโยชน์ ACFTA โดยให้คนในอาเซียนเป็นผู้จำหน่าย) การยอมรับระบบ Third Party Invoicing เพื่อส่งเสริมการใช้วัตถุดิบภายในอาเซียนโดยผ่านตัวแทนนายหน้าจากต่างประเทศในการทำการค้า (เช่น การที่ไทยนำเข้าหยกจากเมียนมาร์มาประกอบเป็นตัวเรือนที่ไทยแล้วส่งออกไปยังจีน โดยใช้คนนอกอาเซียนเป็นผู้จำหน่าย เช่น ฮ่องกง และดูไบ เป็นต้น) การส่งเสริมการสะสมถิ่นกำเนิดสินค้า ตลอดจนการพยายามปรับกฎถิ่นกำเนิดสินค้าที่แตกต่างกันภายใต้ความตกลงการค้าเสรีฉบับต่างๆ ที่อาเซียนทำกับประเทศต่างๆ ให้เป็นแบบอย่างเดียวกัน ซึ่งผลที่เกิดขึ้นทำให้ระบบโครงข่าย Supply Chain ของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับในภูมิภาคเปลี่ยนแปลงไป

5) การเปิดตลาดการลงทุน การบริการ และการทำงาน โดยการลงทุนอาเซียนเปิดตลาดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนถือหุ้นข้างมากในกิจการได้และให้การคุ้มครองการลงทุนและผู้ลงทุนต่างชาติ โดยในกรณีของไทย ต่างชาติสามารถเข้ามาถือหุ้นข้างมากในกิจการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับได้ ตลอดจนสามารถนำผู้เชี่ยวชาญ ผู้บริหาร และผู้จัดการต่างชาติเข้ามาทำงานได้ภายใต้กฎระเบียบของกฎหมายไทย ขณะเดียวกันผู้ประกอบการไทยก็สามารถก้าวไปลงทุนทำธุรกิจผลิตและจำหน่ายอัญมณีและเครื่องประดับในตลาดอาเซียนได้ โดยประเทศที่ผู้ประกอบการไทยให้ความสนใจมากในการไปลงทุนมักเป็นประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม และกัมพูชา

6) การเรียนรู้ของภาครัฐไทยในการปรับกฎกติกาของไทยให้สอดคล้องกับระบบของอาเซียนเพื่อขจัดความเสียเปรียบของอุตสาหกรรมของไทย เช่น (1) การพิจารณาปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจากร้อยละ 30 เหลือ 20 เพื่อให้ทัดเทียมกับอาเซียน (2) การปรับลดภาษีสรรพสามิตที่เรียกเก็บจากคริสตัลและอัญมณีบางประเภท ตลอดจน (3) การยกเลิกวีซ่าและการพิจารณาอำนวยความสะดวกแก่นักธุรกิจที่เข้ามาติดต่อการค้าในการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในประเทศโดยไม่ต้องขอวีซ่าและใบอนุญาตทำงานโดยการออก ASEAN Travel Card for Business Persons เป็นต้น

7) การปรับเทคนิคการตลาดเพื่อเพิ่มโอกาสการส่งออกในอาเซียน ได้แก่ การทำความเข้าใจกับลักษณะโครงสร้างตลาด และพฤติกรรมการค้าและการบริโภค และการจัดการกลยุทธ์การตลาดการส่งออก

ผลการศึกษาช่องทางการจัดจำหน่ายและพฤติกรรมผู้บริโภค

บรูไน

บรูไนเป็นประเทศขนาดเล็กที่มีศักยภาพสูงในอาเซียน บรูไนมีประชากรรวม 4.09 แสนคน ประชากรส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัยทำงานอายุตั้งแต่ 25-54 ปี อายุเฉลี่ยของประชากรไม่มากโดยมีอายุเฉลี่ยรวม 28.7 ปี ทำให้สังคมของบรูไนเป็นสังคมของคนวัยหนุ่มสาวและคนวัยทำงาน ประชากรมีอัตราการรู้หนังสือมาก มีการศึกษาดี มีอัตราการเพิ่มของประชากรเฉลี่ยร้อยละ 1.7 โดยมีสัดส่วนของประชากรเพศชายและเพศหญิงอยู่ใกล้เคียงกัน การใช้ชีวิตของประชากรส่วนใหญ่อยู่ในสังคมเมือง โดยประชากรส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมืองหลวง ได้แก่ กรุงบันดาเสรีเบกาวัน และประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิมถึง 2 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด ส่วนที่เหลือเป็นคนจีน คนเชื้อสายอินเดีย คนพื้นเมืองที่มาจากรัฐซาราวัคของมาเลเซีย

จากการศึกษา พบว่า ขนาดตลาดอัญมณีและเครื่องประดับมีมูลค่า 2.48 พันล้านบาท (99 ล้านบรูไนดอลล่าร์) อัตราการใช้จ่ายการซื้ออัญมณีและเครื่องประดับ 6,120 บาท/คน/ปี หรือ 248 บรูไนดอลล่าร์/คน/ปี สินค้าที่ได้รับความนิยม ได้แก่ (1) ทองรูปพรรณ (2) เครื่องประดับทอง (ทอง 18 – 22 กะรัตประดับด้วยเพชร) และ (3) เครื่องประดับเงิน (ประดับพลอยสีเจียระไน) โดยเน้นเครื่องประดับที่ขนาดใหญ่กว่าที่คนไทยชอบสวมใส่ เน้นลวดลายรูปดอกไม้ สินค้าที่นิยม ได้แก่ กำไลข้อมือ แหวน และสร้อยคอ (ขนาดของเครื่องประดับที่บรูไนนิยมจะออกแบบขนาดใหญ่และหนากว่าไทย แต่มีน้ำหนักเบา ส่วนสินค้าประเภทต่างหูไม่เป็นที่นิยมเนื่องจากผู้หญิงบรูไนจะสวมใส่ผ้าโพกศีรษะ) เทศกาลที่มีการซื้อขายมาก ได้แก่ เดือนถือศีลอดของมุสลิม (รอมฎอน) ฮารีรายอ (ประมาณเดือนกันยายน) ตรุษจีน คริสต์มาส และงานแต่งงาน ซึ่งพบว่าเทศกาลที่ซื้อขายจะอยู่ในช่วง 6 เดือนหลังของปี โดยจับกลุ่มคนบรูไนเชื้อสายบรูไนและคนบรูไนเชื้อสายจีน โดยการซื้อขายแต่ละครั้งมีมูลค่าครั้งละไม่มาก เนื่องจากคนบรูไนจะมีความระมัดระวังในการใช้จ่าย

กัมพูชา

กัมพูชามีประชากรรวม 14.9 ล้านคน ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัยทำงานอายุตั้งแต่ 25-54 ปี อายุเฉลี่ยประชากร 23.3 ปี ทำให้สังคมของกัมพูชาในปัจจุบันเป็นสังคมของคนรุ่นใหม่และคนวัยทำงาน อย่างไรก็ตาม ประชากรกัมพูชามีอัตราการรู้หนังสือไม่มากนัก

จากการศึกษา พบว่า ขนาดตลาดอัญมณีและเครื่องประดับมีมูลค่า 26.15 พันล้านบาท อัตราการใช้จ่ายซื้ออัญมณีและเครื่องประดับ 1,749 บาท/คน/ปี ในภาพรวม กัมพูชายังไม่ใช่ตลาดที่บริโภคเครื่องประดับมากนัก เนื่องจากมีรายได้ต่อหัวน้อย อย่างไรก็ตาม โอกาสในการจำหน่ายเครื่องประดับในกัมพูชาเกิดจากการที่กัมพูชาเป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวมาก เช่น ยุโรปตะวันตก ยุโรปเหนือ เกาหลี และจีน โดยเฉพาะในหัวเมืองที่สำคัญ ได้แก่ กรุงพนมเปญ และเมืองเสียมเรียบ (นครวัด) หากพิจารณาด้านพฤติกรรมการบริโภคของตลาดกัมพูชา เทศกาลที่มีการซื้อขายเครื่องประดับมากจะอ้างอิงตามโอกาสสำคัญต่างๆ ได้แก่ ของขวัญวันแต่งงาน ของขวัญวันครบรอบ และของขวัญสำหรับคนพิเศษ

อินโดนีเซีย

อินโดนีเซียมีประชากรรวม 248.6 ล้านคน ประชากรส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัยทำงานอายุตั้งแต่ 25-54 ปี อายุเฉลี่ยของประชากรไม่มากโดยมีอายุเฉลี่ยรวม 28.5 ปี ทำให้สังคมของอินโดนีเซียเป็นสังคมของคนวัยหนุ่มสาวและคนวัยทำงาน ประชากรมีอัตราการรู้หนังสือมาก ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมืองสำคัญ ได้แก่ กรุงจาการ์ตา เมืองสุราบายา เมืองบันดุง เมืองเมดาน และเมืองเซมารัง ประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิมร้อยละ 86

จากการศึกษา พบว่า ขนาดตลาดอัญมณีและเครื่องประดับมีมูลค่า 1,360.9 พันล้านบาท อัตราการซื้ออัญมณีและเครื่องประดับ 5,473 บาท/คน/ปี สินค้าที่ได้รัความนิยม ได้แก่ (1) ทองรูปพรรณ (2) เครื่องประดับทอง (ทอง 18 – 22กะรัตประดับด้วยเพชรและคริสตัล) (3) เครื่องประดับเงิน (ประดับพลอยสีเจียระไน) โดยเน้นเครื่องประดับลวดลายรูปดอกไม้ดวงดาว และรูปทรงเรขาคณิต สินค้าที่นิยมมาก ได้แก่ กำไลข้อมือ (ขนาดน้ำหนักตั้งแต่ 18 กะรัต) แหวน สร้อยคอ และที่กลัดเสื้อ (ขนาดเครื่องประดับที่อินโดนีเซียนิยมจะออกแบบขนาดใหญ่และหนากว่าของไทย แต่มีน้ำหนักเบา ตลาดของผู้ซื้อในอินโดนีเซียมีค่านิยมการซื้อทองและเครื่องประดับทองเพื่อเป็นการลงทุนและการเก็งกำไร โดยลูกค้าหลัก คือ ผู้หญิง หากพิจารณาด้านพฤติกรรมการบริโภคของตลาดอินโดนีเซีย เทศกาลที่มีการซื้อขายมาก ได้แก่ เดือนถือศีลอดของมุสลิม (รอมฎอน) ฮารีรายอ (ประมาณเดือนกันยายน) ตรุษจีน คริสต์มาส และงานแต่งงาน

ลาว

ลาวมีประชากรรวม 6.5 ล้านคน ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัยทำงานอายุตั้งแต่ 25-54 ปี อายุเฉลี่ยของประชากร 21.4 ปี ทำให้สังคมของลาวเป็นสังคมของเด็ก คนวัยหนุ่มสาว และคนวัยทำงาน ประชากรมีอัตราการรู้หนังสือไม่มาก การใช้ชีวิตของประชากรส่วนใหญ่อยู่ในสังคมชนบท เมืองที่มีประชากรอยู่อาศัยมาก ได้แก่ กรุงเวียงจันทน์ ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวลาวและชาวเขา และนับถือศาสนาพุทธ

จากการศึกษา พบว่า ขนาดตลาดอัญมณีและเครื่องประดับมีมูลค่า 5.76 พันล้านบาท อัตราการใช้จ่ายการซื้ออัญมณีและเครื่องประดับ 874 บาท/คน/ปี ในภาพรวม ลาวยังไม่ใช่ตลาดที่มีการบริโภคเครื่องประดับมากนัก เนื่องจากคนลาวมีรายได้ต่อหัวน้อยและให้ความสำคัญกับเรื่องอาหารการกินและการออมเงินเพื่อใช้จ่ายเป็นค่าที่พักและการเดินทางมากกว่าเรื่องการใช้จ่ายเงินเพื่อการแต่งตัว อย่างไรก็ตาม โอกาสการจำหน่ายเครื่องประดับในลาวเกิดจากการที่ลาวเป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวมาก เช่น ยุโรปตะวันตก ยุโรปเหนือ และจีน โดยเฉพาะในหัวเมืองที่สำคัญ ได้แก่ กรุงเวียงจันทน์ และเมืองหลวงพระบาง ทำให้มีโอกาสในการจำหน่ายเครื่องประดับ ได้แก่ เครื่องประดับทอง เครื่องประดับเงินที่มีราคาไม่สูงมาก หากพิจารณาด้านพฤติกรรมการบริโภคของตลาดลาว เทศกาลที่มีการซื้อขายมาก ได้แก่ ของขวัญวันแต่งงาน ของขวัญวันเกิด โดยคนลาวจะซื้อเครื่องประดับไม่บ่อย เนื่องจากเป็นของฟุ่มเฟือยและยังมีระดับรายได้ไม่สูงมากนัก และคนส่วนใหญ่นิยมซื้อทองรูปพรรณ เช่น สร้อยคอทองคำ แหวนทองคำ เป็นต้น มากกว่าซื้อเครื่องประดับ โดยหากซื้อเครื่องประดับก็จะเน้นราคาย่อมเยา ลวดลายสวยงาม และมีขนาดไม่ใหญ่มาก และหากเป็นเครื่องประดับจะชอบเครื่องประดับเงินมากกว่าเครื่องประดับทอง เช่น แหวนเงินสำหรับผู้ชาย แหวนเงินประดับเพชรขนาดเล็กสำหรับผู้หญิง เนื่องจากราคาถูกกว่าเครื่องประดับทอง

มาเลเซีย

มาเลเซียมีประชากรรวม 29.2 ล้านคน ประชากรส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัยทำงานอายุตั้งแต่ 25-54 ปี อายุเฉลี่ยของประชากร 27.1 ปี ทำให้สังคมของมาเลเซียเป็นสังคมของคนวัยหนุ่มสาวและคนวัยทำงาน ประชากรมีอัตราการรู้หนังสือมาก มีการศึกษาดี การใช้ชีวิตของประชากรส่วนใหญ่อยู่ในสังคมเมือง โดยประชากรส่วนใหญ่อยู่ในเมืองหลวง ได้แก่ กรุงกัวลาลัมเปอร์ เมืองแคลง และยะโฮบาร์รู และประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิมร้อยละ 60 ของประชากรทั้งหมด รองลงมา ได้แก่ ผู้นับถือศาสนาพุทธ และฮินดู

จากการศึกษา พบว่า ขนาดตลาดอัญมณีและเครื่องประดับมีมูลค่า 376.3 พันล้านบาท อัตราใช้จ่ายการซื้ออัญมณีและเครื่องประดับ 12,897 บาท/คน/ปี สินค้าที่ได้รับความนิยม ได้แก่ (1) ทองรูปพรรณ (2) เครื่องประดับทอง และ (3) เครื่องประดับเงิน (ประดับพลอยสีเจียระไน) เน้นลวดลายรูปดอกไม้ และเรขาคณิต สินค้าที่นิยมมาก ได้แก่ กำไลข้อมือ สร้อยข้อมือ แหวน สร้อยคอ ต่างหู โดยเฉพาะเครื่องประดับทองจะเป็นที่นิยมมากกว่าเครื่องประดับเงิน เทศกาลที่มีการซื้อขายมาก ได้แก่ เทศกาลที่มีการซื้อขายมาก ได้แก่ เดือนถือศีลอดของมุสลิม (รอมฎอน) ฮารีรายอ ตรุษจีน คริสต์มาส และงานแต่งงาน ซึ่งพบว่าเทศกาลที่ซื้อขายจะอยู่ในช่วง 6 เดือนหลังของปี โดยจับกลุ่มคนมาเลเซียเชื้อสายมาเลย์ และคนมาเลเซียเชื้อสายจีน

เมียนมาร์

ประเทศเมียนมาร์มีประชากรรวม 54.6 ล้านคน ประชากรส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัยทำงานอายุตั้งแต่ 25-54 ปี อายุเฉลี่ยของประชากรเฉลี่ย 27.2 ปี ทำให้สังคมของเมียนมาร์เป็นสังคมของคนวัยทำงาน ประชากรมีอัตราการรู้หนังสือมาก มีสัดส่วนของประชากรเพศชายน้อยกว่าเพศหญิงเล็กน้อย การใช้ชีวิตของประชากรส่วนใหญ่อยู่ในสังคมชนบท เมืองสำคัญที่มีประชากรอาศัยอยู่มาก ได้แก่ เมืองร่างกุ้ง กรุงเนปิดอว์ และเมืองมัณฑะเลย์

จากการศึกษา พบว่า ขนาดตลาดอัญมณีและเครื่องประดับมีมูลค่า 3.3 พันล้านบาท อัตราใช้จ่ายการซื้ออัญมณีและเครื่องประดับ 60.8 บาท/คน/ปี เครื่องประดับที่นิยม ได้แก่ เครื่องประดับทอง ในภาพรวม เมียนมาร์ยังไม่ใช่ตลาดที่มีการบริโภคเครื่องประดับมากนัก เนื่องจากเป็นคนเมียนมาร์มีรายได้ต่อหัวน้อยและให้ความสำคัญกับเรื่องอาหารการกินและออมเงินเพื่อใช้จ่ายเป็นค่าที่พักและการเดินทางมากกว่าเรื่องการใช้จ่ายเงินเพื่อแต่งกาย อย่างไรก็ตาม สินค้าที่ได้รับความนิยม ได้แก่ ทองรูปพรรณ และเครื่องประดับทอง เนื่องจากมีค่านิยมการเก็บทองและเครื่องประดับไว้เพื่อลงทุน ตลอดจนเมียนมาร์เริ่มพัฒนาการผลิตอัญมณีและเครื่องประดับเพื่อการส่งออกมากขึ้น และมีทรัพยากรแร่อัญมณีและหยกจำนวนมาก จึงเป็นตลาดวัตถุดิบที่สำคัญของไทย หากพิจารณาด้านพฤติกรรมการบริโภคของตลาดเมียนมาร์ เทศกาลสำคัญที่มีการซื้อขายมาก ได้แก่ ของขวัญวันแต่งงาน โดยคนเมียนมาร์จะมีการซื้อเครื่องประดับไม่บ่อย เนื่องจากเป็นของฟุ่มเฟือยและยังมีระดับรายได้ไม่สูงมาก

ฟิลิปปินส์

ฟิลิปปินส์มีประชากรรวม 103.8 ล้านคน ประชากรส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัยทำงานอายุตั้งแต่ 25-54 ปี อายุเฉลี่ยของประชากร 23.1 ปี ทำให้สังคมของฟิลิปปินส์เป็นสังคมของคนวัยหนุ่มสาวและคนวัยทำงาน ประชากรมีอัตราการรู้หนังสือมาก มีการศึกษาดี การใช้ชีวิตของประชากรอยู่ในสังคมเมืองและสังคมชนบทใกล้เคียงกัน เมืองที่มีประชากรอาศัยอยู่มาก ได้แก่ กรุงมะนิลา เมืองดาวัว เมืองซิบูซิตี้ และเมือง แซมโบแอนก้า

จากการศึกษา พบว่า ขนาดตลาดอัญมณีและเครื่องประดับมีมูลค่า 38.8 พันล้านบาท อัตราใช้จ่ายการซื้ออัญมณีและเครื่องประดับ 374 บาท/คน/ปี โดยเครื่องประดับที่เป็นที่นิยม ได้แก่ เครื่องประดับทอง เครื่องประดับเงิน โดยเทศกาลสำคัญที่จะมีการซื้อขายมาก ได้แก่ ของขวัญวันแต่งงาน เทศกาลคริสต์มาส ส่วนเครื่องประดับ Costume Jewelleryมักจะเลือกซื้อให้เข้ากับโทนสีของเครื่องผ้าที่สวมใส่โดยไม่มีเทศกาลในการเลือกซื้อเป็นการเฉพาะ

สิงคโปร์

สิงคโปร์มีประชากรรวม 5.1 ล้านคน ประชากรส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัยทำงานอายุตั้งแต่ 25-54 ปี อายุเฉลี่ยของประชากร 33.5 ปี ทำให้สังคมของสิงคโปร์เป็นสังคมของคนวัยทำงาน ประชากรมีอัตรากรรู้หนังสือมาก มีการศึกษาดี ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธร้อยละ 42.5อิสลามร้อยละ 14.9 คริสต์ร้อยละ 14.6

จากการศึกษา พบว่า ขนาดตลาดอัญมณีและเครื่องประดับมีมูลค่า 85.2 พันล้านบาท อัตราใช้จ่ายการซื้ออัญมณีและเครื่องประดับ 15,907 บาท/คน/ปี สินค้าที่นิยม ได้แก่ เครื่องประดับทอง (เพชร พลอยเจีรยะไน) โดยใช้ทอง 18-22 กะรัตเครื่องประดับเงิน เพชรเจียระไน พลอยเจียระไน เครื่องประดับแฟชั่น และทองรูปพรรณ (ย่าน Little India และย่านตอนเหนือของสิงคโปร์ที่มีคนเชื้อสายมาเลย์อยู่อาศัย) ที่ออกแบบลวดลายคล้ายอินเดียและตะวันออกกลาง รูปแบบสินค้าที่นิยม ได้แก่ สร้อยข้อมือ แหวน กำไลข้อมือ สร้อยคอ ต่างหู โดยเฉพาะเครื่องประดับทองจะเป็นที่นิยมมากกว่าเครื่องประดับเงิน เนื่องจากผู้ซื้อในสิงคโปร์นิยมซื้อทองและเครื่องประดับทองเพื่อเป็นการลงทุนและการเก็งกำไร ซึ่งเป็นค่านิยมของคนอาเซียน เอเชียใต้ และมุสลิม อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มของการบริโภคเครื่องประดับเงินและเครื่องประดับแฟชั่นเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีราคาต่ำกว่าเครื่องประดับทอง และสามารถใช้สวมใส่ได้ทุกโอกาส และเป็นที่นิยมของวัยหนุ่มสาวและผู้อยู่ในวัยทำงานที่อายุไม่เกิน 45 ปี

เวียดนาม

เวียดนามมีประชากรรวม 91.5 ล้านคน ประชากรส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัยทำงานอายุตั้งแต่ 25-54 ปี อายุเฉลี่ยของประชากร 28.2 ปี ประชากรมีอัตราการรู้หนังสือมาก การใช้ชีวิตของประชากรส่วนใหญ่อยู่ในสังคมชนบท โดยเมืองที่มีประชากรอยู่อาศัยมาก ได้แก่ นครโฮจิมินต์ กรุงฮานอย เมืองไฮฟอง และเมืองดานัง

จากการศึกษา พบว่า ขนาดตลาดอัญมณีและเครื่องประดับมีมูลค่า 87.8 พันล้านบาท อัตราการใช้จ่ายการซื้ออัญมณีและเครื่องประดับ 960 บาท/คน/ปี โดยเครื่องประดับที่เป็นที่นิยม ได้แก่ เครื่องประดับทอง เครื่องประดับเงิน เครื่องประดับเทียม สินค้าที่ได้รับความนิยม ได้แก่ ทองรูปพรรณ และเครื่องประดับทอง เนื่องจากมีค่านิยมการเก็บทองและเครื่องประดับไว้เพื่อการลงทุน โดยเทศกาลสำคัญที่จะมีการซื้อขายมาก ได้แก่ ของขวัญวันแต่งงาน โดยคนเวียดนามจะมีการซื้อเครื่องประดับไม่บ่อย เนื่องจากเป็นของฟุ่มเฟือยและยังมีระดับรายได้ไม่สูงมากนัก โดยสินค้าที่เป็นที่นิยม ได้แก่ แหวน สร้อยคอ สร้อยข้อมือ และต่างหู (ประดับด้วยเพชร หรือมุก)

กลยุทธ์การตลาดเพื่อการส่งออกไปตลาดอาเซียน

ประเด็นสำคัญที่ผู้ประกอบการและภาครัฐไทยต้องให้ความสำคัญมาก ได้แก่ (1) การรักษาภาพลักษณ์สินค้าไทย ร้านค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทย (2) การส่งเสริมการสร้างแบรนด์ไทยเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในระดับอุตสาหกรรม (3) การส่งเสริมการสร้างและพัฒนาแบรนด์ของผู้ประกอบการไทยเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและการสร้างคุณค่าในระดับธุรกิจ (4) การประชาสัมพันธ์เครื่องหมายรับรองของไทย และ (5) การจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาด และการฝึกอบรมพัฒนาผู้ประกอบการไทย ผู้ผลิต นักการตลาด และนักออกแบบไทยให้เข้าใจวัฒนธรรมการบริโภค วัฒนธรรมการทำธุรกิจ การใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี

กลยุทธ์ส่วนประสมการตลาดที่ควรพิจารณาในการส่งออกไปตลาดอาเซียนมีดังนี้

กลยุทธ์ผลิตภัณฑ์ (Product)

• สินค้าเครื่องประดับเงิน พลอยเจียระไน และเครื่องประดับทองคำ เน้นน้ำหนักเบา ขนาดเล็ก รูปแบบทันสมัย ตลอดจนเน้นจุดขายการออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของไทย มีมาตรฐานรับรองคุณภาพ ราคาถูกกว่าที่นำเข้าจากยุโรปและสหรัฐอเมริกา สวมใส่ได้ทุกโอกาส มีคุณภาพ มีสายผลิตภัณฑ์ Product Line หลายชนิด (ซื้อแบบเป็น Set และซื้อแยก) และมีการสร้างแบรนด์สินค้าไทย

• พิจารณาปรับปริมาณเนื้อทองเป็นเครื่องประดับทอง 18-22 กะรัตในกรณีที่ต้องการจับกลุ่มลูกค้าตลาดหลัก และพิจารณาจัดทำเครื่องประดับทองแท้ในกรณีที่ต้องการจับตลาดเฉพาะกลุ่ม

กลยุทธ์ราคา (Pricing)

• ตั้งราคาสูงกว่าเครื่องประดับที่ผลิตจากจีน แต่ถูกกว่ายุโรปและสหรัฐอเมริกา

กลยุทธ์การจัดจำหน่าย (Channel Distribution)

• ผู้ส่งออกเครื่องประดับควรทำตลาดร่วมกันหุ้นส่วนอาเซียน และใช้ประโยชน์จากงาน Fair และการทำ Mobile Store

กลยุทธ์การส่งเสริมการจัดจำหน่าย (Promotion)

• เน้นการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า ผู้นำเข้า และตัวแทนจำหน่าย และเจาะตลาดใหม่

• รัฐบาลและสมาคมการค้าจัดกิจกรรม B-B Matching ในพื้นที่ที่สำคัญ / คู่ค้ารายสำคัญ

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๕๕ ผู้บริหาร DDD ร่วมเสวนา ความร่วมมือวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ผลักดันสารสกัดมูลค่าสูงสู่การใช้ประโยชน์ โดย สวทช.
๑๖:๐๔ AI ไม่ใช่แค่กระแส! PaM และ Connext AI ผนึกกำลัง ยกระดับ AI สู่ธุรกิจจริงสร้างสรรค์โซลูชันที่ตอบโจทย์ พิสูจน์ผลลัพธ์ที่วัดได้
๑๖:๕๖ PHYTOMER เปิดตัวทรีทเม้นท์หน้าตัวใหม่ สำหรับผิวแพ้ง่ายมาก ACCEPT CICA FACIAL TREATMENT
๒๑ ต.ค. FIRSTER OCTOBER SALE เปิดโปรล่า ท้านักช้อป
๒๑ ต.ค. เปิดกล่องนมซันคิสท์ สูตรเด็ดจานลับ กับ เชฟสุดฮิต! สร้างสรรค์เมนูใหม่ ซันคิสท์ ริโซ่ พุดดิ้ง สตรอเบอรี
๒๑ ต.ค. บุญถาวร เตรียมจัดงาน Designer Talk อัปเดตเทรนด์กระเบื้องงาน Cersaie ณ ประเทศอิตาลี
๒๑ ต.ค. เดอะไนน์ เซ็นเตอร์ พระราม 9 ร่วมยินดีเปิด Math Talent by Dr.Ying เพิ่มทักษะเรียนวิทย์คณิตฯ คิดเป็นภาพ
๒๑ ต.ค. วว. /ม.ขอนแก่น / University of Franche-Comte (UFC) ประชุมหารือการจัดทำปริญญาร่วม (double degree) หลักสูตร สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ชีวภาพและชีวนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน
๒๑ ต.ค. โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ ต้อนรับองคมนตรีเนื่องในโอกาสพิธีประกาศเกียรติคุณ บุคคลคุณภาพแห่งปี
๒๑ ต.ค. กองทรัสต์ ALLY มองโอกาสลงทุนสินทรัพย์ใหม่ ต่อยอดการใช้แหล่งเงินทุนจากสภาพคล่อง ช่วยหนุน Yield เพิ่มขึ้น พร้อมส่งสัญญาณผลงานไตรมาส 3/67