โรคหัวใจ ถือเป็นโรคสำคัญที่คนไทยเป็นกันมาก

อังคาร ๐๑ มีนาคม ๒๐๑๖ ๑๑:๑๑

แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูหัวใจ

สถาบันหัวใจเพอร์เฟคฮาร์ท โรงพยาบาลปิยะเวท

โรคหัวใจ ถือเป็นโรคสำคัญที่คนไทยเป็นกันมาก ซึ่งโรคหัวใจจัดเป็นโรคที่อยู่ 1 ใน 3 ของโรคที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตมากที่สุด คนที่ป่วยเป็นโรคหัวใจส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยออกกำลังกาย หรือยังไม่ค่อยเข้าใจเรื่องการดูแลสุขภาพมากนัก ความจริงแล้วโรคหัวใจสามารถป้องกันได้ เพราะความเสี่ยงของการเกิดโรคนี้มีตั้งแต่ความเสี่ยงที่ยังไม่มีแนวทางในการแก้ไข เช่น อายุมากขึ้นก็จะเป็นมากขึ้น มีกรรมพันธุ์ต่อเนื่อง หรือเรื่องของเพศ ซึ่งเพศชายจะมีโอกาสเป็นโรคหัวใจมากกว่าเพศหญิง โดยเพศชายจะเริ่มตั้งแต่อายุ 45 ปีขึ้นไป ส่วนเพศหญิงอายุประมาณ 59 ปี หรือวัยหมดประจำเดือน นอกจากนี้ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงอย่างอื่นที่สามารถแก้ไขได้ ได้แก่ เรื่องของอาหาร โรคภัยไข้เจ็บต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ถ้าดูแลตัวเองดี โอกาสของการเป็นโรคหัวใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคหลอดเลือดหัวใจตีบก็จะลดลง อีกสิ่งที่สำคัญก็คือเรื่องการออกกำลังกาย ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงอีกอย่างหนึ่ง พบว่าคนที่ไม่ค่อยออกกำลังกาย จะมีโอกาสเสียชีวิตจากโรคหัวใจมากกว่าคนที่ออกกำลังกาย ประมาณ 50% และเมื่อพูดถึงการออกกำลังกายเพื่อป้องกันโรคหัวใจ อาจไม่จำเป็นต้องออกเยอะ เพราะพบว่าการเดิน แค่วันละ 1 ชั่วโมง (ถ้านับเป็นก้าว คือ 10,000 ก้าว) ก็สามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจได้ประมาณครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว

โรคหัวใจที่พบมากในคนไทยก็คือ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ซึ่งเกิดจากภาวะของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจมีลักษณะตีบหรือตัน ทำให้ขาดเลือดไปเลี้ยงหัวใจก็จะเริ่มเกิดอาการ เจ็บหน้าอก เหนื่อยง่าย ซึ่งกลุ่มนี้ก็จะมีการรักษา 3 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ การดูแลตนเอง เช่น เรื่องอาหารการกิน การรับประทานยา และ Invasive เช่น การทำบอลลูนขยายหลอดเลือด การสอดใส่สายหรือการผ่าตัดแต่ไม่ว่าจะทำการรักษาด้วยวิธีใดก็ตาม สิ่งแรกที่สำคัญและเป็นพื้นฐาน นั่นคือเรื่องของการรับประทานอาหารอย่างถูกต้อง ลดของหวาน มัน เค็ม รับประทานอาหารที่เป็นธรรมชาติ ผ่านการปรุงแต่งน้อย รับประทานในปริมาณที่พอเหมาะอย่าให้อิ่มจนเกินไป ควบคู่กับการควบคุมน้ำหนักให้เป็นไปตามมาตรฐาน

ส่วนการออกกำลังกาย ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจในลักษณะใด ถ้าไม่มีข้อห้ามในการออกกำลังกายแล้ว ควรจะออกกำลังกายทุกคน เนื่องจากการศึกษาทางด้านการแพทย์พบว่า ผู้ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจและจริงจังกับการออกกำลังกาย จะสามารถลดอัตราการเสียชีวิตได้ถึง 25% (ซึ่งไม่เกี่ยวกับการรับประทานยา) เพราะฉะนั้น อย่าคิดว่าจะต้องทานยาคุณหมอเท่านั้น เราจะต้องรู้จักการดูแลตนเอง หมั่นออกกำลังกาย ไม่เครียด ซึ่งสามารถปรึกษาหรือขอคำแนะนำจากแพทย์ที่ให้การรักษาได้ ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ค่อยได้พบแพทย์ หลังจากที่ป่วยเป็นโรคหัวใจ แนะนำให้เดิน

ออกกำลังกาย ในลักษณะที่เหมือนเวลาเดินปกติ ไม่ต้องเร็วจนเกินไป 10- 15 นาที ดังนั้นสิ่งที่อยากจะเน้นย้ำและเป็นเรื่องที่สำคัญ นั่นคือทุกคนจะต้องออกกำลังกาย

ทางที่ดีที่สุดของการป้องกันและดูแลผู้ป่วยในกลุ่มโรคหัวใจ คือการพบแพทย์เพื่อประเมินอาการก่อน ด้วยวิธีให้ผู้ป่วยติดเครื่องมือเพื่อดูคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลัง ว่ามีการทำงานได้ดีมากน้อยแค่ไหน เพื่อที่จะจัดโปรแกรมการออกกำลังกายที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยนั้นๆ เพราะผู้ป่วยแต่ละรายจะไม่เหมือนกัน การออกกำลังกาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเดิน การปั่นจักรยาน การว่ายน้ำ โยคะ หรือมวยจีน จริงๆผู้ป่วยสามารถทำได้หมด แต่ไม่ควรเริ่มจากอะไรที่ไม่คุ้นเคย และถ้าในขณะออกกำลังกายแล้วมีอาการเจ็บหน้าอกขึ้นมา ก็ให้หยุด และหลังออกกำลังกายจะต้องมีการวัดความดัน วัดอัตราการเต้นของหัวใจด้วย

ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่สามารถช่วยผู้ป่วยที่สูงอายุหรือผู้ป่วยที่ไม่สามารถออกกำลังกายได้ ด้วยเครื่องนวดกระตุ้นการทำงานของหัวใจ (EECP) โดยใช้หลักการนวดจากปลายขา จะมีแผ่นคลื่นไฟฟ้าหัวใจติดตามหน้าอก ซึ่งการบีบนวดที่ขา จะต้องสัมพันธ์กับการเต้นของหัวใจ เพื่อนำเลือดเข้าสู่หัวใจให้มากที่สุด ผลดีที่ได้จะใกล้เคียงกับการออกกำลังกาย ทำให้หลอดเลือดยืดหยุ่นดีขึ้น เพิ่มปริมาณหลอดเลือดฝอย และทำให้หัวใจทำงานบีบตัวได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจากการศึกษาทางการแพทย์ในคนไข้ที่เจ็บหน้าอกและเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ที่ไม่ได้ผ่าตัดหรือทำบอลลูน แต่รักษาด้วยเครื่องนวดไฟฟ้านี้ร่วมกับการรับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง สามารถลดอาการเจ็บหน้าอกได้ถึง 80% ปัจจุบันก็ได้นำมาใช้ในโรคหลอดเลือดทั่วๆไป เช่น โรคหลอดเลือดในสมอง อัมพฤต อัมพาต ก็รักษาด้วยเครื่องนี้ เครื่องนี้จะเป็นตัวกระตุ้นให้หลอดเลือดทำงานดีขึ้น

สุดท้ายการป้องกันย่อมดีกว่าการรักษา ผู้ที่ยังไม่เกิดอาการ หรือผู้ที่เป็นแล้วในระยะเริ่มต้น ควรรู้จักสังเกตตัวเองและเฝ้าระวังอยู่เสมอ เพราะไม่มีทางรู้ได้เลยว่าโรคบางอย่างที่เกี่ยวเนื่องกับโรคหัวใจ อาจจะมาแบบที่ไม่ทันตั้งตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิต โรคไขมันในเลือดสูง โรคเหล่านี้จำเป็นต้องตรวจให้รู้ตั้งแต่เนิ่นๆ จึงแนะนำให้ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไปควรตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ และผู้ที่รู้ตัวว่าเป็นโรคหัวใจ แนะนำให้พบแพทย์เพื่อความปลอดภัยในการดูแลตัวเองให้ดียิ่งขึ้น

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๓๐ เม.ย. มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ตอกย้ำปณิธาน สร้างชีวิต มอบเครื่องเล่นสนาม อุปกรณ์ครุภัณฑ์ พร้อมเครื่องอุปโภคบริโภคแก่เด็กนักเรียนในส่วนภูมิภาค ณ โรงเรียนวัดนาร่อง อ.เมือง
๓๐ เม.ย. เฮงลิสซิ่ง จับมือ วิริยะประกันภัย เสนอ ประกันภัยอุ่นใจ ทางเลือกใหม่สำหรับประกันภัยคุ้มครองบ้าน
๓๐ เม.ย. ม.วลัยลักษณ์-สมาคมกีฬาตะกร้ออาวุโส-สมาคมกีฬา จ.นครศรีฯ เอ็มโอยูเตรียมระเบิดศึกตะกร้อเยาวชนฮอนด้า ยูเนี่ยน
๓๐ เม.ย. หลักสูตรการประยุกต์ใช้ NODE-RED ในงานอุตสาหกรรม เชื่อมต่อ CLOUD PLATFORM NEXIIOT
๓๐ เม.ย. ม.วลัยลักษณ์ คว้า 2 รางวัลระดับโลก 3G Award 2024
๓๐ เม.ย. YouTrip เปิดอินไซต์ช่วงหยุดยาวคนไทยแห่เที่ยว ญี่ปุ่น-จีน ยอดใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 150%
๓๐ เม.ย. คณะการท่องเที่ยวฯ DPU ให้ความสำคัญต่องานบริการ จัด HT Makeup Competition 2024 เพิ่มทักษะแต่งหน้าให้กับ นศ.
๓๐ เม.ย. กิจกรรมดี ๆ สำหรับเยาวชนหญิงที่หลงใหลศิลปะการทำอาหาร ในโครงการ Women for Women (WFM) Internship Program ร่วมฝึกงานในร้านอาหารโพทง
๓๐ เม.ย. ผู้ถือหุ้น CIVIL โหวตอนุมัติ จ่ายปันผล 0.012 บาท/หุ้น ทิศทางธุรกิจปี 67 เติบโตต่อเนื่อง
๓๐ เม.ย. PRM จัดประชุม E-AGM ปี 67 อนุมัติจ่ายปันผล 0.26บ./หุ้น