Yuri Milner เจ้าของบริษัทอินเทอร์เน็ตยักษ์ใหญ่ จับมือ Stephen Hawking นักฟิสิกส์ชื่อดัง ประกาศเปิดตัวโครงการ “Breakthrough Starshot”

จันทร์ ๑๘ เมษายน ๒๐๑๖ ๑๙:๑๙
โครงการวิจัยและวิศวกรรมมูลค่า 100 ล้านดอลลาร์จะพิสูจน์แนวคิดที่ว่า ลำแสงสามารถขับเคลื่อนยาน "nanocraft" น้ำหนักไม่กี่กรัมได้ด้วยความเร็ว 20% ของความเร็วแสง ภารกิจท่องอวกาศนี้จึงอาจไปถึงระบบดาว Alpha Centauri ภายในเวลาเพียง 20 ปีนับจากการปล่อยยานขึ้นสู่ท้องฟ้า

Mark Zuckerberg ร่วมเป็นสมาชิกบอร์ดบริหารโครงการนี้

Yuri Milner เจ้าของบริษัทอินเทอร์เน็ตยักษ์ใหญ่ผู้ให้การสนับสนุนแวดวงวิทยาศาสตร์มาโดยตลอด ปรากฎตัวร่วมกับ Stephen Hawking นักจักรวาลวิทยาชื่อดัง ณ One World Observatory เพื่อประกาศเปิดตัวโครงการใหม่ของ Breakthrough Initiative ที่มุ่งเน้นด้านการสำรวจอวกาศและการค้นหาสิ่งมีชีวิตในจักรวาล

"Breakthrough Starshot" คือโครงการวิจัยและวิศวกรรมมูลค่า 100 ล้านดอลลาร์ ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อพิสูจน์แนวคิดเกี่ยวกับยาน nanocraft ที่ขับเคลื่อนด้วยแสง ซึ่งอาจทำความเร็วได้ถึง 20% ของความเร็วแสง รวมทั้งสามารถบันทึกภาพของดาวเคราะห์ที่ยังไม่เคยค้นพบและข้อมูลวิทยาศาสตร์อื่นๆในระบบดาวที่อยู่ใกล้เราที่สุดอย่าง Alpha Centauri ในระยะเวลาเพียง 20 ปีนับจากการปล่อยยานขึ้นสู่ท้องฟ้า

ผู้นำของโครงการนี้คือ Pete Worden อดีตผู้อำนวยการ NASA AMES Research Center และมีคณะกรรมการที่ปรึกษาอันประกอบด้วยเหล่านักวิทยาศาสตร์และวิศวกรชั้นแนวหน้าของโลก ขณะเดียวกัน Stephen Hawking, Yuri Milner และ Mark Zuckerberg จะเป็นสมาชิกของบอร์ดบริหารโครงการด้วย

Ann Druyan, Freeman Dyson, Mae Jemison, Avi Loeb และ Pete Worden ร่วมปรากฎตัวในการประกาศเปิดตัวโครงการนี้ด้วย

วันที่ 12 เมษายน 2559 เป็นวาระครบรอบ 55 ปีของการเดินทางสู่ห้วงอวกาศครั้งแรกของ Yuri Gagarin และเป็นเวลาเกือบครึ่งศตวรรษหลัง "ภาพถ่ายดวงจันทร์" ภาพแรกเกิดขึ้น ทางโครงการ Breakthrough Starshot จึงเลือกวันนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวกระโดดไปให้ถึงดวงดาว

Breakthrough Starshot

ระบบดาว Alpha Centauri อยู่ห่างออกไป 25 ล้านล้านไมล์ (4.37 ปีแสง) ยานอวกาศที่เดินทางเร็วที่สุดในปัจจุบันยังต้องใช้เวลาถึง 30,000 ปีเพื่อเดินทางไปถึง ทางโครงการ Breakthrough Starshot จึงตั้งเป้าสร้างยาน nanocraft น้ำหนักหลักกรัมที่ขับเคลื่อนด้วยแสงและทำความเร็วได้มากกว่ายานทั่วไปนับพันเท่า ถือเป็นการเปิดหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ให้กับซิลิคอนวัลเลย์ในด้านการท่องอวกาศ โดยอาศัยความก้าวหน้าแบบก้าวกระโดดของเทคโนโลยีด้านต่างๆ ที่มีมาตั้งช่วงต้นศตวรรษที่ 21

1. Nanocraft

Nanocraft คือยานอวกาศหุ่นยนต์น้ำหนักหลักกรัมซึ่งประกอบด้วย 2 ส่วนหลักๆ ได้แก่

- StarChip: กฎของมัวร์ระบุว่าองค์ประกอบไมโครอิเล็กทรอนิกสามารถย่อขนาดลงได้อย่างมหาศาล ก่อให้เกิดความเป็นไปได้ในการสร้างวงจรเวเฟอร์น้ำหนักหลักกรัม ซึ่งสามารถบรรจุกล้อง ตัวผลักดันโฟตอน เพาเวอร์ซัพพลาย ระบบนำทาง และอุปกรณ์การสื่อสาร ประกอบกันเป็นยานสำรวจอวกาศที่ทำงานได้อย่างสมบูรณ์

- Lightsail: ความก้าวหน้าของนาโนเทคโนโลยีได้ก่อให้เกิดอภิวัสดุ (metamaterial) ที่ทั้งบางและมีน้ำหนักเบากว่าเดิม ซึ่งจะเปิดทางไปสู่การสร้าง lightsail ที่มีความยาวหลักเมตร ความหนาเพียงไม่กี่ร้อยอะตอม และหนักเพียงหลักกรัม

2. Light Beamer

- พลังงานจากเลเซอร์ที่สูงขึ้นและต้นทุนเลเซอร์ที่ลดลง มีความสอดคล้องกับกฎของมัวร์และนำไปสู่ความก้าวหน้าสำคัญของเทคโนโลยีการยิงแสง ขณะเดียวกัน phased array ของเลเซอร์ (หรือ light beamer) ยังสามารถเพิ่มขนาดได้ถึงระดับ 100 กิกะวัตต์ด้วย

Breakthrough Starshot มีจุดมุ่งหมายในการลดต้นทุนต่อหน่วยในแวดวงดาราศาสตร์ โดย StarChip สามารถผลิตได้เป็นจำนวนมากโดยใช้ต้นทุนเท่ากับ iPhone เพียงหนึ่งเครื่อง และสามารถส่งขึ้นไปทำภารกิจได้คราวละมากๆ เพื่อให้มีความครอบคลุมและเพียงพอต่อการใช้งาน ส่วน light beamer ก็สามารถนำมาประกอบกันและปรับตามการใช้งานได้อย่างยืดหยุ่น เมื่อการประกอบยานและเทคโนโลยีถึงจุดโตเต็มที่แล้ว คาดว่าต้นทุนการปล่อยยานแต่ละครั้งจะลดลงเหลือเพียงไม่กี่ร้อยดอลลาร์

เส้นทางสู่ดวงดาว

สำหรับขั้นตอนของการวิจัยและวิศวกรรมคาดว่าจะใช้เวลาหลายปี หลังจากนั้นการพัฒนาภารกิจที่ยิ่งใหญ่ไปสู่ Alpha Centauri อาจต้องใช้งบประมาณเทียบเท่างานทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคปัจจุบันหลายๆงานรวมกัน โดยภารกิจดังกล่าวประกอบด้วย

- การสร้าง light beamer หลักกิโลเมตรติดตั้งภาคพื้นดินในที่สูงและสภาพอากาศแห้ง

- การสร้างและกักเก็บพลังงาน 2-3 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อการปล่อยยาน 1 ครั้ง

- การปล่อย "ยานแม่" ที่บรรทุก nanocraft หลายพันลำไปสู่วงโคจร

- การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี adaptive optics แบบเรียลไทม์ เพื่อชดเชยผลกระทบอันเกิดจากชั้นบรรยากาศ

- การให้ความสำคัญกับลำแสงบน lightsail เพื่อเร่งความเร็ว nanocraft แต่ละลำให้ได้ความเร็วตามเป้าหมายภายในไม่กี่นาที

- การหลีกเลี่ยงการชนปะทะกันของฝุ่นระหว่างดวงดาวระหว่างทางไปยังเป้าหมาย

- การบันทึกภาพดาวเคราะห์และข้อมูลวิทยาศาสตร์อื่นๆ และส่งข้อมูลกลับมายังโลกโดยใช้ระบบการสื่อสารด้วยแสงเลเซอร์แบบออนบอร์ดที่กะทัดรัด

- การใช้ light beamer อันเดียวกับที่ใช้ปล่อยยาน nanocraft เพื่อรับข้อมูลจากยานเหล่านี้เมื่อเวลาผ่านไปราว 4 ปี

ภารกิจเหล่านี้รวมไปถึงความจำเป็นด้านระบบอื่นๆ ถือเป็นความท้าทายด้านวิศวกรรมที่สำคัญอย่างยิ่ง สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.breakthroughinitiatives.org ทั้งนี้ องค์ประกอบหลักในการออกแบบระบบที่เสนอมานี้ ต้องอาศัยเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบันหรือเทคโนโลยีที่มีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ เมื่อพิจารณาจากสมมติฐานที่สมเหตุสมผล

ระบบขับเคลื่อนด้วยแสงที่เสนอขึ้นมานี้ ไปไกลเกินกว่าระบบอนาล็อกใดๆที่มีอยู่ในปัจจุบัน อภิมหาโครงการนี้จึงต้องอาศัยความร่วมมือและการสนับสนุนในระดับสากล

การปล่อยยานในโครงการนี้จำเป็นต้องได้รับอนุญาตจากรัฐบาลและองค์กรสากลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

โอกาสอื่นๆ

หากเทคโนโลยีที่ใช้ในการท่องอวกาศระหว่างดวงดาวถึงจุดโตเต็มที่แล้ว จะก่อให้เกิดโอกาสอื่นๆตามมามากมาย เช่น

- มีส่วนช่วยในการสำรวจระบบสุริยะจักรวาล

- สามารถใช้ light beamer เป็นกล้องโทรทรรศน์หลักกิโลเมตรเพื่อการสำรวจทางดาราศาสตร์

- ค้นพบดาวเคราะห์น้อยตัดแนวโลกซึ่งอยู่ห่างไกลมาก

ดาวเคราะห์ที่อาจดำรงอยู่ในระบบดาว Alpha Centauri

นักดาราศาสตร์ประเมินว่า มีโอกาสที่จะมีดาวเคราะห์ที่คล้ายโลกอยู่ใน "เขตที่อยู่อาศัยได้" ในระบบดาวสามดวงของ Alpha Centauri ปัจจุบันกำลังมีการพัฒนาและยกระดับเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ทั้งภาคพื้นดินและในอวกาศ ซึ่งจะสามารถค้นหาและระบุลักษณะของดาวเคราะห์ที่อยู่ล้อมรอบดวงดาวใกล้เคียงได้ในเร็วๆนี้

ในอนาคตจะมีโครงการของ Breakthrough Initiative ที่แยกออกมาต่างหากเพื่อสนับสนุนภารกิจเหล่านี้โดยเฉพาะ

สภาพแวดล้อมแบบเปิดกว้างและประสานความร่วมมือ

คุณลักษณะสำคัญของโครงการ Breakthrough Starshot คือ

- อาศัยงานวิจัยที่เปิดเผยต่อสาธารณะทั้งหมด

- มุ่งมั่นเผยแพร่ผลลัพธ์ใหม่ๆ

- อุทิศตนเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเปิดกว้าง

- เปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญทุกสาขาที่เกี่ยวข้อง รวมถึงภาคสาธารณะ ได้เข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดผ่านทางฟอรัมออนไลน์

สามารถดูเอกสารอ้างอิงและสิ่งตีพิมพ์ทางวิทยาศาสตร์ รวมถึงเข้าร่วมฟอรัมออนไลน์ได้ที่ www.breakthroughinitiatives.org

การสนับสนุนการวิจัย

โครงการ Breakthrough Starshot จะมอบทุนวิจัยและจัดสรรเงินทุนเพื่อสนับสนุนการวิจัยและการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมที่เกี่ยวข้อง

"ประวัติศาสตร์ของมนุษย์ก้าวกระโดดอย่างยิ่งใหญ่" Yuri Milner ผู้ก่อตั้ง Breakthrough Initiative กล่าว "วันนี้เมื่อ 55 ปีที่แล้ว Yuri Gagarin คือมนุษย์คนแรกที่ได้เดินทางสู่ห้วงอวกาศ วันนี้ เรากำลังเตรียมการเพื่อมุ่งสู่ก้าวใหญ่ก้าวถัดไป นั่นคือการไปไกลให้ถึงดวงดาว"

"โลกคือดินแดนมหัศจรรย์ แต่ก็อาจไม่จีรังยั่งยืน" Stephen Hawking กล่าว "ไม่ช้าก็เร็ว เราต้องมองหาดาวดวงอื่น และ Breakthrough Starshot ก็เป็นก้าวแรกอันน่าตื่นเต้นของการเดินทางนี้"

"เราได้รับแรงบันดาลใจจาก Vostok, Voyager, Apollo และสุดยอดภารกิจอื่นๆ" Pete Worden กล่าว "ถึงเวลาแล้วที่เราจะเปิดศักราชใหม่แห่งการท่องอวกาศระหว่างดวงดาว และเราต้องยืนหยัดอย่างมั่นคงอยู่ที่นี่เพื่อที่จะบรรลุผลสำเร็จ"

บอร์ดบริหารของ Breakthrough Starshot

Stephen Hawking, Dennis Stanton Avery และ Sally Tsui Wong-Avery ผู้อำนวยการด้านการวิจัยของ University of Cambridge

Yuri Milner ผู้ก่อตั้ง DST Global

Mark Zuckerberg ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ Facebook

คณะกรรมการที่ปรึกษาและกำกับดูแลโครงการ Breakthrough Starshot

- Pete Worden กรรมการบริหารโครงการ Breakthrough Starshot และอดีตผู้อำนวยการ NASA Ames Research Center

ก่อนร่วมงานกับมูลนิธิ Breakthrough Prize Foundation เขาเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ NASA Ames Research Center และเคยเป็นศาสตราจารย์วิจัยด้านดาราศาสตร์ที่ University of Arizona เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการยอมรับในด้านวิทยาศาสตร์และอวกาศวิทยา รวมถึงเป็นผู้นำในการสถาปนาความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในระดับสากล เขาเป็นผู้เขียนหรือร่วมเขียนเอกสารทางฟิสิกส์ดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์อวกาศกว่า 150 ฉบับ และเป็นผู้ร่วมวิจัยทางวิทยาศาสตร์ในปฏิบัติการทางอวกาศของ NASA ถึง 3 ครั้ง โดยครั้งล่าสุดคือโครงการ Interface Region Imaging Spectrograph ในปี 2556 เพื่อศึกษาดวงอาทิตย์ นอกจากนี้ เขายังได้รับรางวัล NASA Outstanding Leadership Medal จากภารกิจส่งยานอวกาศ Clementine ไปยังดวงจันทร์เมื่อปี 2537 ทั้งยังได้รับการยกย่องจาก Federal Laboratory Consortium ในตำแหน่ง "Laboratory Director of the Year" ปี 2552 รวมทั้งคว้ารางวัล Arthur C. Clarke Innovator's Award ประจำปี 2553 ด้วย

- Avi Loeb ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาโครงการ Breakthrough Starshot จาก Harvard University

Avi Loeb เป็นนักทฤษฎีฟิสิกส์ที่เขียนเอกสารทางวิทยาศาสตร์กว่า 500 ฉบับ รวมถึงหนังสือเกี่ยวกับฟิสิกส์ดาราศาสตร์และจักรวาลวิทยาอีก 3 เล่ม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับดาวกลุ่มแรกๆ และหลุมดำ นิตยสาร TIME ยกให้เขาเป็น 1 ใน 25 ผู้ทรงอิทธิพลด้านอวกาศ นอกจากนี้ เขายังดำรงตำแหน่ง Frank B. Baird Jr. Professor of Science ของ Harvard University ที่ซึ่งเขาเป็นหัวหน้าภาควิชาดาราศาสตร์, ผู้อำนวยการ Institute for Theory & Computation และผู้อำนวยการ Black Hole Initiative ขณะเดียวกัน เขายังได้รับการคัดเลือกให้เป็นนักวิชาการของ American Academy of Arts & Sciences, American Physical Society และ International Academy of Astronautics รวมทั้งเป็นสมาชิกของบอร์ดบริหารสถาบัน Physics and Astronomy of the National Academies ด้วย

- Jim Benford จาก Microwave Sciences

Jim Benford เป็นประธานของ Microwave Sciences เขาพัฒนาระบบไมโครเวฟกำลังสูงตั้งแต่เป็นแนวคิดจนกลายเป็นรูปธรรม เขามีความสนใจในฟิสิกส์ของไมโครเวฟ ลำแสงพลังงานแม่เหล็กไฟฟ้าสำหรับการขับเคลื่อนในอวกาศ การทดลองลำแสงอนุภาคเข้มข้น และฟิสิกส์พลาสมา

- Bruce Draine จาก Princeton University

การวิจัยของเขาเกี่ยวข้องกับการศึกษาตัวกลางระหว่างดวงดาว โดยเฉพาะฝุ่นระหว่างดวงดาว พื้นที่ที่เกิดจากการแตกตัวโดยแสง คลื่นกระแทก และทัศนศาสตร์กายภาพของโครงสร้างนาโน ในปี 2547 เขาได้รับรางวัล Dannie Heinemann ในสาขาฟิสิกส์ดาราศาสตร์ เขาเป็นสมาชิกของ National Academy of Sciences ด้วย

- Ann Druyan จาก Cosmos Studios

Ann Druyan เป็นนักเขียนและโปรดิวเซอร์ชาวอเมริกันผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารทางวิทยาศาสตร์ เธอเคยเป็นครีเอทีฟไดเรคเตอร์ของ NASA's Voyager Interstellar Message และผู้ร่วมเขียนบทสารคดีชุด Cosmos ที่ออกอากาศทางสถานี PBS ในยุค 80 และดำเนินรายการโดย Carl Sagan (2477–2539) ซึ่งแต่งงานกับเธอในปี 2524 นอกจากนั้นเธอยังเป็นผู้อำนวยการผลิตและผู้เขียนบทสารคดีชุดต่อมาอย่าง Cosmos: A Spacetime Odyssey ซึ่งทำให้เธอได้รับรางวัล Emmy และ Peabody

- Freeman Dyson จาก Princeton Institute of Advanced Study

Freeman Dyson เป็นนักฟิสิกส์ทฤษฎีและนักคณิตศาสตร์ชาวอเมริกันที่มีชื่อเสียงจากผลงานด้านพลศาสตร์ไฟฟ้าควอนตัม ฟิสิกส์สถานะของแข็ง ดาราศาสตร์ และวิศวกรรมนิวเคลียร์ เขาเป็นศาสตราจารย์กิตติคุณที่ Institute for Advanced Study และเป็นศาสตราจารย์รับเชิญของ Ralston College รวมทั้งเป็นสมาชิกคณะกรรมการสนับสนุน Bulletin of the Atomic Scientists ด้วย

- Robert Fugate จาก Arctelum, LLC, New Mexico Tech

เขาอุทิศตนให้กับการวิจัยด้านฟิสิกส์การแพร่กระจายของบรรยากาศ ซึ่งเป็นการชดเชยบรรยากาศโดยใช้เทคโนโลยี laser guide star adaptive optics นอกจากนี้ โครงการวิจัยของเขายังครอบคลุมถึงการพัฒนาระบบเซ็นเซอร์ ตลอดจนการใช้งานและควบคุมกล้องโทรทรรศน์ภาคพื้นดินที่มีรูรับแสงขนาดใหญ่

- Lou Friedman จาก Planetary Society, JPL

Lou Friedman เป็นวิศวกรด้านอวกาศยานศาสตร์ โฆษกด้านอวกาศ และนักเขียนผู้มีชื่อเสียงชาวอเมริกัน เขาก่อตั้ง Planetary Society ร่วมกับ Carl Sagan และ Bruce C. Murray และปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการบริหารกิตติคุณ เขาเป็นผู้ริเริ่มโครงการอันล้ำสมัยของ JPL ทั้งการพัฒนา solar sail และการผลักดันภารกิจสู่ดาวศุกร์ ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ ดาวหาง และดาวเคราะห์น้อย ทั้งยังเป็นผู้นำ Mars Program ภายหลัง Viking Mission ด้วย ปัจจุบัน เขาเป็นที่ปรึกษาให้กับ NASA's Asteroid Redirect Mission โดยเป็นผู้นำร่วมในการศึกษาและการสำรวจมวลสารระหว่างดาว ณ Keck Institute for Space Studies

- Giancarlo Genta จาก Polytechnic University of Turin

Giancarlo Genta เป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านการสั่นสะเทือน การออกแบบยานพาหนะ แบริ่งแบบแม่เหล็ก และโรเตอร์ไดนามิก เขาเป็นผู้เขียนหรือร่วมเขียนบทความมากกว่า 50 ชิ้นที่ตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการต่างๆ รวมถึงหนังสืออีก 21 เล่ม โดยการวิจัย SETI ของเขาได้รับการตีพิมพ์อย่างกว้างขวาง

- Olivier Guyon จาก University of Arizona

เขาเป็นผู้ออกแบบเครื่องมือดาราศาสตร์ภาคพื้นดินและบนอวกาศที่ช่วยค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะจักรวาล และยังเป็นผู้เชี่ยวชาญเทคนิคการถ่ายภาพคอนทราสท์สูง (coronagraphy, extreme adaptive optics) สำหรับการเก็บภาพและศึกษาดาวเคราะห์นอกระบบโดยตรง

- Mae Jemison จาก 100 Year Starship

Dr. Mae C. Jemison เป็นผู้นำโครงการ 100 Year Starship ที่มุ่งทำทุกวิถีทางเพื่อให้มนุษย์สามารถเดินทางจากระบบสุริยะของเราไปยังดาวดวงอื่นได้ภายใน 100 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ เธอยังเป็นนักบินอวกาศของ NASA นาน 6 ปี และเป็นสตรีผิวสีคนแรกของโลกที่ได้เดินทางท่องอวกาศ เธอตั้งใจที่จะนำความก้าวหน้าในการสำรวจอวกาศมายกระดับความเป็นอยู่ของผู้คนบนโลก รวมถึงใช้ความสามารถของตนเองอย่างเต็มที่ในฐานะแพทย์ วิศวกร นักประดิษฐ์ ศาสตราจารย์ด้านสิ่งแวดล้อม ผู้ให้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ นักพัฒนาในแอฟริกา และผู้ก่อตั้งบริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยี 2 แห่ง

- Pete Klupar ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรมของโครงการ Breakthrough Starshot และอดีตผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรมของ NASA Ames Research Center

Pete Klupar สนใจในเทคโนโลยีขั้นสูงเกี่ยวกับระบบสุริยะจักรวาลที่ใช้ต้นทุนต่ำ เขาได้พัฒนาและริเริ่มภารกิจเกี่ยวกับยานอวกาศมากกว่า 50 โครงการ เขาช่วยให้บริษัทสตาร์ทอัพด้านอวกาศแห่งหนึ่งเติบโตจนมีพนักงานกว่า 500 คน จากเดิมที่มีเพียง 4 คน นอกจากนี้ เขายังมีประสบการณ์ในองค์กรขนาดใหญ่อย่าง Boeing และ Space Systems Loral ทั้งยังเคยมีส่วนร่วมในโครงการด้านการบินและอวกาศของรัฐบาล โดยล่าสุดในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรมอยู่ที่ NASA Ames ทั้งนี้ เขามีบทบาทสำคัญในการช่วยลดต้นทุนของภารกิจที่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงภายใต้แนวคิด Faster Better Cheaper และ Operationally Responsive Space

- Geoff Landis จาก SA Glenn Research Center

Geoff Landis เป็นนักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันที่ทำงานเกี่ยวกับการสำรวจดาวเคราะห์ การขับเคลื่อนระหว่างดวงดาว และเทคโนโลยีขั้นสูงสำหรับภารกิจในอวกาศ เขาเป็นเจ้าของสิทธิบัตร 9 ฉบับ โดยเน้นในด้านการพัฒนาเซลล์แสงอาทิตย์และอุปกรณ์ผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ นอกจากนี้ เขายังนำเสนอความเป็นไปได้ในการเดินทางระหว่างดวงดาว รวมถึงการก่อสร้างฐานบนดวงจันทร์ ดาวอังคาร และดาวศุกร์ เขายังเป็นนักวิชาการของ NASA Institute for Advanced Concepts ด้วย

- Kelvin Long จาก Journal of the British Interplanetary Society

Kelvin Long เป็นนักฟิสิกส์ นักเขียน และกรรมการบริหาร Initiative for Interstellar Studies เขาคลุกคลีอยู่ในแวดวงอวกาศมานานถึง 15 ปี และมีความเชี่ยวชาญในเรื่องของการเดินทางระหว่างดวงดาว โดยเน้นไปที่แนวคิดการขับเคลื่อนอันล้ำสมัย

- Philip Lubin จาก University of California, Santa Barbara

Philip Lubin เป็นศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์ที่ UC Santa Barbara เขาสนใจงานวิจัยด้านจักรวาลวิทยา รังสีพื้นหลังของเอกภพ (สเปกตรัม แอนไอโซโทรปี และโพลาไรเซชัน) ดาวเทียม บอลลูนในอากาศ การศึกษาจักรวาลยุคต้นจากภาคพื้นดิน ข้อจำกัดเบื้องต้นของการตรวจสอบ ระบบพลังงานโดยตรง รวมถึงฟิสิกส์ดาราศาสตร์อินฟราเรดและอินฟราเรดระยะไกล

- Zac Manchester จาก Harvard University

Zac Manchester เป็นนักวิจัยและวิศวกรการบินอวกาศที่มีความสนใจในวงกว้างเกี่ยวกับพลศาสตร์และการควบคุม รวมถึงมีความหลงใหลในการทำให้ผู้คนเข้าถึงยานอวกาศได้ง่ายขึ้น เขาให้ความสนใจเป็นพิเศษกับการใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ฝังตัวและการคำนวณ เพื่อสร้างยานอวกาศที่มีขนาดเล็กลง ฉลาดขึ้น และคล่องตัวมากขึ้น เขาก่อตั้งโครงการ KickSat ขึ้นในปี 2554 ทั้งยังมีส่วนร่วมในภารกิจอากาศยานไร้คนขับและยานอวกาศขนาดเล็กหลายโครงการด้วย

- Greg Matloff จาก New York City College of Technology

Greg Matloff เป็นศาสตราจารย์กิตติมศักดิ์ที่ NYC College of Technology และผู้เชี่ยวชาญด้าน deep space propulsion เขาเป็นสมาชิกของ British interplanetary Society พร้อมทั้งดำรงตำแหน่ง Hayden Associate ที่ American Museum of Natural History และเป็นสมาชิกสมทบของ International Academy of Astronautics เขาเป็นผู้บุกเบิกการวิจัยเทคโนโลยี Solar-sail ซึ่ง NASA ได้นำไปใช้ในโครงการตรวจหาพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มเติม รวมถึงนำไปใช้ในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเปลี่ยนทิศทางดาวเคราะห์น้อยที่เป็นอันตรายต่อโลก นอกจากนี้ เขายังดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์รับเชิญที่ University of Siena ในประเทศอิตาลีด้วย

- Claire Max จาก University of California, Santa Cruz

Claire Max เป็นศาสตราจารย์ด้านดาราศาสตร์และฟิสิกส์ดาราศาสตร์ที่ UC Santa Cruz และเป็นผู้อำนวยการของ University of California Observatories เธออุทิศตนให้กับการพัฒนาระบบ laser guide star adaptive optics ซึ่งเป็นเทคนิคที่ช่วยลดความคลาดเคลื่อนของภาพอวกาศในสภาพอากาศที่แปรปรวน เธอเริ่มทำการวิจัยในเรื่องนี้ที่ JASON group หลังจากที่เข้าเป็นสมาชิกหญิงคนแรกขององค์กรเมื่อปี 2526 เธอได้ร่วมมือกับสมาชิกท่านอื่นๆเพื่อพัฒนาแนวคิดในการใช้ artificial laser guide star ที่เกิดจากการยิงลำแสงสีเหลืองเพื่อกระตุ้นอะตอมของโซเดียม ซึ่งจะทำให้ภาพจากอวกาศมีความแม่นยำขึ้น ปัจจุบัน นอกจากจะเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีนี้ที่ Center for Adaptive Optics แล้ว เธอยังนำระบบ adaptive optics ไปใช้กับกล้องโทรทัศน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพื่อศึกษาขอบเขตของหลุมดำขนาดใหญ่ ณ ใจกลางกาแล็กซีต่างๆ ทั้งนี้ เธอเป็นสมาชิกของ National Academy of Sciences และ American Academy of Arts and Sciences อีกทั้งยังได้รับรางวัล Weber Prize in Instrumentation จาก American Astronomical Society รวมถึงรางวัล James Madison Medal จาก Princeton University และรางวัล E. O. Lawrence จากกระทรวงพลังงานสหรัฐ

- Kaya Nobuyuki จาก Kobe University

Kaya Nobuyuki เป็นรองคณบดีสถาบันวิศวกรรมแห่ง Kobe University ประเทศญี่ปุ่น เขาได้ทำการทดลองเกี่ยวกับภาคพื้นดินและอวกาศมากมาย โดยเขาและทีมงานนานาชาติทั้งจากญี่ปุ่นและ European Space Agency ประสบความสำเร็จในการทดลองควบคุมลำแสงไมโครเวฟที่มาจากดาวเทียม SPS โดยใช้ ISAS sounding rocket และดาวเทียมลูกอีก 3 ตัวในการสร้างโครงข่ายใยแมงมุมขนาดใหญ่ ซึ่งการทดลองนี้มีชื่อเรียกว่า "Furoshiki" นอกจากนี้ เขายังมีบทบาทสำคัญในการสาธิตการส่งพลังงานแสงอาทิตย์แบบไร้สาย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Orbital Power Plant

- Kevin Parkin จาก Parkin Research

Dr. Kevin Parkin เป็นนักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษผู้มีชื่อเสียงจากการประดิษฐ์จรวด Microwave Thermal Rocket เขาได้รับรางวัล Korolev Medal จาก Russian Federation of Astronautics and Cosmonautics ในปี 2548 จากนั้นในปี 2550 เขาได้ก่อตั้ง Mission Design Center at NASA Ames รวมถึงพัฒนาโครงสร้างซอฟต์แวร์ให้กับศูนย์แห่งนี้ ก่อนหน้านี้เขาเคยพัฒนาซอฟต์แวร์ ICEMaker ให้กับยานอวกาศที่ออกแบบโดย Team-X ณ NASA Jet Propulsion Laboratory รวมทั้งพัฒนาซอฟต์แวร์ให้กับองค์กรอื่นๆอีกหลายแห่ง ในช่วงปี 2555-2557 เขาได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้านักวิจัยและหัวหน้าวิศวกรของโครงการสร้างจรวดความร้อนที่ใช้พลังงานคลื่นมิลลิเมตรโครงการแรก และได้ร่วมปล่อยจรวดดังกล่าวด้วย

- Mason Peck จาก Cornell University

ผลงานวิจัยทางวิชาการของ Mason Peck เน้นไปที่การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการสำรวจอวกาศโดยใช้ต้นทุนต่ำ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการขับเคลื่อน การนำทาง และการควบคุม เขาคลุกคลีอยู่ในอุตสาหกรรมอวกาศของสหรัฐมานานกว่า 20 ปี โดยเป็นอดีตหัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยีของ NASA รวมทั้งเป็นวิศวกรของ Boeing และ Honeywell และยังเป็นที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีอวกาศด้วย นอกจากนี้ เขายังเผยแพร่บทความมากมายเกี่ยวกับยานอวกาศไมโครสเกล ระบบขับเคลื่อนเจเนอเรชั่นใหม่ หุ่นยนต์อวกาศที่ใช้พลังงานต่ำ และศาสตร์เกี่ยวกับยานอวกาศ ขณะเดียวกันยังร่วมแต่งหนังสือ 3 เล่มเกี่ยวกับการสำรวจดวงดาวและกลไลของยานอวกาศด้วย

- Saul Perlmutter เจ้าของรางวัล Nobel Prize และ Breakthrough Prize จาก UC Berkeley และ Lawrence Berkeley National Laboratory

Saul Perlmutter เป็นนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ชาวอเมริกันจาก Lawrence Berkeley National Laboratory และเป็นศาสตร์ตราจารย์สาขาฟิสิกส์ที่ University of California, Berkeley เขาเป็นสมาชิกของ American Academy of Arts & Sciences, American Association for the Advancement of Science และ National Academy of Sciences เขาได้รับรางวัล Shaw Prize สาขาดาราศาสตร์ในปี 2549 รางวัล Nobel Prize สาขาฟิสิกส์ในปี 2554 และรางวัล Breakthrough Prize สาขาฟิสิกส์พื้นฐานในปี 2558 ร่วมกับ Brian P. Schmidt และ Adam Riess จากการที่ทั้งสามสามารถพิสูจน์ได้ว่า จักรวาลกำลังขยายตัวในอัตราที่รวดเร็วขึ้นเรื่อยๆ

- Martin Rees จาก Astronomer Royal

Lord Martin Rees เป็นนักจักรวาลวิทยาและนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ชาวอังกฤษ เขาดำรงตำแหน่ง Astronomer Royal นับตั้งแต่ปี 2538 และเป็นอดีตผู้บริหาร Trinity College, Cambridge ในช่วงปี 2547-2555 รวมทั้งเป็นประธานของ Royal Society ในช่วงปี 2548-2553 นอกเหนือจากความสนใจในด้านวิทยาศาสตร์แล้ว เขายังเขียนและบรรยายเกี่ยวกับปัญหาและความท้าทายในศตวรรษที่ 21 รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างวิทยาศาสตร์ จริยธรรม และการเมืองด้วย นอกจากนี้ เขายังเป็นสมาชิกคณะกรรมการบริหารขององค์กรต่างๆ ได้แก่ Institute for Advanced Study ในพรินซ์ตัน, IPPR, Oxford Martin School และ Gates Cambridge Trust รวมถึงเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Centre for the Study of Existential Risk และเป็นสมาชิกคณะที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของ Future of Life Institute ทั้งนี้ เขาให้ความสนใจเป็นพิเศษเกี่ยวกับการระเบิดของรังสีแกมมา และการสิ้นสุดของ "ยุคมืดของเอกภพ" เมื่อดาวดวงแรกได้ถือกำเนิดขึ้น ขณะเดียวกันเขายังเขียนหนังสือหลายเล่มเกี่ยวกับดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์เพื่อให้ความรู้แก่สาธารณชน ทั้งยังให้ความรู้ผ่านการบรรยายและการให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ด้วย

- Roald Sagdeev จาก University of Maryland

Roald Sagdeev เป็นศาสตราจารย์กิตติคุณประจำ University of Maryland ผู้ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตจาก Moscow State University ในปี 2509 เขาเคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ Space Research Institute ศูนย์กลางของโครงการสำรวจอวกาศของรัสเซียซึ่งตั้งอยู่ในกรุงมอสโกนานกว่า 15 ปี และปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการกิตติคุณ นอกเหนือจากการทำงานร่วมกับโครงการสำรวจอวกาศในยุคโซเวียตแล้ว เขายังมีผลงานโดดเด่นในด้านวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ โดยเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติจากผลงานการศึกษาปฏิกิริยาของพลาสมาร้อนและปฏิกิริยาเทอร์โมนิวเคลียร์ฟิวชันที่อยู่ภายใต้การควบคุม ทั้งนี้ เขาเป็นสมาชิกของ National Academy of Sciences, Royal Swedish Academy, Max Planck Society และ International Academy of Aeronautics

- Ed Turner จาก Princeton University, NAOJ

Ed Turner เป็นศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์ดาราศาสตร์ประจำ Princeton University เขาทุ่มเทให้กับการศึกษาฟิสิกส์ดาราศาสตร์ทั้งในเชิงทฤษฎีและเชิงสังเกต ทั้งยังเผยแพร่เอกสารการวิจัยมากกว่า 200 ชิ้นในหัวข้อต่างๆ อาทิ จักรวาลคู่ขนาน กลุ่มจักรวาล โครงสร้างระดับใหญ่ สสารมืด ประชากรดาวควอซาร์ เลนส์ความโน้มถ่วง รังสีคอสมิกและรังสีเอ็กซ์ ค่าคงที่ของจักรวาล ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ และชีวดาราศาสตร์ โดยส่วนใหญ่เน้นไปที่การวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติ ปัจจุบันเขาสอนนักศึกษาในหลายสาขาวิชา ได้แก่ จักรวาลวิทยา ชีวดาราศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ เขายังเป็นสมาชิก Committee for Statistical Studies ของมหาวิทยาลัยมาตั้งแต่ปี 2535 อีกด้วย

รับชมข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.breakthroughinitiatives.org

ดาวน์โหลดภาพ วิดีโอ และสื่อต่างๆจากงานแถลงข่าวได้ที่ www.image.net/breakthroughstarshot

ข่าวประชาสัมพันธ์ล่าสุด

๑๖:๒๙ ม.กรุงเทพ เห็นถึงคุณค่าพลังงานที่ยั่งยืนเชิญผู้เชี่ยวชาญมาสร้างสกิลตรง
๑๖:๐๗ แอลจีเผยผลประกอบการไตรมาสแรกของปี 2024 ผลักดันธุรกิจด้วยนวัตกรรมพร้อมรักษาสมดุลระหว่างธุรกิจหลักและการเติบโตในอนาคตเพื่อสร้างโอกาสใหม่ๆ
๑๖:๓๕ ฮั้วฟง รับเบอร์ฯ (HFT) จัดประชุมผู้ถือหุ้นปี 2567 ผถห.โหวตผ่านฉลุยทุกวาระ
๑๖:๕๒ ซีเอ็ด เปิดสาขาใหม่ที่ตราด! บริจาคหนังสือ 2 แสนบาท หนุนการอ่านในท้องถิ่น
๑๖:๕๙ ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 มีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น ทั้งปีที่อัตราหุ้นละ 0.52
๑๖:๕๙ ปรับการนอนหลับของคุณให้มีคุณภาพดีขึ้นด้วยฟีเจอร์ใน HUAWEI Band 9
๑๖:๓๔ ไฮเออร์ ประเทศไทย โชว์ศักยภาพแกร่ง พาเหรดทัพนวัตกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ร่วมจัดแสดงในงาน China Enterprise Product Resources
๑๖:๑๐ สถานทูตอิตาลี เปิดศูนย์รับคำร้องขอวีซ่าแห่งใหม่ในกรุงเทพ
๑๖:๕๒ CHAYO จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 ไฟเขียวทุกวาระ
๑๖:๑๓ ผู้บริหารบางจากฯ แชร์แนวทางขับเคลื่อนการรับมือวิกฤตสภาพภูมิอากาศ 2 เวที